โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นกรมในรัฐลาล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการมีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2529 นายวิโรจน์ชูคันหอม ลูกจ้างประจำของโจทก์ขับรถยนต์ของโจทก์กลับจากการปฏิบัติราชการจากจังหวัดนครศรีธรรมราชมุ่งหน้าไปจังหวัดสงขลาตามเส้นทางถนนสายเอเชีย จำเลยขับรถจักรยานยนต์ออกมาจากทางแยกด้านทิศตะวันออกด้วยความประมาทปราศจากความระมัดระวังพุ่งเข้าชนรถยนต์ของโจทก์ที่บริเวณล้อหลังด้านซ้าย ทำให้รถยนต์ของโจทก์เสียหลักแล่นพุ่งเลยผิวจราจรไปทางทิศตะวันตกของถนนเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์พลิกคว่ำได้รับความเสียหายใช้การไม่ได้ โจทก์เสียค่าจ้างช่างทำการซ่อมรถยนต์ให้อยู่ในสภาพเดิมเป็นเงิน 23,500 บาท โจทก์ทราบว่าจำเลยเป็นผู้ที่ต้องชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ในวันที่ 9 กรกฎาคม 2530โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยชำระค่าเสียหายแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 23,500 บาท ให้แก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จ
จำเลยให้การว่า ความเสียหายของโจทก์ไม่เกิน 5,000 บาทนายวิโรจน์พนักงานขับรถยนต์ของโจทก์มีส่วนประมาทด้วย โจทก์ทราบว่าจำเลยต้องรับผิดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2529ฟ้องของโจทก์จึงขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษากลับ ให้จำเลยใช้เงิน 23,500 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 1 สิงหาคม2529 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเงินเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีคงมีปัญหาข้อกฎหมายที่จะต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยฎีกาเพียงว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความหรือไม่ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่าเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2529 จำเลยขับรถจักรยานยนต์ชนกับรถยนต์ของโจทก์เป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายเป็นเงิน 23,500 บาท โจทก์ได้ตั้งคณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งเมื่อวันที่ 12 กันยายน 2529 คณะกรรมการดังกล่าวเสนอความเห็นตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ป.จ.3 ให้โจทก์ทราบเมื่อวันที่ 14 มกราคม 2530 ว่า เหตุที่เกิดนั้นเป็นเหตุสุดวิสัยไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ทางแพ่งโจทก์รายงานผลการสอบสวนดังกล่าวไปให้กระทรวงการคลังทราบตามระเบียบของกระทรวงการคลัง กระทรวงการคลังมีหนังสือเอกสารหมาย ป.จ.4 แจ้งกระทรวงศึกษาธิการว่า ได้เสนอเรื่องให้คณะกรรมการที่ปรึกษาความรับผิดทางแพ่งซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์ได้รับความเสียหายจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของรถยนต์ของโจทก์จำนวน 33,000 บาท โจทก์ทราบความเห็นของคณะกรรมการที่ปรึกษาความรับผิดทางแพ่งดังกล่าวเมื่อวันที่9 กรกฎาคม 2530 ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ป.จ.5 หลังจากนั้นโจทก์แจ้งให้จำเลยรับผิดชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ แต่จำเลยไม่ยอมใช้ พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้คณะกรรมการสอบสวนหาตัวผู้รับผิดทางแพ่งของโจทก์ได้สอบสวนแล้วมีความเห็นว่าเหตุที่เกิดขึ้นในคดีนี้เป็นเหตุสุดวิสัย ไม่มีผู้ใดต้องรับผิดชดใช้ทางแพ่งและโจทก์ทราบความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวเมื่อวันที่ 14 มกราคม2530 ปรากฏตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ป.จ.3 ก็ตาม แต่เมื่อตามความเห็นของคณะกรรมการดังกล่าวไม่ปรากฏว่าได้มีการละเมิดและมีผู้ต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนแต่อย่างใด ในขณะนั้นโจทก์จึงไม่อาจรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนได้โจทก์เพิ่งรู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน เมื่อโจทก์ได้ทราบในวันที่ 9 กรกฎาคม 2530 ตามบันทึกข้อความเอกสารหมาย ป.จ.5 ว่าคณะกรรมการที่ปรึกษาความรับผิดทางแพ่งซึ่งแต่งตั้งโดยคณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นว่า จำเลยขับรถจักรยานยนต์โดยประมาทเป็นเหตุให้รถยนต์ของโจทก์เสียหาย และจำเลยต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายของรถยนต์ของโจทก์ เมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ในวันที่1 กรกฎาคม 2531 ซึ่งยังไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันที่โจทก์รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน คดีของโจทก์จึงไม่ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา448 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 507/2535 ระหว่างกองทัพเรือ โจทก์ จ่าเอกโสภณ ไชยธรรม จำเลย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน.