โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469มาตรา 27 พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 9) พ.ศ. 2482 มาตรา 16พระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 และขอให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 ตามฟ้องข้อ ก. ปรับ 869,469.80 บาท จำเลยให้การรับต่อเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรและพนักงานสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 78 คงเหลือค่าปรับ 652,102.35 บาท ไม่ชำระค่าปรับให้กักขังแทน 2 ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ให้จ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย ส่วนฟ้องข้อ ข. ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยหรือไม่ ที่จำเลยอ้างว่าการกระทำของจำเลยหากจะเป็นผิดกฎหมายก็เป็นความผิดฐานสำแดงเท็จตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 99 แห่งพระราชบัญญัติศุลกากรดังกล่าว ซึ่งขาดอายุความไปแล้ว แต่โจทก์มาแกล้งฟ้องจำเลยในข้อหาตามฟ้องเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า การกระทำของจำเลยดังกล่าวนอกจากจะเข้าองค์ประกอบเป็นความผิดฐานสำแดงเท็จตามมาตรา 99 ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำหรือยอมให้ผู้อื่นกระทำ หรือยื่น หรือจัดให้ผู้อื่นซึ่งใบขนสินค้า คำสำแดง ใบรับรอง บันทึกเรื่องราว หรือตราสารอย่างอื่นต่อเจ้าพนักงาน เจ้าหน้าที่ ในเรื่องใด ๆ อันเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ หรืออันพระราชบัญญัตินี้บังคับให้กระทำนั้น เป็นความเท็จ...ท่านว่าผู้นั้นมีความผิด..."แล้ว การกระทำของจำเลยยังเข้าองค์ประกอบเป็นความผิดฐานหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรตามมาตรา 27ซึ่งบัญญัติว่า "ผู้ใดนำหรือพาของที่ยังมิได้เสียภาษี... หรือกระทำอย่างใดแก่ของเช่นว่านั้นก็ดี หรือเกี่ยวข้องด้วยประการใด ๆในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียค่าภาษีศุลกากรหรือในการหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงบทกฎหมายหรือข้อจำกัดใด ๆ อันเกี่ยวแก่การนำของเข้า... โดยเจตนาจะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่จะต้องเสียสำหรับของนั้น ๆ ..." อีกด้วย ซึ่งเป็นความผิดต่างกรรมกัน เมื่อโจทก์มิได้ฟ้องจำเลยในความผิดตามมาตรา 99 เพราะคดีขาดอายุความโจทก์ก็ย่อมฟ้องจำเลยในความผิดฐานนี้ได้ ส่วนที่จำเลยอ้างว่า คดีของจำเลยได้มีการเปรียบเทียบไปแล้วตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 102ประกอบด้วยมาตรา 102 ทวิ สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์เป็นอันระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 เห็นว่าตามพระราชบัญญัติศุลกากรที่จำเลยยกขึ้นอ้างดังกล่าวให้อำนาจแก่อธิบดีกรมศุลกากรหรือคณะกรรมการที่ระบุไว้ในมาตรานั้น มีอำนาจที่จะงดการฟ้องร้องแก่บุคคลผู้กระทำความผิดตามมาตรา 27 ได้ เฉพาะในกรณีที่บุคคลนั้นตกลงยินยอมและใช้ค่าปรับก่อนจะถูกฟ้องแล้วเท่านั้น ดังนั้นเมื่อจำเลยไม่ชำระค่าปรับตามที่ตกลงยินยอมจึงถือไม่ได้ว่า มีการเปรียบเทียบคดีอันจะทำให้คดีของจำเลยเป็นอันเลิกกันตามมาตราดังกล่าว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์จึงไม่ระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 ประกอบด้วยมาตรา 37(4) โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาต่อไปว่า บริษัทไทยเจริญ (ฮ่องกงท้าวไต๋)จำกัด เป็นผู้นำเครื่องจักรเข้ามาในราชอาณาจักร จำเลยในฐานะตัวแทนไม่ต้องรับผิดนั้น เห็นว่าความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากรพ.ศ. 2469 มาตรา 27 นอกจากจะเอาความผิดกับผู้หลีกเลี่ยงภาษีอากรแล้ว ยังเอาความผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องในการหลีกเลี่ยงค่าภาษีอากรนั้นด้วย เมื่อจำเลยเกี่ยวข้องในการหลีกเลี่ยงภาษีอากรที่บริษัทไทยเจริญ (ฮ่องกงท้าวไต๋) จำกัด เป็นผู้นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร การกระทำของจำเลยจึงต้องเป็นความผิดจำเลยจะยกเอาเหตุว่า จำเลยเป็นตัวแทนของบริษัทดังกล่าวมาเป็นข้อแก้ตัวไม่ได้ ฎีกาของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
สำหรับในข้อที่จำเลยฎีกาขอให้ศาลฎีกาลดโทษให้จำเลยนั้น เป็นการโต้แย้งดุลพินิจของศาลเป็นปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจึงต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218วรรคแรก ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.