โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 3, 8 พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 91, 97 เพิ่มโทษจำเลยตามกฎหมาย
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ แต่รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่งและวรรคสาม (2), 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันตามฟ้อง ข้อ ก. และฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง ข้อ ข. กับฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง ข้อ ค. และ ข้อ ง. เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง ข้อ ข. กับฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง ข้อ ค. และ ข้อ ง. รวม 3 กระทง จำคุกกระทงละ 4 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน เพิ่มโทษตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 97 กระทงละกึ่งหนึ่ง ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง ข้อ ข. กับฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้อง ข้อ ค. และข้อ ง. รวม 3 กระทง เป็นจำคุกกระทงละ 6 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน เป็นจำคุก 9 เดือน รวมจำคุก 18 ปี 9 เดือน ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 9 ปี 4 เดือน 15 วัน
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติด พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคสาม (2), 57, 66 วรรคหนึ่ง, 91 ความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่ลดโทษให้ เมื่อรวมกับโทษฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว เป็นจำคุก 6 ปี 4 เดือน 15 วัน ให้ยกฟ้องฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกันกับฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นนี้รับฟังได้ว่า ก่อนเกิดเหตุเจ้าพนักงานตำรวจสืบทราบว่า บ้านเลขที่ 262 ซึ่งเป็นบ้านของจำเลย มีกลุ่มคนมั่วสุมเสพยาเสพติดและอาจมียาเสพติดซุกซ่อนอยู่ วันเกิดเหตุตามฟ้องเวลา 14.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจเดินทางไปตรวจสอบที่บ้านหลังดังกล่าว พบนางสาวปิยธิดา คนรักของจำเลย กับนายศีลไม่ทราบชื่อและชื่อสกุลจริง อยู่ภายในห้องนอนพร้อมอุปกรณ์การเสพเมทแอมเฟตามีน จากการตรวจสอบโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนางสาวปิยธิดาพบว่า ก่อนเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจค้นไม่เกิน 2 ชั่วโมง นางสาวปิยธิดาส่งข้อความทางแอปพลิเคชันเมสเซนเจอร์ โต้ตอบกับจำเลยได้ความว่า นางสาวปิยธิดาสอบถามที่ซ่อนของเมทแอมเฟตามีน จำเลยแจ้งว่ามีเมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด อยู่ในถุงผ้าบริเวณหลังบ้าน และมีเมทแอมเฟตามีนอีก 19 เม็ด อยู่ในกล่องลูกอมวางอยู่ที่ห้องนอน เจ้าพนักงานตำรวจตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวเป็นของกลาง ก่อนหน้านั้นเวลา 0.30 นาฬิกา จำเลยให้เมทแอมเฟตามีน 2 เม็ด แก่นางสาวปิยธิดาเพื่อเสพ ต่อมาเวลา 16.30 นาฬิกา เจ้าพนักงานตำรวจติดตามจับกุมจำเลยได้ที่โรงแรม จำเลยให้การรับสารภาพเฉพาะข้อหาเสพเมทแอมเฟตามีน สำหรับความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพและไม่มีคู่ความอุทธรณ์ ส่วนความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ไม่มีคู่ความฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานสมคบโดยตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน และฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมายนั้น ศาลฎีกาจะต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยมาแล้วจากพยานหลักฐานในสำนวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 222 ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.2550 มาตรา 3 ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยกับนางสาวปิยธิดาส่งข้อความทางแอปพลิเคชันเมสเซนเจอร์โต้ตอบกันเนื่องจากนายศีลไปขอซื้อเมทแอมเฟตามีนจากนางสาวปิยธิดาที่บ้านของจำเลย แต่นางสาวปิยธิดาไม่ทราบว่าจำเลยซุกซ่อนไว้ที่ใด บ่งชี้ว่านางสาวปิยธิดาทราบดีว่าจำเลยเก็บเมทแอมเฟตามีนไว้ภายในบ้านและนางสาวปิยธิดาต้องการนำเมทแอมเฟตามีนไปจำหน่ายแก่นายศีล ส่วนจำเลยก็ประสงค์ให้นางสาวปิยธิดานำเมทแอมเฟตามีนที่จำเลยเก็บไว้ไปจำหน่ายให้แก่นายศีลเช่นกัน พฤติการณ์ดังกล่าวจึงเป็นการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด อันเป็นความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด เมื่อจำเลยกับนางสาวปิยธิดาสมคบกันเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิดโดยร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย การที่จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จึงเป็นการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ส่วนการที่จำเลยแบ่งเมทแอมเฟตามีนให้แก่นางสาวปิยธิดาเสพที่บ้านของจำเลยและให้นางสาวปิยธิดาจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแก่ลูกค้าผู้ซื้อไปด้วย จึงเป็นการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกัน ไม่ถือว่าเป็นการจำหน่าย เพราะคำว่า จำหน่ายตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 หมายถึง การจำหน่ายให้แก่บุคคลภายนอกที่มิใช่ผู้กระทำความผิดด้วยกัน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดฐานสมคบกันเพื่อกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดและได้มีการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดเพราะเหตุที่ได้มีการสมคบกัน ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ.2534 มาตรา 8 วรรคสอง เป็นกรรมเดียวกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย ซึ่งแต่ละบทมีระวางโทษเท่ากันให้ลงโทษฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ส่วนโทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์