โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 ที่ 2 เป็นบุตรนายจูนางเขียว โดยนายจู นางเขียวมีบุตรชายหญิงรวม 6 คน รวมทั้งโจทก์ที่ 1 ที่ 2 พระครูธรรมธรซึ่งเป็นพระภิกษุ โจทก์ที่ 3 เป็นบุตรสะใภ้ของนายจูนางเขียวโดยเป็นภรรยานายเกี้ยวซึ่งวายชนม์ไปแล้ว โจทก์ที่ 3 จึงเป็นผู้รับมรดกแทนที่นายเกี้ยว นายจูนางเขียวได้วายชนม์แล้ว เมื่อมีชีวิตอยู่มีทรัพย์สินตามบัญชีท้ายฟ้อง ทรัพย์หมายเลข 1 นายเขียวยกให้โจทก์ไปแล้ว ทรัพย์หมายเลข 2 บรรดาทายาทของนางเขียวได้ตกลงแบ่งกัน ทรัพย์หมายเลข 3 ทายาททุกคนปกครองร่วมกัน โจทก์มีความประสงค์ขอแบ่งเป็น 4 ส่วนเท่า ๆ กัน โจทก์ 3 ส่วน จำเลย 1 ส่วนจำเลยไม่ยอมแบ่ง จำเลยได้บุกรุกเข้าไปตัดฟันไม้ไฝ่สีสุกในที่ดินหมายเลข 3 ไปขายเอาเงินเสียแต่ผู้เดียวเป็นเงิน 3,600 บาท โจทก์ขอแบ่งตามส่วน จำเลยไม่แบ่งให้ ขอให้จำเลยแบ่งทรัพย์หมายเลข 3 ให้แก่โจทก์ 3 ส่วน ถ้าไม่สามารถแบ่งกันเองได้ ให้ประมูลขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งให้โจทก์ 3 ส่วน กับแบ่งไม้ไผ่ที่จำเลยตัดไป ให้แก่โจทก์ 3 ใน 4 ส่วน ถ้าไม่สามารถแบ่งได้ให้จำเลยใช้เงินค่าไม้ไผ่ 2,700 บาท
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีสิทธิรับมรดก 3 ส่วน เพราะนายจูนางเขียวมีบุตร 6 คน ทรัพย์อันดับ 3 เป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยแต่ผู้เดียวเพราะจำเลยเป็นผู้บุกเบิกถางป่า
ศาลชั้นต้นฟังว่า ที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายจูนางเขียวมีทายาทตามบัญชีเครือญาติ 6 คน แต่พระครูธรรมธรไม่ได้สึกมาจากพระมารับมรดกจนบัดนี้ ทายาทที่ได้รับมรดกรายนี้จึงมี 5 คน โจทก์ควรได้ส่วนเพียง 3 ใน 5 ส่วนพิพากษาให้แบ่งทรัพย์ตามบัญชีทรัพย์อันดับ 3 ให้โจทก์ 3 ใน 5 ส่วน กับให้จำเลยแบ่งไม้ไผ่ที่ตัดไป 3 ใน 5 ส่วนของไม้ไผ่ 800 ลำ หรือชำระราคาไม้ไผ่ 1,440 บาท ให้แก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาฟังว่าที่ดินพิพาทเป็นมรดกของนายจูนางเขียวจริงและเห็นว่าที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์เห็นพ้องกันว่าจำเลยตัดไม้ไผ่ไปเพียง 800 ลำ เป็นผลดีแก่จำเลยแล้ว
ได้ความว่านายจูนางเขียวมีบุตรตามบัญชีเครือญาติ 6 คน บุตรของนายจูนางเขียวทุกคนเว้นแต่พระครูธรรมธร (ไซ่) ซึ่งบวช เป็นพระภิกษุอยู่ได้ร่วมกันครอบครองมรดกรายนี้ตลอดมา ต่อมานายเกี้ยวบุตรของนายจูนางเขียวได้ถึงแก่ความตาย มรดกของนายจูนางเขียวที่นายเกี้ยวได้รับจึงตกเป็นของโจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นภริยานายเกี้ยว ในฐานะเป็นผู้รับมรดกของนายเกี้ยว หาใช่ในฐานะเป็นผู้รับมรดกแทนที่นายเกี้ยวดังที่โจทก์กล่าวในฟ้องไม่ แต่เมื่อพิเคราะห์แล้วเป็นที่เข้าใจได้ว่าโจทก์ที่ 3 ขอรับมรดกของนายเกี้ยวนั่นเอง โจทก์ที่ 3 จึงมีสิทธิขอแบ่งทรัพย์มรดกรายนี้ เนื่องด้วยพระครูธรรมธรซึ่งเป็นบุตรของเจ้ามรดกบวชเป็นพระภิกษุอยู่ จึงมีประเด็นวินิจฉัยว่าจะแบ่งทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกรายนี้เป็น 5 ส่วนหรือ 6 ส่วน ศาลฎีกาได้ประชุมปรึกษาในที่ประชุมใหญ่ในประเด็นข้อนี้แล้วมีมติว่า พระภิกษุมีสิทธิรับมรดกในฐานะเป็นทายาทโดยธรรมได้ แต่ถ้าจะเรียกร้องเอาทรัพย์มรดกแล้วต้องสึกจากสมณเพศมาเรียกร้องภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1754 สำหรับคดีนี้ได้ความว่าพระครูธรรมธรได้บวชเป็นพระภิกษุอยู่ก่อนนางเขียวเจ้ามรดกถึงแก่ความตายตลอดมาจนบัดนี้เป็นเวลา 20 ปี แล้ว ไม่ได้เข้ามาร่วมครอบครองทรัพย์มรดกรายนี้เลย คงมีแต่โจทก์จำเลยและนายสรวงครอบครองร่วมกันมา โจทก์จำเลยและนายสรวงย่อมมีสิทธิในทรัพย์มรดกรายนี้เท่า ๆ กัน จึงให้แบ่งทรัพย์มรดกรายนี้ออกเป็น 5 ส่วน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นว่าให้แบ่งทรัพย์มรดกรายนี้ให้แก่โจทก์ 3 ส่วน ใน 5 ส่วนนั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน