โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 524,197.17 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 497,418.35 บาท จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 4,188,874.67 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 3,974,884.32 บาท จำเลยที่ 3 ชำระเงิน 25,223,410.65 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 23,934,716.92 บาท จำเลยที่ 4 ชำระเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี และจำเลยที่ 5 ชำระเงิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 3 และที่ 5 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลาง โจทก์ยื่นคำร้องขอถอนฟ้องจำเลยที่ 5 ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต ให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ 5 ออกจากสารบบความ
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาพิพากษากลับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดต่อโจทก์อันเนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ ให้จำเลยที่ 4 รับผิดต่อโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยในประเด็นเรื่องค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์ว่ามีเพียงใด และจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพียงใด โดยการกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น ให้คำนึงถึงพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคสองและวรรคสาม ประกอบด้วย แล้วมีคำพิพากษาใหม่ไปตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้เงิน 39,793.46 บาท จำเลยที่ 2 ชดใช้เงิน 317,990.74 บาท จำเลยที่ 3 ชดใช้เงิน 1,048,442.34 บาท แต่จำเลยที่ 4 รับผิดไม่เกินวงเงิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 11 มีนาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันชดใช้เงินจำนวน 397,934.68 บาท จำเลยที่ 2 จำนวน 2,781,972.77 บาท และจำเลยที่ 3 จำนวน 18,610,173.54 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวแต่ละจำนวน นับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2552 (ที่ถูก วันที่ 23 มิถุนายน 2556) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยจำเลยที่ 4 ร่วมรับผิดไม่เกิน 30,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 11 มีนาคม 2557) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
โจทก์, จำเลยที่ 1, ที่ 2, ที่ 4 และจำเลยที่ 3 ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 ดำเนินกิจการธนาคาร เป็นรัฐวิสาหกิจอยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงการคลัง เหตุคดีนี้เกิดขึ้นระหว่างปี 2548 ถึงปี 2552 นาย ส. ขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งพนักงานธุรกิจสาขาอาวุโส สาขาเซ็นต์หลุยส์ 3 กระทำการทุจริตโดยการปลอมสลิปถอนเงินจากบัญชีเงินฝากลูกค้า โดยสร้างรายการค่าใช้จ่ายประเภทบัญชีดอกเบี้ยจ่ายเงินฝากประจำธนาคารโจทก์ สำนักงานพระราม 9 และสาขาเซ็นต์หลุยส์ 3 ขณะเดียวกันก็ทำบันทึกการนำเงินฝากเข้าบัญชีของตนหรือผู้เกี่ยวข้องในจำนวนเดียวกันกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่สร้างขึ้นนำไปเป็นประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น และใช้รหัสผ่านของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ในการทำทุจริตถอนเงินออกจากบัญชีเงินฝากของลูกค้า นาย ส. กระทำการทุจริตต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนานทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย 65,750,336.62 บาท โจทก์ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดซึ่งทำการสอบสวนแล้วมีมติว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 มิได้จงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ต่อมากรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง พิจารณาแล้วเห็นว่าการที่นาย ส. สามารถกระทำการทุจริตเงินของธนาคารไปได้ ส่วนหนึ่งเกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทั้งในขั้นตอนการใช้รหัสผ่าน และขั้นตอนการควบคุมดูแลและตรวจสอบเมื่อสิ้นวันทำการที่ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่อย่างเพียงพอ มีส่วนก่อให้เกิดความเสียหายไม่ยิ่งหย่อนกว่ากัน การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จนเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวน 497,418.25 บาท 1,989,673.41 บาท และ 23,934,716.92 บาท ตามลำดับ และศาลฎีกามีคำวินิจฉัยในคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6725/2560 ว่า พฤติการณ์ของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ที่ไม่ระมัดระวังรักษารหัสผ่านของตนไม่ให้ผู้อื่นล่วงรู้ และไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนด้วยความระมัดระวังเป็นเหตุให้เกิดการทุจริตขึ้นทำให้โจทก์รวมทั้งประชาชนผู้ฝากเงินไว้กับโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จึงเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์
คดีมีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 และจำเลยที่ 3 ประการแรกว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงตามพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 หรือไม่ เห็นว่า คดีนี้ศาลฎีกาได้มีคำพิพากษาฎีกาที่ 6725/2560 ฉบับลงวันที่ 2 ตุลาคม 2560 วินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงและพิพากษากลับโดยให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยเฉพาะในประเด็นเรื่องค่าเสียหายว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 จะต้องชดใช้ให้แก่โจทก์เพียงใด และจำเลยที่ 4 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันเพียงใด โดยให้คำนึงถึงพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคสอง และวรรคสาม ประกอบด้วย แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ต่อมาศาลแรงงานกลางได้มีคำพิพากษาฉบับลงวันที่ 20 มีนาคม 2561 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 รับผิดชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 และจำเลยที่ 3 ไม่ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลแรงงานกลางขึ้นมาแต่อย่างใด คดีจึงยุติตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6725/2560 แล้วว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 กระทำการประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง คงเหลือประเด็นเฉพาะการกำหนดค่าเสียหายและการหักส่วนความรับผิดของนายจ้างเท่านั้น ดังนั้นจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 และจำเลยที่ 3 จึงไม่อาจฎีกาในประเด็นข้ออื่นขึ้นมาได้อีก ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 และจำเลยที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 และจำเลยที่ 3 ต่อมามีว่า การกำหนดค่าเสียหายของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษชอบด้วยพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคสอง และวรรคสาม หรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า ข้อจำกัดเรื่องปริมาณงาน ความคับแคบของสถานที่รวมทั้งวิธีปฏิบัติของโจทก์ในการ OVERDRIVE มิใช่ความหมายของความผิดหรือความบกพร่องของหน่วยงานของรัฐหรือระบบดำเนินงานส่วนรวม อันจะนำมาหักเป็นส่วนลดของความเสียหายตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 เห็นว่า เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า โจทก์มีข้อจำกัดในเรื่องปริมาณงานความคับแคบของสถานที่ทำงานของสาขาที่เกิดเหตุ รวมทั้งวิธีปฏิบัติของโจทก์ในการ OVERDRIVE ที่ผู้อนุมัติรายการจำเป็นต้องมาทำรายการที่เครื่องคอมพิวเตอร์ของพนักงานการเงินที่ทำรายการเกินวงเงินนั้น ๆ โดยใช้วิธีพิมพ์รหัสเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ข้อจำกัดเรื่องปริมาณงานและสถานที่ทำงาน ประกอบกับระเบียบเกี่ยวกับการรักษารหัสผ่านของโจทก์ที่ไม่สอดคล้องกับสภาพการทำงานภายใต้ข้อจำกัดดังกล่าว จึงมีส่วนทำให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รักษารหัสผ่านให้เป็นความลับได้ไม่สมบูรณ์ และทำให้นาย ส. กระทำทุจริตได้ง่ายขึ้นอันเป็นกรณีที่การละเมิดนั้นเกิดจากความผิดหรือความบกพร่องของโจทก์ ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวม ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 แล้ว ฎีกาของโจทก์ในส่วนนี้ฟังไม่ขึ้น
ที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 กับจำเลยที่ 3 ฎีกาว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 บัญญัติวิธีการคำนวณค่าเสียหายไว้เป็นลำดับขั้นตอนตามที่กำหนดในวรรคสอง และวรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษให้วินิจฉัยความเสียหายรวมมานั้นไม่ถูกต้องตามกฎหมาย เห็นว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 เป็นบทบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การกำหนดความรับผิดและจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่ผู้กระทำละเมิดต้องชดใช้แก่หน่วยงานของรัฐ ดังนั้น ในการพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานกลางจึงต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ทั้งหมดตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 