โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 1,452,986.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,391,238 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้มีคำพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้แก่โจทก์ และยกฟ้องจำเลยที่ 2
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 1,452,986.09 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ของต้นเงิน 1,391,238 บาท นับถัดจากวันที่ 1 เมษายน 2565 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 3,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นสามีของจำเลยที่ 1 จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 28 กันยายน 2537 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2553 จำเลยที่ 1 ยื่นแบบคำขอกู้และรับรองสิทธิโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. จากธนาคาร อ. วันที่ 5 ตุลาคม 2553 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้ยืมเงินเพื่อการบริโภคสินเชื่อโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. 6 วงเงิน 1,200,000 บาท จากธนาคาร อ. และได้รับเงินกู้ไปแล้ว มีนางพรทิพย์ และโจทก์ค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ผิดนัดไม่ชำระหนี้โดยชำระหนี้ครั้งสุดท้ายวันที่ 25 มิถุนายน 2558 จากนั้นวันที่ 9 กันยายน 2558 ธนาคาร อ. ฟ้องจำเลยที่ 1 นางพรทิพย์และโจทก์ต่อศาลจังหวัดพะเยาเป็นคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.2539/2558 ศาลมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ผบ. 3159/2558 เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2558 จำเลยที่ 1 ไม่ชำระหนี้ ธนาคาร อ. ยึดที่ดินโฉนดเลขที่ 508 พร้อมสิ่งปลูกสร้างของโจทก์เพื่อบังคับคดี โจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยแก่ธนาคาร อ. วันที่ 10 พฤษภาคม 2564 เป็นเงิน 1,374,292 บาท และวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 โจทก์ชำระค่าธรรมเนียมถอนการยึดทรัพย์แก่สำนักงานบังคับคดีจังหวัดพะเยาอีก 16,946 บาท รวมเป็นเงิน 1,391,238 บาท
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ต่อโจทก์หรือไม่ เห็นว่า การที่จำเลยที่ 1 ยื่นแบบคำขอกู้และรับรองสิทธิโครงการสวัสดิการเงินกู้ ช.พ.ค. ระบุวัตถุประสงค์ไว้ในข้อ 3 ว่าเพื่อชำระหนี้และทุนการศึกษาบุตร แสดงว่าหนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินดังกล่าวเป็นหนี้เกี่ยวแก่การศึกษาของบุตรตามสมควรแก่อัตภาพ โดยจำเลยที่ 2 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องในสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนแนบท้ายแบบคำขอกู้ดังกล่าว อันแสดงว่าจำเลยที่ 2 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาทำสัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้น หนี้ที่จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินดังกล่าวจึงเป็นหนี้ร่วมระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1490 (1) ซึ่งจำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องร่วมกันรับผิดต่อธนาคาร อ. ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1489 แต่เมื่อได้ความว่าในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ผบ.2539/2558 ที่ธนาคาร อ. ฟ้องจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้กู้ และนางพรทิพย์กับโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันเป็นจำเลยต่อศาลจังหวัดพะเยานั้น ต่อมาธนาคาร อ. จำเลยที่ 1 นางพรทิพย์และโจทก์ได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามยอมเป็นคดีหมายเลขแดงที่ ผบ.3159/2558 และคดีถึงที่สุดแล้ว ผลของสัญญาประนีประนอมยอมความย่อมทำให้สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวระงับสิ้นไป โดยธนาคาร อ. ได้ถือสิทธิใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 852 การที่จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นภริยาของจำเลยที่ 2 ทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับธนาคาร อ. โดยจำเลยที่ 2 ไม่ได้ร่วมด้วย สัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าวไม่มีผลผูกพันจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ไม่ใช่คู่สัญญาในสัญญาประนีประนอมยอมความ จึงไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามสัญญากับโจทก์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 เพื่อการใช้สิทธิไล่เบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 693 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