โจทก์ทั้งสองฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 264, 265, 266, 268, 341
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่าคดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 265, 341 จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341 ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานใช้แบบส่งเงินอายัดอันเป็นเอกสารราชการปลอมและฐานฉ้อโกง เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานใช้แบบส่งเงินอายัดอันเป็นเอกสารราชการปลอม ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุก 3 ปี ฐานใช้หลักฐานใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) อันเป็นเอกสารราชการปลอม จำคุก 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 2 ปี ทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 คนละ 1 ปี 4 เดือน (ที่ถูก ข้อหาอื่นให้ยก)
โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 วรรคแรก, 265, 268 วรรคแรก ประกอบมาตรา 264 วรรคแรก อีกบทด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม (แบบส่งเงินอายัด) และความผิดฐานฉ้อโกง (ที่ถูก ต้องระบุว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง ความผิดฐานปลอมเอกสารและใช้เอกสารปลอม (แบบส่งเงินอายัด) และความผิดฐานฉ้อโกง) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานฉ้อโกง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 (ที่ถูก เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีระวางโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานฉ้อโกงเพียงบทเดียว) จำคุก 3 ปี ความผิดฐานปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม (ใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ ภ.บ.ท. 5) จำเลยที่ 1 เป็นผู้ปลอมเอกสารราชการและใช้เอกสารราชการปลอม ให้ลงโทษฐานใช้เอกสารราชการปลอมแต่กระทงเดียวตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268 วรรคสอง จำคุก 3 ปี ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกฐานฉ้อโกง 2 ปี ฐานใช้เอกสารราชการปลอมใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ 2 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 4 ปี ให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำหรับจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ในส่วนที่โจทก์ทั้งสองไม่ได้ฎีกาโต้แย้งว่า โจทก์ทั้งสองประกอบกิจการซื้อขายรถยนต์บรรทุก จำเลยที่ 3 เคยซื้อรถยนต์บรรทุกจากโจทก์ทั้งสองลักษณะผ่อนส่ง จำเลยที่ 1 เป็นบุตรของจำเลยที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 2 เป็นบุตรสะใภ้ของจำเลยที่ 3 และเป็นน้องสะใภ้ของจำเลยที่ 1 โจทก์ทั้งสองรู้จักจำเลยที่ 1 และที่ 2 เนื่องจากเคยนำเงินมาชำระค่ารถยนต์บรรทุก ก่อนเกิดเหตุจำเลยที่ 1 และที่ 3 ถูกฟ้องขับไล่ออกจากที่ดินและบ้านเลขที่ 259 คดีถึงที่สุดโดยศาลพิพากษาให้ขับไล่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ออกจากที่ดินพร้อมให้ชดใช้ค่าเสียหาย และธนาคาร ก. ส่งเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 1 จำนวน 300,000 บาท มาให้ผู้อำนวยการสำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรี ตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 นำสำเนาแบบส่งเงินอายัดของธนาคาร ก. มาแก้ไขจำนวนเงินจาก 300,000 บาท เป็น 116,000,000 บาท แล้วจำเลยที่ 1 ส่งเอกสารที่ทำปลอมขึ้นดังกล่าวไปให้โจทก์ที่ 1 ทางแอปพลิเคชันไลน์เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการหลอกลวงโจทก์ทั้งสองว่าจำเลยที่ 1 มีสิทธิจะได้รับเงินตามคำสั่งอายัดจำนวน 116,000,000 บาท และขอกู้ยืมเงินจากโจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง จึงให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงินรวม 17,650,000 บาท โดยมอบเช็คให้จำเลยที่ 1 จำนวน 2 ฉบับ และทยอยโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 จำนวน 11 ครั้ง บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 3 จำนวน 57 ครั้ง ตามใบรับรองรายการสำเนาเช็คและรายการโอนเงินผ่านระบบธนาคาร และจำเลยที่ 1 ปลอมใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ขององค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ แล้วจำเลยที่ 1 นำเอกสารที่ทำปลอมขึ้นดังกล่าวพร้อมหนังสือสัญญาซื้อขายที่ดินและหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อไว้ในฐานะผู้ขายและผู้มอบอำนาจ รวมทั้งสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองสำเนาถูกต้องมามอบให้โจทก์ที่ 1 เพื่อให้โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อยิ่งขึ้นว่าจำเลยที่ 1 มีที่ดินเนื้อที่ 72 ไร่ ราคาไร่ละ 300,000 บาท เป็นประกันการชำระหนี้ ซึ่งเป็นความเท็จ เพราะองค์การบริหารส่วนตำบลห้วยสัตว์ใหญ่ตรวจสอบแล้วพบว่าที่ดินตามใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) ที่จำเลยที่ 1 ทำปลอมขึ้น มีนางมีนา นางสาวชญากรณ์ และนางเอมอร เป็นผู้ครอบครอง โดยมีเนื้อที่เพียง 10 ไร่ ตามหนังสือตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ (ภ.บ.ท. 5)
