โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 15 เมษายน 2526 จำเลยได้ทำสัญญาซื้อเสาเข็มคอนกรีตจากโจทก์ ขนาด 26 คูณ 26 ความยาว 12 เมตร จำนวน 220 ต้น ราคา 360,580 บาท ซึ่งรวมทั้งค่าตอกและค่าขนส่ง จำเลยชำระเงินล่วงหน้าจำนวน 36,058 บาท ส่วนที่เหลือจะชำระหลังจากตอกเสาเข็มเสร็จต่อมาจำเลยขอเปลี่ยนรายการเสาเข็มเป็นเสาขนาด 26 คูณ 26ความยาว 12 เมตร (เสริมเหล็ก) จำนวน 203 ต้น ราคาต้นละ1,639 บาท เสาขนาด 30 คูณ 30 ความยาว 24 เมตร (เสริมเหล็ก)จำนวน 8 ต้น ราคาต้นละ 5,600 บาท และเสาขนาด 26 คูณ 26ความยาว 15 เมตร (เสริมเหล็ก) จำนวน 10 ต้น ราคาต้นละ 3,600 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 413,517 บาท เมื่อหักเงินชำระล่วงหน้าแล้ว จำเลยยังค้างชำระอยู่ 377,459 บาท โจทก์ส่งมอบและตอกเสาเข็มเรียบร้อยแล้วแต่จำเลยไม่ชำระหนี้ให้ โจทก์ทวงถาม จำเลยก็เพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้จำนวน 377,459 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนถึงวันฟ้องอีก56,386.16 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 433,845.16 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี จากต้นเงิน377,459 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่รับรองว่าลายมือชื่อและตราประทับในใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้จะเป็นลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์ และเป็นตราสำคัญที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครหรือไม่ฟ้องของโจทก์จึงไม่สมบูรณ์ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ เพราะมีข้อตกลงให้ฟ้องคดีที่ศาลแพ่ง สัญญาซื้อขายเสาเข็มที่โจทก์กล่าวอ้างนั้น จำเลยมิได้ลงชื่อไว้ในสัญญา ความจริงการซื้อขายรายนี้มีข้อตกลงกันว่าโจทก์จะต้องตอกเสาเข็มให้จำเลย โดยอยู่ในความควบคุมของวิศวกรและโจทก์จะต้องออกหนังสือรับรองการรับน้ำหนักให้ด้วย แต่โจทก์ไม่ปฏิบัติตามสัญญาทั้งยังตอกเสาเข็มชำรุดบกพร่อง ทำให้เสาคานไม่อาจรับน้ำหนักได้ตามที่ต้องการ โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญาฟ้องโจทก์ขาดอายุความเพราะมิได้ฟ้องภายใน 2 ปี
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 377,459 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7 ครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 19 กรกฎาคม 2526 จนกว่าจะชำระเสร็จ เฉพาะดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องคือวันที่ 23 สิงหาคม 2528 ต้องไม่เกินจำนวนที่โจทก์ขอคืน 56,386.16 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ที่จำเลยฎีกาเป็นข้อแรกว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเนื่องจากการมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้ไม่ถูกต้องสมบูรณ์นั้น ข้อนี้จำเลยให้การปฏิเสธลอย ๆ แต่เพียงว่า จำเลยไม่รับรองว่าลายมือชื่อและตราประทับในใบมอบอำนาจให้ฟ้องคดีนี้จะเป็นลายมือชื่อของกรรมการผู้มีอำนาจทำการแทนโจทก์และเป็นตราสำคัญที่จดทะเบียนไว้กับสำนักงานทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทกรุงเทพมหานครหรือไม่เท่านั้น คำให้การของจำเลยดังกล่าวไม่ได้แสดงเหตุแห่งการปฏิเสธ จึงไม่เป็นประเด็นที่ศาลจะต้องวินิจฉัยแม้ศาลล่างทั้งสองจะได้วินิจฉัยให้ก็เป็นการนอกประเด็นศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ส่วนที่จำเลยฎีกาในประเด็นต่อมาสรุปได้ว่าจำเลยไม่ได้เป็นผู้ชำระหนี้บางส่วนในสัญญาซื้อขายตามฟ้องและโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงเรื่องการออกหนังสือรับรองการรับน้ำหนักของเสาเข็มกันไว้ด้วย แต่ข้อตกลงดังกล่าวโจทก์ไม่ได้พิมพ์ลงในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งเมื่อจำเลยเห็นว่าผิดจากที่ตกลงกันจำเลยจึงไม่ยอมลงชื่อในสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย ล.1โจทก์จึงเป็นฝ่ายผิดสัญญานั้น ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระหนี้ตามสัญญาซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตตามเอกสารหมาย ล.1 จำเลยให้การยอมรับว่าโจทก์ได้ตอกเสาเข็มคอนกรีตตามฟ้องให้แก่จำเลยจริง แต่จำเลยไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญา