โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนหนังสือค้ำประกันของธนาคาร อ. สาขาเสนา และหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ท. สาขาเทสโก้ โลตัส เสนา หากไม่สามารถคืนได้ให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 14,500,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2556 ดอกเบี้ยนับถึงวันฟ้องคิดเป็นเงิน 4,984,375 บาท รวมเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นเงิน 19,484,375 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 14,500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันชำระเงิน 7,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 60,000 บาท เฉพาะค่าขึ้นศาลให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันใช้แทนตามจำนวนทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 3 ถึงที่ 5 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังได้ว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนายธนวัฒน์หรือธนผล เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการคนหนึ่งที่มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด มีจำเลยที่ 4 เป็นกรรมการที่มีอำนาจลงลายมือชื่อร่วมกับกรรมการอื่นอีก 1 คน กระทำการแทน โจทก์เป็นผู้ทำสัญญารับจ้างก่อสร้างบ้านโครงการบ้านเอื้ออาทร ร. กับการเคหะแห่งชาติในราคา 163,920,000 บาท ต่อมาโจทก์ว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 รับจ้างช่วงก่อสร้างบ้านโครงการดังกล่าวต่อในราคา 145,000,000 บาท โดยมีข้อตกลงให้จำเลยที่ 1 เบิกเงินค่าจ้างล่วงหน้าเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามสัญญาเป็นเงิน 14,500,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์หักเงินค่าจ้างที่จำเลยที่ 1 จะได้รับตามสัญญาเป็นจำนวนร้อยละ 20 ของค่าจ้างทุกงวด (ยกเว้นงวดสุดท้าย) เพื่อชดใช้คืนเงินค่าจ้างล่วงหน้า โดยจำเลยที่ 1 นำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร อ. สาขาเสนา เลขที่ 0420 - 00037/2553 ลงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2553 วงเงินค้ำประกัน 7,250,000 บาท มาวางเพื่อเป็นหลักประกันการปฏิบัติตามสัญญา และนำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ท. สาขาเทสโก้ โลตัส เสนา เลขที่ ค.47600006665000 ลงวันที่ 16 ธันวาคม 2553 วงเงินค้ำประกัน 7,250,000 บาท มาวางเป็นหลักประกันที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างล่วงหน้ามอบแก่โจทก์ ต่อมาได้มีการยกเลิกหนังสือค้ำประกันทั้งสองฉบับเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคม 2555 และวันที่ 27 กันยายน 2555 ตามลำดับ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ในประเด็นที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ต้องร่วมกันชำระเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 เบิกไปเป็นเงิน 7,250,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยคืนให้แก่โจทก์เพียงใด โดยโจทก์ฎีกาสำหรับจำเลยที่ 1 ว่า โจทก์ยังไม่ได้หักเงินจากค่าจ้างเพื่อหักชำระเป็นค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 เบิกไปจากโจทก์ เนื่องจากโจทก์โอนสิทธิเรียกร้องในเงินค่าจ้างที่จะได้รับจากการเคหะแห่งชาติให้แก่ธนาคาร ก. ไปตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2553 แล้ว สำเนาใบตรวจการก่อสร้างและเบิกจ่ายเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 มีข้อพิรุธ เพราะหากสำเนาใบตรวจการก่อสร้างและเบิกจ่ายครั้งอื่นสูญหายไปเพราะเหตุน้ำท่วมในปี 2554 สำเนาใบตรวจการก่อสร้างและเบิกจ่ายดังกล่าวก็ควรต้องสูญหายไปด้วย เพราะน่าจะอยู่ในแฟ้มเดียวกัน เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นแล้วว่า จำเลยที่ 1 นำหนังสือค้ำประกันมาวางไว้แก่โจทก์ ทั้งตามคำให้การหน้า 8 ของจำเลยที่ 3 และที่ 4 ก็ให้การยอมรับว่า จำเลยที่ 1 นำหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ท. สาขาเทสโก้ โลตัส เสนา วงเงินค้ำประกัน 7,250,000 บาท มาวางเป็นหลักประกันที่จำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าตามสำเนาหนังสือสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย ล.9 นอกจากนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ยังยืนยันอีกว่า โจทก์จ่ายเงินค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 เพียง 7,250,000 บาท ทั้งโจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาในประเด็นว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าไป 14,500,000 บาท ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าจ้างล่วงหน้าไปจากโจทก์เป็นเงิน 7,250,000 บาท ส่วนที่โจทก์ฎีกาต่อมาว่าจำเลยที่ 1 ยังมิได้ชำระเงินค่าจ้างล่วงหน้าคืนให้แก่โจทก์นั้น โจทก์คงมีแต่คำกล่าวอ้างลอย ๆ ส่วนจำเลยที่ 3 และที่ 4 มีหลักฐานเป็นสำเนาหนังสือขอส่งมอบงานและขอเบิกเงินค่างานก่อสร้าง ครั้งที่ 2 เอกสารหมาย ล.8 ที่จำเลยที่ 1 ส่งถึงโจทก์ ตามเอกสารดังกล่าวแผ่นที่ 2 ในช่องรายการเบิกจ่าย ข้อ 2 การหัก/ค่าจ้างตามเงื่อนไขสัญญา มีข้อความระบุรายละเอียดของการหักเงินค่าจ้างล่วงหน้าร้อยละ 20 ของงวดงานที่ส่งในครั้งนี้ เป็นเงิน 1,450,000 บาท แม้ตามจำนวนเงินดังกล่าวจะเป็นการคำนวณร้อยละ 20 ของเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่โจทก์จ่ายให้แก่จำเลยที่ 1 ไปก็ตาม แต่ก็แสดงให้เห็นว่า ในการขอเบิกเงินค่าก่อสร้าง จำเลยที่ 1 ได้ทำหนังสือขอเบิกเงินค่าก่อสร้าง โดยยินยอมให้โจทก์หักเงินต่าง ๆ ตามเงื่อนไขในสัญญา ซึ่งรวมถึงเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่จำเลยที่ 1 รับมาก่อนแล้ว จึงเป็นเหตุผลต่อเนื่องให้โจทก์สามารถส่งมอบงานให้แก่การเคหะแห่งชาติ เบิกเงินค่าก่อสร้างและออกใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีให้แก่การเคหะแห่งชาติตามเอกสารหมาย ล.8 แผ่นที่ 4 นอกจากนั้นจำเลยที่ 3 และที่ 4 ยังมีสำเนาหนังสือขอส่งมอบงานและขอเบิกเงินค่าก่อสร้าง ครั้งที่ 10 เอกสารหมาย ล.9 ในทำนองเดียวกันกับเอกสารหมาย ล.8 แม้เอกสารนี้แผ่นที่ 3 ในช่องรายการเบิกจ่าย ข้อ 2 การหัก/ค่าจ้างตามเงื่อนไขสัญญานั้น มีการหักเงินค่าจ้างล่วงหน้าเพียงร้อยละ 10 ของงวดงานที่ส่งครั้งนั้น แต่ก็เป็นที่เข้าใจได้ว่า โจทก์อาจยอมผ่อนผันการหักเงินค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่จำเลยที่ 1 หรืออาจเป็นไปได้ว่าเพื่อชดเชยการหักเงินค่าจ้างล่วงหน้าที่ผิดพลาดไปก่อนหน้านั้นดังที่ได้วินิจฉัยมาข้างต้น แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นสำเนาเอกสาร แต่หากมีการปลอมแปลงกันจริงดังที่โจทก์อ้างมาในฎีกา ก็ไม่น่าจะต้องมีการแก้ไขตัวเลขในเอกสารแต่ละฉบับให้ยุ่งยากขึ้นเช่นนี้ เชื่อว่าเอกสารดังกล่าวคัดสำเนามาจากต้นฉบับและไม่มีพิรุธแต่อย่างใด พยานหลักฐานของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ในส่วนนี้จึงมีน้ำหนักมากกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้างล่วงหน้าคืนให้แก่โจทก์จริง อย่างไรก็ตามในชั้นสืบพยาน จำเลยที่ 3 และที่ 4 คงมีแต่เพียงเอกสารหมาย ล.8 และ ล.9 มาแสดง ทั้ง ๆ ที่เอกสารการขอเบิกเงินค่าจ้างก่อสร้างเป็นเอกสารสำคัญซึ่งจะต้องเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี และจำเลยที่ 3 และที่ 4 สามารถสืบค้นหาเอกสารการเบิกเงินได้ไม่ยาก แม้จะได้ความว่าจำเลยที่ 1 ก่อสร้างบ้านโครงการบ้านเอื้ออาทร ร. ส่วนที่เหลือแล้วเสร็จ แต่จะรับฟังว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้างล่วงหน้าคืนให้แก่โจทก์ครบถ้วนแล้วก็หาได้มีพยานหลักฐานสนับสนุนเช่นนั้นไม่ ข้อเท็จจริงคงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้างล่วงหน้าให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยถือว่าจำเลยที่ 1 ชำระเงินค่าจ้างล่วงหน้าครั้งสุดท้ายตามสำเนาหนังสือขอส่งมอบงานและขอเบิกเงินค่างานก่อสร้าง ครั้งที่ 10 เอกสารหมาย ล.9 แผ่นที่ 3 และจำเลยที่ 1 ยังคงค้างชำระเงินค่าจ้างล่วงหน้าเป็นเงิน 3,945,493.22 บาท จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดชำระเงินจำนวนดังกล่าวคืนให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ย แต่ที่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2556 เป็นต้นไปนั้น ตามสัญญาจ้างเหมาก่อสร้าง ข้อ 6 มีข้อความระบุไว้ตอนหนึ่งว่า