คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยออกขายทอดตลาด รวม 70 แปลง โดยเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2556 ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อได้ในราคา 206,660,000 บาท วันดังกล่าวผู้ร้องในฐานะผู้ซื้อทำสัญญาซื้อขายไว้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและได้วางเงินมัดจำ 3,000,000 บาท ส่วนที่เหลือผู้ร้องจะต้องชำระภายใน 15 วัน นับแต่วันทำสัญญาซื้อขาย แต่ก่อนครบกำหนดเวลาชำระเงิน ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินส่วนที่เหลือ เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาต แต่ก่อนที่ผู้ร้องจะชำระเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือ จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ร้องจึงยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินส่วนที่เหลือไปจนกว่าศาลจะพิจารณาคดีดังกล่าวถึงที่สุด เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาต ต่อมาวันที่ 11 ธันวาคม 2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอทราบความคืบหน้าของคดีดังกล่าวพร้อมทั้งขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งความคืบหน้าของคดีไปยังที่ทำการของผู้ร้องตามที่อยู่ใหม่ ในวันดังกล่าวเจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งให้ผู้ร้องทราบว่า ได้มีหนังสือแจ้งให้ผู้ร้องในฐานะผู้ซื้อทรัพย์นำเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือมาชำระและพ้นกำหนดชำระแล้ว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีคำสั่งริบเงินมัดจำ 3,000,000 บาท ของผู้ร้อง เนื่องจากผู้ร้องผิดสัญญาซื้อขายเมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ริบเงินมัดจำดังกล่าวของผู้ร้อง โจทก์ยื่นคำคัดค้านและขอให้ผู้ร้องวางเงินหรือหาหลักประกันวางต่อศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันความเสียหาย 10,000,000 บาท ผู้ร้องไม่วางเงินประกันหรือหาหลักประกันมาวางต่อศาล ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่ง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ผู้ร้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของผู้ร้อง ผู้ร้องฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกฎีกาของผู้ร้อง โดยให้เหตุผลสรุปว่า เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ไม่วางเงินหรือหาหลักประกันมาวางต่อศาลภายในกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง คำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า (เดิม) ผู้ซื้อทรัพย์ไม่มีสิทธิอุทธรณ์และฎีกาต่อไปอีก การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ของผู้ซื้อทรัพย์ ผู้ซื้อทรัพย์อุทธรณ์คำสั่งแล้วศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งให้ยกคำร้องอุทธรณ์คำสั่งของผู้ซื้อทรัพย์ เท่ากับศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่รับอุทธรณ์ กรณีเช่นนี้คำสั่งของศาลอุทธรณ์ภาค 5 จึงเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 236 วรรคหนึ่ง ต้องห้ามมิให้ฎีกา ที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งรับฎีกาของผู้ซื้อทรัพย์ จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติดังกล่าว ต่อมาเจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยใหม่ในนัดวันที่ 20 ตุลาคม 2559 บริษัท ค. ประมูลซื้อทรัพย์ของจำเลยได้ในราคา 233,000,000 บาท เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดของเจ้าพนักงานบังคับคดีดังกล่าว โจทก์ จำเลย และผู้ซื้อทรัพย์ต่างยื่นคำคัดค้าน วันที่ 30 มกราคม 2560 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินหรือหาหลักประกันมาวางต่อศาล 11,665,000 บาท ผู้ร้องนำเงินมาวางต่อศาลแล้ว ต่อมาวันที่ 6 พฤศจิกายน 2560 ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องเพราะผู้ร้องมิใช่ผู้เสียหายจากการขายทอดตลาด
เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2560 โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคท้าย (เดิม) หรือมาตรา 295 วรรคท้าย (ใหม่) เป็นคดีนี้ โดยอ้างว่าการกระทำของผู้ร้องข้างต้นเป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์พิพาทกับจำเลยเป็นเวลาประมาณ 17 ปี และอยู่ในชั้นบังคับคดีถึงปัจจุบันเป็นเวลาประมาณ 7 ปี โดยผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ริบเงินมัดจำของผู้ร้อง ใช้เวลาพิจารณาประมาณ 3 ปี แล้วผู้ร้องมายื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดครั้งใหม่อีกซึ่งนับถึงวันที่โจทก์ยื่นคำร้องนี้ใช้เวลา 1 ปีเศษแล้ว แต่รับเงินไม่ได้เพราะผู้ร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดโดยไม่มีมูลและประวิงคดี โจทก์ต้องจ้างทนายความและเสียค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีเป็นเงิน 255,809 บาท ผู้ซื้อทรัพย์นำเงินมาชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้เพราะผู้ร้องยื่นคำร้องดังกล่าว ทำให้ต้องขอขยายระยะเวลาวางเงินและเจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งอนุญาตจนกว่าคดีจะถึงที่สุด ทั้งที่ผู้ซื้อทรัพย์มีสิทธิขอขยายระยะเวลาวางเงินครั้งสุดท้ายอีก 3 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 และโจทก์มีสิทธิได้รับเงินจากเจ้าพนักงานบังคับคดีนับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 เป็นต้นไป โดยเจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยตามคำพิพากษาศาลฎีกาจนถึงวันขายทอดตลาดใหม่ รวมแล้วเป็นเงิน 216,165,905.48 บาท โจทก์ขาดประโยชน์จากการใช้เงินจำนวนดังกล่าว จึงขอคิดค่าเสียหายโดยให้ผู้ร้องชดใช้เป็นดอกเบี้ยผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 216,165,905.48 บาท นับแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 ถึงวันยื่นคำร้องนี้ (วันที่ 4 ธันวาคม 2560) เป็นเวลา 10 เดือน คิดเป็นเงิน 13,510,369 บาท เมื่อรวมกับค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีแล้วเป็นเงิน 13,766,178 บาท ขอให้บังคับผู้ร้องชดใช้เงิน 13,766,178 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 255,809 บาท และต้นเงิน 216,165,905.48 บาท นับแต่วันยื่นคำร้องนี้ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ผู้ร้องยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ผู้ร้องชดใช้เงิน 13,736,178 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 225,809 บาท และต้นเงิน 216,165,905.48 บาท นับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้ผู้ร้อง ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 20,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 10,000 บาท
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษากลับ ให้ยกคำร้องของโจทก์ คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่เกินมา 200 บาท แก่ผู้ร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า ผู้ร้องเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด โจทก์เป็นเจ้าหนี้จำเลยตามคำพิพากษาศาลฎีกา โจทก์ขอให้บังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินของจำเลยรวม 70 แปลง เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2556 ผู้ร้องซื้อทรัพย์ของจำเลยจากการขายทอดตลาดในราคา 206,660,000 บาท ผู้ร้องวางเงินมัดจำค่าซื้อทรัพย์จำนวน 3,000,000 บาท ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ต่อมามีการขยายเวลาวางเงินแต่ผู้ร้องไม่ชำระเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือตามกำหนด วันที่ 10 พฤศจิกายน 2557 เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งริบเงินมัดจำ 3,000,000 บาท ดังกล่าว ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ริบเงินมัดจำ ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินประกันความเสียหายจำนวน 10,000,000 บาท แต่ผู้ร้องไม่นำเงินประกันหรือหาหลักประกันมาวางต่อศาลชั้นต้น ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีของผู้ร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้น และศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ผู้ร้องยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งให้ยกคำร้อง ผู้ร้องยื่นฎีกา ศาลฎีกาไม่รับฎีกาและพิพากษายกฎีกา เจ้าพนักงานบังคับคดีนำทรัพย์ของจำเลยออกขายทอดตลาดใหม่เป็นครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 บริษัท ค. ประมูลซื้อได้ในราคา 233,000,000 บาท วันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดดังกล่าว ศาลชั้นต้นยกคำร้อง