ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งหมดร่วมกันนำเงินจากกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ 146,496,578.44 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยร้อยละ 7 ครึ่งต่อปีนับตั้งแต่วันผิดนัดคือวันที่ 1 มกราคม 2508 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จไปชำระให้โจทก์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันนำเงิน140,955,899.69 บาท พร้อมดอกเบี้ยชำระให้โจทก์ จำเลยที่ 1, 2, 4, 10 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "ข้อเท็จจริงเป็นอันยุติฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 2 เป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และอยู่ร่วมกับจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ตลอดมาจนกระทั่งวันที่ 8 ธันวาคม 2506จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรม จำเลยที่ 3 ถึงจำเลยที่ 8 เป็นบุตรของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จำเลยที่ 9 และจำเลยที่ 10 เป็นบุตรบุญธรรมของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 หลังจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ถึงแก่อสัญกรรมแล้ว ศาลแพ่งมีคำสั่งแต่งตั้งจำเลยที่ 1 เป็นผู้จัดการมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น โดยแสดงเงินได้พึงประเมินที่ได้รับทั้งสิ้นตลอดปี พ.ศ. 2502 เป็นเงิน 756,007 บาท 40 สตางค์ ตลอดปีพ.ศ. 2503 เป็นเงิน 986,118 บาท 44 สตางค์ ตลอดปี พ.ศ. 2504 เป็นเงิน1,274,637 บาท 94 สตางค์ ตลอดปี พ.ศ. 2505 เป็นเงิน 1,314,237 บาท94 สตางค์ และจำเลยที่ 2 ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้พึงประเมินทั้งสิ้นตลอดปี พ.ศ. 2503 เป็นเงิน 178,406 บาท และตลอดปี พ.ศ. 2505 เป็นเงิน183,700 บาท 80 สตางค์ ส่วนเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตลอดปี พ.ศ. 2506ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้จัดการมรดกและทายาทของจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ ไม่ได้ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ต่อเจ้าพนักงานของโจทก์ ต่อมานายกรัฐมนตรีมีคำสั่งโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ให้ทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และของจำเลยที่ 1ตกเป็นของรัฐ และรัฐได้ยึดทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ กับของจำเลยที่ 2 ไปแล้ว นอกจากนี้โจทก์ตั้งคณะกรรมการขึ้นตรวจสอบภาษีเงินได้ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และของจำเลยที่ 2 ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งให้จำเลยเสียภาษีเงินได้ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ พร้อมทั้งเงินเพิ่มภาษีเพิ่มขึ้น คือสำหรับปี พ.ศ. 2502 เป็นเงิน 18,689,600 บาท13 สตางค์ ปี พ.ศ. 2503 เป็นเงิน 2,528,202 บาท 83 สตางค์ ปี พ.ศ. 2504เป็นเงิน 52,419,566 บาท 13 สตางค์ ปี พ.ศ. 2505 เป็นเงิน 56,224,242บาท 73 สตางค์ และปี พ.ศ. 2506 เป็นเงิน 59,746,776 บาท 21 สตางค์รวมเป็นเงิน 189,609,388 บาท 03 สตางค์ ไปชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน จำเลยทั้งสิบได้รับหนังสือแจ้งการประเมินดังกล่าวเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2507 แต่เนื่องจากจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ถึงแก่อสัญกรรมจะครบ 1 ปีในวันที่ 8 ธันวาคม 2507 โจทก์เกรงว่าคดีของโจทก์จะขาดอายุความ จึงยื่นฟ้องคดีนี้ในวันที่ 4 ธันวาคม 2507 ก่อนครบกำหนด 30 วันนับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน และจำเลยทั้งสิบยังไม่ได้ชำระภาษีเงินได้และเงินเพิ่มภาษีดังกล่าวให้โจทก์
