โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 83, 91, 282, 283 ทวิ, 319 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 4, 6, 6/1, 9, 52, 52/1 พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26, 78 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 5, 45, 47, 50, 90, 144, 146, 148/2 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 3, 4, 26 พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มาตรา 5, 9, 102 พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 4, 38, 77 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 4, 9, 11 ริบของกลาง
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ แต่ก่อนสืบพยาน จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพเฉพาะข้อหาเป็นเจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถาน ซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัย ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง ข้อหาเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และข้อหาตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ส่วนข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้การปฏิเสธ
จำเลยที่ 2 ให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้เสียหายที่ 1 ที่ได้รับความเสียหายอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์เป็นเงิน 242,440 บาท ตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 มาตรา 35
จำเลยทั้งสองให้การในคดีส่วนแพ่งขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง, 319 วรรคแรก พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3) (5), 78 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83 และจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรก พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง, 50 (3), 90 วรรคหนึ่ง, 144 วรรคหนึ่ง (1), 148/2 วรรคหนึ่ง พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มาตรา 9, 102 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 77 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 26 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง, 11 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาหรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปี เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น และฐานร่วมกันส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิดและกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก เป็นการกระทำกรรมเดียว เป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานเป็นธุระจัดหาหรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปี เพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 5 ปี ฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดา เพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 2 ปี ฐานเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานในระหว่างเวลา 22 นาฬิกา ถึงเวลา 6 นาฬิกา โดยไม่ได้รับอนุญาต ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 บาท ฐานเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานในสถานบริการ ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 400,000 บาท ฐานเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 20,000 บาท ฐานรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 10,000 บาท ฐานเป็นเจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถานซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัย ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 2,000 บาท ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับจำเลยที่ 1 จำนวน 30,000 บาท ฐานเป็นผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 5 ปี ฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี และเพื่อการอนาจาร เป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 แต่ละบทมีอัตราโทษเท่ากัน ให้ลงโทษในความผิดฐานเป็นธุระจัดหาหรือชักพาไปซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี จำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 3 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพฐานเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฐานเป็นเจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถานซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัย ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง และฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 กระทงละกึ่งหนึ่ง คงปรับฐานเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 10,000 บาท ฐานเป็นเจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถานซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัย ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง คงปรับ 1,000 บาท และฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงปรับ 15,000 บาท รวมจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 15 ปี และปรับ 446,000 บาท จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 7 ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 หากต้องถูกกักขังแทนค่าปรับให้กักขังเกินกว่าหนึ่งปี แต่ไม่เกินสองปี ริบของกลางทั้งหมด ข้อหาอื่นนอกจากนี้และคำร้องขอให้จำเลยทั้งสองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเนื่องมาจากการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์แก่ผู้เสียหายที่ 1 ให้ยก
โจทก์และจำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีค้ามนุษย์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยทั้งสองในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคสอง, 319 วรรคแรก พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 26 (3) (5), 78 พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 47 วรรคหนึ่ง, 50 (3), 148/2 วรรคหนึ่ง โดยจำเลยทั้งสองคงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 282 วรรคแรก ประกอบมาตรา 83 ให้จำคุกคนละ 1 ปี ลดโทษให้คนละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกคนละ 8 เดือน และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 มาตรา 90 วรรคหนึ่ง, 144 วรรคหนึ่ง (1) พระราชกำหนดการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ. 2560 มาตรา 9, 102 วรรคหนึ่ง พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 มาตรา 38 วรรคหนึ่ง, 77 พระราชบัญญัติสถานบริการ พ.ศ. 2509 มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, 26 พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ. 2539 มาตรา 9 วรรคหนึ่ง, 11 วรรคหนึ่ง การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปรับ 20,000 บาท ฐานรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน ปรับ 10,000 บาท ฐานเป็นเจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถานซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัยไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง ปรับ 2,000 บาท ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ปรับ 30,000 บาท ฐานเป็นผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี จำคุก 3 ปี ฐานเป็นธุระจัดหาหญิงไปเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่นและเพื่อการอนาจาร และฐานเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี เป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ซึ่งแต่ละบทมีโทษเท่ากัน ให้ลงโทษฐานเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี จำคุก 1 ปี เมื่อลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งในความผิดฐานเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ฐานเป็นเจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถานซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัย ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง และฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต และลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามในความผิดฐานรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน ฐานเป็นผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี และฐานเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว ความผิดฐานเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ คงปรับ 10,000 บาท ฐานเป็นเจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถานซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัย ไม่แจ้งพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง คงปรับ 1,000 บาท ฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต คงปรับ 15,000 บาท ฐานรับคนต่างด้าวทำงานโดยที่คนต่างด้าวไม่มีใบอนุญาตทำงาน คงปรับ 6,666.66 บาท ฐานเป็นผู้ดูแลหรือผู้จัดการสถานการค้าประเวณี คงจำคุก 2 ปี และฐานเป็นธุระจัดหาซึ่งบุคคลใดเพื่อให้บุคคลนั้นกระทำการค้าประเวณี คงจำคุก 8 เดือน รวมเป็นโทษจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 2 ปี 16 เดือน และปรับ 32,666.66 บาท จำเลยที่ 2 คงจำคุก 8 เดือน โทษจำคุกจำเลยที่ 2 ให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ข้อหาอื่นนอกจากนี้ของจำเลยที่ 1 ให้ยก นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่านางสาวเบนตา ผู้เสียหายที่ 1 เป็นคนต่างด้าวเชื้อชาติลาว สัญชาติลาว เกิดเดือนพฤศจิกายน 2545 เป็นบุตรนายโดย ผู้เสียหายที่ 2 และนางแหล่ม ผู้เสียหายที่ 3 ส่วนจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของร้าน ก. และร้าน ห. นางแต่งซึ่งมีบ้านพักอาศัยอยู่ใกล้กับบ้านของผู้เสียหายทั้งสามที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นผู้ติดต่อผู้เสียหายทั้งสามแล้วชักชวนผู้เสียหายที่ 1 ให้มาทำงานในประเทศไทยโดยอ้างว่าให้มาทำงานในร้านกับข้าว และแจ้งผู้เสียหายที่ 2 และที่ 3 ให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปทำสำมะโนครัวและบัตรประจำตัวเพื่อทำหนังสือเดินทาง โดยแนะนำให้ผู้เสียหายที่ 2 แจ้งในสำมะโนครัว บัตรประจำตัว และหนังสือเดินทางว่าผู้เสียหายที่ 1 เกิด ค.ศ. 2000 โดยนางแต่งเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินการดังกล่าวเป็นเงิน 7,400 บาท วันที่ 3 กรกฎาคม 2562 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นน้องสาวนางแต่งเดินทางมารับผู้เสียหายที่ 1 ผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองช่องเม็ก และพาไปทำงานที่ร้าน ก. ที่จำเลยที่ 2 ทำงานอยู่ โดยมีจำเลยที่ 1 เป็นนายจ้าง ต่อมาอีก 2 วัน จำเลยที่ 1 นำผู้เสียหายที่ 1 ไปทำงานที่ร้าน ห. และวันที่ 10 กรกฎาคม 2562 เจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นและจับกุมจำเลยทั้งสอง สำหรับข้อหาความผิดที่ศาลชั้นต้นยกฟ้องฐานพาเด็กอายุยังไม่เกินสิบห้าปีไปเพื่อการอนาจารตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 283 ทวิ และฐานเป็นนายจ้างที่มีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีเป็นลูกจ้าง ไม่แจ้งการจ้างลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กนั้นต่อพนักงานตรวจแรงงานภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่เด็กเข้าทำงาน และในส่วนจำเลยที่ 1 สำหรับข้อหาที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่ามีความผิดฐานเป็นเจ้าบ้าน เจ้าของหรือผู้ครอบครองเคหสถานซึ่งรับคนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเข้าพักอาศัย ไม่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง ฐานเป็นนายจ้างจ่ายค่าจ้างให้แก่ลูกจ้างน้อยกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และฐานตั้งสถานบริการโดยไม่ได้รับใบอนุญาต ไม่มีคู่ความอุทธรณ์ คดีโจทก์ในข้อหาความผิดดังกล่าวจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันค้ามนุษย์ และสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551มาตรา 6 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "ผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้...(2) เป็นธุระจัดหา ซื้อ ขาย จำหน่าย พามาจากหรือส่งไปยังที่ใด หน่วงเหนี่ยวกักขัง จัดให้อยู่อาศัยหรือรับไว้ซึ่งเด็ก ถ้าการกระทำนั้นได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์" และวรรคสอง บัญญัติว่า "การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า การแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี...การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น...การบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามมาตรา 6/1 หรือการอื่นใดที่คล้ายคลึงกันอันเป็นการขูดรีดบุคคลไม่ว่าบุคคลนั้นจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม" และมาตรา 6/1 บัญญัติว่า "ผู้ใดข่มขืนใจผู้อื่นให้ทำงานหรือให้บริการโดยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใด ดังต่อไปนี้...(5) นำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ...ถ้าได้กระทำให้ผู้อื่นนั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ ผู้นั้นกระทำความผิดฐานบังคับใช้แรงงานหรือบริการ" บทบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ผู้กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดตามมาตรา 6 วรรคหนึ่ง (2) ถ้าได้กระทำโดยมีความมุ่งหมายเพื่อแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ ซึ่งหมายถึงการแสวงหาประโยชน์จากการค้าประเวณี...การแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น...การบังคับใช้แรงงานหรือบริการโดยนำภาระหนี้ของบุคคลนั้นหรือของผู้อื่นมาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบ โดยได้กระทำให้ผู้นั้นอยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 1 เป็นพยานเบิกความว่า พยานทำงานที่ร้าน ก. ทำหน้าที่ชงเหล้าและเบียร์ ตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกา ถึง 24 นาฬิกา ได้ 2 วัน จำเลยที่ 1 ก็มารับให้ย้ายไปทำงานที่ร้าน ห. พยานทำงานตั้งแต่เวลา 18 นาฬิกา ถึง 24 นาฬิกา ทำหน้าที่นั่งดื่มเป็นเพื่อนลูกค้า เคยโดนลูกค้าหลอกจับมือ แต่ไม่ถูกจับก้น กอดหรือหอมแก้ม พยานเก็บบัตรประจำตัวและหนังสือเดินทางไว้กับตัว พยานได้รับค่าจ้างที่ร้าน ก. คืนละ 400 บาท รวมเป็นเงิน 800 บาท และรับเงินจากจำเลยที่ 1 ที่ร้าน ห. ประมาณวันละ 250 บาท และ 300 บาท ไม่รวมทิปจากลูกค้า พยานไม่ได้ขายบริการทางเพศทั้งที่ร้าน ก. และร้าน ห. ส่วนในเวลากลางวันพยานสามารถออกไปซื้อของที่ร้านใกล้ที่ทำงานได้ แต่ถูกห้ามไม่ให้ออกไปไหนกับผู้ชายในเวลากลางคืน เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความยืนยันว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้ให้ผู้เสียหายที่ 1 ค้าประเวณี และปรากฏตามคำเบิกความของนายกานต์ และนายเอกรินทร์ พนักงานสอบสวนคดีพิเศษชำนาญการกรมสอบสวนคดีพิเศษว่า ในวันเกิดเหตุมีการวางแผนล่อซื้อบริการทางเพศจากผู้เสียหายที่ 1 แต่การล่อซื้อบริการทางเพศของผู้เสียหายที่ 1 ได้รับการปฏิเสธ ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยทั้งสองไม่ได้แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากการค้าประเวณีของผู้เสียหายที่ 1 มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ต่อไปว่า การทำงานในร้านคาราโอเกะของผู้เสียหายที่ 1 มีลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ โดยการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่นหรือไม่ เห็นว่า การแสวงหาประโยชน์ทางเพศที่เป็นรูปแบบอื่น กฎหมายไม่ได้กำหนดบทนิยามไว้ การที่จำเลยทั้งสองให้ผู้เสียหายที่ 1 ทำงานในร้านคาราโอเกะทั้งสองร้านของจำเลยที่ 1 โดยทำหน้าที่เป็นพนักงานชงเหล้าและเบียร์ นั่งดื่มเป็นเพื่อนลูกค้า ให้สวมเสื้อแขนสั้น กางเกงขาสั้นหรือกระโปรงสั้น และผู้เสียหายที่ 1 ถูกลูกค้าหลอกจับมือนั้น ยังไม่มีลักษณะถึงขนาดที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองแสวงหาประโยชน์ในทางเพศจากผู้เสียหายที่ 1 ในรูปแบบอื่น และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองกำหนดให้ผู้เสียหายที่ 1 ต้องยินยอมให้ลูกค้ากระทำอนาจารตามคำฟ้อง จึงยังไม่เข้าลักษณะเป็นการแสวงหาประโยชน์ทางเพศในรูปแบบอื่น อันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบที่จะเป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ดังที่โจทก์ฎีกา ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยทั้งสองนำภาระหนี้มาเป็นสิ่งผูกมัดให้ผู้เสียหายที่ 1 จำต้องทำงานอันเป็นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการซึ่งเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบนั้น ผู้เสียหายที่ 1 เบิกความว่า พยานได้รับเงินค่าตอบแทนการทำงานที่ร้าน ก. คืนละ 400 บาท 2 คืน รวมเป็นเงิน 800 บาท และยังได้รับเงินค่าตอบแทนการทำงานที่ร้าน ห. อีกคืนละประมาณ 250 บาท และ 300 บาท ทั้งพยานสามารถออกไปซื้อของได้ในเวลากลางวัน และจำเลยทั้งสองไม่ได้ยึดบัตรประจำตัวและหนังสือเดินทางของผู้เสียหายที่ 1 ไว้ เห็นว่า ผู้เสียหายที่ 1 สมัครใจมาทำงานและการมาทำงานมีค่าใช้จ่าย 7,400 บาทจริง แต่แม้เพิ่งเข้ามาทำงานและต้องถูกหักเงินใช้หนี้เดือนละ 1,000 บาท แต่ผู้เสียหายที่ 1 ก็ได้รับค่าจ้างและสามารถออกจากที่พักเพื่อไปซื้อของได้ในเวลากลางวัน แสดงว่าผู้เสียหายที่ 1 มีเงินค่าจ้างเหลือเพียงพอ การหักเงินค่าจ้างเดือนละ 1,000 บาท ไม่ใช่อัตราที่สูงเกินจนเป็นการขูดรีดเอาแก่ผู้เสียหายที่ 1 การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการนำภาระหนี้ของผู้เสียหายที่ 1 มาเป็นสิ่งผูกมัดโดยมิชอบและทำให้ผู้เสียหายที่ 1 อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ การกระทำของจำเลยทั้งสองจึงไม่เป็นการบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามมาตรา 6/1 (5) ดังนั้น การที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันรับตัวผู้เสียหายที่ 1 ไว้ทำงานในร้าน ก. และร้าน ห. ของจำเลยที่ 1 จึงไม่เป็นความผิดฐานสมคบโดยการตกลงกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ และฐานค้ามนุษย์ และเมื่อการกระทำของจำเลยทั้งสองไม่เป็นความผิดฐานค้ามนุษย์ จึงไม่จำต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนอันเกิดจากการกระทำความผิดดังกล่าวแก่ผู้เสียหายที่ 1 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ต่อไปว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดฐานร่วมกันเป็นธุระจัดหาหรือพาไปเพื่อการอนาจารซึ่งบุคคลอายุเกินสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีเพื่อสนองความใคร่ของผู้อื่น ฐานร่วมกันส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควรหรือน่าจะทำให้เด็กมีความประพฤติเสี่ยงต่อการกระทำผิด และกระทำด้วยประการใดอันเป็นการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบจากเด็ก และฐานร่วมกันพรากผู้เยาว์อายุกว่าสิบห้าปีแต่ยังไม่เกินสิบแปดปีไปเสียจากบิดามารดาเพื่อหากำไรหรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย และจำเลยที่ 1 กระทำความผิดฐานเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานในระหว่างเวลา 22 นาฬิกา ถึงเวลา 6 นาฬิกา โดยไม่ได้รับอนุญาต ฐานเป็นนายจ้างให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่าสิบแปดปีทำงานในสถานบริการ และฐานเป็นเจ้าของกิจการการค้าประเวณี ผู้ดูแล หรือผู้จัดการกิจการการค้าประเวณีหรือสถานการค้าประเวณี หรือเป็นผู้ควบคุมผู้กระทำการค้าประเวณีในสถานการค้าประเวณีมีบุคคลซึ่งมีอายุกว่าสิบห้าปี แต่ยังไม่เกินสิบแปดปีทำการค้าประเวณีอยู่ด้วยหรือไม่ เห็นว่า หนังสือเดินทางของผู้เสียหายที่ 1 ที่ใช้สำหรับเดินทางเข้าประเทศไทยระบุว่าผู้เสียหายที่ 1 เกิดวันที่ 1 มกราคม ค.ศ. 2000 นับถึงวันเกิดเหตุมีอายุ 19 ปีเศษ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้รับผู้เสียหายที่ 1 เข้าทำงานในร้านคาราโอเกะของตนได้ตรวจสอบหนังสือเดินทางของผู้เสียหายที่ 1 แล้วว่ามีอายุเกินสิบแปดปีจึงรับเข้าทำงาน ประกอบกับพนักงานสัญชาติลาวที่ทำงานเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ในร้านคาราโอเกะทั้งสองร้านไม่มีคนใดที่อายุต่ำกว่าสิบแปดปี และไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 มีส่วนได้เสียหรือได้รับผลประโยชน์จากการนำผู้เสียหายที่ 1 เข้ามาทำงานในประเทศไทย เมื่อโจทก์ไม่มีประจักษ์พยานหรือพยานพฤติเหตุแวดล้อมมานำสืบให้เห็นได้ว่า จำเลยที่ 1 มอบเงินให้นางแต่งเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อหาพนักงานอายุต่ำกว่าสิบแปดปีมาทำงานกับจำเลยที่ 1 เพื่อใช้เป็นสิ่งดึงดูดลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ ลำพังพฤติการณ์ที่ได้ความว่า นางแต่งเป็นผู้ไปติดต่อกับผู้เสียหายทั้งสามเพื่อขอให้ผู้เสียหายที่ 1 ไปทำงานที่ประเทศไทยก็ดี จำเลยที่ 2 เป็นพี่น้องกับนางแต่ง และเป็นผู้มารับผู้เสียหายที่ 1 ไปทำงานที่ร้าน ก. ของจำเลยที่ 1 ที่จำเลยที่ 2 ทำงานอยู่ก็ดี และทั้งนางแต่งและจำเลยที่ 2 มีฐานะยากจนก็ดี ไม่อาจรับฟังได้มั่งคงถึงขนาดว่าจำเลยทั้งสองร่วมกับนางแต่งจัดทำเอกสารต่าง ๆ เพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกินกว่าสิบแปดปี พยานหลักฐานโจทก์มีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยทั้งสองกระทำความผิดโดยทราบว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุไม่เกินแปดปีหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสองประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีค้ามนุษย์ พ.ศ. 2559 มาตรา 8 วรรคหนึ่ง เมื่อการที่จำเลยทั้งสองรับผู้เสียหายที่ 1 เข้าทำงานที่ร้านคาราโอเกะของจำเลยที่ 1 อาจเป็นเพราะเข้าใจว่าผู้เสียหายที่ 1 มีอายุเกินสิบแปดปีแล้ว จึงเป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องจำเลยทั้งสองกับยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในข้อความผิดฐานต่าง ๆ ตามที่โจทก์ฎีกามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาข้อนี้ของโจทก์ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง ศาลล่างทั้งสองพิพากษาโดยยังไม่ได้มีคำสั่งเรื่องค่าฤชาธรรมเนียม จึงเห็นสมควรสั่งให้ถูกต้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