คดีทั้งสองสำนวนนี้ ศาลชั้นต้นพิจารณาและพิพากษารวมกัน โดยให้เรียกผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 7 ในสำนวนแรกว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 7 และให้เรียกผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ในสำนวนหลังว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ตามลำดับ
ผู้ร้องยื่นคำร้องขอทั้งสองสำนวนเป็นใจความว่าขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินรวม 27 รายการ พร้อมดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินที่เกิดขึ้นตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นนัดไต่สวนและประกาศตามกฎหมายแล้ว
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 7 ยื่นคำคัดค้านในทำนองเดียวกันว่าขอให้ยกคำร้องขอ
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สินทั้ง 25 รายการพร้อมดอกผล และตามบัญชีรายการทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) ทั้ง 2 รายการพร้อมดอกผล ตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 วรรคหนึ่ง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ผู้ร้องและผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 เป็นสามีภริยากัน ผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรของผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 2 ส่วนวิเคราะห์ธุรกรรมทางการเงิน กองข่าวกรองทางการเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพบว่า ผู้คัดค้านที่ 1 และนายจันทร์ ไม่มีประวัติการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด แต่ตรวจพบว่าบุคคลที่ทำธุรกรรมทางการเงินกับผู้คัดค้านที่ 1 และนายจันทร์มีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหลายราย ธนาคาร ก. รายงานการทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัย ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2545 ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินสดซึ่งเป็นธนบัตรชนิดย่อยเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 จำนวนมาก ๆ หลายครั้ง เจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแม่สายรายงานเป็นหนังสือมายังเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินว่าได้ร่วมกันจับกุมผู้คัดค้านที่ 1 ในความผิดฐานฟอกเงิน และนายจันทร์เป็นบุคคลตามหมายจับของศาลจังหวัดเชียงรายในความผิดฐานฟอกเงิน สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินพบข้อมูลการทำธุรกรรมของผู้คัดค้านที่ 1 กับบุคคลต่าง ๆ ได้แก่ นางสาวจินตนา นางสาวสุกัญญา นางสาวสุภาพร นางหรือนางสาวปภาดา นางพรรณี นายเปี่ยมศักดิ์ นายยี่หลง นางสาวศิริประภา และคนต่างชาติสัญชาติลาว พบผู้คัดค้านที่ 1 นำเงินบางส่วนที่บุคคลต่าง ๆ ข้างต้นฝากเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 ไปซื้อหน่วยลงทุนของกองทุนธนาคาร ร. พบนายจันทร์ทำธุรกรรมทางการเงินโดยการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งเคยถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงดำเนินคดีในข้อหาสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้กระทำความผิดก่อนหรือขณะกระทำความผิด จัดหาหรือให้เงินหรือทรัพย์สิน ยานพาหนะ สถานที่หรือวัตถุใด ๆ เพื่อประโยชน์ หรือให้ความสะดวกแก่การกระทำความผิด หรือเพื่อมิให้ผู้กระทำความผิดถูกลงโทษ ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 มาตรา 6 (1) และ (2) ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดธัญบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้คัดค้านที่ 5 พบนายจันทร์ทำธุรกรรมทางการเงินเกี่ยวข้องกับผู้คัดค้านที่ 6 ซึ่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรดอยสะเก็ดดำเนินคดีในข้อหาสมคบค้ายาเสพติดและฟอกเงิน พบนายจันทร์โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 และบริษัท ห. พบผู้คัดค้านที่ 1 รับการโอนเงินจากเครือข่ายค้ายาเสพติดของผู้คัดค้านที่ 5 ซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รับการโอนเงินจากกลุ่มเครือข่ายค้ายาเสพติดของนางสาวศิริประภาซึ่งถูกดำเนินคดีในข้อหาสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รับการโอนเงินจากกลุ่มค้ายาเสพติดเครือข่ายของนายยี่หลง ซึ่งถูกศาลจังหวัดเชียงรายออกหมายจับในข้อหาสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด รับการโอนเงินจากกลุ่มค้ายาเสพติดเครือข่ายของนางจันทร์คำ ซึ่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแสวงหาจับกุมและดำเนินคดีในข้อหาสมคบค้ายาเสพติด