โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองชำระเงิน 39,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงิน 39,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กันยายน 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้โจทก์ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืนแก่จำเลยที่ 1 ทั้งนี้ให้อยู่ภายใต้คำสั่งและหรือกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการดำเนินคดีอาญาโดยกรมสอบสวนคดีพิเศษ กับให้จำเลยที่ 1 ชำระค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้น โดยกำหนดค่าทนายความ 30,000 บาท ยกฟ้องโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 ให้เป็นพับ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีให้เป็นพับ
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 15,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กันยายน 2562) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้ อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 8 เมษายน 2552 โจทก์สั่งซื้อรถยนต์ยี่ห้อลัมโบร์กีนี รุ่นเมอร์ซีเอลาโก เอสวี จากจำเลยที่ 1 ในราคา 39,000,0000 บาท และชำระราคาครบถ้วนตามสัญญาแล้ว จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์และดำเนินการจดทะเบียนรถยนต์พิพาทเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2553 โดยใส่ชื่อธนาคาร ธ. ผู้ให้เช่าซื้อ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์และโจทก์เป็นผู้ครอบครองโดยใช้หมายเลขทะเบียน ฌพ 2xxx กรุงเทพมหานคร ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษได้ตรวจยึดรถยนต์พิพาทและแจ้งอายัดทะเบียนรถยนต์เพื่อตรวจสอบ เนื่องจากมีเหตุสงสัยว่ารถยนต์พิพาทถูกลักลอบนำเข้ามาในราชอาณาจักรโดยหลีกเลี่ยงราคา ข้อห้าม ข้อจำกัด และหลีกเลี่ยงอากรขาเข้าหรือที่ยังมิได้ผ่านพิธีการของศุลกากรโดยถูกต้อง วันที่ 16 กรกฎาคม 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษอนุญาตให้โจทก์รับรถยนต์พิพาทกลับไปดูแลรักษา กรมสอบสวนคดีพิเศษตรวจสอบแล้วพบหลักฐานราคาจากประเทศต้นกำเนิดเป็นบัญชีราคาสินค้า (INVOICE) ที่แท้จริงของรถยนต์พิพาทมีชื่อบริษัท บ. ตัวแทนจำหน่ายอย่างเป็นทางการในประเทศของบริษัท ล. ผู้จำหน่ายรถยนต์พิพาทในสาธารณรัฐอิตาลีเป็นคู่สัญญาแสดงราคาขาย 286,015 ยูโร แต่เอกสารเกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์พิพาทที่ยื่นต่อกรมศุลกากรกลับระบุชื่อบริษัท จ. เป็นคู่สัญญาและเปลี่ยนราคาซื้อขายเป็น 98,520 ดอลลาร์สหรัฐ และใบขนสินค้าที่บริษัท จ. ยื่นต่อกรมศุลกากรแสดงราคาไว้ 3,425,585 บาท กรมศุลกากรคำนวณภาษีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าตามราคาซื้อขายในบัญชีราคาสินค้า (INVOICE) ที่แท้จริง 12,634,998.64 บาท แล้วมียอดภาษีอากรขาด 30,206,877.07 บาท แสดงว่ามีการสำแดงบัญชีราคาสินค้า (INVOICE) รถยนต์พิพาทเป็นเท็จต่อกรมศุลกากรโดยแสดงราคารถยนต์พิพาทต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อหลีกเลี่ยงภาษี และรถยนต์พิพาทยังเสียภาษีอากรที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าไม่ครบถ้วน เมื่อจำเลยที่ 1 เป็นผู้ประกอบการค้ารถยนต์นำเข้าจากต่างประเทศ ย่อมต้องทราบราคาซื้อขายที่แท้จริงของรถยนต์พิพาทจากผู้ผลิตในต่างประเทศ และสามารถคำนวณค่าใช้จ่ายและภาษีต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำเข้าทั้งหมดจากราคาขายในเบื้องต้นออกมาเป็นราคาที่สมควรขายให้แก่ลูกค้าในประเทศ ทั้งตามบัญชีราคาสินค้า (INVOICE) ใบขนสินค้าและใบเสร็จรับเงินค้าขายรถยนต์พิพาทที่บริษัท จ. ออกให้จำเลยที่ 1 พบว่าราคารถยนต์ 3,425,585 บาท ภาษีรวมทั้งสิ้น 11,235,916 บาท รวมเป็นเงิน 14,661,501 บาท แต่บริษัท จ. ขายให้จำเลยที่ 1 ในราคาเพียง 14,950,000 บาท ในขณะที่จำเลยที่ 1 สามารถนำไปขายให้โจทก์ได้ในราคาสูงถึง 39,000,000 บาท ซึ่งการชำระภาษีไม่ครบถ้วนย่อมก่อให้เกิดประโยชน์แก่จำเลยที่ 1 กับพวกเป็นผลกำไรจำนวนมาก แสดงว่าการดำเนินการเกี่ยวกับสำแดงราคาต่ำกว่าความจริงและชำระภาษีเกี่ยวกับการนำเข้ารถยนต์พิพาทโดยเจตนาฉ้อโกงภาษี จำเลยที่ 1 เกี่ยวข้องด้วย เมื่อไม่ปรากฏว่าโจทก์ทราบเรื่องดังกล่าวมาก่อน การที่โจทก์ตกลงทำสัญญาซื้อขายรถยนต์พิพาทกับจำเลยที่ 1 จึงเป็นการแสดงเจตนาทำนิติกรรมไปโดยสำคัญผิดว่ารถยนต์พิพาทนำเข้ามาโดยชำระค่าภาษีอากรครบถ้วนตามกฎหมายแล้ว อันเป็นการสำคัญผิดในคุณสมบัติของทรัพย์สินซึ่งตามปกติถือว่าเป็นสาระสำคัญ สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆียะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 157 แม้โจทก์จะไม่ได้บอกล้างโมฆียะกรรม แต่การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้เท่ากับเป็นการบอกล้างโมฆียะกรรมแล้ว สัญญาซื้อขายจึงเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง โจทก์ต้องคืนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 1 ต้องใช้เงินคืนแก่โจทก์
