คดีทั้งสามสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกโจทก์ทั้งสามสำนวนว่า โจทก์ เรียกจำเลยที่ 1 ทั้งสามสำนวนว่า จำเลยที่ 1 เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนแรกและสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 2 เรียกจำเลยที่ 2 ในสำนวนที่สองว่า จำเลยที่ 3 และเรียกจำเลยที่ 3 ในสำนวนที่สามว่า จำเลยที่ 4
โจทก์ทั้งสามสำนวนฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในชุดที่ 1 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทในชุดที่ 1 กับเพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในชุดที่ 2 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 ให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทในชุดที่ 2 และให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทในชุดที่ 3 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 กับเพิกถอนนิติกรรมขายฝากที่ดินพิพาทในชุดที่ 3 ระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 4 และให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทในชุดที่ 3 หากไม่ดำเนินการให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 และหรือจำเลยที่ 2 และที่ 3
จำเลยที่ 1 และที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยที่ 3 เข้าเป็นคู่ความแทนจำเลยที่ 1 ผู้มรณะตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 43 ต่อมานายชัชวาล ผู้จัดการมรดกของจำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่จำเลยที่ 1 ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งสามสำนวนให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 11254, 71979, 35942, 35943 และจดทะเบียนลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมเฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 2 ยังมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 71537 และ 72118 ให้จำเลยที่ 3 จดทะเบียนลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินโฉนดเลขที่ 11658, 11659, 1031, 74648, 71978 หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จดทะเบียนสมรสเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2512 มีบุตรด้วยกัน 4 คน คือ นางวรรณอนงค์ จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และนายหรือพระพรชัย ระหว่างพิจารณาคดี จำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2562 ที่ดินพิพาทในชุดที่ 1 มี 4 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 11254, 71979, 35942 และ 35943 ที่ดินพิพาทในชุดที่ 2 มี 7 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 11658, 11659, 1031, 74648, 71978, 16432 และ 44033 ที่ดินพิพาทในชุดที่ 3 มี 2 แปลง คือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 71537 และ 72118 จำเลยที่ 1 ได้ที่ดินพิพาททั้งหมดมาระหว่างสมรสกับโจทก์ แต่ใส่ชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เพียงคนเดียว จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทตามฟ้อง ดังนี้ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11254 แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 71979 แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 35942 และ 35943 แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา รวม 2 แปลง เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2554 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11658, 11659 และ 1031 แก่จำเลยที่ 3 โดยเสน่หา รวม 3 แปลง เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2554 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 74648 แก่จำเลยที่ 3 โดยเสน่หา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2545 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 71978 แก่จำเลยที่ 3 โดยเสน่หา เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 16432 และ 44033 แก่จำเลยที่ 3 โดยเสน่หา รวม 2 แปลง เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2554 จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินและให้เฉพาะส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 71537 และ 72118 แก่จำเลยที่ 2 โดยเสน่หา ต่อมาวันที่ 17 กันยายน 2561 จำเลยที่ 2 จดทะเบียนขายฝากที่ดินทั้งสองแปลงดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ 4 ในราคา 5,300,000 บาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ประการแรกว่า การที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในชุดที่ 