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องเพราะรัฐบาลยึดทรัพย์สินมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ไปหมดแล้ว และไม่มีจำเลยคนใดได้รับทรัพย์มรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เลยนั้น ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า การที่นายกรัฐมนตรีอาศัยอำนาจตามมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักรมีคำสั่งให้ทรัพย์สินกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และทรัพย์สินของท่านผู้หญิงวิจิตรา ธนะรัชต์ ตกเป็นของรัฐเพื่อใช้ความเสียหายที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เบียดบังยักยอกเอาทรัพย์สินของรัฐไป เป็นคนละเรื่องกับกรณีที่โจทก์ใช้อำนาจตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากรกำหนดเงินได้สุทธิของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แล้วทำการประเมินภาษีเงินได้ คำสั่งของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวหาเป็นเหตุให้หนี้ค่าภาษีอากรที่ยังไม่ได้ชำระระงับลงไม่กองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จึงต้องรับผิดชำระแก่โจทก์ ส่วนกองมรดกจะมีทรัพย์สินเหลืออยู่อีกหรือไม่ และเพียงใดนั้น เป็นเรื่องของการบังคับคดีโจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง
ที่จำเลยฎีกาว่า มูลหนี้ตามฟ้องเกิดขึ้นและถึงกำหนดชำระแล้วจริงแต่จะนำประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194 มาใช้บังคับไม่ได้เพราะโจทก์ขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยต่อไปอีก 30 วันนับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ที่โจทก์ฟ้องก่อนครบกำหนนด 30 วันนับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมิน ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 354, 355 และ 203 วรรคสอง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การที่เจ้าพนักงานประเมินมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชำระภาษีและเงินเพิ่มภาษีภายใน 30 วันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งการประเมินมิใช่เป็นการขยายระยะเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลย แต่เป็นการทวงถามหรือเตือนให้จำเลยชำระหนี้ และกรณีไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 354, 355 และ 203 วรรคสอง เพราะประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 354 เป็นบทบัญญัติห้ามไม่ให้บุคคลที่ทำคำเสนอถอนคำเสนอภายในระยะเวลาที่บ่งไว้ในคำเสนอ มาตรา 355 เป็นบทบัญญัติห้ามไม่ให้บุคคลที่ทำคำเสนอไปยังผู้อื่นซึ่งอยู่ห่างกันโดยระยะทาง และมิได้บ่งระยะเวลาให้ทำคำสนอง ถอนคำเสนอภายในเวลาอันควรคาดหมายว่าจะได้รับคำบอกกล่าวสนองนั้น และมาตรา 203 วรรคสอง เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับการชำระหนี้ที่ได้กำหนดเวลาไว้แล้ว แต่กรณีเป็นที่สงสัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเจ้าหนี้จะเรียกให้ชำระหนี้ก่อนเวลานั้นไม่ได้ แต่ลูกหนี้จะชำระหนี้ก่อนกำหนดนั้นก็ได้เมื่อหนี้ภาษีอากรตามฟ้องเกิดขึ้นและถึงกำหนดชำระแล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 194 โดยไม่จำต้องรอให้ครบกำหนด 30 วัน นับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือแจ้งการประเมินก่อน
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 ยื่นรายการเงินได้ปี พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2505 ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น เจ้าพนักงานประเมินจึงได้ทำการตรวจสอบไต่สวนและปรากฏว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 1 จะต้องเสียภาษีเงินได้เพิ่มอีกเป็นเงิน70,190,651 บาท 47 สตางค์ ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย 8(บัญชีหมาย 1) ท้ายฟ้อง แต่ตอนหลังโจทก์บรรยายฟ้องว่า จากผลของการตรวจสอบไต่สวนปรากฏหลักฐานชัดแจ้งว่าในปี พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2505จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 มีเงินและทรัพย์สินอื่นเพิ่มพูนเข้ามาเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในความครอบครองเป็นจำนวนสูงเกินกว่ายอดเงินได้พึงประเมิน จึงกำหนดเงินได้สุทธิของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และจำเลยที่ 2 ในปี พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2505 ซึ่งเมื่อคิดเงินค่าภาษีและเงินเพิ่มภาษีที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ต้องชำระเพิ่มเติมรวมทั้งสิ้นเป็นเงิน129,862,611 บาท 82 สตางค์ ปรากฏรายละเอียดตามเอกสารหมาย 8(บัญชีหมาย 2) ท้ายฟ้อง ข้อความดังกล่าวขัดแย้งกันถึงวิธีการคำนวณเงินค่าภาษีของเจ้าพนักงานประเมินภาษี ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงเคลือบคลุมและกับที่โจทก์บรรยายฟ้องในตอนแรกว่า จำเลยทั้ง 10 คนไม่ยื่นรายการเงินได้ปี พ.