รับการโอนเงินจากกลุ่มเครือข่ายยาเสพติดของนางน้อย ซึ่งถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรเชียงของดำเนินคดีในข้อหาลักลอบขนเงินสดออกนอกประเทศ รับการโอนเงินจากนางมัดสา ซึ่งเป็นลูกของนางน้อย รับการโอนเงินจากคนสัญชาติลาว รับการโอนเงินจากนายอัครพล รับการโอนเงินจากนางหรือนางสาวปภาดา ซึ่งเคยเป็นภริยาของนายจันทร์ และยังพบอีกว่านางหรือนางสาวปภาดาทำธุรกรรมทางการเงินกับผู้มีประวัติกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ได้แก่ โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 5 ทำธุรกรรมทางการเงินกับกลุ่มของนักโทษชายโสรส และทำธุรกรรมทางการเงินกับนางมณี ธนาคาร ก. ฝ่ายกำกับการปฏิบัติงาน ทำรายงานการทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า นางหรือนางสาวปภาดาทำธุรกรรมทางการเงินที่ไม่สอดคล้องกับรายได้ที่แจ้งไว้กับธนาคาร ห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. มีผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ กับมีผู้คัดค้านที่ 4 เป็นหุ้นส่วน มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการค้าขายและรับขนน้ำมัน เป็นตัวแทนสั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศ และรับซื้อสินค้าการเกษตร บริษัท ส. บริษัท ม. บริษัท ต. บริษัท บ. บริษัท ซ. และบริษัท ช. แต่งตั้งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. และนางสาวชม้อย ซึ่งเป็นน้องสาวผู้คัดค้านที่ 1 เป็นตัวแทนในการสั่งซื้อน้ำมัน เพื่อส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และสาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อบริษัทผู้สั่งซื้อน้ำมันจากต่างประเทศสั่งซื้อน้ำมันแล้วก็จะโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากของผู้คัดค้านที่ 1 สำหรับผู้คัดค้านที่ 5 ถึงที่ 7 ไม่อุทธรณ์ คดีในส่วนของผู้คัดค้านที่ 5 ถึงที่ 7 เป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนปัญหาว่าผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐานหรือเป็นผู้เกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินตามคำสั่ง ศาลชั้นต้นหรือไม่ ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่อุทธรณ์คัดค้านว่า ไม่มีการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เกิดขึ้น ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงเป็นอันยุติไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น ว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 เกิดขึ้นแล้ว
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ในประการแรกว่า ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอเป็นคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ภายใต้บังคับมาตรา 48 วรรคหนึ่ง ในกรณีที่ปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินใดเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ให้เลขาธิการส่งเรื่องให้พนักงานอัยการพิจารณาเพื่อยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดินโดยเร็ว" การยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินของบุคคลตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 นั้น เป็นกฎหมายที่กำหนดทั้งความผิดเกี่ยวกับการฟอกเงินซึ่งมีโทษทางอาญาและมาตรการทางแพ่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน โดยความผิดอาญาและโทษทางอาญามุ่งบังคับแก่บุคคล ส่วนมาตรการทางแพ่งมุ่งบังคับแก่ตัวทรัพย์สินซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่จะป้องปรามไม่ให้มีการกระทำความผิดมูลฐาน เพราะถึงอย่างไรทรัพย์สินที่ได้มาหรือเกี่ยวกับการกระทำความผิดก็ไม่เป็นของผู้กระทำความผิด ผู้เกี่ยวข้อง หรือผู้ใด เพื่อตัดวงจรการกระทำความผิดมิให้นำทรัพย์สินนั้นไปใช้สนับสนุนการก่ออาชญากรรมต่อไป ดังนั้น เพียงแต่หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดเกิดขึ้น และแม้เจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพสินไม่ได้ร่วมกระทำความผิดและไม่ได้ถูกฟ้อง ก็สามารถดำเนินมาตรการทางแพ่งแก่ตัวทรัพย์สินนั้นได้ เพราะเป็นมาตรการส่วนแพ่งในการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินที่เชื่อได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 มิใช่เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับตัวบุคคลที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ดังนั้น พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 49 ได้บัญญัติมาตรฐานการสั่งคดีของพนักงานอัยการที่จะพิจารณาว่าจะยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินหรือไม่นั้น ย่อมมีเพียงการปรากฏหลักฐานเป็นที่เชื่อได้ว่าทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ตามบทนิยาม "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 3 เท่านั้น โดยไม่จำต้องพิจารณาว่าเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ นอกจากนี้อำนาจในการสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินเป็นอำนาจของศาล ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 โดยศาลต้องทำการไต่สวนพยานหลักฐานจนเชื่อว่าทรัพย์สินนั้นเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคำคัดค้านของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับโอนทรัพย์สินนั้นฟังไม่ขึ้น ดังนั้น แม้จะมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้คัดค้านที่ 1 ก็ตาม แต่หากผู้ร้องเห็นว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้ร้องก็ย่อมมีอำนาจยื่นคำร้องขอต่อศาลเป็นคดีนี้ได้ ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ในประการต่อมาว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ และทรัพย์สินรวม 18 รายการ ตามบัญชีรายการทรัพย์สินกับทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) 2 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานหรือไม่ นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 50 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินตามมาตรา 49 อาจยื่นคำร้องก่อนศาลมีคำสั่งตามมาตรา 51 โดยแสดงให้ศาลเห็นว่า (1) ตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือ (2) ตนเป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ" มาตรา 51 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เมื่อศาลทำการไต่สวนคำร้องของพนักงานอัยการตามมาตรา 49 แล้ว หากศาลเชื่อว่าทรัพย์สินตามคำร้องเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด และคำร้องของผู้ซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง ฟังไม่ขึ้น ให้ศาลมีคำสั่งให้ทรัพย์สินนั้นตกเป็นของแผ่นดิน" และวรรคสาม บัญญัติว่า "เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ หากผู้อ้างว่าเป็นเจ้าของหรือผู้รับโอนทรัพย์สินตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า บรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต แล้วแต่กรณี" ซึ่งหมายความว่า ผู้ที่อ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินที่พนักงานอัยการยื่นคำร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินสามารถแยกออกได้เป็น 2 กรณี คือ กรณีที่ 1 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 50 (1) หากเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือไม่เคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน จะต้องแสดงให้ศาลเห็นรวม 2 ประการ คือ ประการที่หนึ่ง ต้องแสดงว่าตนเป็นเจ้าของที่แท้จริง และประการที่สอง ต้องแสดงว่าทรัพย์สินนั้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด หรือตามมาตรา 50 (2) เป็นผู้รับโอนโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน หรือได้มาโดยสุจริตและตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือในทางกุศลสาธารณะ และกรณีที่ 2 ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 51 วรรคสาม หากเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินมาก่อน กฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าบรรดาทรัพย์สินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดหรือได้รับโอนมาโดยไม่สุจริต ทั้งมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวให้คำจำกัดความ "ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด" หมายความว่า (1) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินหรือจากการสนับสนุนหรือช่วยเหลือการกระทำซึ่งเป็นความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน และให้รวมถึงเงินหรือทรัพย์สินที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้หรือสนับสนุนการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน (2) เงินหรือทรัพย์สินที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนด้วยประการใด ๆ ซึ่งเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (3) ดอกผลของเงินหรือทรัพย์สินตาม (1) หรือ (2) ทั้งนี้ ไม่ว่าทรัพย์สินตาม (1) (2) หรือ (3) จะมีการจำหน่าย จ่าย โอน หรือเปลี่ยนสภาพไปกี่ครั้งและไม่ว่าจะอยู่ในความครอบครองของบุคคลใด โอนไปเป็นของบุคคลใด หรือปรากฏหลักฐานทางทะเบียนว่าเป็นของบุคคลใด" ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด จึงหาได้หมายความว่าต้องเป็นทรัพย์สินในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาว่าเจ้าของทรัพย์สินเป็นผู้กระทำความผิดและถูกลงโทษเท่านั้นไม่ เพียงแต่หากปรากฏว่ามีการกระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินเกิดขึ้น ไม่ว่าจะจับกุมตัวผู้กระทำความผิดได้หรือไม่ หรือผู้กระทำความผิดจะถูกลงโทษหรือไม่ แต่มีทรัพย์สินเกิดขึ้นจากการกระทำนั้น หรือเป็นทรัพย์สินอื่นที่ได้มาจากการจำหน่าย จ่าย โอนทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าว หรือเป็นดอกผลของทรัพย์สินจากการกระทำดังกล่าว ก็ถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดแล้ว กรณีจึงต้องวินิจฉัยเสียก่อนว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 เป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงินหรือไม่ และทรัพย์สินรายการที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 และ ที่ 10 ถึงที่ 22 รวม 18 รายการ ตามบัญชีรายการทรัพย์สินและทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) อีกจำนวน 2 รายการ เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดมูลฐานตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 หรือไม่ ผู้ร้องมีนายปิยะ ซึ่งรับราชการที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ตำแหน่งนิติกรชำนาญการ ได้ตรวจสอบการทำธุรกรรมทางการเงินของนายจันทร์ และผู้คัดค้านที่ 1 แล้วพบว่า บุคคลที่ทำธุรกรรมทางการเงินกับบุคคลทั้งสองนั้นมีพฤติการณ์กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหลายคน ซึ่งแต่ละคนล้วนถูกดำเนินคดีในข้อหาสมคบสนับสนุนช่วยเหลือจัดการด้านการเงินให้แก่กลุ่มขบวนการค้ายาเสพติด และจากการรายงานมีเหตุอันควรเชื่อหรือเหตุอันควรสงสัยตามเอกสาร ปปง. 1-03 กล่าวคือ เป็นธุรกรรมที่ไม่มีความเป็นไปได้ทางเศรษฐกิจ และมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากระทำเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ต้องตกอยู่ภายใต้กฎหมายฟอกเงิน โดยมีพฤติการณ์เข้าข่ายหลีกเลี่ยงการทำรายงานตามกฎหมายหลายครั้งตั้งแต่ปี 2545 จึงเชื่อได้ว่าเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวก ได้รับโอนมาจากกลุ่มบุคคลที่ถูกดำเนินคดียาเสพติด น่าจะเกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมาย โดยผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติดตั้งแต่ปี 2545 เนื่องจากเริ่มมีธุรกรรมทางการเงินต้องสงสัย โดยธนาคาร ก. ได้รายงานตามแบบรายงานการทำธุรกรรมที่มีเหตุอันควรสงสัยว่า เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2545 ผู้คัดค้านที่ 1 ได้ทำธุรกรรมที่ใช้เงินสด โดยฝากเงินสดเข้าบัญชีบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 897,430 บาท โดยธนาคารแจ้งอันควรสงสัยว่า ลูกค้านำเงินสดที่เป็นธนบัตรชนิดย่อยมาเข้าบัญชีจำนวนมาก ๆ หลายครั้ง ครั้งนี้เป็นธนบัตรฉบับละ 20 บาท รวม 200,000 บาท และฉบับละ 100 บาท รวม 300,000 บาท พันตำรวจเอกธวัชชัย ตำแหน่งผู้กำกับการสืบสวน 1 กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 5 และพันตำรวจโทนพฤทธิ์ ตำแหน่งสารวัตรสืบสวน ประจำกองกำกับการสืบสวน 2 กองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 5 เบิกความทำนองเดียวกันว่า จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับพวกซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับเงินจากนายจันทร์น่าจะมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดหรือสิ่งผิดกฎหมาย จึงได้ตรวจเส้นทางธุรกรรมทางการเงินแล้วพบว่า 1. ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนเงินจากกลุ่มเครือข่ายค้ายาเสพติดของผู้คัดค้านที่ 5 จำนวน 2 ครั้ง คือ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2555 ผู้คัดค้านที่ 5 ฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 3,228,226 บาท และเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555 ผู้คัดค้านที่ 5 ได้ฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากดังกล่าวอีกจำนวน 24,886,760 บาท ซึ่งผู้คัดค้านที่ 5 ถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรคลองหลวงดำเนินคดีในความผิดฐานสนับสนุนช่วยเหลือผู้ค้ายาเสพติด ตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 2. ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนเงินจากกลุ่มเครือข่ายยาเสพติดของนางสาวศิริประภา โดยนางสาวศิริประภาอยู่ในเครือข่ายผู้ค้ายาเสพติดของนายสันดีหรือบังดี นางสาวรุสนี นางสาวจิรดา และนายมะรูดิง ซึ่งทั้งหมดนี้ถูกจับกุมดำเนินคดีพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนชนิดเกล็ด 2 กิโลกรัม และชนิดเม็ด 64,000 เม็ด โดยเมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2557 ขบวนการค้ายาเสพติดดังกล่าวได้โอนเงินค่ายาเสพติดผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร ร. ของนางสาวศิริประภา แล้วนางสาวศิริประภาได้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ร. ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 2,300,000 บาท 3. ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนเงินจากกลุ่มค้ายาเสพติดเครือข่ายนายยี่หลง ซึ่งถูกศาลออกหมายจับข้อหาสนับสนุนช่วยเหลือผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด โดยนายยี่หลงอยู่ในเครือข่ายค้ายาเสพติดของนายกฤษณธร และนายชาญณรงค์ ซึ่งถูกจับกุมพร้อมเมทแอมเฟตามีน 1,020,000 เม็ด เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2554 นายกฤษณธรได้โอนเงินค่ายาเสพติดเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ร. ของนายยี่หลง จำนวน 500,000 บาท และวันที่ 6 ธันวาคม 2554 นายยี่หลงโอนเงินให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร ร. ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 3,090,000 บาท 4. ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนเงินจากกลุ่มเครือข่ายค้ายาเสพติดของนางจันทร์คำ โดยนางจันทร์คำฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 จำนวน 2 ครั้ง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2555 และวันที่ 22 พฤศจิกายน 2555 จำนวน 1,800,000 บาท และ 3,000,000 บาท ตามลำดับ รวมเป็นเงิน 4,800,000 บาท ซึ่งนางจันทร์คำถูกเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรแสวงหาดำเนินคดีในความผิดฐานสมคบกันค้ายาเสพติดตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ศ. 2534 5.ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนเงินจากกลุ่มเครือข่ายของนางน้อย ทองฮักหรือทองรัก โดยนางน้อยฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อระหว่างวันที่ 28 มีนาคม 2556 ถึงวันที่ 19 มีนาคม 2557 จำนวน 11 ครั้ง รวมเป็นเงิน 60,843,429 บาท จากการตรวจสอบพบว่านางน้อยถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมเงินสด 47,000,000 บาท และถูกดำเนินคดีในความผิดฐานร่วมกันลักลอบนำเงินตราออกนอกประเทศ นอกจากนี้ยังพบว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนเงินจากนางมัดสา ซึ่งเป็นลูกน้องของนางน้อยจำนวน 4,686,000 บาท ผ่านบัญชีเงินฝากธนาคาร ร. ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 6. ผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนเงินจากนายอัครพล จำนวน 1 ครั้ง เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2555 โดยนายอัครพลฝากเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคาร ก. ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 รวม 2 ครั้ง จำนวน 1,900,000 บาท และ 1,300,000 บาท รวมเป็นเงิน 3,200,000 บาท ตามเอกสารหมาย ร.19 จากการตรวจสอบพบว่านายอัครพลถูกดำเนินคดีในความผิดฐานมียาเสพติดให้โทษไว้ในครอบครองโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย นายชาญชัย เบิกความว่า พยานเป็นเจ้าของบริษัท ส. ประกอบกิจการแลกเปลี่ยนเงินตราและค้าขายทองรูปพรรณ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2555 มีนายจาย นำเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ 1,000,000 ดอลลาร์สหรัฐ มาแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยได้ 30,630,000 บาท นางจันทร์คำซึ่งเป็นบุคคลสัญชาติเมียนมาและเป็นภริยาของนายจาย ได้โทรศัพท์มาแจ้งว่าให้โอนเงินดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝาก ธนาคาร ร. จำนวน 10,000,000 บาท ชื่อบัญชีผู้คัดค้านที่ 1 นอกจากนี้ผู้ร้องยังมีนางสุวัฒนา นายผัด และนางชมนพร เบิกความสนับสนุนว่า เป็นผู้รับจ้างเปิดบัญชีเงินฝากแล้วโอนเงินในบัญชีเงินฝากธนาคารเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบว่าเงินที่โอนเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ 1 ดังกล่าวนั้น เป็นการชำระค่าน้ำมันที่สั่งซื้อจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. ของผู้คัดค้านที่ 1 เห็นว่า