โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 4, 7, 10, 19, 48, 53, 132, 147, 161, 162, 164, 167, 168 พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 3, 4, 5 พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 3 ประเภทที่ 03.01 ท้าย พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 คำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 41/2535 ลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2535 ประกาศกระทรวงการคลัง (ฉบับที่ 27) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ป.อ. มาตรา 83, 91 ริบเครื่องปรับอากาศของกลางเป็นของกรมสรรพสามิต
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 7, 10, 19, 48, 147 (1), 161 (1), 162 (1), 164, 167 เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91? ริบเครื่องปรับอากาศของกลาง 455 เครื่อง เป็นของกรมสรรพสามิต ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน แต่สำหรับจำเลยที่ 1 ถ้าไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29
โจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยอัยการสูงสุดรับรองให้โจทก์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2536 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนสรรพสามิตต่อกรมสรรพสามิต เพื่อประกอบอุตสาหกรรมผลิตเครื่องปรับอากาศชื่อโรงงาน ที. เอ. แอร์ นับแต่จดทะเบียนสรรพสามิตแล้ว จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยยื่นแบบรายการเสียภาษีต่อกรมสรรพสามิตจนถึงวันที่ 14 มกราคม 2537 เจ้าพนักงานสรรพสามิตได้เข้าตรวจค้นโรงงาน ที. เอ. แอร์ และที่สำนักงานใหญ่ รวมทั้งที่สาขาอีกสามแห่งของจำเลยที่ 1 จากการตรวจค้นที่สำนักงานใหญ่ พบสินค้าเครื่องปรับอากาศจำนวน 997 เครื่อง ส่วนที่สาขาปิ่นเกล้าพบสินค้าเครื่องปรับอากาศของกลาง จำนวน 455 เครื่อง เห็นควรวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ก่อนว่า เครื่องปรับอากาศที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 เป็นเครื่องปรับอากาศตามความหมายแห่ง พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 หรือไม่ เห็นว่า พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2534 ตอนที่ 3 ประเภทที่ 03.01 กำหนดให้เครื่องปรับอากาศที่ประกอบด้วยพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ และมีส่วนที่ใช้สำหรับเปลี่ยนอุณหภูมิ ไม่ว่าจะมีส่วนที่ใช้ควบคุมความชื้นด้วยหรือไม่ก็ตาม ที่มีขนาดทำความเย็นไม่เกิน 72,000 บีทียูต่อชั่วโมง เป็นสินค้าที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตและอธิบดีกรมสรรพสามิตได้วินิจฉัยให้สิ่งต่อไปนี้เป็นเครื่องปรับอากาศตามพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต ประเภทที่ 03.01 คือ (1) COOLING UNIT หรือ FAN COIL UNIT หรือ INDOOR UNIT ซึ่งประกอบด้วยแผงส่งลมเย็น (EVAPORATOR) และพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ (2) CONDENSING UNIT ซึ่งประกอบด้วยแผงระบายความร้อน (CONDENSER) พัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ และคอมเพรสเซอร์ (COMPRESSOR) ตามคำสั่งกรมสรรพสามิต ที่ 41/2535 ดังนั้น เครื่องปรับอากาศที่ยึดได้จากจำเลยที่ 1 ยี่ห้อยูเนี่ยนแอร์ ชนิดแฟนคอยล์ ยูนิท ซึ่งประกอบด้วยแผงส่งลมเย็นและพัดลมซึ่งขับด้วยมอเตอร์ จำนวน 807 เครื่อง และชนิดคอนเดนซิ่ง ยูนิท ซึ่งประกอบด้วยแผงระบายความร้อน พัดลมขับด้วยมอเตอร์และคอมเพรสเซอร์จำนวน 645 เครื่อง เป็นเครื่องปรับอากาศตามคำสั่งกรมสรรพสามิต ที่ 41/2535
ที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกาว่า เครื่องปรับอากาศต้องประกอบด้วยส่วนที่เป็นแฟนคอยล์ ยูนิท และคอนเดนซิ่ง ยูนิท และพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตได้บัญญัติไว้โดยชัดแจ้งว่าเครื่องปรับอากาศที่ประกอบด้วยพัดลม ซึ่งขับด้วยมอเตอร์และมีส่วนที่ใช้สำหรับเปลี่ยนอุณหภูมิไม่ว่าจะมีส่วนที่ใช้ควบคุมความชื้นด้วยหรือไม่ก็ตาม คำสั่งกรมสรรพสามิตที่ 41/2535 ที่ตีความว่า แฟนคอยล์ ยูนิท และคอนเดนซิ่ง ยูนิท ต่างเป็นเครื่องปรับอากาศ คำสั่งดังกล่าวจึงไม่ถูกต้องและไม่ใช่กฎหมาย รับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้นั้น เห็นว่า พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 5 ได้บัญญัติว่า อธิบดีกรมสรรพสามิตมีอำนาจตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตแนบท้ายพระราชบัญญัตินี้โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่ออธิบดีกรมสรรพสามิตเห็นว่า กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องปรับอากาศ และมีคำวินิจฉัยโดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 5 แห่ง พ.ร.บ. พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 และ (3) แห่งประกาศกระทรวงการคลัง เรื่องกำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตลงวันที่ 22 เมษายน 2528 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การตีความในพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 2) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2534 ดังนั้น คำสั่งกรมสรรพสามิต ที่ 41/2535 จึงเป็นคำสั่งที่ออกโดยชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมายแล้ว