1 และที่ 3 และให้จำเลยที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทในชุดที่ 2 เป็นการให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 จึงมิใช่เป็นการจัดการสินสมรสโดยมิชอบตามที่โจทก์ตั้งเรื่องฟ้องมา เป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดีนอกฟ้องนอกประเด็นหรือไม่ เห็นว่า คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องโดยตั้งสภาพแห่งข้อหาทั้งแสดงข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่า โจทก์กับจำเลยที่ 1 เป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทซึ่งเป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำโดยไม่สุจริต ทั้งจำเลยที่ 2 นำที่ดินพิพาทในชุดที่ 3 ไปขายฝากไว้แก่จำเลยที่ 4 โดยไม่สุจริต อันเป็นการฟ้องว่าจำเลยที่ 1 จัดการสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายและมีคำขอบังคับให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทและให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาท ตามคำฟ้องของโจทก์เป็นการฟ้องโดยอาศัยสิทธิในฐานะที่โจทก์เป็นสามีโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยที่ 1 กล่าวอ้างว่าจำเลยที่ 1 จัดการสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ อันเป็นการอาศัยสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1476 ให้อำนาจไว้ ซึ่งหากข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 จัดการสินสมรสโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์สามารถฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1480 และหากศาลเพิกถอนนิติกรรมย่อมเกิดผลที่โจทก์สามารถร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมกันในเอกสารนั้นได้ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 1475 ดังนั้นการที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยข้อเท็จจริงและรับฟังจากพยานหลักฐานที่นำสืบมาว่าจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทในชุดที่ 1 และที่ 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 และยกที่ดินพิพาทในชุดที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทแทนจำเลยที่ 1 และโจทก์มีสิทธิที่จะร้องขอให้ใส่ชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในเอกสารสำคัญนั้นได้ตามมาตรา 1475 จึงเป็นการวินิจฉัยโดยรับฟังจากคำฟ้อง คำให้การของจำเลยที่ 2 และที่ 3 คำเบิกความ และพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบในชั้นพิจารณา มาปรับข้อเท็จจริงที่ได้ความเข้ากับตัวบทกฎหมายเพื่อวินิจฉัยถึงสิทธิของคู่ความแต่ละฝ่าย ทั้งเป็นการวินิจฉัยที่เกี่ยวเนื่องกับประเด็นข้อพิพาทในคดี กรณีมิใช่เป็นการวินิจฉัยคดีนอกฟ้องนอกประเด็นหรือพิพากษาเกินไปกว่าคำฟ้อง ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.1926/2561 และ พ.58/2562 ของศาลจังหวัดพัทยา และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.49/2562 ของศาลจังหวัดจันทบุรี หรือไม่ เห็นว่า ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ ล้วนเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้หากจำเลยที่ 2 และที่ 3 จะไม่ได้ให้การต่อสู้ไว้ ศาลก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.1926/2561 และ พ.58/2562 ของศาลจังหวัดพัทยา และคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.49/2562 ของศาลจังหวัดจันทบุรีแล้ว จึงมีประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำหรือไม่ โดยจำเลยที่ 2 และที่ 3 เพิ่งอ้างส่งเอกสารเกี่ยวกับประเด็นนี้มาในท้ายฎีกา ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยไปเสียทีเดียว เมื่อพิจารณาคำฟ้องในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.1926/2561 ของศาลจังหวัดพัทยา เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นโจทก์ฟ้องนางวรรณอนงค์ เรียกโฉนดที่ดินคืนเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2561 ส่วนคดีนี้เป็นเรื่องที่โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้และขอให้ใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมกับจำเลยที่ 1 ในที่ดินพิพาทเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2562 จึงมิใช่เป็นกรณีโจทก์คนเดียวกัน ทั้งมิใช่เรื่องเดียวกัน ฟ้องโจทก์คดีนี้จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน และดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.1926/2561 ของศาลจังหวัดพัทยา ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.58/2562 ของศาลจังหวัดพัทยา แม้จะเป็นกรณีโจทก์คนเดียวกันฟ้อง