โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดินซึ่งอยู่ติดลำน้ำโดยในขณะนั้น นายจำรัส สัมฤทธิ์ เป็นเจ้าของ คือที่ดินซึ่งต่อมาออกเป็นโฉนดเลขที่ 8620 และ 8619 เพื่อสร้างคลังน้ำมันและท่าเทียบเรือสำหรับเรือบรรทุกน้ำมันขนถ่ายน้ำมันมีกำหนดเวลาการเช่า 30 ปี นับตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2511 จดทะเบียนการเช่าต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2511 โจทก์ได้ขออนุญาตก่อสร้างท่าเทียบเรือและสิ่งปลูกสร้างอื่น ๆ ในลำน้ำหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 8619 ต่อกรมเจ้าท่าโดยนายจำรัส สัมฤทธิ์เจ้าของที่ดินผู้ให้เช่ายินยอม และได้รับอนุญาตจากกรมเจ้าท่าให้สร้างและใช้ประโยชน์ในท่าเทียบเรือดังกล่าวตลอดมา ต่อมาเมื่อปี 2528 โจทก์มีความประสงค์จะปรับปรุงซ่อมแซมและขยายท่าเทียบเรือเดิมซึ่งเก่าและสร้างมานานแล้วให้อยู่ในสภาพดีและใหญ่โตขึ้น โจทก์ให้พนักงานของโจทก์ติดต่อกับจำเลย ซึ่งเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์และผู้ให้เช่าที่ดินโฉนดเลขที่ 8619 โดยรับโอนที่ดินและสัญญาเช่าจากนายจำรัส สัมฤทธิ์ เจ้าของเดิมเพื่อให้จำเลยลงชื่อให้ความยินยอมในแบบพิมพ์คำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำแต่จำเลยไม่ยอมลงชื่อ โจทก์ได้รับความเสียหายและขาดประโยชน์เพราะโจทก์ไม่สามารถปรับปรุงซ่อมแซม และขยายท่าเทียบเรือได้เป็นค่าเสียหายและขาดผลประโยชน์เป็นเงินไม่ต่ำกว่าเดือนละ70,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยลงชื่อในช่องเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในแบบพิมพ์คำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำของกรมเจ้าท่าเพื่อให้ความยินยอมให้โจทก์ปรับปรุง ซ่อมแซมและขยายท่าเทียบเรือที่สร้างหน้าที่ดินโฉนดเลขที่ 8619 ถ้าจำเลยไม่ยอมลงชื่อก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลยให้จำเลยใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 140,000 บาท ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายและค่าขาดประโยชน์ให้โจทก์เดือนละ 70,000 บาท นับตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าแบบพิมพ์คำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำจะถูกต้องเรียบร้อยจำเลยให้การว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมไม่บรรยายให้แจ้งชัดว่าจำเลยมีหน้าที่ตามข้อสัญญาเช่าข้อที่เท่าใดที่จำเลยจะต้องลงชื่อในคำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำให้โจทก์ และโจทก์เสียหายอย่างไรนายจำรัส สัมฤทธิ์ ได้ตกลงทำสัญญาเช่ากับโจทก์มิได้ตกลงสัญญากับโจทก์ถึงการสร้างและขยายท่าเรือด้วยแต่อย่างใดที่นายจำรัส สัมฤทธิ์ ลงนามในคำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำให้โจทก์ไปนั้น เป็นเพราะโจทก์หลอกลวงนายจำรัสว่าโจทก์จะสร้างท่าเรือเล็ก ๆ ธรรมดาเฉพาะในเขตที่ดินตามสัญญาในฟ้องมิใช่ท่าเทียบเรือที่ล่วงล้ำเข้าไปในเขตลำน้ำสาธารณะเช่นนั้นตามสัญญาเช่าจำเลยไม่มีหน้าที่ต้องให้คำยินยอมต่อโจทก์โจทก์ไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด เพราะโจทก์ยังใช้ท่าเรือและถนนขนถ่ายน้ำมันนั้นได้อยู่แล้ว โจทก์ยังคงดำเนินกิจการตามปกติของโจทก์ การที่โจทก์ได้ขยายท่าเทียบเรือไม่ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นหากเสียหายก็ไม่เกินเดือนละ 500 บาท ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยลงชื่อในช่องเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในแบบพิมพ์คำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเพื่อรับรองและยินยอมให้โจทก์ซ่อมแซมปรับปรุงและขยายท่าเทียบเรือที่ดินโฉนดเลขที่ 8619ตำบลบางกุ้ง อำเภอเมืองสุราษฎร์ธานี จังหวัดสุราษฎร์ธานีถ้าจำเลยไม่ยอมลงชื่อ ก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนารับรองและอนุญาตของจำเลย ให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เดือนละ 2,000 บาท ตั้งแต่วันที่ 2 พฤศจิกายน 2528เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะให้คำยินยอมและรับรองหรือถือว่าจำเลยให้คำยินยอมและรับรองแล้ว จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่2 กันยายน 2511 โจทก์ได้ทำสัญญาเช่าที่ดิน 3 แปลง เป็นของนายจำรัส สัมฤทธิ์ 2 แปลง คือ ที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 72และ 73 ต่อมา น.ส.3 ดังกล่าวได้เปลี่ยนเป็นโฉนดเลขที่ 8620และ 8619 ที่ดินอีกแปลงหนึ่งเป็นของนายทิ้ง ชูรัตน์ เพื่อสร้างคลังน้ำมันปรากฏตามสัญญาเช่าเอกสารหมาย จ.1 ถึง จ.3เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2511 โจทก์ได้จดทะเบียนการเช่าที่ดินทั้ง 3 แปลงตามหนังสือสัญญาเช่า เอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.6โจทก์ได้ยื่นคำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำเพื่อสร้างท่าเทียบเรือสำหรับขนถ่ายน้ำมันต่อกรมเจ้าท่า โดยนายจำรัส สัมฤทธิ์ลงชื่อยินยอมในฐานะเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 8619 กรมเจ้าท่าอนุญาตให้โจทก์สร้างท่าเทียบเรือ เขื่อนกันดิน ค.ส.ล. ตลอดแนวที่ดินที่ติดกับลำน้ำสร้างหลักผูกเรือและหลักกันกระทบท่าตามใบอนุญาตและแผนที่เอกสารหมาย จ.7 โจทก์ได้ก่อสร้างท่าเทียบเรือและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ดังกล่าว และใช้ขนถ่ายน้ำมันทางเรือตั้งแต่ปี 2512 เป็นต้นมา ต่อมาเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2526จำเลยมีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า จำเลยได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 8619และ 8620 จากนายจำรัส สัมฤทธิ์ ให้โจทก์จ่ายค่าเช่าแก่จำเลยปรากฏตามหนังสือเอกสารหมาย จ.12 และเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2526 นายจำรัส สัมฤทธิ์ มีหนังสือแจ้งโจทก์ว่า นายจำรัส สัมฤทธิ์ได้ขายที่ดินให้จำเลย ให้จ่ายค่าเช่าแก่จำเลยโดยตรง ปรากฏตามหนังสือเอกสารหมาย จ.13 ต่อมาเมื่อต้นปี 2528 โจทก์ประสงค์จะซ่อมแซม ปรับปรุงและขยายท่าเทียบเรือให้สามารถรับเรือขนาด 500 ตันกรอสส์ขึ้นไป โจทก์ให้จำเลยลงชื่อยินยอมในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินในคำร้องขอทำสิ่งล่วงล้ำลำน้ำตามแบบฟอร์มเจ้าของกรมเจ้าท่าแต่จำเลยไม่ยอม
พิเคราะห์แล้ว ปัญหาว่าจำเลยผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่เช่าจะต้องยินยอมและลงชื่อรับรองในคำร้องของโจทก์ที่ขอทำการก่อสร้างปรับปรุงและขยายท่าเทียบเรือขนถ่ายต่อกรมเจ้าท่าตามที่โจทก์ฎีกาหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาเช่าที่ดินซึ่งนายจำรัสเจ้าของที่ดินเดิมทำไว้กับโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1จ.2 ข้อ 3.3 ระบุยินยอมให้โจทก์มีสิทธิใช้ประโยชน์เฉพาะภายในเขตทรัพย์สินที่เช่าเท่านั้น มิได้ระบุว่าถ้าผู้เช่าสร้างท่าเทียบเรือล่วงล้ำน้ำหน้าที่ดินที่เช่า ผู้ให้เช่าจะต้องยินยอมลงชื่อด้วย ฉะนั้นการที่นายจำรัส สัมฤทธิ์ ผู้ให้เช่าเดิมยินยอมลงชื่อรับรองให้โจทก์สร้างท่าเทียบเรือล่วงล้ำลำน้ำหน้าที่ดินที่เช่า ตามใบอนุญาตกรมเจ้าท่าตามเอกสารหมาย จ.7 นั้นจึงเป็นการกระทำนอกเหนือสัญญาเช่า ไม่ผูกพันจำเลยผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินที่เช่าและการที่โจทก์ทำคำร้องขอขยายท่าเทียบเรือที่มีขนาดเกินกว่า 500 ตันกรอสส์ ตามเอกสารหมาย จ.17เป็นการกระทำเพื่อประโยชน์จะได้รับประโยชน์มากขึ้น แบบพิมพ์คำรับรองของเจ้าของที่ดินในคำร้องดังกล่าวมีว่า ถ้ามีข้อโต้แย้งเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดในหน้าที่ดินบนฝั่งของเจ้าของที่ดิน เจ้าของที่ดินจะเป็นผู้รับผิดชอบเองจึงเป็นการเพิ่มภาระให้จำเลยผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินต้องรับผิดชอบมากขึ้นกว่าความรับผิดตามสัญญาของเจ้าของที่ดินเดิม แม้โจทก์จะมีหนังสือถึงจำเลยว่าโจทก์รับเป็นผู้รับผิดชอบเองก็ตามโจทก์ก็ไม่มีสิทธิบังคับจำเลยให้กระทำนอกเหนือไปจากสิทธิและหน้าที่ตามสัญญาเช่าได้ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน