โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้พิพากษาว่า หนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2546 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ตกเป็นโมฆะ กับให้เพิกถอนสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2546 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ไปยังนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทเพื่อทำการขีดฆ่าทำลายรายการหุ้นของจำเลยที่ 3 ในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นที่เกิดขึ้นภายหลังทุกฉบับ และมีคำสั่งให้นายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทปรับลดจำนวนหุ้นในบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ของผู้ถือหุ้นลำดับที่ 2 ถึงที่ 5 เฉพาะจำนวนหุ้นที่เกิดขึ้นโดยมิชอบเพราะมิได้ชำระค่าหุ้นกันจริง โดยให้คงเหลือจำนวนหุ้นเดิมไว้ในบัญชีผู้ถือหุ้นฉบับดังกล่าวและบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นฉบับอื่นต่อมาทุกฉบับ เพิกถอนบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 โดยมีคำสั่งไปยังกระทรวงการคลังซึ่งเป็นผู้รับโอนบรรดาทรัพย์สิน สมุดบัญชีและเอกสารทั้งหมดจากบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยซึ่งได้ยุบเลิกไปแล้ว และมีคำสั่งไปยังจำเลยทั้งสามกับผู้เกี่ยวข้องกับนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะดังกล่าว หากไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของกระทรวงการคลัง จำเลยทั้งสามและผู้เกี่ยวข้อง
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องว่า หากศาลพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีโดยให้เพิกถอนนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะแล้ว บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด จะต้องรับผิดชอบต่อผลของการกระทำของจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนด้วยเช่นกัน กรณีมีความจำเป็นที่จะต้องให้บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) เพื่อให้โจทก์สามารถไล่เบี้ยและบังคับให้เป็นไปตามคำขอของโจทก์ต่อไปและเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ขอให้หมายเรียกบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด ซึ่งมีจำเลยทั้งสามเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน ในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2546 เมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ที่ประชุมใหญ่มีมติยืนยันตามมติที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2546 เพื่อให้เป็นมติพิเศษตามกฎหมาย ให้เพิ่มทุนจดทะเบียนของบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด จาก 30,000,000 บาท เป็น 60,000,000 บาท จำเลยที่ 3 เป็นผู้แสดงความประสงค์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุน 1,875,000 หุ้น โดยออกเช็คสั่งจ่ายเงิน 15,000,000 บาท เพื่อชำระค่าหุ้นดังกล่าว วันที่ 30 กรกฎาคม 2546 บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด นำมติพิเศษดังกล่าวไปจดทะเบียนโดยทำหนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 เป็นหลักฐานประกอบการจดทะเบียนมติพิเศษต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท วันที่ 8 กันยายน 2546 บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด ยื่นสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2546 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 ต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท วันที่ 7 ตุลาคม 2546 บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด ทำบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้กับบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทยซึ่งเป็นเจ้าหนี้ และวันที่ 8 ตุลาคม 2546 บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด นำเช็คที่ได้รับจากจำเลยที่ 3 ไปเรียกเก็บเงิน
ก่อนวินิจฉัยปัญหาตามฎีกาของโจทก์ สมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้พิพากษาว่า หนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2546 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ตกเป็นโมฆะ กับให้เพิกถอนสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าวหรือไม่ เห็นว่า โจทก์บรรยายคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ถือหุ้นซึ่งใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1169 ประการหนึ่ง และเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งชอบที่จะยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง อีกประการหนึ่ง ที่โจทก์อ้างว่าใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ตามมาตรา 1169 นั้น บทบัญญัติดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ถือหุ้นใช้สิทธิฟ้องแทนหรือฟ้องเพื่อประโยชน์ของบริษัทเฉพาะกรณีที่บริษัทไม่ฟ้องและเป็นการฟ้องเรียกร้องเอาค่าสินไหมทดแทนจากกรรมการของบริษัทเท่านั้น แต่การที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสามซึ่งเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด โดยมีคำขอให้พิพากษาว่า หนังสือยืนยันการชำระค่าหุ้นและการเก็บรักษาค่าหุ้น ลงวันที่ 30 กรกฎาคม 2546 สำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นในการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ครั้งที่ 3/2546 ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2546 และบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2546 ตกเป็นโมฆะ กับให้เพิกถอนสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นและบันทึกข้อตกลงแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ดังกล่าว หาใช่เป็นการฟ้องเพื่อเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนจากจำเลยทั้งสามไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในส่วนนี้ ส่วนที่โจทก์อ้างว่าเป็นการยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง นั้น ในการเพิกถอนนิติกรรมซึ่งได้กระทำโดยจำเลยทั้งสามในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด มิใช่กระทำในฐานะส่วนตัว บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด ย่อมเป็นผู้มีส่วนได้เสียซึ่งชอบที่จะยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างตามมาตรา 172 วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นและไม่มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด คงมีสิทธิเพียงควบคุมการดำเนินงานของบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด บางประการตามที่กฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น จึงหาอาจก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด โดยกล่าวอ้างว่าเป็นผู้มีส่วนได้เสียในการนี้เสียเองหาได้ไม่ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามในส่วนนี้เช่นกัน ปัญหาข้อนี้แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดฎีกา แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5)
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์มีว่า มีเหตุอันสมควรที่จะเรียกบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ตามคำร้องสอดของโจทก์หรือไม่ เห็นว่า ตามคำร้องสอดของโจทก์ ฉบับลงวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2558 และฉบับลงวันที่ 3 มีนาคม 2558 โจทก์ขอให้ศาลหมายเรียกบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) และมาตรา 57 (3) (ข) ตามลำดับ โดยโจทก์อ้างในอุทธรณ์คำสั่งระหว่างพิจารณา ฉบับลงวันที่ 23 กรกฎาคม 2558 ว่าโจทก์ยื่นคำร้องสอดเพื่อขอให้ศาลหมายเรียกบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมตามมาตรา 57 (3) (ข) มาตั้งแต่แรก มิใช่คำร้องสอดที่ยื่นเข้ามาตามมาตรา 57 (3) (ก) ดังนี้ เมื่อโจทก์มิใช่ผู้มีส่วนได้เสียซึ่งชอบที่จะยกเอาความเสียเปล่าแห่งนิติกรรมซึ่งตกเป็นโมฆะขึ้นกล่าวอ้างตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 172 วรรคหนึ่ง และไม่มีสิทธิก้าวล่วงเข้าไปจัดการงานของบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด ในการนี้เสียเองดังที่วินิจฉัยข้างต้นแล้ว ศาลย่อมไม่อาจพิพากษาให้บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด รับผิดตามคำขอของโจทก์ได้ กรณีไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเรียกบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาในคดีเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ทั้งมิใช่กรณีที่กฎหมายบังคับให้บริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาในคดี จึงไม่มีเหตุอันสมควรตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3) (ข) ที่จะเรียกบริษัทไทยพับลิคพอร์ต จำกัด เข้ามาเป็นจำเลยร่วมในคดีนี้ตามคำร้องสอดของโจทก์ คำสั่งศาลชั้นต้นที่ยกคำร้องสอดของโจทก์ชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของโจทก์นั้นไม่จำต้องวินิจฉัยเพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