มีปัญหาข้อเท็จจริงต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า โจทก์ทั้งสองเบิกความถึงพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ที่เข้ามาเกี่ยวข้องกับโจทก์ทั้งสองได้ความเพียงว่า ก่อนเกิดเหตุโจทก์ทั้งสองรู้จักจำเลยที่ 3 เพราะจำเลยที่ 3 เคยมาซื้อรถยนต์บรรทุกที่ร้านของโจทก์ทั้งสอง และรู้จักจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 3 และจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุตรสะใภ้ของจำเลยที่ 3 เนื่องจากเคยนำเงินมาชำระค่ารถยนต์บรรทุก และตามวันเวลาเกิดเหตุ จำเลยที่ 2 และที่ 3 เคยเดินทางไปพบโจทก์ทั้งสองพร้อมกับจำเลยที่ 1 แต่ก็ไม่ปรากฏรายละเอียดว่าขณะจำเลยที่ 2 และที่ 3 มาพบโจทก์ทั้งสองพร้อมกับจำเลยที่ 1 ตามวันเวลาเกิดเหตุนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีพฤติการณ์ร่วมกับจำเลยที่ 1 นำแบบส่งเงินอายัดปลอมมาหลอกลวงโจทก์ทั้งสองหรือไม่ อย่างไร นอกจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้บัญชีเงินฝากของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพื่อรับเงินกู้ยืมที่โจทก์ทั้งสองโอนมาให้จำเลยที่ 1 ตามที่ถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวง ประกอบกับโจทก์ทั้งสองเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่า หลังจากโจทก์ทั้งสองโอนเงินให้จำเลยที่ 1 แล้ว จำเลยที่ 1 มาทำสัญญากู้เงินกับโจทก์ที่ 1 หลายครั้ง ต่อมาโจทก์ที่ 1 ได้รวมเงินตามสัญญากู้เงินมาทำเป็นสัญญากู้เงินฉบับใหม่ซึ่งโจทก์ที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้ให้กู้ ผู้เขียนและพยาน จำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ที่ลงลายมือชื่อเป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินทุกฉบับ โดยไม่ปรากฏลายมือชื่อของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้กู้ในสัญญากู้เงินเลย ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าโจทก์ทั้งสองติดต่อเรื่องการกู้ยืมเงินกับจำเลยที่ 1 เพียงคนเดียว โดยโจทก์ทั้งสองรู้จักจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะเป็นผู้เคยค้าเท่านั้น แม้จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีพฤติการณ์ยินยอมให้จำเลยที่ 1 ใช้บัญชีเงินฝากของตนเพื่อรับเงินกู้ยืมที่โจทก์ทั้งสองโอนมาให้จำเลยที่ 1 ตามที่ถูกจำเลยที่ 1 หลอกลวง แต่ก็ไม่เพียงพอให้เป็นเหตุระแวงสงสัยว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามฟ้องหรือเป็นผู้สนับสนุนให้จำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานฉ้อโกงตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสองในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองว่า แบบส่งเงินอายัด และใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) เป็นเอกสารสิทธิและเอกสารราชการหรือไม่ สำหรับแบบส่งเงินอายัด ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า แบบส่งเงินอายัดเป็นเอกสารที่ธนาคาร ก. จัดส่งเงินฝากในบัญชีของจำเลยที่ 1 มาให้สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเพชรบุรี ตามคำสั่งอายัดเงินของจำเลยที่ 1 ในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ 326/2558 ของศาลจังหวัดเพชรบุรี ไม่ใช่เอกสารซึ่งเจ้าพนักงานได้ทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ รวมทั้งไม่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (8) และ (9) จึงเป็นเอกสารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (7) เท่านั้น ส่วนใบเสียภาษีบำรุงท้องที่ (ภ.บ.ท. 5) เป็นเอกสารที่เจ้าพนักงานได้ทำขึ้นในหน้าที่เพื่อมอบให้แก่ผู้ครอบครองที่ดินเป็นหลักฐานในการชำระภาษีบำรุงท้องที่ จึงเป็นเอกสารราชการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (8) แต่ไม่เป็นเอกสารที่เป็นหลักฐานแห่งการก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวนหรือระงับซึ่งสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 1 (9) สำหรับปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองประการต่อไปว่า การกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร (แบบส่งเงินอายัด) ใช้เอกสารปลอม (แบบส่งเงินอายัด) และฉ้อโกงของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องข้อ 1.1 ถึงข้อ 1.70 ของโจทก์ทั้งสองเป็นการกระทำความผิดหลายกรรมต่างกันหรือไม่ เห็นว่า แม้โจทก์ทั้งสองจะแยกบรรยายคำฟ้องถึงการกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร (แบบส่งเงินอายัด) ใช้เอกสารปลอม (แบบส่งเงินอายัด) และฉ้อโกงของจำเลยที่ 1 เป็น 70 ข้อ แต่การกระทำของจำเลยที่ 1 ตามคำฟ้องในแต่ละข้อล้วนเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกันโดยมีเจตนาอย่างเดียวเพื่อหลอกลวงให้โจทก์ทั้งสองหลงเชื่อว่าแบบส่งเงินอายัดที่จำเลยที่ 1 ทำปลอมขึ้นและนำมาใช้อ้างเป็นเอกสารที่แท้จริง โจทก์ทั้งสองจะได้ตกลงให้จำเลยที่ 1 กู้ยืมเงิน การที่โจทก์ทั้งสองทยอยมอบเงินกู้ยืมให้แก่จำเลยที่ 1 ในแต่ละครั้ง รวม 70 ครั้ง เป็นเงินจำนวน 17,650,000 บาท เป็นการกระทำต่อเนื่องกันด้วยเจตนาอย่างเดียวเพื่อที่จะฉ้อโกงโจทก์ทั้งสอง การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นการกระทำกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษาชอบแล้ว ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ทั้งสองข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษายืน