โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2540 เวลากลางวันจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนอันเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 จำนวน 174 เม็ดน้ำหนัก 12.18 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยฝ่าฝืนกฎหมาย เจ้าพนักงานจับจำเลยพร้อมยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลาง จำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 444/2541 ของศาลชั้นต้น ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15, 66, 67, 102 ริบเมทแอมเฟตามีนของกลางให้กระทรวงสาธารณสุข และนับโทษจำเลยในคดีนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 444/2541 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 67 จำคุก 3 ปี ริบเมทแอมเฟตามีนของกลาง ข้อหาและคำขออื่นให้ยก
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง แต่ให้ริบของกลาง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่า สิทธินำคดีมาฟ้องของโจทก์ระงับไปหรือไม่ เห็นว่า ตามพยานหลักฐานของโจทก์ได้ความโดยสรุปว่า ในวันเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจได้นำหมายค้นไปตรวจค้นบ้านพักจำเลย เมื่อไปถึงพบจำเลยยืนอยู่ข้างบ้าน เจ้าพนักงานตำรวจได้แสดงหมายค้นต่อจำเลยแล้วตรวจค้นตัวจำเลย ปรากฏว่าพบเมทแอมเฟตามีนบรรจุในหลอดพลาสติกหลอดละ 10 เม็ด จำนวน 14 หลอด หลอดละ 9 เม็ดจำนวน 1 หลอด และหลอดละ 5 เม็ด จำนวน 5 หลอด รวม 174 เม็ด อยู่ในกระเป๋าผ้าลักษณะคล้ายถุงย่ามที่จำเลยสะพายอยู่ที่ไหล่ เจ้าพนักงานตำรวจจึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยว่ามีเมทแอมเฟตามีนจำนวนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายจำเลยให้การรับว่ามีไว้ในครอบครองเท่านั้น นอกจากนี้เจ้าพนักงานตำรวจยังได้ตรวจค้นบ้านจำเลยต่อไปอีก และพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ด อยู่ในห้องของจำเลยโดยขณะนั้นภรรยาจำเลยก็อยู่ในห้องด้วย เจ้าพนักงานตำรวจจึงแจ้งข้อหาแก่จำเลยและภรรยาว่ามีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ดนี้ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แล้วพนักงานสอบสวนได้แยกการดำเนินคดีแก่จำเลยออกเป็น 2 สำนวนสำหรับคดีที่จำเลยและภรรยาต้องหาว่ามีเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ด ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตนั้น ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุดไปแล้วตามคดีอาญา หมายเลขแดงที่ 1795/2540 ของศาลชั้นต้น ส่วนเมทแอมเฟตามีนจำนวน 174 เม็ด ซึ่งพนักงานสอบสวนได้แยกการดำเนินคดีแก่จำเลยโดยเฉพาะและโจทก์นำมาฟ้องเป็นคดีนี้ นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า เมทแอมเฟตามีนจำนวน 174 เม็ดดังกล่าวเป็นเมทแอมเฟตามีนที่เจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ในการตรวจค้นคราวเดียวกันกับเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ดตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1795/2540 ของศาลชั้นต้น แม้เจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ดที่ตู้เย็นภายในห้องของจำเลย และพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 174 เม็ด ที่ตัวจำเลยนอกห้องของจำเลย แต่เมื่อไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยรับเอาเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ดและจำนวน 174 เม็ด ไว้คนละคราวกัน จึงต้องถือว่าเป็นเมทแอมเฟตามีนจำนวนเดียวกันซึ่งแยกเก็บไว้ในที่ต่างกันเท่านั้น การกระทำของจำเลยในคดีนี้กับการกระทำของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1795/2540 ของศาลชั้นต้นจึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว เมื่อศาลมีคำพิพากษาในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 1795/2540 ของศาลชั้นต้นแล้ว ฟ้องโจทก์ในคดีนี้จึงเป็นฟ้องในคดีที่ศาลได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39(4) ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาคดีมานั้นชอบแล้วและไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของโจทก์ข้ออื่นอีกต่อไป
พิพากษายืน