ข้อสัญญาที่จำเลยกล่าวอ้างว่าโจทก์ยังมิได้ปฏิบัติให้ครบถ้วนตามสัญญา ได้แก่ข้อความที่ไม่ปรากฏอยู่ในสัญญาซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตตามฟ้อง ซึ่งจำเลยอ้างว่าได้ตกลงกับโจทก์ไว้ แต่โจทก์ไม่ได้พิมพ์ข้อตกลงนั้นไว้ในสัญญากล่าวคือ "จำเลยจะตกลงซื้อเสาเข็มคอนกรีตจากโจทก์ต่อเมื่อโจทก์ต้องตกลงรับตอกเสาเข็มที่จะซื้อขายกันด้วย การตอกเสาเข็มจะต้องอยู่ภายใต้การควบคุมอย่างถูกต้องจากวิศวกร และหลังจากตอกเสาเข็มเสร็จโจทก์จะต้องออกหนังสือรับรองการรับน้ำหนักให้แก่จำเลยด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสาไอ ขนาด 30 คูณ 30ความยาว 24 เมตร จำนวน 8 ต้น ซึ่งต้องใช้เป็นเสาหลักรับน้ำหนักสร้างบ่อขึ้นทราย" จำเลยไม่ได้ให้การปฏิเสธโดยแจ้งชัดว่าจำเลยไม่ได้ตกลงทำสัญญากับโจทก์และไม่ได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์ตามที่ปรากฏในคำฟ้อง จึงต้องถือว่าจำเลยยอมรับว่าได้มีการตกลงทำสัญญาซื้อขายกันโดยโจทก์ได้ส่งมอบและตอกเสาเข็มคอนกรีตให้แก่จำเลย และจำเลยได้ชำระหนี้บางส่วนให้แก่โจทก์แล้ว จำเลยไม่มีประเด็นที่จะนำสืบหักล้างเป็นอย่างอื่นดังนั้นข้อที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่ได้เป็นผู้ชำระหนี้บางส่วนจึงเป็นเรื่องที่จำเลยมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลชั้นต้นแม้ศาลล่างทั้งสองจะวินิจฉัยให้ก็เป็นการนอกประเด็น ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า โจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตตามฟ้อง และได้มีการชำระหนี้กันบางส่วนแล้ว สัญญาดังกล่าวจึงสามารถฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 456 วรรคสอง และวรรคสาม ประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยต่อไปจึงมีว่า มีข้อตกลงเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่ ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อเท็จจริงว่า พยานโจทก์มีน้ำหนักดีกว่าพยานจำเลย ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์กับจำเลยมีข้อตกลงเพิ่มเติมจากสัญญาซื้อขายดังที่จำเลยฎีกา มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยในประเด็นสุดท้ายว่าฟ้องโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าโจทก์จำเลยได้ตกลงทำสัญญาซื้อขายเสาเข็มคอนกรีตตามฟ้องซึ่งมีกำหนดเวลาให้ชำระราคาเสาเข็มคอนกรีตส่วนที่เหลือภายใน45 วัน นับแต่วันที่ตอกเสาเข็มเสร็จ ปรากฏว่าโจทก์ตอกเสาเข็มเสร็จสิ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2526 จึงครบกำหนดชำระราคาเสาเข็มคอนกรีตส่วนที่เหลือจำนวน 377,459 บาท ภายในวันที่19 กรกฎาคม 2526 แต่จำเลยไม่ชำระ อายุความย่อมเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 20 กรกฎาคม 2526 เป็นต้นไป โจทก์ยื่นฟ้องจำเลยต่อศาลแพ่งเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 จึงยังไม่พ้นกำหนดอายุความ 2 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) (มาตรา 193/34(1) ใหม่) แต่ศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์เพราะคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแพ่ง เนื่องจากจำเลยมีภูมิลำเนาอยู่นอกเขตศาลแพ่งและมูลคดีมิได้เกิดในเขตศาลแพ่ง คำสั่งของศาลแพ่งดังกล่าวย่อมมีความหมายเป็นอย่างเดียวกันกับคำว่าศาลยกคดีเสียเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจศาล ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 176 (เดิม) หาใช่ต้องเป็นกรณีที่ศาลรับฟ้องไว้แล้วภายหลังต่อมาจึงพิพากษายกฟ้องเพราะเหตุคดีไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาดังที่จำเลยฎีกาไม่ ดังนั้น เมื่อกำหนดอายุความในคดีของโจทก์จะครบ 2 ปี ในวันที่ 20 กรกฎาคม 2528 จึงเป็นกรณีที่อายุความจะสิ้นลงในระหว่างหกเดือนภายหลังที่คำพิพากษาหรือคำสั่งที่ไม่รับฟ้องถึงที่สุด จึงต้องขยายอายุความออกไปถึงหกเดือนภายหลังคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น ปรากฏว่าศาลแพ่งมีคำสั่งไม่รับฟ้องโจทก์เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2528 โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2528 ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ
พิพากษายืน