ผู้รับจ้างจะต้องชดใช้เงินค่าจ้างล่วงหน้าซึ่งยังขาดจำนวนอยู่คืนให้แก่ผู้ว่าจ้างจนครบจำนวนภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งให้ชดใช้จากผู้ว่าจ้าง แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าก่อนฟ้องคดีนี้ โจทก์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างได้มีหนังสือบอกกล่าวไปยังจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับจ้างให้ชดใช้เงินค่าจ้างล่วงหน้าซึ่งยังขาดจำนวนอยู่คืนแก่โจทก์แต่อย่างใด จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัด โจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยก่อนฟ้องคดีนี้จากจำเลยที่ 1 ส่วนจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 โจทก์ฎีกาทำนองว่า นอกจากคดีนี้แล้ว โจทก์ได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นคดีอาญาต่อศาลชั้นต้น ฐานร่วมกันทำให้เสียหาย ซ่อนเร้น เอาไปเสีย หรือทำให้สูญหายหรือไร้ประโยชน์ซึ่งเอกสารของโจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายไม่มีต้นฉบับหนังสือค้ำประกันที่จะเรียกร้องให้ธนาคารชำระเงินตามหนังสือค้ำประกันคืนแก่โจทก์ ต่อมาศาลฎีกาได้มีคำวินิจฉัยว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์เอาไปซึ่งหนังสือค้ำประกันตามฟ้องจริง และพิพากษาให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2086/2563 เอกสารที่แนบมาท้ายฎีกา ในข้อนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กล่าวในคำแก้ฎีกาทำนองว่าได้มีคำพิพากษาของศาลฎีกาในคดีอาญาจริง ดังนั้น พยานหลักฐานของโจทก์จึงรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับจำเลยที่ 1 ร่วมกันหลอกลวงโจทก์เอาไปซึ่งหนังสือค้ำประกันของธนาคาร ท.สาขาเทสโก้ โลตัส เสนา วงเงินค้ำประกัน 7,250,000 บาท ดังนั้นเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ยังไม่ชำระเงินค่าจ้างล่วงหน้าเป็นเงิน 3,945,493.22 บาท คืนแก่โจทก์ การที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 หลอกลวงโจทก์เอาไปซึ่งหนังสือค้ำประกันดังกล่าว จึงทำให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามหนังสือค้ำประกันไม่มีหลักประกันที่จะเรียกร้องเอาจากธนาคารซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 การกระทำของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์ และทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายซึ่งเท่ากับจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ค้างชำระต่อโจทก์ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 ให้ยกฟ้องจำเลยดังกล่าวนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง เนื่องจากได้มีพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ข้อความที่บัญญัติขึ้นใหม่ซึ่งมีผลให้กรณีที่ต้องเสียดอกเบี้ยแก่กันและมิได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยกันไว้โดยนิติกรรมหรือบทกฎหมายอันชัดแจ้งให้ใช้อัตราร้อยละ 3 ต่อปี และในกรณีหนี้เงินให้คิดดอกเบี้ยผิดนัดในอัตราที่กำหนดตามมาตรา 7 บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี เว้นแต่เจ้าหนี้อาจเรียกดอกเบี้ยได้สูงกว่านั้นโดยอาศัยเหตุอย่างอื่นอันชอบด้วยกฎหมาย โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไป แต่ไม่กระทบกระเทือนถึงการคิดดอกเบี้ยผิดนัดในระหว่างช่วงเวลาก่อนที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับ ดังนั้นอัตราดอกเบี้ยที่จำเลยต้องรับผิดหลังจากวันที่พระราชกำหนดนี้ใช้บังคับจึงต้องเป็นไปตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่ ซึ่งเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ร่วมกันชำระเงิน 3,945,493.22 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 5 มกราคม 2561) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และในอัตราร้อยละ 5 ต่อปี นับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ตามที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี นับแต่วันที่พระราชกฤษฎีกาดังกล่าวมีผลใช้บังคับ จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอของโจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