ผู้ร้องอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำพิพากษายืน ผู้ร้องขออนุญาตฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ผู้ร้องชดใช้ค่าเสียหายเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การยื่นคำร้องของผู้ร้องลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2559 ขอเพิกถอนการขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยใหม่ ครั้งที่สอง เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 นั้น ไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงคดีให้ชักช้าหรือไม่ และโจทก์เสียหายหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า ผู้ร้องเป็นผู้ซื้อทรัพย์ของจำเลยจากการขายทอดตลาดครั้งแรกเมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2556 ในราคา 206,660,000 บาท โดยวางเงินมัดจำค่าซื้อทรัพย์ 3,000,000 บาท จำเลยยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด ต่อมาผู้ร้องไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือ เจ้าพนักงานบังคับคดีจึงริบเงินมัดจำดังกล่าว ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ริบเงินมัดจำ เมื่อศาลชั้นต้นเห็นว่ากรณีมีพยานหลักฐานเบื้องต้นแสดงว่าคำร้องของผู้ร้องไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้าจึงมีคำสั่งให้ผู้ร้องวางเงินหรือหลักประกันเพื่อประกันความเสียหาย 10,000,00 บาท แต่ผู้ร้องไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาล ศาลชั้นต้นจึงยกคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งคำสั่งศาลชั้นต้นดังกล่าวย่อมเป็นที่สุดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า (เดิม) ผู้ร้องไม่มีสิทธิอุทธรณ์ฎีกาต่อไปอีก ดังนั้น คดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนคำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีจึงถึงที่สุดแล้ว ส่วนการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์พิพาทใหม่ครั้งที่ 2 ของเจ้าพนักงานบังคับคดีนั้น ก็ได้ความตามสำเนารายงานประกอบการขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ สำนักงานบังคับคดีจังหวัดเชียงใหม่ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีประกาศขายทอดตลาด นัดที่ 1 ในวันที่ 18 สิงหาคม 2559 แต่งดการขายเพราะประกาศไม่ครบเวลา นัดที่ 2 เมื่อวันที่ 8 กันยายน 2559 งดการขายเพราะไม่มีผู้เข้าสู้ราคา นัดที่ 3 เมื่อวันที่ 29 กันยายน 2559 มีผู้เสนอราคาสูงสุด 143,660,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งงดการขาย นัดที่ 4 เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2559 บริษัท ค. เป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้ในราคา 233,000,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีมีคำสั่งให้ขาย จึงเห็นได้ว่า ในการประกาศขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 นั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนดนัดถึง 4 นัด ทอดระยะเวลาถึง 2 เดือนเศษ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาและจำเลยซึ่งเป็นลูกหนี้ตามคำพิพากษามาดูแลการขายทอดตลาดทุกครั้งโดยไม่มีผู้ใดคัดค้านว่ากระบวนการขายทอดตลาดไม่ชอบ คงมีเพียงผู้ร้องที่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด โดยอ้างว่าผู้ร้องไม่ได้รับหมายแจ้งการประกาศขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 เพราะเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่ได้ส่งหมายให้ผู้ร้องตามที่อยู่ใหม่ที่ผู้ร้องได้แจ้งไว้จึงทำให้ผู้ร้องถูกตัดสิทธิในการเข้าร่วมประมูลซื้อทรัพย์นั้น ข้อเท็จจริงได้ความว่า ในการประกาศขายทอดตลาดทรัพย์ใหม่ครั้งที่ 2 ดังกล่าว เจ้าพนักงานบังคับคดีได้ส่งประกาศขายทอดตลาดให้แก่ผู้ร้องที่อาคารเลขที่ 13/47 โดยวิธีปิดหมาย แม้ผู้ร้องจะได้ยื่นคำร้องขอให้เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งความคืบหน้าของคดีที่ผู้ร้องเป็นผู้ประมูลซื้อทรัพย์ได้ไปยังภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานใหม่ คือ เลขที่ 124 หมู่บ้านเลคไซด์วิลล่า 2 ซึ่งเป็นบ้านพักอาศัยของกรรมการและที่ตั้งของผู้ร้องตามหนังสือรับรองก็ตาม แต่ในคำร้องดังกล่าวผู้ร้องระบุอ้างแต่เพียงว่ามีเหตุขัดข้องในการแจ้งให้ผู้ร้องทราบผลคดี