โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 358, 360พระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 43, 105, 135, 148, 154, 155พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 5, 8, 12, 43, 44กฎกระทรวง ฉบับที่ 1 (พ.ศ. 2512) ออกตามความในพระราชบัญญัติโรงงานพ.ศ. 2512 บัญชีท้ายกฎกระทรวงลำดับที่ 42 ให้โรงงานของจำเลยทั้งเก้าหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาต ริบของกลาง จ่ายสินบนนำจับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งเก้าให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 43, 105, 135วรรคหนึ่ง, 148 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 ต่างกรรมกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานร่วมกันทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับประทานบัตรชั่วคราว จำคุกคนละ 1 ปีปรับคนละ 9,000 บาท ความผิดฐานร่วมกันมีแร่ไว้ในครอบครองเกินกว่า 2 กิโลกรัม ปรับคนละ 30 บาท จำเลยที่ 8 และที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 4, 43, 105, 134, 148ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 86 พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512มาตรา 5, 8, 12, 43, 44 ต่างกรรมกัน ให้เรียงกระทงลงโทษความผิดฐานร่วมกันสนับสนุนทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับประทานบัตรชั่วคราวจำคุกคนละ 8 เดือน ปรับคนละ 6,000 บาท ความผิดฐานร่วมกันมีแร่ไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับคนละ 30 บาทความผิดฐานร่วมกันตั้งโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ 30,000บาท ความผิดฐานร่วมกันประกอบกิจการโรงงานโดยไม่ได้รับอนุญาตปรับคนละ 30,000 บาท รวมลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 จำคุกคนละ 1 ปี และปรับคนละ 9,030 บาท ส่วนจำเลยที่ 8 และที่ 9 จำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ 66,030 บาท ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามเฉพาะจำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 คงจำคุกคนละ 8 เดือน และปรับคนละ6,020 บาท ส่วนจำเลยที่ 8 และที่ 9 จำคุกคนละ 5 เดือน 10 วันและปรับคนละ 44,020 บาท รอการลงโทษไว้มีกำหนดคนละ 2 ปี หากจำเลยคนใดไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30ให้จำเลยทั้งเก้าหยุดประกอบกิจการโรงงานจนกว่าจะได้รับใบอนุญาต ของกลางริบ คำขอเรื่องสินบนนำจับและข้อหาอื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามฟ้อง จำเลยที่ 4 ที่ 5และที่ 6 อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา 148 วรรคหนึ่ง และจำเลยที่ 8 และที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510 มาตรา135 วรรคหนึ่ง, 148 วรรคหนึ่ง ประกอบกับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 ให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 8 ที่ 9 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติโรงงาน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามฟ้อง
ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว สำหรับความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358, 360 นั้น ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยทั้งเก้า ความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้อง สำหรับจำเลยที่ 1ถึงที่ 7 ยืนตามศาลชั้นต้น และความผิดฐานเป็นตัวการในการทำเหมืองแร่โดยไม่ได้รับประทานบัตรตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2510ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 8 ที่ 9 ยืนตามศาลชั้นต้นดังนั้นในความผิดตามข้อหาของจำเลยแต่ละคนข้างต้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 220 ที่โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทั้งเก้าตามฟ้องนั้น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในความผิดที่ต้องห้ามตามที่กล่าวแล้ว คดีคงมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์เพียงว่า จำเลยที่ 8 ที่ 9 จะมีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 5, 8, 12, 43 และ 44ตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษาหรือไม่
ในปัญหาดังกล่าว ข้อเท็จจริงที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยโดยไม่มีฝ่ายใดโต้แย้งและที่โจทก์นำสืบมาโดยจำเลยมิได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นนั้น ฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 8 ที่ 9 จำเลยที่ 1 ถึงที่ 7 ได้ใช้เครื่องจักร2 เครื่อง มีกำลัง 3 แรงม้าและ 8 แรงม้า เจาะพื้นดินและสูบน้ำนำแร่เกลือหินขึ้นมาจากใต้ดิน เพื่อมาทำเป็นเกลือสินเธาว์โดยเครื่องจักรนั้นมีเต็นท์กางไว้ กิจการดังกล่าวเป็นของจำเลยที่ 8ที่ 9 ศาลฎีกาเห็นว่า ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 ได้ให้คำนิยามของคำว่า "โรงงาน" ไว้ในมาตรา 5 ว่า "โรงงาน" หมายความว่าอาคารสถานที่หรือยานพาหนะที่ใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมตั้งแต่สองแรงม้าหรือกำลังเทียบเท่าตั้งแต่สองแรงม้าขึ้นไป... เพื่อใช้สำหรับทำ ผลิต ประกอบ บรรจุ ซ่อม ซ่อมบำรุง ทดสอบ ปรับปรุงแปรสภาพหรือทำลายสิ่งใด ๆ ทั้งนี้ตามประเภทหรือชนิดของโรงงานที่กำหนดในกฎกระทรวง" คำว่า อาคารอย่างเดียวนั้นเป็นที่เห็นได้ว่าจะต้องเป็นสิ่งที่ตั้งอยู่ในสถานที่ ถ้าไม่มีสถานที่แล้วก็ไม่อาจที่จะมีอาคารเกิดขึ้นได้ ความหมายของคำว่าอาคารจึงต้องหมายถึงอาคารที่ตั้งอยู่ในสถานที่ การที่บทบัญญัติของมาตรานี้ใช้คำว่า อาคารสถานที่ จึงเป็นข้อที่ทำให้เห็นว่าจะให้มีความหมายในทางที่กว้างกว่าคำว่าอาคารคำเดียว เพื่อให้ความมุ่งหมายในการใช้กฎหมายฉบับนี้มีผลในทางที่จะควบคุมและป้องกันความเดือดร้อนรำคาญในการประกอบกิจการที่เป็นโรงงาน ดังนั้นคำว่าอาคารสถานที่ตามบทบัญญัติของมาตรานี้จึงหมายความรวมไปถึงสถานที่ที่ตั้งเครื่องจักรเพื่อการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่กำหนดไว้ในมาตรานี้ตอนท้ายด้วย โดยไม่จำเป็นที่จะต้องมีตัวอาคารที่ถาวรมิฉะนั้นการตั้งเครื่องจักรขนาดใหญ่แปรรูปไม้อยู่ในป่าก็ดี หรือการผลิตเสาเข็มหรืออุปกรณ์การก่อสร้างต่าง ๆ ที่กระทำกลางแจ้งก็ดีจะไม่มีทางที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับได้ ดังนั้นการที่จำเลยที่ 8 ที่ 9 ประกอบกิจการสูบน้ำนำแร่เกลือหินขึ้นมาจากใต้ดินเพื่อนำมาทำเป็นเกลือสินเธาว์ จึงเป็นการแปรสภาพหรือทำลายสิ่งใด ๆ โดยใช้เครื่องจักรมีกำลังรวมกันตั้งแต่สองแรงม้าขึ้นไป จึงเป็นการตั้งโรงงานและประกอบกิจการโรงงาน เมื่อจำเลยที่ 8 ที่ 9 ไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน การกระทำของจำเลยที่ 8 ที่ 9 จึงเป็นความผิดตามที่ศาลชั้นต้นพิพากษา
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 8 ที่ 9 มีความผิดตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2512 มาตรา 5, 8, 12, 43 วรรคหนึ่ง44 วรรคหนึ่ง ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.