คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยบังอาจมีอาวุธปืนและกระสุนปืนโดยมิได้รับอนุญาตให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๔, ๗, ๘, ๕๕, ๗๒, ๗๘ ; (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๑ มาตรา ๓, ๕, ๘ กฎกระทรวงมหาดไทย (ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๐๑ และริบของกลาง
จำเลยปฏิเสธว่ามิได้กระทำความผิด
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยได้มีกระสุนปืนขนาด ๙ ม.ม.๔ นัดไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมาย แต่ปืนคาร์บิน ๑ กระบอก ซองกระสุน ๒ อัน กระสุนปืน ๑๗ นัด และลูกระเบิดมือ ๒ ลูก ซึ่งพบใต้ถุนเรือนของจำเลยนั้น ทางพิจารณาฟังไม่ได้ว่าเป็นของจำเลยมีไว้ในครอบครองเพราะอาจเป็นของผู้อื่นนำมาซุกใส่ไว้ใต้ถุนเรือนจำเลย ซึ่งปรากฏว่าบ้านจำเลยไม่มีรั้วรอบขอบชิด รูปคดีเป็นที่สงสัยควรยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้เป็นผลดีแก่จำเลย จึงพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๗, ๗๒ ให้ปรับจำเลย ๑๐๐ บาทซึ่งต้องขังมาพอแก่โทษแล้ว ของกลางทั้งหมดให้ริบ ข้อหาอื่นให้ยก แต่ในชั้นนี้ให้ขังจำเลยไว้ในระหว่างอุทธรณ์ เว้นแต่จำเลยจะมีประกันเป็นที่พอใจของศาล
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ พ.ศ.๒๔๙๐ มาตรา ๔, ๗ พระราชบัญญัติอาวุธปืน ฯ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๐๑ มาตรา ๓, ๕, ๘ และกฎกระทรวงมหาดไทย(ฉบับที่ ๗) พ.ศ.๒๕๐๑ ให้ลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด ๑ ปี นอกจากที่แก้นี้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงและพิพากษาว่า กระสุนขนาด ๙ ม.ม. ๔ นัด ไม่ใช่กระสุนปืนสำหรับใช้เฉพาะในราชการสงคราม แต่ศาลอุทธรณ์ฟังว่ากระสุนขนาดขนาด ๙ ม.ม. ๔ นัดนี้ เป็นกระสุนปืนสำหรับใช้ในราชการสงคราม ทั้งฟังว่าของกลางอื่น ๆ นอกจากที่กล่าวนี้เป็นของสำหรับใช้เฉพาะในราชการสงคราม ซึ่งจำเลยมีไว้ในครอบครองโดยผิดกฎหมายด้วย และพิพากษาแก้โทษปรับเป็นโทษจำคุกเลย ศาลฎีกาเห็นว่า คดีนี้เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องว่าจำเลยได้มีอาวุธปืน กระสุนปืน และลูกระเบิดมือของกลางไว้ในครอบครองของจำเลยในวาระเดียวกัน ไม่ใช่ต่างกรรมต่างวาระ เมื่อศาลอุทธรณ์วางบทกำหนดโทษจำคุกจำเลย แม้จะเป็นการแก้ไขมากก็ดี แต่โทษจำคุกยังไม่เกิน ๑ ปีเช่นนี้ จำเลยก็ไม่มีสิทธิที่จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงได้ ฎีกาจำเลยจึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๐ พิพากษาให้ยกฎีกาของจำเลย