แต่ที่ดินในคดีนี้กับคดีดังกล่าวเป็นคนละแปลงกัน ประเด็นที่วินิจฉัยจึงมิใช่เรื่องเดียวกัน จึงไม่เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีดังกล่าว ส่วนคดีแพ่งหมายเลขดำที่ พ.49/2562 ของศาลจังหวัดจันทบุรี จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีเพียงคำเบิกความพยานตามเอกสาร เมื่อไม่มีคำฟ้องมาแสดงหรือนำสืบให้เห็นถึงประเด็นพิพาทแห่งคดีดังกล่าว จึงไม่อาจฟังว่า เป็นฟ้องซ้ำ ฟ้องซ้อน หรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำกับคดีดังกล่าวได้ ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในประการต่อไปว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง หรือไม่ เห็นว่า จากทางนำสืบของโจทก์และจำเลยที่ 2 และที่ 3 รับกันว่า ในวันที่ 18 สิงหาคม 2561 เป็นวันที่จัดทำบันทึกข้อตกลง โดยโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 นางวรรณอนงค์ และพระพรชัยทุกคนอยู่พร้อมกัน ซึ่งข้อความในบันทึกดังกล่าวแสดงให้เห็นพฤติการณ์ของจำเลยที่ 2 ยอมรับว่าจำเลยที่ 2 ถือครองที่ดินพิพาทในชุดที่ 1 และที่ 3 แทนจำเลยที่ 1 แม้ในบันทึกข้อตกลง จะไม่ปรากฏข้อความเกี่ยวกับที่ดินพิพาทในชุดที่ 2 ที่จำเลยที่ 1 ยกให้จำเลยที่ 3 แต่ได้ความจากโจทก์และนางวรรณอนงค์เบิกความไว้ว่า ในวันทำบันทึกข้อตกลง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงว่าจะโอนที่ดินทั้งหมดคืนให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ดินมีจำนวนมากจึงไม่ได้ระบุที่ดินทุกแปลงลงในบันทึกข้อตกลง ทั้งจำเลยที่ 3 รับว่าจะคืนที่ดินพิพาทให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 มิได้นำที่ดินไปก่อภาระผูกพันกับบุคคลภายนอกดังเช่นจำเลยที่ 2 บันทึกข้อตกลงจึงไม่ได้ระบุที่ดินพิพาทในชุดที่ 2 ที่ยกให้จำเลยที่ 3 ไว้ นอกจากนี้ยังได้ความจากนายเอกวิศิษฐ์ พยานโจทก์เบิกความว่า พยานเป็นเพื่อนกับพระพรชัยรู้จักกับจำเลยที่ 1 เมื่อปี 2560 จำเลยที่ 1 ป่วยต้องทำกายภาพบำบัด พระพรชัยจึงฝากให้ภริยาของพยานซึ่งเป็นพยาบาลช่วยดูแลจำเลยที่ 1 พยานทราบจากจำเลยที่ 1 ว่าจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนในที่ดินหลายแปลง เพราะจำเลยที่ 1 มีสุขภาพไม่แข็งแรง แต่จำเลยที่ 1 ต้องการที่จะแบ่งทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่บุตรทั้งสี่คน จำเลยที่ 1 เคยต้องการขายที่ดินให้แก่บุคคลภายนอก แต่จำเลยที่ 2 ไม่ยินยอมบอกว่าจะขายเอง แล้วจำเลยที่ 2 นำที่ดินไปขายให้บุคคลอื่น จำเลยที่ 1 จึงมอบอำนาจให้พยานไปอายัดที่ดินพิพาทที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในโฉนดที่ดินแทนต่อเจ้าพนักงานที่ดินตามสำเนาคำขออายัดและสำเนาหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งหากจำเลยที่ 1 ประสงค์จะยกที่ดินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์โดยเด็ดขาด จำเลยที่ 1 คงไม่มีการดำเนินการอายัดที่ดินดังกล่าว ทั้งได้ความจากทางนำสืบว่า จำเลยที่ 1 เป็นผู้เก็บรักษาโฉนดที่ดินพิพาททั้งหมดไว้ที่บ้านของจำเลยที่ 1 เมื่อจำเลยที่ 1 ป่วยและไปพักรักษาตัวที่บ้านของโจทก์ จำเลยที่ 1 ให้คนนำโฉนดที่ดินมาเก็บไว้ที่บ้านโจทก์ อีกทั้งเมื่อพิจารณาถึงช่วงเวลาที่จำเลยที่ 1 จดทะเบียนให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นช่วงระยะเวลาเดียวกันในปี 2554 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นางวรรณอนงค์และพระพรชัยบุตรอีกสองคนของจำเลยที่ 1 ยังอาศัยอยู่ต่างประเทศ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า การที่จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทในชุดที่ 1 และที่ 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 และยกที่ดินพิพาทในชุดที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 กรณียังรับฟังไม่ได้ว่าเป็นการยกให้ที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยเด็ดขาด จึงมิใช่เป็นการจัดการสินสมรสโดยมิชอบที่จะต้องฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็นมูลให้เพิกถอนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1480 วรรคสอง เมื่อที่ดินพิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในเอกสารสำคัญตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1475 ได้ โดยโจทก์มีสิทธิตลอดเวลาไม่ว่าจะช้านานเท่าใดที่จะติดตามเอาคืนที่ดินพิพาทจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้ถือกรรมสิทธิ์แทน และร้องขอให้ลงชื่อตนตามที่กฎหมายกำหนดได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าล่วงเลยเวลาที่ได้สินสมรสมาแล้วนานเท่าไร เพราะมิใช่กรณีที่จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายในระยะเวลาอันกฎหมายกำหนดไว้ คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาว่าคดีโจทก์ไม่ขาดอายุความนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อไปว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 หรือไม่ และต้องใส่ชื่อโจทก์เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทเพียงใด เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ดังที่วินิจฉัยข้างต้นว่า จำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทในชุดที่ 1 และที่ 3 ให้แก่จำเลยที่ 2 และยกที่ดินพิพาทในชุดที่ 2 ให้แก่จำเลยที่ 3 เป็นการให้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังกล่าวแทนจำเลยที่ 1 มิใช่เป็นการยกที่ดินให้เป็นสิทธิของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยเด็ดขาด ที่ดินพิพาทจึงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 กรณีจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ทำนิติกรรมให้ที่ดินพิพาทโดยเสน่หาแก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน และเป็นการให้ที่พอสมควรแก่ฐานานุรูปหรือตามหน้าที่ธรรมจรรยาดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา และเมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า จำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทน ที่ดินพิพาทจึงยังคงเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 โจทก์ย่อมมีสิทธิในฐานะคู่สมรสที่จะร้องขอให้ลงชื่อตนเป็นเจ้าของรวมในเอกสารสำคัญตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1475 ได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาในส่วนนี้มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และเมื่อยังปรากฏชื่อจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในสารบาญโฉนดที่ดินพิพาทดังกล่าวซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทั้งที่ไม่มีสิทธิ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนให้ในสารบาญโฉนดที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินพิพาทนั้น จึงเป็นการไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขให้ถูกต้อง
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีสิทธิขอให้ใส่ชื่อโจทก์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 16432 และ 44033 ที่จำเลยที่ 2 นำไปขายให้แก่นายพิทักษ์ และที่ดินโฉนดเลขที่ 71537 และ 72118 ที่จำเลยที่ 2 ยินยอมให้นายชัชวาลเข้าถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินดังกล่าวได้หรือไม่ เห็นว่า แม้คดีจะฟังได้ว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือกรรมสิทธิ์แทนจำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธินำที่ดินพิพาทดังกล่าวไปทำนิติกรรมใด ๆ ได้ และโจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยที่ 2 และที่ 3 กับนายพิทักษ์และนายชัชวาล หรือติดตามเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของโจทก์ได้ แต่การเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวย่อมกระทบกระเทือนถึงสิทธิของนายพิทักษ์และนายชัชวาล ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกคดี เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องนายพิทักษ์และนายชัชวาลเป็นจำเลยด้วยผลของคำพิพากษาไม่อาจบังคับบุคคลภายนอกคดีได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 145 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มาตรา 182/1 วรรคสอง แต่เมื่อจำเลยที่ 2 ยังถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาททั้งสองแปลงร่วมกับนายชัชวาล โจทก์ย่อมมีสิทธิที่จะร้องขอให้ลงชื่อโจทก์ในโฉนดที่ดินดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาให้ลงชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมเฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 2 ยังมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่นั้นชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11254, 71979, 35942 และ 35943 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 71537 และ 72118 เฉพาะส่วนที่จำเลยที่ 2 ยังมีกรรมสิทธิ์รวมอยู่ ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้เพิกถอนนิติกรรมการให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 11658, 11659, 1031, 74648 และ 71978 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 3 และให้จำเลยที่ 1 จดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรวมในที่ดินดังกล่าว หากจำเลยที่ 1 ไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