โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากรเลขที่ 09300011-25590317-002-00003 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2559 เป็นว่า จำเลยอนุมัติจ่ายคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล 3,085,321.50 บาทแก่โจทก์ หนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากรเลขที่ 09300011-25590527-002-00007 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 เป็นว่า จำเลยอนุมัติจ่ายคืนภาษีเงินได้นิติบุคคล 2,941,382.70 บาทแก่โจทก์ คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของสรรพากรภาค 9 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรตามหนังสือที่ กค.0717 (กม) /14330 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เป็นว่า การที่เจ้าพนักงานมีคำสั่งคืนเงินภาษีอากร 6,083.77 บาท ตามหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร เลขที่ 09300011-25590317-002-00003 ฉบับลงวันที่ 17 มีนาคม 2559 นั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีสิทธิรับคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวน 3,085,321.50 บาท คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของสรรพากรภาค 9 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรตามหนังสือที่ กค.0717 (กม) /16751 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2559 เป็นว่า การที่เจ้าพนักงานมีคำสั่งคืนเงินภาษีอากร 1,986,705.23 บาท ตามหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร เลขที่ 09300011-25590527-002-00007 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 นั้น ไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์มีสิทธิรับคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล 2,941,382.70 บาท ให้จำเลยคืนเงินภาษีอากรที่โจทก์ชำระไว้เกิน 4,033,917.20 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของต้นเงินจำนวน 3,079,239.73 บาท นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2553 จนถึงวันฟ้อง และของต้นเงิน 954,677.47 บาท นับแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2554 รวม 6,904,454.63 บาท และให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของต้นเงินจำนวน 4,033,917.20 บาท นับถัดจากวันฟ้องไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขหนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากร เลขที่ 09300011-25590317-002-00003 ลงวันที่ 17 มีนาคม 2559 หนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากรเลขที่ 09300011-25590527-002-00007 ลงวันที่ 27 พฤษภาคม 2559 คำวินิจฉัยของสรรพากรภาค 9 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ที่ กค 0717 (กม)/14330 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 และคำวินิจฉัยของสรรพากรภาค 9 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากร ที่ กค 0717 (กม)/16751 ลงวันที่ 25 สิงหาคม 2559 โดยให้นำรายจ่ายค่าเช่ารถ 5,423,488 บาท ไปหักในการคำนวณผลขาดทุนสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2551 หากมีผลขาดทุนสุทธิตามการคำนวณเท่าใด ให้นำไปหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2552 และปี 2553 ตามหลักเกณฑ์แห่งประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (12) และให้นำรายจ่ายค่าเช่ารถ 8,132,875 บาท ไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2552 หากการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2552 และปี 2553 ตามที่ปรับปรุงปรากฏว่า โจทก์มีสิทธิได้รับคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ชำระเกินเพียงใด ให้จำเลยคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน นับถัดจากวันครบกำหนดระยะเวลา 3 เดือน นับแต่วันสิ้นกำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลรอบระยะเวลาบัญชีปี 2552 และปี 2553 หรือตามที่รับการขยายหรือเลื่อนให้ถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืน แต่ทั้งนี้ไม่เกินกว่าจำนวนภาษีอากรที่ได้รับคืนของแต่ละรอบระยะเวลาบัญชี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 3,085,321.50 บาท แต่เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยมีคำสั่งแจ้งคืนเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์ 6,081.77 บาท เนื่องจากเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่าผลประกอบการขาดทุนสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2551 เกิดจากรายจ่ายค่าเช่ารถให้นายกิตติ 5,423,488 บาท