โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 58, 60, 80, 83, 91, 288, 289, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ริบของกลาง นำโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ที่รอการลงโทษไว้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 254/2562 ของศาลชั้นต้น มาบวกกับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 คดีนี้ และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 511/2562 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่จำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้บวกโทษและนับโทษต่อ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 60, 80, 371 พระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคสาม, 72 ทวิ วรรคสอง ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยพลาด เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกตลอดชีวิต ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 6 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 6 เดือน ทางนำสืบของจำเลยทั้งสองเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน เปลี่ยนโทษจำคุกตลอดชีวิต เป็นจำคุก 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 53 แล้ว คงจำคุกคนละ 33 ปี 4 เดือน ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกคนละ 4 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกคนละ 4 เดือน รวมจำคุกคนละ 33 ปี 12 เดือน ส่วนที่โจทก์ขอให้บวกโทษจำคุก 4 เดือน ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 254/2562 ของศาลชั้นต้น เข้ากับโทษจำคุกของจำเลยที่ 2 ในคดีนี้นั้น เนื่องจากมีการนำโทษจำคุกที่รอการลงโทษไว้ในคดีดังกล่าวไปบวกกับโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 688/2562 ของศาลชั้นต้นแล้ว จึงให้ยกคำขอ นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ 511/2562 (หมายเลขแดงที่ 688/2562) ของศาลชั้นต้น ริบของกลาง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288 ประกอบมาตรา 60, 80 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นและฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยพลาด เป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานพยายามฆ่าผู้อื่นเพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 18 ปี ทางนำสืบของจำเลยที่ 1 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 12 ปี เมื่อรวมกับโทษฐานอื่นตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 12 ปี 8 เดือน ข้อหาอื่นนอกจากนี้สำหรับจำเลยที่ 1 ให้ยก ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 2 และให้ยกคำขอนับโทษต่อในส่วนจำเลยที่ 2 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์และจำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2562 เวลาประมาณ 24 นาฬิกา ขณะที่นายอิสระพงษ์ ผู้เสียหายที่ 1 กับนายตุ๊และนายวีระชิต นั่งดื่มและรับประทานอาหารที่หน้าร้านต้องใจคาราโอเกะที่เกิดเหตุ จำเลยที่ 1 และนางสาวกัญญาภัทร ภริยาเข้าไปนั่งดื่มและรับประทานอาหารภายในร้านที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นนายภัทรพงศ์ กับพวกเดินออกจากร้านที่เกิดเหตุเพื่อกลับบ้านและได้พูดกับนายตุ๊และนายวีระชิตว่าจำเลยที่ 1 พูดโวยวาย นายตุ๊และนายวีระชิตจึงชักชวนนายภัทรพงศ์กับพวกให้นั่งร่วมโต๊ะด้วย แล้วผู้เสียหายที่ 1 เดินเข้าไปภายในร้านที่เกิดเหตุพูดตักเตือนจำเลยที่ 1 จากนั้นจำเลยที่ 1 กับนางสาวกัญญาภัทรออกจากร้านที่เกิดเหตุไป ครั้นเวลาประมาณ 1 นาฬิกา ของวันที่ 15 เมษายน 2562 ร้านที่เกิดเหตุปิด ผู้เสียหายที่ 1 กับพวกจึงเข้าไปนั่งดื่มและรับประทานอาหารภายในร้านที่เกิดเหตุโดยปิดประตูร้านไว้ ซึ่งภายในร้านที่เกิดเหตุมีนายธีระวัฒน์ ผู้เสียหายที่ 2 นั่งดื่มและรับประทานอาหารกับหญิงบริการของร้านด้วย ต่อมาเวลาประมาณ 2 นาฬิกา มีคนมาขย่มประตูร้านที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นประมาณ 20 นาที ผู้เสียหายที่ 1 ไปเปิดประตูร้านที่เกิดเหตุโดยโผล่ศีรษะและลำตัวออกไปนอกประตูประมาณครึ่งลำตัว เห็นคนร้าย 2 