คดีสืบเนื่องจากศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชัย ผู้ตาย
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องว่า นายวิชัย ผู้ตาย เป็นบิดาของผู้คัดค้าน ก่อนถึงแก่ความตายผู้ตายได้ทำพินัยกรรมไว้ แต่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอต่อศาลชั้นต้นว่า ผู้ตายไม่ได้ทำพินัยกรรมไว้ และศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย ผู้ร้องจัดการทรัพย์มรดกโดยมิได้ทำตามพินัยกรรม ถือว่าจัดการมรดกฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้ามรดกและเป็นที่เสียหายแก่ผู้คัดค้าน ขอให้มีคำสั่งถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดก รวมทั้งให้ผู้ร้องส่งมอบทรัพย์มรดกเข้ามาในกองมรดกเพื่อผู้คัดค้านจะได้รวบรวมแบ่งทรัพย์มรดกแก่ทายาทตามพินัยกรรม และกำจัดผู้ร้องจากการเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องไม่ยื่นคำคัดค้าน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำคัดค้าน (ที่ถูก คำร้อง) ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นนี้รับฟังว่า ผู้ร้องและผู้คัดค้านเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของนายวิชัย ผู้ตาย ซึ่งถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม 2564 วันที่ 25 สิงหาคม 2564 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกโดยอ้างว่าผู้ตายมิได้ทำพินัยกรรมไว้ วันที่ 4 ตุลาคม 2564 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งตั้งผู้ร้องเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย จากนั้นผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกดำเนินการรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันแก่ทายาท ตามคำแถลงรายงานการจัดการแบ่งปันทรัพย์มรดกต่อศาลชั้นต้นลงวันที่ 4 เมษายน 2565 ต่อมาวันที่ 1 มิถุนายน 2565 ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดก โดยให้ตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกแทน กับให้กำจัดมิให้ผู้ร้องมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านประการแรกมีว่า พินัยกรรมเอกสารหมาย ค.4 ที่ผู้คัดค้านอ้างว่าผู้ตายได้ทำพินัยกรรมดังกล่าวยกทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทตกเป็นโมฆะหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1646 และ 1647 สาระสำคัญของพินัยกรรมคือคำสั่งครั้งสุดท้ายของผู้ตายเกี่ยวกับกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนเอง หรือในเรื่องอื่นที่จะให้เกิดผลบังคับเมื่อตนตาย โดยมาตรา 1657 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า พินัยกรรมนั้น จะทำเป็นเอกสารเขียนเองทั้งฉบับก็ได้ กล่าวคือผู้ทำพินัยกรรมต้องเขียนด้วยลายมือตนเองซึ่งข้อความทั้งหมด วัน เดือน ปี และลายมือชื่อของตน ซึ่งเมื่อพิจารณาเอกสารหมาย ค.4 แม้จะมีข้อความบางตอนเป็นตัวพิมพ์ โดยตอนบนตรงกลางมีหัวข้อพิมพ์ว่าหนังสือพินัยกรรม จากนั้นมีการพิมพ์ตัวหนังสือแล้วเว้นช่องว่างให้ผู้ทำพินัยกรรมเขียนหรือกรอกข้อความเกี่ยวกับสถานที่ วัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรม ชื่อ ที่อยู่ของผู้ทำพินัยกรรม และความประสงค์ในการจัดการทรัพย์สิน ซึ่งตามเอกสารปรากฏว่าผู้ตายได้เขียนด้วยลายมือระบุวัน เดือน ปี ที่ทำพินัยกรรมรายละเอียดเกี่ยวกับรายการทรัพย์สินที่ต้องจัดการเมื่อตนถึงแก่ความตาย ทั้งมีการเขียนด้วยลายมือเดียวกันระบุว่าให้แบ่งปันทรัพย์สินรายการใดหรือสิทธิที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องจากความตายให้แก่ผู้ใด ความยาวประมาณเกือบ 3 หน้ากระดาษ จากนั้นตอนท้ายมีข้อความพิมพ์ด้วยตัวพิมพ์สรุปได้ว่า ผู้ตายได้พิมพ์ข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ โดยได้อ่านเข้าใจข้อความที่เป็นตัวพิมพ์ทั้งหมดเห็นว่าถูกต้องตามเจตนาทุกประการ โดยไม่มีผู้ใดข่มขู่ จึงได้เขียนข้อความที่เป็นตัวกลางลงในหนังสือพินัยกรรมฉบับนี้ด้วยตนเองขณะที่มีสติสัมปชัญญะสมบูรณ์ทุกประการ ผู้ตายสมัครใจทำหนังสือนี้เอง ปราศจากบุคคลอื่นใดข่มขู่ หรือทำโดยสำคัญผิด หรือถูกฉ้อฉลแต่อย่างใด โดยได้ทำหนังสือพินัยกรรมนี้ขึ้นไว้ 4 ฉบับ มีข้อความถูกต้องตรงกันและเก็บรักษาไว้ที่ผู้คัดค้าน และมีลายมือชื่อผู้ตายลงไว้ในช่องที่พิมพ์ว่า ผู้ทำพินัยกรรม และผู้พิมพ์/ผู้เขียน เอกสารหมาย ค.4 มีลักษณะเป็นคำสั่งสุดท้ายที่ผู้ตายแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินของตนไว้โดยต้องการยกให้แก่บุคคลต่าง ๆ ตามที่ระบุไว้ อันจะเกิดเป็นผลบังคับได้ตามกฎหมายเมื่อตนตายตามมาตรา 1646 และ 1647 จึงเป็นพินัยกรรมและเข้าลักษณะเป็นพินัยกรรมแบบเอกสารเขียนเองทั้งฉบับตามมาตรา 1657 แล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่าเอกสารหมาย ค.4 ตกเป็นโมฆะนั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของผู้คัดค้านฟังขึ้น
ส่วนปัญหาที่ผู้คัดค้านฎีกาขอให้ถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายและกำจัดผู้ร้องจากการเป็นผู้มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายนั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านมิได้อุทธรณ์ปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาในศาลอุทธรณ์ภาค 5 ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 ประกอบ มาตรา 252 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาเห็นว่า ในพินัยกรรมไม่ได้ระบุให้ผู้ใดเป็นผู้จัดการมรดก เมื่อผู้ร้องและผู้คัดค้านต่างเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ย่อมเป็นทายาทโดยธรรมและมีสิทธิได้รับทรัพย์ตามพินัยกรรม ผู้คัดค้านไม่เป็นบุคคลต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718 จึงเห็นสมควรตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ตั้งนางมณีพร ผู้คัดค้าน เป็นผู้จัดการมรดกของนายวิชัย ผู้ตาย ร่วมกับนายวิวัฒน์ ผู้ร้อง ให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