ปัญหาวินิจฉัยต่อไปตามฎีกาโจทก์มีว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 ต้องเสียภาษีสรรพสามิตสำหรับเครื่องปรับอากาศ จำนวน 997 เครื่อง ที่เจ้าพนักงานสรรพสามิตยึดได้จากสำนักงานใหญ่หรือไม่ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เคยยื่นแบบรายการเสียภาษีต่อกรมสรรพสามิต เพียงแต่ส่งงบเดือนแสดงรายการเกี่ยวกับวัตถุดิบ การผลิต การจำหน่าย และยอดคงเหลือสินค้าประจำเดือนกันยายนถึงเดือนธันวาคม 2536 โดยระบุว่า "ไม่มีรายการ" และในเดือนมกราคม 2537 ระบุว่า "ไม่มีรายการ เนื่องจากสินค้าถูกอายัด" ต่อมาเมื่อต้นเดือนมกราคม 2537 เจ้าพนักงานสรรพสามิตได้ตรวจพบโฆษณาในหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ว่ามีการจำหน่ายเครื่องปรับอากาศยี่ห้อยูเนี่ยนแอร์ที่บริษัท ที. เอ. แอร์ จำกัด สาขารามคำแหง จากการตรวจสอบพบว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำเครื่องปรับอากาศดังกล่าวออกมาวางจำหน่ายที่บริษัท ที. เอ. แอร์ จำกัด สำนักงานใหญ่ สถานที่ดังกล่าวเป็นห้องกระจกมีลักษณะเป็นโชว์รูมขายสินค้า เจ้าพนักงานสรรพสามิตได้เข้าทำการตรวจค้นพบเครื่องปรับอากาศ จำนวน 997 เครื่อง แยกเป็นชนิดแฟนคอยล์ ยูนิท 670 เครื่อง และชนิดคอนเดนซิ่ง ยูนิท 327 เครื่อง บรรจุอยู่ในกล่องกระดาษพร้อมที่จะจำหน่าย จึงยึดไว้ เครื่องปรับอากาศดังกล่าวเป็นสินค้าในการกระทำความผิด ตามมาตรา 147 จึงให้ริบเครื่องปรับอากาศ จำนวน 997 เครื่อง ที่เจ้าพนักงานสรรพสามิตยึดได้จากสำนักงานใหญ่เป็นของกรมสรรพสามิต ตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 168 วรรคสอง
การที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันนำสินค้าของกลางที่ยังมิได้เสียภาษีโดยถูกต้องและครบถ้วนออกไปจากโรงอุตสาหกรรมนั้น เป็นความผิดสำเร็จตั้งแต่ตอนนำสินค้าออกจากโรงอุตสาหกรรมตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 19, 147 (1) แล้วกรรมหนึ่ง เมื่อจำเลยที่ 1 และที่ 2 นำสินค้านั้นไปเก็บไว้ที่สำนักงานใหญ่และสาขาปิ่นเกล้า เป็นความผิดฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนตามมาตรา 161 (1) และมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้อยู่ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษีหรือเสียภาษีไม่ครบถ้วนนั้น เป็นความผิดตามมาตรา 162 (1) ถือว่าเป็นการกระทำความผิดกรรมเดียว แต่เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 162 (1) ซึ่งเป็นบทหนัก ตาม ป.อ. มาตรา 90 เป็นอีกกรรมหนึ่ง?
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 และที่ 2 มีความผิดตาม พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 มาตรา 7, 10, 19, 48, 147 (1), 161 (1), 162 (1), 164, 167 เรียงกระทงลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 91 ฐานร่วมกันไม่ยื่นแบบรายการภาษีเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษี ปรับคนละ 20,000 บาท ฐานร่วมกันนำสินค้าที่ยังมิได้เสียภาษีออกไปจากโรงอุตสาหกรรมปรับคนละ 5,182,590 บาท ฐานร่วมกันมีไว้ในครอบครองซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษี ตามมาตรา 161 (1) และฐานขายหรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าโดยรู้ว่าเป็นสินค้าที่มิได้เสียภาษี ตามมาตรา 162 (1) เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ลงโทษตามมาตรา 162 (1) ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด ตาม ป.อ. มาตรา 90 ปรับคนละ 5,182,590 บาท รวมปรับคนละ 10,385,180 บาท คำให้การรับสารภาพชั้นจับกุมของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตาม ป.อ. มาตรา 78 คงปรับคนละ 6,923,453.33 บาท หากไม่ชำระค่าปรับ สำหรับจำเลยที่ 1 ให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 ส่วนจำเลยที่ 2 ให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29, 30 ริบเครื่องปรับอากาศของกลางรวมจำนวน 1,452 เครื่อง เป็นของกรมสรรพสามิต นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์.