8 โดยจะต้องกล่าวหรือแสดงข้อเท็จจริงที่ฟังได้โดยสรุปพร้อมด้วยเหตุผลแห่งคำวินิจฉัยในลักษณะที่อาจแยกพิจารณามาตรา 8 เป็นรายวรรค หรือพิจารณามาตรา 8 ทั้งหมดแล้ว นำมาวินิจฉัยรวมกันไปก็ได้ แต่เมื่อพิจารณาคำพิพากษาศาลแรงงานกลางแล้ว แม้ศาลแรงงานกลางจะแยกพิจารณาความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ตามมาตรา 8 แยกเป็นรายวรรค แต่ในส่วนของการกำหนดค่าเสียหายนั้น เมื่อได้ความว่าการกระทำโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ที่ไม่ปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการรักษารหัสผ่านอย่างเคร่งครัด ทั้งไม่ปฏิบัติหน้าที่ในการควบคุมและตรวจสอบการทำงานให้ถูกต้อง กับความบกพร่องและการดำเนินงานส่วนรวมของโจทก์ที่เกิดจากข้อจำกัดด้านปริมาณงานกับสถานที่ทำงาน และวิธีปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการรักษารหัสผ่านแล้ว จะเห็นได้ชัดเจนว่าความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 มีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการกระทำทุจริตของนาย ส. มากกว่าความบกพร่องหรือระบบการดำเนินงานส่วนรวมของโจทก์ การที่ศาลแรงงานกลางกำหนดให้หักส่วนแห่งความรับผิดของโจทก์ออกสูงถึงร้อยละ 90 ของจำนวนค่าเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ได้รับจากการทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ตามมาตรา 8 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 อันมีผลเท่ากับว่าโจทก์มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจากการกระทำละเมิดได้เพียงร้อยละ 10 ของความเสียหายที่โจทก์ได้รับ อีกทั้งยังกำหนดให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 รับผิดในอัตราร้อยละ 20 ของความเสียหายหลังจากหักส่วนแห่งความรับผิดข้างต้นออกแล้ว ตามมาตรา 8 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 หรือคิดคำนวณโดยรวมแล้วศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เหลือเพียงร้อยละ 8 ของความเสียหายทั้งหมดที่โจทก์ได้รับ จึงเป็นการใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต้องรับผิดต่อโจทก์ที่ไม่ได้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ศาลแรงงานกลางรับฟังมา และไม่เป็นไปตามสัดส่วนแห่งความรับผิดที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 มาตรา 8 วรรคสอง และวรรคสาม การใช้ดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลางไม่ชอบด้วยกฎหมายซึ่งมีผลให้ความรับผิดของจำเลยที่ 4 ในฐานะผู้ค้ำประกันการทำงานของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชอบไปด้วย คำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่กำหนดความรับผิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ฎีกาของโจทก์ จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 และจำเลยที่ 3 ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น แต่เมื่อการกำหนดค่าเสียหายเป็นดุลพินิจของศาลแรงงานกลางอันเป็นข้อเท็จจริงศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษไม่สามารถกำหนดจำนวนค่าเสียหายเองได้ ต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยทั้งสี่ชดใช้ให้แก่โจทก์ใหม่ ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิจารณากำหนดค่าเสียหายและพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่รับผิดแก่โจทก์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย
ปัญหาวินิจฉัยประการสุดท้ายของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 มีว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษในส่วนของการคิดอัตราดอกเบี้ยนับแต่วันผิดนัดเป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า เมื่อคำฟ้องโจทก์ขอคิดดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องแต่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษกำหนดให้คิดนับแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2552 (ที่ถูก วันที่ 23 มิถุนายน 2556) อันเป็นวันผิดนัด เป็นการพิพากษาเกินจากคำขอท้ายฟ้อง โดยมิได้อ้างเหตุเพื่อความเป็นธรรมจึงเป็นการพิพากษานอกฟ้องนอกคำขอไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 52 ประกอบมาตรา 57 ฎีกาของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 4 ในส่วนนี้ฟังขึ้น
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยในประเด็นความรับผิดของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ต่อโจทก์ และที่จำเลยที่ 4 ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันว่ามีเพียงใด และแก้ไขวันเริ่มต้นคิดดอกเบี้ยใหม่ให้ถูกต้อง แล้วมีคำพิพากษาใหม่ตามรูปคดี