พยานผู้ร้องต่างเป็นเจ้าพนักงานและเบิกความไปในทางปฏิบัติหน้าที่ของตน ทั้งยังมีนายชาญชัยมาเบิกความว่าได้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำสั่งของนางจันทร์คำ กับมีนางสุวัฒนา นายผัด และนางชมนพรมาเบิกความสนับสนุนว่า เป็นผู้รับจ้างเปิดบัญชีเงินฝากเมื่อมีเงินโอนเข้าบัญชีเงินฝากแล้ว ก็ได้โอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ตามคำสั่งของนางศิริประภา ซึ่งนายปิยะเบิกความยืนยันว่านางศิริประภา เป็นผู้มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ทั้งคำเบิกความของพยานดังกล่าวยังสอดคล้องกับเส้นทางการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านเข้าออกบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ 1 และพยานหลักฐานอื่น ส่วนพยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 1 ที่อ้างว่า เป็นการโอนเงินเพื่อชำระค่าน้ำมันที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. เป็นตัวแทนสั่งซื้อน้ำมัน แต่ปรากฏว่าการโอนเงินดังกล่าวกลับโอนเข้าบัญชีเงินฝากส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ 1 ทั้งผู้โอนตามหลักฐานก็เป็นชื่อบุคคลอื่นที่ไม่ตรงกับชื่อของผู้ที่สั่งซื้อน้ำมันตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 กล่าวอ้าง แม้ผู้คัดค้านที่ 1 จะเข้าใจว่าผู้ที่โอนเงินนั้นเป็นพนักงานของบริษัทผู้สั่งซื้อน้ำมัน แต่ก็เป็นพิรุธ เพราะการโอนเงินชำระค่าน้ำมันนั้นจะต้องกระทำโดยผู้สั่งซื้อ เนื่องจากจะได้เป็นหลักฐานที่ทำให้ทราบได้ว่าเป็นการโอนเงินเข้าบัญชีเงินฝากธนาคารเพื่อชำระหนี้ในการสั่งซื้อน้ำมันของผู้ใดและในคราวใด พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีพิรุธน่าสงสัย เมื่อชั่งน้ำหนักระหว่างพยานหลักฐานของผู้ร้องกับพยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 1 แล้วเห็นว่า พยานหลักฐานของผู้ร้องมีน้ำหนักดีกว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้คัดค้านที่ 1 มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดอันเป็นความผิดมูลฐาน และเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องหรือเคยเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้กระทำความผิดมูลฐานหรือความผิดฐานฟอกเงิน จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 มาตรา 51 วรรคสาม กล่าวคือ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 1 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย ส่วนผู้คัดค้านที่ 2 เป็นภริยาของผู้คัดค้านที่ 1 และผู้คัดค้านที่ 3 และที่ 4 เป็นบุตรของผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ถือว่าเป็นผู้ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผู้คัดค้านที่ 1 จึงต้องสันนิษฐานไว้ก่อนว่าทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ผู้คัดค้านที่ 2 ถึงที่ 4 จึงมีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน ในส่วนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นให้เงินในบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ 1 รายการที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 10 และที่ 11 ตกเป็นของแผ่นดินนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกาในทำนองว่า ทรัพย์สินดังกล่าวเป็นเงินที่ได้จากการรับโอนเงินค่าน้ำมันเชื้อเพลิงที่ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงเพื่อส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และเป็นเงินที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาจากการขายลำไยอบแห้งให้แก่นายเหอเลาปาน นั้น เห็นว่า ที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 อ้างว่าเป็นเงินที่ได้จากการเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิงส่งออกไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา แต่ข้ออ้างดังกล่าวมีข้อพิรุธเพราะจำนวนเงินที่สั่งซื้อและจำนวนเงินที่โอนชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงแตกต่างกัน และการชำระค่าน้ำมันเชื้อเพลิงก็มิได้ชำระโดยตรงให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ม. ซึ่งเป็นตัวแทนจำหน่ายน้ำมันเชื้อเพลิง แต่กลับโอนเข้าบัญชีเงินฝากส่วนตัวของผู้คัดค้านที่ 1 ส่วนที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 อ้างว่าเป็นเงินที่ได้มาจากการที่นายเหอเลาปานชำระค่าลำไยอบแห้งนั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงกลับปรากฏตามคำเบิกความของผู้คัดค้านที่ 1 ว่า นางสาวสุภาพร เป็นผู้ชำระค่าลำไยอบแห้ง