ศ. 2506 เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้จึงได้ทำการตรวจสอบไต่สวนเพื่อประเมินภาษีเงินได้ จากการไต่สวนปรากฏว่ากองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะต้องชำระเงินค่าภาษีเพิ่มอีก 38,354,923 บาท50 สตางค์ ตามเอกสารหมาย 8 (บัญชีหมาย 3) ท้ายฟ้อง แต่ตอนหลังกลับบรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ได้ทำการประเมินแล้ว กองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะต้องชำระเงินค่าภาษีเพิ่มอีก 59,746,776 บาท21 สตางค์ ปรากฏตามเอกสารหมาย 8 (บัญชีหมาย 4) ท้ายฟ้อง ข้อความดังกล่าวขัดแย้งกันในตัวถึงวิธีการคิดคำนวณเงินค่าภาษีของเจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ ฟ้องโจทก์ดังกล่าวจึงเคลือบคลุมเช่นเดียวกันนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าข้อความในฟ้องตอนแรก โจทก์บรรยายฟ้องถึงการประเมินภาษีเงินได้ตามวิธีการปกติธรรมดาว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 จะต้องเสียภาษีเงินได้ในปี พ.ศ. 2502 ถึงปี พ.ศ. 2505 เพิ่มอีก 70,190,651 บาท47 สตางค์ และกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะต้องเสียภาษีเงินได้ในปี พ.ศ. 2506 เป็นเงิน 38,354,923 บาท 50 สตางค์ ส่วนข้อความในฟ้องตอนหลังโจทก์บรรยายฟ้องถึงการประเมินภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 49 โดยอ้างเหตุว่า เมื่อเจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบไต่สวนแล้วปรากฏว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 มีเงินและทรัพย์สินอื่นเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในความครอบครองเป็นจำนวนสูงกว่ายอดเงินได้พึงประเมินในระหว่างปี พ.ศ. ดังกล่าว ถ้าจะประเมินตามวิธีการปกติธรรมดาจะได้จำนวนเงินภาษีไม่ถูกต้อง จึงต้องประเมินโดยวิธีถือเงินหรือทรัพย์สินที่เป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในความครอบครองของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49 และเมื่อประเมินตามวิธีการดังกล่าวแล้วปรากฏว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 จะต้องเสียภาษีเงินได้ในปี พ.ศ. 2502 ถึงปี พ.ศ. 2505 เพิ่มเติมรวมทั้งเงินเพิ่มภาษี129,862,611 บาท 82 สตางค์ และกองมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์จะต้องเสียภาษีเงินได้ในปี พ.ศ. 2506 รวมทั้งเงินเพิ่มภาษี 59,746,776 บาท21 สตางค์ ข้อความในฟ้องของโจทก์ตอนแรกและตอนหลังจึงไม่ขัดแย้งกันและฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุมดังที่จำเลยฎีกา
ข้อที่จำเลยฎีกาว่า การประเมินภาษีไม่ถูกต้องเพราะเจ้าพนักงานประเมินไม่ได้สอบสวน และไม่ได้คิดหักเงินได้ที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 ออกเสียก่อน สมควรที่จะต้องทำการประเมินและคิดใหม่เสียให้ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความจากนายวิโรจน์เลาหพันธ์ เจ้าพนักงานประเมินว่า ฝ่ายจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และท่านผู้หญิงวิจิตรา (จำเลยที่ 2) มิได้แจ้งให้ทราบถึงจำนวนเงินได้ที่รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42จึงไม่มีการสอบสวนถึงเงินได้ดังกล่าว เมื่อจำเลยให้การต่อสู้คดี จำเลยให้การถึงเงินได้หลายอย่างที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้แต่จำเลยมิได้ให้การรายละเอียดเกี่ยวกับจำนวนเงินของเงินได้นั้น และชั้นพิจารณาจำเลยก็มิได้นำสืบให้ฟังได้ว่ามีเงินได้ดังกล่าวอย่างไหนเป็นจำนวนเงินเท่าใด เพื่อจะได้นำมาหักออกแล้วคำนวณการเสียภาษีเงินได้ใหม่ให้ถูกต้อง จึงไม่มีเหตุจะต้องคำนวณการเสียภาษีเงินได้ใหม่
ที่จำเลยฎีกาว่า ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยเรื่องที่ยึดทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 จำนวนเงิน453,623,115 บาท 89 สตางค์ เป็นของรัฐตามคำสั่งที่อาศัยมาตรา 17แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร ในการคิดหายอดเงินและมูลค่าของทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นแต่ละปีจะต้องหักเงินจำนวนนี้ออกเสียก่อน แต่โจทก์ไม่หักให้รถยนต์ไม่ใช่ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และที่ดินโฉนดที่ 18451 เป็นของนางสาวนงคราญ โกลละสุด นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า การยึดทรัพย์สินเป็นของรัฐตามคำสั่งที่อาศัยมาตรา 