ทำให้ทราบในระยะเวลากระชั้นชิดเท่านั้น โดยมิได้ประสงค์ที่จะให้ที่อยู่ที่แจ้งใหม่ดังกล่าวเป็นภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานเพียงแห่งเดียวของผู้ร้องแต่อย่างใด กรณีจึงยังต้องถือว่าอาคารเลขที่ 13/47 เป็นภูมิลำเนาอีกแห่งหนึ่งของผู้ร้องตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 69 การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีส่งประกาศขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 ให้แก่ผู้ร้องที่อาคารเลขที่ 13/47 ดังกล่าวโดยวิธีปิดหมาย จึงชอบด้วยกฎหมายแล้ว ข้อกล่าวอ้างของผู้ร้องจึงไม่อาจรับฟังได้ ส่วนที่ผู้ร้องอ้างว่า ราคาทรัพย์ที่ประมูลได้ 233,000,000 บาท มีราคาต่ำ หากผู้ร้องได้มีโอกาสเข้าร่วมประมูลและนำมาพัฒนาแล้วจะมีมูลค่าไม่ต่ำกว่า 800,000,000 บาท นั้น ผู้ร้องเพียงกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่มีพยานหลักฐานสนับสนุน ประกอบกับโจทก์และจำเลยไม่คัดค้านราคา ทั้งราคาที่ประมูลซื้อทรัพย์ได้ในครั้งที่ 2 สูงกว่าราคาที่ผู้ร้องเคยประมูลได้ในครั้งแรก คำร้องของผู้ร้องที่ขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดจึงไม่มีมูล นอกจากนี้ คดีที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำสั่งเจ้าพนักงานบังคับคดีที่ริบมัดจำเพราะผู้ร้องไม่วางเงินค่าซื้อทรัพย์ในการขายทอดตลาดครั้งก่อนภายในกำหนดและศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง เนื่องจากผู้ร้องไม่วางประกันในชั้นไต่สวนนั้น ผู้ร้องกลับอุทธรณ์คำสั่งศาลชั้นต้นทั้ง ๆ ที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคห้า (เดิม) บัญญัติว่า คำสั่งศาลชั้นต้นให้เป็นที่สุด และเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์ ผู้ร้องก็ยังยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่รับอุทธรณ์อีก ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 5 มีคำสั่งให้ยกคำร้อง แต่ผู้ร้องกลับไม่ยุติการดำเนินคดีเพียงเท่านี้ ผู้ร้องยังคงยื่นฎีกาต่อไปอีกซึ่งที่สุดแล้วศาลฎีกาได้มีคำสั่งไม่รับฎีกาและพิพากษายกฎีกา โดยวินิจฉัยว่า เมื่อผู้ซื้อทรัพย์ไม่วางเงินหรือหาหลักประกันมาวางต่อศาลภายในกำหนด ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง คำสั่งของศาลชั้นต้นย่อมเป็นที่สุดตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้น หลังจากนั้นผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 อีก แต่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง และศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืน โดยวินิจฉัยว่า กรณีที่บุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีจะยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดนั้น ต้องได้ความว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ซึ่งต้องเสียหายเพราะเหตุแห่งการขายทอดตลาดทรัพย์ดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 296 วรรคสอง (เดิม) ด้วย แม้ว่าผู้ร้องจะเป็นบุคคลภายนอกผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีในการขายทอดตลาดครั้งเดิมซึ่งถูกยกเลิกไปแล้วเนื่องจากผู้ร้องไม่วางเงินประกันตามคำสั่งศาลก็ตาม แต่เมื่อผู้ร้องไม่ได้รับความเสียหายจากกระบวนการขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 จึงไม่มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ต่อมาเมื่อผู้ร้องขออนุญาตฎีกา ศาลฎีกามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ฎีกา และไม่รับฎีกาของผู้ร้อง เมื่อพิจารณาพฤติการณ์ของผู้ร้องที่ดำเนินกระบวนพิจารณามาทั้งหมดโดยเฉพาะการร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 เป็นเหตุให้บริษัท ค. ผู้ซื้อทรัพย์จากการขายทอดตลาดใหม่ครั้งที่ 2 ต้องขอขยายระยะเวลาวางเงินออกไปและไม่อาจนำเงินที่เหลือมาวางชำระต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี จึงทำให้เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่สามารถจ่ายเงินให้แก่โจทก์ได้ ดังนี้ ถือเป็นการประวิงให้ชักช้าโดยไม่มีมูลมีผลให้การขายทอดตลาดไม่เสร็จสิ้น และผู้ซื้อทรัพย์รายใหม่ไม่อาจชำระราคาทรัพย์พิพาทอันเป็นผลมาจากการกระทำของผู้ร้อง หาใช่เป็นการใช้สิทธิโดยสุจริตไม่ และเมื่อก่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์ ผู้ร้องต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในส่วนของความเสียหายนั้น