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมที่ต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง เป็นเหตุให้ต้องนำค่าเสื่อมราคาของรถยนต์พิพาทมาหักออกจากเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนแก่โจทก์หรือไม่ เห็นว่า ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 176 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "โมฆียะกรรมเมื่อบอกล้างแล้ว ให้ถือว่าเป็นโมฆะมาแต่เริ่มแรก และให้ผู้เป็นคู่กรณีกลับคืนสู่ฐานะเดิม ถ้าเป็นการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนเช่นนั้นได้ ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดใช้ให้แทน" ซึ่งผลของการบอกล้างโมฆียะกรรมตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าวกำหนดให้คู่กรณีได้กลับคืนฐานะเดิมทุกกรณี แม้การคืนทรัพย์จะพ้นวิสัยก็ต้องให้ค่าเสียหายแทนโดยการพ้นวิสัยจะให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนแทนนั้นอาจเกิดจากการคืนทรัพย์ที่เคยรับไว้ให้แก่คู่กรณีไม่ได้เพราะทรัพย์นั้นสูญหายหรือบุบสลายหมดสิ้นจึงไม่อาจคืนแก่กันได้ หรือคืนได้แต่ทรัพย์นั้นมีความชำรุดบกพร่องหรือบุบสลายไปบางส่วน ส่วนที่ชำรุดบกพร่องหรือบุบสลายนั้นถือเป็นการพ้นวิสัยที่จะให้กลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ ฝ่ายมีหน้าที่ต้องคืนทรัพย์จึงต้องใช้ค่าเสียหายแทน ทั้งนี้ โดยไม่ต้องพิจารณาถึงความสุจริตของฝ่ายที่รับทรัพย์สินนั้นเลยว่าจะได้รับทรัพย์สินนั้นไว้โดยสุจริตหรือไม่ เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน 2553 ซึ่งโจทก์ครอบครองใช้ประโยชน์ตลอดมา ต่อมาวันที่ 9 มิถุนายน 2556 กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงยึดอายัดรถยนต์พิพาทเพื่อตรวจสอบ แต่หลังจากนั้นเพียง 1 เดือนเศษ กรมสอบสวนคดีพิเศษได้คืนรถยนต์พิพาทให้โจทก์กลับไปครอบครองดูแลโดยไม่ได้ห้ามโจทก์นำรถยนต์ออกใช้ประโยชน์แต่อย่างใด จึงต้องถือว่าโจทก์ได้ใช้ประโยชน์ในรถยนต์พิพาทนับแต่นั้นตลอดมา เมื่อนับตั้งแต่จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์พิพาทให้โจทก์จนถึงปัจจุบัน รวมระยะเวลากว่า 13 ปี รถยนต์พิพาทย่อมชำรุดบกพร่องเป็นเหตุให้เสื่อมสภาพหรือเสื่อมราคา ทำให้ราคารถยนต์พิพาทลดลงกรณีจึงเป็นการพ้นวิสัยที่โจทก์จะต้องคืนรถยนต์พิพาทให้แก่จำเลยที่ 1 ในสภาพเดิมได้ ค่าเสื่อมราคาจากการใช้ประโยชน์ในรถยนต์พิพาทของโจทก์จึงเป็นค่าเสียหายชดใช้แทน ซึ่งค่าเสียหายชดใช้แทนศาลมีอำนาจกำหนดให้ได้ แม้จำเลยที่ 1 มิได้ให้การและนำสืบถึงเรื่องค่าเสียหายหรือค่าเสื่อมราคาก็ตาม ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้นำค่าเสื่อมราคามาหักจากเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนให้แก่โจทก์ชอบแล้ว อย่างไรก็ตามที่ศาลอุทธรณ์กำหนดค่าเสื่อมราคารถยนต์พิพาทเป็นเงิน 24,000,000 บาท นั้น สูงเกินไป เมื่อพิเคราะห์ถึงราคารถยนต์พิพาทที่โจทก์ซื้อจากจำเลยที่ 1 ระยะเวลาที่โจทก์ใช้ประโยชน์ในรถยนต์พิพาทและรถยนต์ต้องเสื่อมสภาพตามอายุเวลาการใช้งาน ประกอบทางได้เสียอันชอบด้วยกฎหมายของโจทก์แล้ว สมควรกำหนดค่าเสื่อมราคารถยนต์พิพาทเป็นเงิน 16,000,000 บาท เมื่อนำไปหักออกจากราคารถยนต์พิพาทดังกล่าวแล้ว คงเหลือเงินที่จำเลยที่ 1 ต้องคืนแก่โจทก์เป็นเงิน 23,000,000 บาท ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วน ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ใช้เงิน 23,000,000 บาท แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 10 กันยายน 2562) จนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ทั้งนี้อัตราดอกเบี้ยให้ปรับเปลี่ยนลดลงหรือเพิ่มขึ้นได้ตามพระราชกฤษฎีกาซึ่งตราขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 ที่แก้ไขใหม่ บวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี แต่ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามที่โจทก์ขอ นอกจากที่แก้ให้เป็นไป ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