หาใช่นายเหอเลาปานเป็นผู้ชำระไม่ ทั้งนางสาวสุภาพรก็มิได้ยืนยันว่านายเหอเลาปานเป็นผู้สั่งซื้อหรือชำระค่าลำไยอบแห้งให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 ข้ออ้างของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ว่า นายเหอเลาปานเป็นผู้สั่งซื้อลำไยอบแห้งจึงเป็นพิรุธ พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่อาจพิสูจน์ให้เห็นว่าเงินในบัญชีเงินฝากดังกล่าวข้างต้นไม่ใช่ทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด สำหรับที่ดินของผู้คัดค้านที่ 1 รายการที่ 12 ถึงที่ 16 นั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า ได้กู้เงินจากธนาคาร ง. เพื่อนำมาใช้จ่ายหมุนเวียนทางการค้าและได้นำเงินมาซื้อที่ดินดังกล่าว เห็นว่า การที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 อ้างว่านำเงินที่กู้ยืมจากธนาคาร ง. มาใช้จ่ายหมุนเวียนทางการค้าและซื้อที่ดินดังกล่าว แต่ปรากฏว่าขณะที่ผู้คัดค้านที่ 1 ได้มาซึ่งที่ดินนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ยังคงมีเงินเข้าและถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ 1 รายการที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 10 และที่ 11 จึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ใช้เงินจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ 1 เองไปซื้อที่ดินทั้งห้าแปลง ซึ่งผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ไม่อาจนำสืบได้ว่าบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าวมิใช่เป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังที่ได้วินิจฉัยไว้ข้างต้นแต่อย่างใด ฉะนั้น จึงต้องฟังว่าที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้วย ฎีกาข้อนี้ของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ฟังไม่ขึ้น สำหรับทรัพย์สินตามบัญชีรายการทรัพย์สิน รายการที่ 17 ถึงที่ 20 ซึ่งเป็นของผู้คัดค้านที่ 2 ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกาเพียงว่า สามารถชี้แจงที่มาของทรัพย์สินแต่ละรายการและเงินที่นำมาซื้อทรัพย์สินแต่ละรายการ โดยเงินส่วนใหญ่ได้มาจากการกู้เงินจากสถาบันการเงินนั้น เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 เพียงแต่ยกเหตุผลดังกล่าวขึ้นอ้างอย่างลอย ๆ โดยไม่มีพยานหลักฐานใดมาแสดงว่าทรัพย์สินแต่ละรายการมีที่มาอย่างไร และไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่ามีการกู้เงินจากสถาบันการเงินมาซื้อทรัพย์สินดังกล่าวตามที่ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 กล่าวอ้างแต่อย่างใด ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ในข้อนี้จึงไม่มีน้ำหนักอันควรแก่การรับฟัง ส่วนทรัพย์สินอีก 2 รายการ คือ รถยนต์ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นฟอร์จูนเนอร์ ของผู้คัดค้านที่ 1 และรถยนต์ยี่ห้อโฟล์คสวาเก้นของผู้คัดค้านที่ 3 ตามบัญชีรายการทรัพย์สิน (เพิ่มเติม) ผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ฎีกาว่า ได้ใช้วงเงินกู้จากธนาคาร ก. เพื่อซื้อทรัพย์สินทั้งสองรายการ แต่ปรากฏตามตั๋วสัญญาใช้เงินว่า ผู้ที่ขอใช้วงเงินกู้จากธนาคารคือบริษัท ส. หาใช่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์สิน แต่อย่างใดไม่ นอกจากนี้ ขณะที่ผู้คัดค้านที่ 1 และที่ 3 ได้รถยนต์ทั้งสองคันมา ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ยังคงมีเงินเข้าและถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากธนาคารของผู้คัดค้านที่ 1 รายการที่ 1 ที่ 2 ที่ 4 ถึงที่ 6 ที่ 10 และที่ 11 ซึ่งบัญชีเงินฝากธนาคารดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดดังที่ได้วินิจฉัยมาแล้วข้างต้น ดังนั้น จึงต้องฟังว่ารถยนต์ทั้งสองคันดังกล่าวเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดด้วย เมื่อผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 มีภาระการพิสูจน์เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย แต่พยานหลักฐานของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ที่นำสืบมาไม่มีน้ำหนักมั่นคงเพียงพอที่จะรับฟังหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมายได้ ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้ว่า ทรัพย์สินของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ที่ผู้ร้องขอให้ตกเป็นของแผ่นดินเป็นทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้คัดค้านที่ 1 ถึงที่ 4 ทุกข้อฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