ข้อเท็จจริงได้ความตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีคำนวณหนี้ตามคำพิพากษาที่โจทก์ต้องได้รับจากจำเลยถึงวันที่ 20 ตุลาคม 2559 ซึ่งเป็นวันที่ขายทอดตลาดทรัพย์ได้ เป็นเงิน 216,165,905.48 บาท โจทก์ยื่นคำร้องเรียกค่าสินไหมทดแทน คือ ดอกเบี้ยจากค่าขาดประโยชน์ที่ควรได้รับหากได้รับชำระหนี้ตามเวลาเริ่มแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2560 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์มีสิทธิรับเงินจากเจ้าพนักงานบังคับคดีหากผู้ร้องไม่ยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาดคำนวณดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 216,165,905.48 บาท จนถึงวันที่ 4 ธันวาคม 2560 อันเป็นวันยื่นคำร้อง เป็นเวลา 10 เดือน คำนวณได้ 13,510,369 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้อง นั้น โจทก์เรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ย แต่โจทก์ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่า หากได้รับชำระหนี้ดังกล่าวแล้ว โจทก์จะได้รับประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์หรือเงินฝากประจำที่ธนาคารพาณิชย์จ่ายให้แก่โจทก์ในอัตราเท่าใด อย่างไร แต่เมื่อคำนึงถึงความเสียหายที่โจทก์ได้รับประกอบทางได้เสียของโจทก์ สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน รวมถึงการแก้ไขเรื่องอัตราดอกเบี้ยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 และมาตรา 224 แล้ว เห็นควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้โจทก์ 10,000,000 บาท ส่วนที่โจทก์ขอค่าทนายความและค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องนั้น โจทก์นำสืบใบเสร็จรับจ่ายเงิน แต่บางรายการเป็นค่าใช้จ่ายแบบเหมารวม เช่น ค่าเช่ารถ จึงเห็นสมควรกำหนดค่าสินไหมทดแทนส่วนนี้ให้โจทก์ 100,000 บาท รวมเป็นค่าสินไหมทดแทน 10,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 5 วินิจฉัยว่า ที่ผู้ร้องยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาดมิใช่เป็นการยื่นคำร้องโดยไม่มีมูลและยื่นเข้ามาเพื่อประวิงให้ชักช้า ผู้ร้องไม่จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา มีการประกาศใช้พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ. 2564 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 โดยมาตรา 3 และมาตรา 4 แห่งพระราชกำหนดดังกล่าวให้ยกเลิกความในมาตรา 7 และมาตรา 224 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และให้ใช้ความใหม่แทน เป็นผลให้ดอกเบี้ยผิดนัดปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราดอกเบี้ยใหม่ที่กระทรวงการคลังปรับเปลี่ยนโดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละสองต่อปี ทำให้ดอกเบี้ยผิดนัดของค่าสินไหมทดแทนซึ่งเป็นหนี้เงินที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 ต้องปรับเปลี่ยนจากอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็นอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ดังนี้ เมื่อการกำหนดดอกเบี้ยตามกฎหมายเป็นข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ประกอบมาตรา 246 และมาตรา 252
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ผู้ร้องชำระเงินให้โจทก์ 10,100,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินจำนวนดังกล่าวนับแต่วันยื่นคำร้อง (ยื่นคำร้องวันที่ 4 ธันวาคม 2560) เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 10 เมษายน 2564 และอัตราร้อยละ 5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ แต่อัตราดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 11 เมษายน 2564 หากมีพระราชกฤษฎีกาปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยก็ให้ปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยไปตามนั้นบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปี ทั้งนี้ต้องไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามคำขอ ให้ผู้ร้องใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนโจทก์เฉพาะค่าขึ้นศาลให้ใช้ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี กำหนดค่าทนายความรวม 50,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดี 10,000 บาท