คนยืนอยู่ที่ซุ้มนั่งรับประทานอาหารของร้านที่เกิดเหตุ คนร้ายคนหนึ่งพูดว่า ออกมาแล้ว ยิงตะ ๆ คนร้ายอีกคนหนึ่งจึงเล็งอาวุธปืนไปที่ผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 ปิดประตูร้านแล้ววิ่งเข้าไปในร้านที่เกิดเหตุ ขณะเดียวกันมีเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด กระสุนถูกผู้เสียหายที่ 1 บริเวณกลางหลัง และพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 2 บริเวณขาทั้งสองข้าง เป็นเหตุให้ผู้เสียหายทั้งสองได้รับอันตรายสาหัส ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตสำหรับจำเลยที่ 1 ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นและยังคงให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละไม่เกินห้าปี จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยที่ 1 ฎีกาว่าพยานหลักฐานโจทก์เท่าที่นำสืบยังมีข้อพิรุธมีเหตุสงสัยไม่น่าเชื่อถือว่าเป็นความจริง เห็นควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นคุณแก่จำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง นั้น เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค 8 อันเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติดังกล่าว ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยข้อแรกมีว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนร้ายหรือไม่ เห็นว่า โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 ซึ่งเป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า หลังจากที่คนร้ายขย่มประตูร้านที่เกิดเหตุนานประมาณ 20 นาที แล้ว ผู้เสียหายที่ 1 จึงไปเปิดประตูร้านโดยใช้มือขวาผลักประตูออกไปแล้วโผล่ศีรษะและยื่นลำตัวออกนอกประตูประมาณครึ่งลำตัว เห็นจำเลยที่ 1 ยืนอยู่ในซุ้มรับประทานอาหารห่างประมาณ 5 เมตร และเห็นชายอีกคนหนึ่งซึ่งมองไม่ออกว่าเป็นใครยืนห่างจากจำเลยที่ 1 ประมาณ 1 เมตร โดยหน้าร้านที่เกิดเหตุเปิดไฟนีออนหลอดยาวไว้ จากนั้นพวกของจำเลยที่ 1 พูดกับจำเลยที่ 1 ว่า ออกมาแล้ว ยิงตะ ๆ ผู้เสียหายที่ 1 เห็นจำเลยที่ 1 จ้องเล็งอาวุธปืนไปที่ผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 1 จึงรีบปิดประตูและได้ยินเสียงปืนดัง 2 ถึง 3 นัด ในลักษณะยิงต่อเนื่องกัน ผู้เสียหายที่ 1 ถูกยิงบริเวณหลัง เมื่อขณะเกิดเหตุบริเวณหน้าร้านที่เกิดเหตุเปิดไฟนีออนหลอดยาวไว้ ดังนี้ บริเวณหน้าร้านที่เกิดเหตุจึงมีแสงสว่างจากไฟฟ้าสามารถมองเห็นได้ชัดเจน จำเลยที่ 1 อยู่ห่างจากผู้เสียหายที่ 1 ประมาณ 5 เมตร ทั้งก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ได้พบและพูดกับจำเลยที่ 1 ที่ร้านที่เกิดเหตุ และหลังเกิดเหตุเมื่อพนักงานสอบสวนให้ผู้เสียหายที่ 1 ดูภาพของจำเลยที่ 1 จากข้อมูลทะเบียนราษฎร์ ผู้เสียหายที่ 1 ก็ยืนยันว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหาย เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 มีโอกาสเห็นและจดจำจำเลยที่ 1 ได้ว่าเป็นคนร้ายไม่ผิดตัว เมื่อขณะเกิดเหตุคนร้ายอีกคนหนึ่งยืนอยู่ห่างจากจำเลยที่ 1 ประมาณ 1 เมตร การที่ผู้เสียหายที่ 1 เห็นและจดจำจำเลยที่ 1 ได้ แสดงให้เห็นได้ว่าผู้เสียหายที่ 1 ต้องมีโอกาสเห็นและจดจำคนร้ายอีกคนหนึ่งซึ่งยืนอยู่บริเวณเดียวกับจำเลยที่ 1 ได้เช่นเดียวกัน ผู้เสียหายที่ 1 ให้การชั้นสอบสวน เมื่อวันที่ 22 เมษายน 2562 หลังเกิดเหตุเพียง 7 วัน ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ยืนอยู่กับจำเลยที่ 1 และพูดบอกจำเลยที่ 1 ว่า ออกมาแล้ว ยิงตะ ๆ กับยืนยันภาพจำเลยที่ 2 ว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 ประกอบกับผู้เสียหายที่ 1 รู้จักจำเลยที่ 2 มาตั้งแต่เกิดจนถึงปัจจุบัน เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 จดจำจำเลยที่ 2 ได้เช่นกัน ทั้งโจทก์มีร้อยตำรวจเอกประเทือง พนักงานสอบสวนเบิกความว่า ชั้นสอบสวนจำเลยที่ 2 ให้การมีข้อความตอนหนึ่งว่า เมื่อจำเลยที่ 2 เห็นจำเลยที่ 1 ขับรถเลี้ยวซ้ายไปทางบ่อล้อ จำเลยที่ 2 จึงเลี้ยวรถกลับไปที่ร้านที่อยู่ติดกับร้านที่เกิดเหตุเพื่อรอรับคนรักที่นั่งอยู่ในร้านอีกร้านหนึ่งทางทิศใต้ของร้านที่เกิดเหตุ หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ได้ขับรถคันเดิมกลับมาอีกครั้งหนึ่งและมาจอดที่หน้าร้านที่เกิดเหตุ จากนั้นลงจากรถเดินไปที่หน้าร้านที่เกิดเหตุและได้ยินเสียงปืนดังขึ้น 3 นัด จำเลยที่ 2 จึงเดินไปดูใกล้ ๆ บริเวณซุ้มของร้านที่เกิดเหตุ ระหว่างนั้นจำเลยที่ 1 เดินออกจากหน้าร้านที่เกิดเหตุและกลับไปขึ้นรถ แม้จำเลยที่ 2 เบิกความว่าจำเลยที่ 2 ไม่ได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนว่าจำเลยที่ 2 เห็นจำเลยที่ 1 กลับออกไปแล้วขับรถกระบะคันเดิมกลับมายังที่เกิดเหตุอีกครั้งก็ตาม แต่จำเลยที่ 2 ก็เบิกความลอย ๆ โดยไม่ได้แสดงถึงเหตุผลว่าเหตุใดจึงปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวในบันทึกคำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 2 ยังเบิกความตอบโจทก์ถามค้านว่า จำเลยที่ 2 ให้การเกี่ยวกับรายละเอียดต่าง ๆ ในบันทึกคำให้การจริง จึงฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ให้การชั้นสอบสวนด้วยความสมัครใจ คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 จึงรับฟังได้ ซึ่งข้อเท็จจริงจากคำให้การของจำเลยที่ 2 ดังกล่าวเท่ากับจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 อยู่บริเวณร้านที่เกิดเหตุ อันเป็นการสนับสนุนให้คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 ที่ยืนยันว่าจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายมีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่าผู้เสียหายที่ 1 เป็นญาติภริยาของจำเลยที่ 2 เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 เบิกความบ่ายเบี่ยงว่าจำเลยที่ 2 มิใช่คนร้ายเพื่อช่วยเหลือจำเลยที่ 2 คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 จึงเป็นจริงยิ่งกว่าคำเบิกความ ดังนี้ คำเบิกความและคำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายที่ 1 จึงรับฟังได้ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 แล้วพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 2 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นคนร้ายที่พูดกับจำเลยที่ 1 ว่า ออกมาแล้ว ยิงตะ ๆ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยถึงเหตุการณ์ที่คนร้ายขย่มประตูร้านที่เกิดเหตุและพูดในขณะขย่มประตูร้านที่เกิดเหตุกับเสียงของคนร้ายดังกล่าวเป็นเสียงของจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพราะไม่ทำให้ผลของการรับฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 1 เป็นคนร้ายเปลี่ยนแปลงไป
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อต่อไปมีว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการกระทำโดยไตร่ตรองไว้ก่อนหรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 1 เบิกความรับว่าก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายที่ 1 ได้พูดว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่ 1 จริง ประกอบกับผู้เสียหายที่ 1 ไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 1 มาก่อน จึงไม่เหตุที่จะต้องเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 1 เชื่อว่าผู้เสียหายที่ 1 เบิกความเกี่ยวกับเหตุการณ์ก่อนเกิดเหตุตามความเป็นจริง การที่ผู้เสียหายที่ 1 ว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 1 ออกไปจากร้านที่เกิดเหตุ โดยบอกผู้เสียหายที่ 1 ว่าอย่าไปไหน จำเลยที่ 1 จะกลับไปเอาปืนมายิง แล้วจำเลยที่ 1 ไปเอาอาวุธปืนกลับมายังร้านที่เกิดเหตุโดยใช้เวลาประมาณ 2 ชั่วโมง นับเป็นเวลาเพียงพอที่จำเลยที่ 1 สามารถระงับสติอารมณ์ทำให้ความไม่พอใจผู้เสียหายที่ 1 ที่ว่ากล่าวตักเตือนจำเลยที่ 1 ระงับสิ้นไปและกลับมามีสติสัมปชัญญะได้ ดังนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เดินทางกลับมายังร้านที่เกิดเหตุแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ 1 จึงมิใช่เป็นการตัดสินใจในทันทีทันใดนั้น พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ตระเตรียมการพร้อมที่จะกลับไปฆ่าผู้เสียหายที่ 1 จำเลยที่ 1 จึงมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ 1 โดยไตร่ตรองไว้ก่อน เมื่อผู้เสียหายที่ 1 ไม่ถึงแก่ความตายและกระสุนปืนพลาดไปถูกผู้เสียหายที่ 2 ซึ่งไม่ถึงแก่ความตายด้วย จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานฆ่าพยายามผู้เสียหายที่ 1 โดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ 2 โดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาด
ปัญหาต้องวินิจฉัยข้อสุดท้ายมีว่า จำเลยที่ 2 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 1 หรือไม่ เพียงใด เห็นว่า แม้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 2 อยู่ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ซุ้มรับประทานอาหารบริเวณร้านที่เกิดเหตุก็ตาม แต่โจทก์ไม่มีพยานมานำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมคบคิดกับจำเลยที่ 1 ที่จะใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองมาตั้งแต่แรก การที่จำเลยที่ 1 มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครอง พาอาวุธปืน และใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายทั้งสองจึงเป็นเรื่องเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน และฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาด อย่างไรก็ตาม การที่จำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ว่า ออกมาแล้ว ยิงตะ ๆ เป็นการยุยงส่งเสริมให้จำเลยที่ 1 ฆ่าผู้เสียหายทั้งสองโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาด อันเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้กระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 84 ดังนี้ จะลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนและฐานร่วมกันพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนโดยพลาดไม่ได้ เพราะข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาเป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 ก่อให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิด เป็นการแตกต่างกันในข้อสาระสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง แต่การที่จำเลยที่ 2 บอกจำเลยที่ 1 ให้ยิงผู้เสียหายที่ 1 เป็นการช่วยเหลือหรือให้ความสะดวกให้ผู้อื่นกระทำความผิดเป็นความผิดฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 ด้วย ซึ่งศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 2 ได้เพราะโทษเบากว่าความผิดฐานเป็นตัวการจึงไม่เป็นการเกินคำขอหรือที่มิได้กล่าวในฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคสอง ประกอบมาตรา 215 และ 225 ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 8 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน ฎีกาจำเลยที่ 1 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 289 (4) ประกอบมาตรา 60, 80 จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 289 (4) ประกอบมาตรา 80, 86, 289 (4) ประกอบมาตรา 60, 80, 86 และไม่ปรับบทประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ในความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุสมควรและโดยไม่ได้รับใบอนุญาตสำหรับจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไต่รตรองไว้ก่อน และลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานเป็นผู้สนับสนุนการกระทำความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อนแต่เพียงบทเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิต จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน ลดโทษให้จำเลยทั้งสองคนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ประกอบมาตรา 53 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 4 เดือน คงจำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 22 ปี 2 เดือน 20 วัน เมื่อรวมกับโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานมีอาวุธปืนที่เป็นของผู้อื่นซึ่งได้รับใบอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมายและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8 แล้ว เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 33 ปี 12 เดือน นับโทษจำคุกจำเลยที่ 2 คดีนี้ต่อจากโทษจำคุกของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 688/2562 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 8