โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 4, 7, 8 ทวิ, 72, 72 ทวิ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83, 91, 288, 371 ริบหัวกระสุนปืนของกลาง และนับโทษจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 51/2561 ของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพ และจำเลยที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ระหว่างพิจารณา นางสาวนิตติยา มารดาผู้ตายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาตเฉพาะข้อหาร่วมกันฆ่าผู้อื่น ส่วนข้อหาอื่นไม่อนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสี่มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ.2490 มาตรา 7, 8 ทวิ วรรคหนึ่ง, 72 วรรคหนึ่ง, 72 ทวิ วรรคสอง ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288, 371 ประกอบมาตรา 83 การกระทำของจำเลยทั้งสี่เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ขณะกระทำความผิดจำเลยทั้งสี่อายุ 17 ปีเศษ ลดมาตราส่วนโทษลงคนละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 75 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต จำคุกคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาตและไม่มีเหตุสมควรเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืนฯ ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกคนละ 3 เดือน ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น จำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีกำหนดคนละ 8 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 10 ปี จำเลยทั้งสี่ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานร่วมกันมีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน ฐานร่วมกันพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงจำคุกคนละ 1 เดือน 15 วัน ฐานร่วมกันฆ่าผู้อื่น คงจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีกำหนดคนละ 4 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี รวมจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คนละ 4 ปี 2 เดือน 30 วัน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 5 ปี 2 เดือน 30 วัน อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) ให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยทั้งสี่ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 มีกำหนดขั้นต่ำ 3 ปี ขั้นสูง 4 ปี ส่วนจำเลยที่ 2 มีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 5 ปี ริบหัวกระสุนปืนของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้นับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 51/2561 ของศาลชั้นต้น เนื่องจากคดีดังกล่าวศาลชั้นต้นมีคำสั่งยุติคดีและจำหน่ายคดีออกเสียจากสารบบความ จึงไม่อาจนับโทษต่อให้ได้ ให้ยกคำขอในส่วนนี้
จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 อุทธรณ์ขอให้รอการลงโทษหรือลดระยะเวลาการควบคุมเพื่อฝึกอบรมให้น้อยลง ส่วนจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ในทำนองขอให้รอการลงโทษ
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวพิพากษาแก้เป็นว่า ไม่เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไปควบคุมเพื่อฝึกอบรมตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 142 (1) แต่ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไว้มีกำหนดคนละ 4 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ฟัง โดยให้คุมความประพฤติของจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไว้ตลอดระยะเวลารอการลงโทษ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ไปรายงานตัวที่ศูนย์ให้คำปรึกษาแนะนำและประสานการประชุมของศาลชั้นต้นเพื่อรับคำปรึกษาแนะนำจากนักจิตวิทยา 3 เดือน ต่อครั้ง ตลอดระยะเวลาที่คุมความประพฤติ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 ศึกษาต่อหรือประกอบอาชีพเป็นกิจจะลักษณะและเข้าร่วมโครงการกับศาลชั้นต้นตามที่ศาลชั้นต้นเห็นสมควรกำหนดอย่างน้อย 2 โครงการ ห้ามจำเลยที่ 1 ที่ 3 และที่ 4 คบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความประพฤติไม่ดี กับห้ามเที่ยวเตร่ในเวลากลางคืนหรือเข้าไปในสถานเริงรมย์ทุกประเภท ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 144 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติในเบื้องต้นว่า ตามวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุในฟ้อง จำเลยทั้งสี่ร่วมกันมีและพาอาวุธปืนลูกซองสั้น ซึ่งเป็นอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานพร้อมกระสุนปืนติดตัวไปที่บริเวณถนนไตรรัตน์ ตำบลท่ามะกา อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร ที่เกิดเหตุ และจำเลยที่ 2 ใช้อาวุธปืนกระบอกดังกล่าวยิง 1 นัด กระสุนปืนที่จำเลยที่ 2 ลั่นไกยิงดังกล่าวถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 เพียงว่า สมควรลงโทษจำเลยที่ 2 สถานเบาหรือรอการลงโทษหรือไม่ เห็นว่า ในส่วนของจำเลยที่ 2 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นส่งตัวจำเลยที่ 2 ไปควบคุมเพื่อฝึกและอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน มีกำหนดขั้นต่ำ 4 ปี ขั้นสูง 5 ปี จำเลยที่ 2 ฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบากว่าที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษกำหนด ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นการฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชน ซึ่งตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 182/1 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ให้นำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งหรือประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาแล้วแต่กรณี มาใช้บังคับโดยอนุโลม เว้นแต่ในกรณีที่เป็นคำพิพากษาหรือคำสั่งกำหนดวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนตามมาตรา 180 ต้องห้ามฎีกา" ดังนั้นฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยที่ 2 มานั้น จึงเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายกฎีกาของจำเลยที่ 2