โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 92, 288, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง และเพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่ว่า จำเลยอยู่ในที่เกิดเหตุ โดยจำเลยมีปากเสียงและทะเลาะวิวาทกับนายจิรโชติ ผู้ตายที่ 1 แล้วจำเลยใช้ขวดสุราตีศีรษะผู้ตายที่ 1 จำนวน 1 ครั้ง บริเวณลานจอดรถร้านคลับ 99 ผู้ตายที่ 1 วิ่งหนีไป จำเลยวิ่งตามไปแล้วผู้ตายที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงจำเลยที่หน้าอกขวาและซ้าย รวม 4 ครั้ง หลังจากนั้นจำเลยล้มลง จำเลยไม่ได้มีส่วนร่วมในการกระทำความผิดของนายนฤปนาท อาวุธปืนและอาวุธมีดปลายแหลมไม่ใช่ของจำเลย กับรับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 เพียงกระทงเดียว จำคุก 20 ปี ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี เพิ่มโทษกระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น เป็นจำคุก 26 ปี 8 เดือน ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นที่ได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุก 1 ปี 4 เดือน รวมจำคุก 27 ปี 12 เดือน ริบของกลาง ข้อหาอื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2565 เวลาประมาณ 1 นาฬิกา ขณะที่นางสาวรุ่งฤดี และนางสาวสิริฑา กับเพื่อนกำลังเดินไปที่ลานจอดรถหน้าร้านคลับ 99 พบนายจิรโชติ ผู้ตายที่ 1 กำลังพูดคุยกับนางสาวกมลชนก พี่สาวของนางสาวรุ่งฤดีว่าจะไปส่งที่บ้าน แล้วนางสาวรุ่งฤดีกับเพื่อนและผู้ตายที่ 1 เดินไปที่ลานจอดรถ ระหว่างนั้นนายนฤปนาท เดินเข้าไปถามผู้ตายที่ 1 ว่า ไหนคนชื่อเบส ผู้ตายที่ 1 บอกว่า ใจเย็น ๆ นะ เพื่อนผม ขณะเดียวกันจำเลยใช้ขวดตีศีรษะผู้ตายที่ 1 ผู้ตายที่ 1 วิ่งหลบหนีไป มีคนร้ายวิ่งตามผู้ตายที่ 1 ไปรวมทั้งจำเลยและนายนฤปนาทด้วย แล้วผู้ตายที่ 1 กับคนร้ายซึ่งวิ่งตามไปชุลมุนชกต่อยและใช้อาวุธมีดแทงกัน หลังจากนั้นผู้ตายที่ 1 ถอยออกมา นายนฤปนาทวิ่งตามผู้ตายที่ 1 ไป ผู้ตายที่ 1ใช้อาวุธมีดแทงนายนฤปนาท ส่วนนายนฤปนาทใช้อาวุธปืนของกลางยิงผู้ตายที่ 1 แต่กระสุนปืนไม่ถูกผู้ตายที่ 1 โดยกระสุนปืนพลาดไปถูกนายสุภาชัย ผู้ตายที่ 2 เป็นเหตุให้ผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตาย หลังเกิดเหตุผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตายเนื่องจากเสียเลือดมากจากบาดแผลถูกอาวุธมีดแทงบริเวณหลังและช่องอก และนายนฤปนาทถึงแก่ความตายจากบาดแผลถูกอาวุธมีดแทง ส่วนจำเลยได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลถูกอาวุธมีดแทงที่หน้าอกซ้าย 1 แผล หน้าอกขวา 1 แผลและช่องท้อง 1 แผล ความผิดฐานร่วมกันพาอาวุธไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควร และฐานร่วมกันพาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อแรกมีว่า จำเลยร่วมกันกระทำความผิดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 หรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยกับนายนฤปนาทเดินทางมาร้านคลับ 99 ด้วยกันเดินออกจากร้านคลับ 99 พร้อมกัน หรือพบกันก่อนเกิดเหตุที่จำเลยใช้ขวดตีศีรษะผู้ตายที่ 1 ก็ตาม แต่จำเลยเบิกความรับว่าจำเลยรู้จักนายนฤปนาท ซึ่งเมื่อพิจารณาประกอบข้อเท็จจริงที่ว่าเมื่อนายนฤปนาทสอบถามผู้ตายที่ 1 แล้ว จำเลยใช้ขวดตีศีรษะผู้ตายที่ 1 ทันที เมื่อผู้ตายที่ 1 วิ่งหลบหนี จำเลย นายนฤปนาทกับพวกได้วิ่งตามผู้ตายที่ 1 ไป เช่นนี้พฤติการณ์ของจำเลยดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยและนายนฤปนาทกับพวกที่วิ่งตามผู้ตายที่ 1 ไปเป็นพวกเดียวกันและต่างรู้เห็นถึงการกระทำของแต่ละคนโดยมีเจตนาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตายที่ 1 มาตั้งแต่ต้น โจทก์มีนายวศิน เบิกความว่า เมื่อผู้ตายที่ 1 วิ่งมาถึงจุดหมายเลข 2 เกิดการชุลมุนกัน โดยพวกของจำเลยประมาณ 10 คน ส่วนผู้ตายที่ 1 มีเพียงคนเดียว มีการชกต่อยและแทงกัน แต่พยานไม่ทราบว่าใครเป็นคนแทง และผู้ตายที่ 1 แทงสวนไปด้วย เมื่อผู้ตายที่ 1 ถอยออกมา นายนฤปนาทวิ่งตามผู้ตายที่ 1 ออกมา ผู้ตายที่ 1 จึงใช้อาวุธมีดแทงนายนฤปนาท และนายนฤปนาทใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 1 ทันที แม้นายวศินเบิกความว่า พยานไม่เห็นจำเลยวิ่งตามผู้ตายที่ 1 ไปก็ตาม แต่เมื่อจำเลยเบิกความรับว่าจำเลยวิ่งตามผู้ตายที่ 1 ไป และหลังเกิดเหตุจำเลยได้รับบาดเจ็บมีบาดแผลถูกอาวุธมีดแทงที่หน้าอกซ้าย1 แผล หน้าอกขวา 1 แผล