17 แห่งธรรมนูญการปกครองราชอาณาจักร เป็นการยึดเพื่อชดใช้ความเสียหายของรัฐ หาใช่ยึดเพราะเป็นทรัพย์สินที่ได้มาโดยมิชอบทั้งหมดไม่ ดังนั้นจึงเป็นคนละเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับการกำหนดเงินได้สุทธิของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 ตามมาตรา 49 แห่งประมวลรัษฎากรจึงจะนำจำนวนเงินดังกล่าวมาหักออกจากจำนวนเงินได้สุทธิหาได้ไม่อีกประการหนึ่ง จำเลยที่ 1, 2, 9, และ 10 ให้การว่าการคำนวณภาษีเงินได้ของเจ้าพนักงานประเมินไม่ถูกต้อง แต่จำเลยไม่ได้ให้การว่าไม่ถูกต้องเพราะเหตุดังกล่าวตอนต้น คงให้การว่าไม่ถูกต้องเพราะเหตุอื่นและให้การไม่แจ้งชัดจึงไม่อยู่ในประเด็นที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ในข้อ 4 ที่ว่ามีเงินได้หรือเงินบางประเภทที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนบางรายการไม่ถูกต้องตามจำเลยให้การหรือไม่ ทั้งไม่เกี่ยวกับประเด็นข้อ 3 ที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้ว่า จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์มีเงินได้ซึ่งยื่นรายการแสดงเงินได้ไม่ครบจำเลยมีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้และเงินเพิ่มจากกองมรดกตามฟ้องหรือไม่ด้วยที่จำเลยฎีกาว่า เงินฝากในธนาคารต่าง ๆ ที่ระบุในฎีกาไม่ใช่เงินฝากของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 นั้น ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าปัญหาดังกล่าวจำเลยไม่ได้ต่อสู้ไว้ในคำให้การ จึงไม่เป็นประเด็นที่จะต้องวินิจฉัยในชั้นอุทธรณ์ เมื่อจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ จำเลยจะต้องฎีกาคัดค้านคำวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยยกปัญหาดังกล่าวขึ้นต่อสู้ในคำให้การแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ไม่วินิจฉัยดังกล่าวจึงไม่ชอบเสียก่อนแล้วจึงฎีกาต่อไปว่าเงินฝากในธนาคารดังกล่าวไม่ใช่เงินฝากของจอมพลสฤษดิ์ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 แต่จำเลยหาได้ฎีกาเช่นนั้นไม่ กลับฎีกาเพียงว่าเงินฝากในธนาคารต่าง ๆ ไม่ใช่เงินฝากของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 จึงไม่ชอบ เพราะไม่ได้ฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาจึงไม่วินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของจำเลย
ที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์นำยอดเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าใช้จ่ายในการบริจาคการกุศลของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 1 ไปรวมเข้ากับยอดเงินและมูลค่าของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น ไม่ถูกต้องนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเงินค่าใช้จ่ายส่วนตัวและค่าใช้จ่ายในการบริจาคการกุศลเป็นส่วนหนึ่งของเงินได้ เพราะจะต้องมีเงินได้เสียก่อนแล้วจึงจะสามารถนำไปใช้จ่ายได้ฉะนั้นการที่เจ้าพนักงานประเมินนำยอดเงินค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปรวมเข้ากับยอดเงินและมูลค่าของทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้น แล้วกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิจึงเป็นการชอบ ส่วนข้อที่ว่าเจ้าพนักงานประเมินไม่นำเงินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42 หักออกจากเงินที่จะนำไปกำหนดเป็นเงินได้สุทธิ เป็นการไม่ชอบ สมควรจะทำการประเมินใหม่ให้ถูกต้องนั้น ประมวลรัษฎากร มาตรา 48(1) บัญญัติว่า "เงินได้พึงประเมินเมื่อได้หักตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาา 47 แล้ว เหลือเท่าใด เป็นเงินได้สุทธิต้องเสียภาษีในอัตราตามที่กำหนดในบัญชีอัตราภาษีเงินได้ท้ายหมวดนี้"และมาตรา 49 บัญญัติว่า "ในกรณีที่ผู้มีเงินได้มิได้ยื่นรายการเงินได้ หรือเจ้าพนักงานประเมินพิจารณาเห็นว่า ผู้มีเงินได้ยื่นรายการเงินได้ต่ำกว่าจำนวนที่ควรต้องยื่น ให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีมีอำนาจที่จะกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้น ทั้งนี้โดยถือเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของผู้มีเงินได้ หรือรายจ่ายของผู้มีเงินได้ หรือฐานะความเป็นอยู่ หรือพฤติการณ์ของผู้มีเงินได้หรือสถิติเงินได้ของผู้มีเงินได้เอง