และช่องท้อง 1 แผล เชื่อว่าเมื่อจำเลยวิ่งตามผู้ตายที่ 1 ไปทัน จำเลยได้เข้าร่วมชุลมุนชกต่อยกับผู้ตายที่ 1 ซึ่งระหว่างการชุลมุนมีการใช้อาวุธมีดแทงกันด้วย ประกอบกับผู้ตายที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธมีดแทงนายนฤปนาท ทำให้เชื่อว่าบาดแผลที่ถูกอาวุธมีดแทงของจำเลยเกิดจากผู้ตายที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงจำเลย เมื่อผู้ตายที่ 1 ถึงแก่ความตายเนื่องจากบาดแผลที่ถูกแทงด้วยอาวุธมีดโดยโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานรู้เห็นว่าจำเลยเป็นผู้ใช้อาวุธมีดแทงผู้ตายที่ 1 และนายนฤปนาทเป็นผู้ใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 1 หลังจากที่ผู้ตายที่ 1 ใช้อาวุธมีดแทงนายนฤปนาทแล้ว แต่กระสุนไม่ถูกผู้ตายที่ 1 โดยพลาดไปถูกผู้ตายที่ 2 ถึงแก่ความตาย เช่นนี้ เหตุการณ์ที่ผู้ตายที่ 1 ถูกอาวุธมีดแทงและนายนฤปนาทใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายที่ 1 จึงเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าอย่างกะทันหันโดยจำเลยมิได้คบคิดนัดหมายมาก่อน ถือไม่ได้ว่าจำเลยเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นและฐานฆ่าผู้อื่นโดยพลาด แต่เมื่อจำเลยมีเจตนาร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้ตายที่ 1 มาตั้งแต่ต้นและร่วมชุลมุนชกต่อยผู้ตายที่ 1 จำเลยจึงต้องรับผลแห่งการกระทำของพวกจำเลยและนายนฤปนาทด้วย การกระทำของจำเลยจึงเป็นตัวการร่วมกระทำความผิดฐานทำร้ายผู้ตายที่ 1 จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 และฐานร่วมกันทำร้ายผู้ตายที่ 2 จนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยพลาดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 60, 83 อันเป็นความผิดหลายอย่างซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นและฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นโดยพลาดตามที่โจทก์ฟ้อง และเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งศาลฎีกาลงโทษในความผิดดังกล่าวตามที่พิจารณาได้ความได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคท้าย ประกอบมาตรา 215 และมาตรา 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 83 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โดยไม่ปรับบทลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 60 และ 83 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย สำหรับความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เห็นว่า ทางนำสืบของโจทก์ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงว่าจำเลยรู้มาก่อนว่านายนฤปนาทพาอาวุธปืนของกลางติดตัวมาด้วย ทั้งขณะเกิดเหตุจำเลยไม่ได้ร่วมกับนายนฤปนาทยึดถือครอบครองอาวุธปืนของกลาง ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยมีส่วนร่วมกับนายนฤปนาทในการมีอาวุธปืนและกระสุนปืนของกลางไว้ในครอบครอง จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้ความผิดฐานดังกล่าว ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี ซึ่งต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่ปัญหาว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 185 วรรคหนึ่ง นั้น เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยข้อต่อไปมีว่า มีเหตุที่จะลงโทษจำคุกจำเลยในความผิดฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่นในสถานเบาหรือไม่ เห็นว่า เมื่อศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานร่วมกันทำร้ายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายและฐานร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ถึงแก่ความตายโดยพลาดแล้ว ศาลฎีกาต้องกำหนดโทษจำคุกจำเลยใหม่ กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่ามีเหตุลงโทษจำคุกจำเลยในสถานเบาหรือไม่อีก
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 และมาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 60 และ 83 การกระทำของจำเลยเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ซึ่งแต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 10 ปี เพิ่มโทษจำเลยหนึ่งในสาม เป็นจำคุก 13 ปี 4 เดือน ให้ยกฟ้องโจทก์ในความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 72 วรรคสาม ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8