หรือของผู้อื่นที่กระทำกิจการทำนองเดียวกับของผู้มีเงินได้เป็นหลักในการพิจารณา แล้วทำการประเมินแจ้งจำนวนเงินที่ต้องชำระไปยังผู้ต้องเสียภาษีฯ" ศาลฎีกาเห็นว่า ตามมาตรา 48(1) เงินได้สุทธิคือเงินได้พึงประเมินที่เหลือจากการนำเงินค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนไปหักออกแล้วทั้งไม่มีเงินได้พึงประเมินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ตามมาตรา 42 รวมอยู่ด้วย ซึ่งเงินได้สุทธิจะต้องเสียภาษีในอัตราตามที่กฎหมายกำหนด การกำหนดเงินได้สุทธิตามมาตรา 49 เป็นกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินไม่สามารถทราบได้ว่าผู้มีเงินได้มีรายได้และรายจ่ายที่แท้จริงเพียงใด กฎหมายจึงจะระบุแนวทางต่าง ๆ ไว้เพื่อเป็นหลักในการพิจารณา การกำหนดเงินได้สุทธิของเจ้าพนักงานประเมินจึงเป็นการชอบไม่จำต้องทำการประเมินใหม่อีก
ที่จำเลยฎีกาว่า การกำหนดเงินได้สุทธิให้สูงขึ้นกระทำไปโดยไม่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49 เพราะเจ้าพนักงานไม่ได้ไต่สวนพยานหลักฐานของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ให้ละเอียดรอบคอบ และไม่ให้โอกาสผู้มีเงินได้ชี้แจงและพิสูจน์ความจริงเพื่อให้วิธีการกำหนดเงินได้สุทธิของเจ้าพนักงานเป็นไปโดยถูกต้อง ทำให้เรียกเก็บภาษีเงินได้ผิดจากที่กฎหมายกำหนดนั้นศาลฎีกาเห็นว่า ในการกำหนดเงินได้สุทธิของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 ให้สูงขึ้นตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49 นั้น นอกจากเจ้าพนักงานประเมินได้ไต่สวนพยานหลักฐานอื่น ๆ แล้ว ยังได้ไต่สวนพยานหลักฐานของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 คือจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และร้อยตรีเป้า ทั้งยังได้ให้โอกาสแก่จำเลยที่จะชี้แจงทักท้วงแล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินกำหนดเงินได้สุทธิของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 จึงเป็นการกระทำที่ถูกต้องตามประมวลรัษฎากร มาตรา 49 แล้ว
ที่จำเลยฎีกาขอให้งดเรียกเงินเพิ่มภาษีนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จะฟังว่าจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 มอบหมายให้บุคคลอื่นแสดงรายการเงินได้แทน แต่เชื่อว่าบุคคลนั้นแสดงรายการเงินได้ตามจำนวนเงินที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และจำเลยที่ 2 บอก ทั้งจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์และจำเลยที่ 2 ยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ในปี พ.ศ. 2502 ถึง พ.ศ. 2505น้อยกว่าเงินได้ที่แท้จริงทุกปี โดยแต่ละปีน้อยกว่าเงินได้ที่แท้จริงไม่น้อยกว่าสิบล้านบาท จึงไม่เชื่อว่าฉและจำเลยที่ 2 ไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีเงินได้ ส่วนที่จำเลยไม่ยื่นรายการเงินได้สำหรับปี พ.ศ. 2506 อันเป็นปีที่จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงแก่อสัญกรรมนั้น แม้คดีที่จำเลยที่ 2 ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จะยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ และยังไม่ทราบเงินได้ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะอยู่ในระหว่างการรวบรวมหลักฐานเกี่ยวกับเงินและทรัพย์สินของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ อยู่ แต่จำเลยที่ 2 เป็นทายาทคนหนึ่งของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ มีหน้าที่แสดงรายการเงินได้ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์โดยไม่จำต้องรอให้ศาลมีคำสั่งแต่งตั้งผู้จัดการมรดกของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก่อน แม้จำเลยที่ 2 จะยังไม่ทราบจำนวนเงินได้ทั้งหมดของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จำเลยที่ 2 ก็น่าจะแสดงเงินได้ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เท่าที่ทราบก่อนได้ แต่จำเลยที่ 2 และทายาทอื่นมิได้แสดงเงินได้ของจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ แต่อย่างใด ซึ่งตามประมวลรัษฎากร มาตรา 26 อาจต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มขึ้นอีก 2 เท่าจำนวนภาษีอากร ที่ศาลล่างทั้งสองให้เสียเงินเพิ่มเพียงร้อยละ 20 นั้น นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยมากแล้ว ไม่มีเหตุที่จะงดเรียกเงินเพิ่มภาษีดังที่จำเลยฎีกา"
พิพากษายืน