ซึ่งเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) โจทก์ไม่อาจยกผลขาดทุนสุทธิดังกล่าวมาใช้สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2552 ได้ รายจ่ายค่าเช่ารถให้นายกิตติ 10,533,342 บาท สำหรับรอบระยะเวลาบัญชี 2552 เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) รายจ่ายดอกเบี้ย 1,680,230.37 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) และโจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2553 ถึง 31 ธันวาคม 2553 จำนวน 2,941,382.70 บาท แต่เจ้าพนักงานประเมินมีคำสั่งแจ้งคืนเงินภาษีอากรให้แก่โจทก์ 1,986,705.23 บาท โดยเจ้าพนักงานประเมินเห็นว่า ผลขาดทุนสุทธิยกมาไม่เกินห้าปีก่อนรอบระยะเวลาบัญชีปีปัจจุบันที่นำมาใช้ในรอบระยะเวลาบัญชีปี 2553 ไม่ถูกต้อง และโจทก์มีกำไรสุทธิสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2552 จำนวน 11,172,465.78 บาท และรายจ่ายดอกเบี้ย 660,252.90 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) โจทก์อุทธรณ์ตามหนังสืออุทธรณ์คำสั่งคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคล สรรพากรภาค 9 ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสรรพากรวินิจฉัยว่า หนังสือแจ้งคืนเงินภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2552 และปี 2553 ชอบแล้ว และคดียุติไปตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยไม่มีคู่ความฝ่ายใดขออนุญาตฎีกาว่า รายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ยืมสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2551 จำนวน 1,680,230.37 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2552 จำนวน 660,252.90 บาท เป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง อันเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากรมาตรา 65 ตรี (9) และรายจ่ายค่าเช่ารถให้นายกิตติในปี 2552 จำนวน 2,400,467 บาท เป็นรายจ่ายที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่านายกิตติเป็นผู้รับ อันเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18)
มีปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการแรกว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) หรือไม่ ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรเห็นว่า ประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ทวิ บัญญัติว่า "การคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิในส่วนนี้ ให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (1) รายการที่ระบุไว้ในมาตรา 65 ตรี ไม่ให้ถือเป็นรายจ่าย..." และมาตรา 65 ตรี บัญญัติว่า "รายการต่อไปนี้ ไม่ให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ...(18) รายจ่ายซึ่งผู้จ่ายพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับ..." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวของอนุมาตรานี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อที่จะให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลผู้จ่ายรายจ่ายต้องพิสูจน์ตัวตนของผู้รับเงินได้ หากพิสูจน์ไม่ได้ว่าใครเป็นผู้รับก็ต้องห้ามมิให้ถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลตามประมวลรัษฎากร ซึ่งทางนำสืบของโจทก์มีรายละเอียดข้อมูลที่เกี่ยวกับนายกิตติเพียงสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของนายกิตติและบิลเงินสดที่นายกิตติทำเรื่องเบิกเงินจากโจทก์ ที่ปรากฏแต่ชื่อของนายกิตติ เท่านั้น นางอัญชลี ผู้รับมอบอำนาจโจทก์เบิกความตอบคำถามค้านทนายจำเลยว่า ในชั้นที่เจ้าหน้าที่สรรพากรให้นำตัวนายกิตติมาชี้แจง โจทก์ไม่สามารถติดต่อนายกิตติมาให้ถ้อยคำหรือชี้แจงได้ ซึ่งก็ได้ความจากนางสาววราภรณ์ เจ้าพนักงานตรวจสอบเช่นกันว่า โจทก์ไม่สามารถนำตัวนายกิตติมาให้ถ้อยคำได้และยังไม่มีหมายเลขโทรศัพท์ของนายกิตติเพื่อติดต่อด้วย ซึ่งมีข้อพิรุธที่โจทก์และนายกิตติติดต่อทำธุรกิจกันมาเป็นระยะเวลานานมีมูลค่าหลายล้านบาท เฉพาะที่ปรากฏในชุดใบสำคัญจ่ายสำหรับการเช่ารถระหว่างวันที่ 25 สิงหาคม 2551 ถึงวันที่ 15 กันยายน 2551 มีการเช่ารถยนต์พร้อมคนขับจำนวนมาก โดยคนขับรถต้องไปรับพนักงานของโจทก์ในสถานที่แตกต่างกันเพื่อสำรวจข้อมูลทำแผนที่ เช่น จังหวัดหนองบัวลำภู จังหวัดอุดรธานี จังหวัดบุรีรัมย์ จังหวัดร้อยเอ็ด และจังหวัดสุรินทร์ เป็นต้น ซึ่งในการเช่ารถดังกล่าวตามปกติแล้วย่อมจะต้องมีหมายเลขโทรศัพท์ของนายกิตติเพื่อติดต่อใช้รถในแต่ละครั้ง แต่โจทก์กลับไม่สามารถให้ข้อมูลติดต่อนายกิตติได้ ประกอบกับไม่ปรากฏว่าโจทก์กับนายกิตติมีการทำหลักฐานเอกสารการเช่ากันเป็นลายลักษณ์อักษร และไม่มีการระบุตัวทรัพย์สินที่ให้เช่าคงมีเพียงตารางค่าเช่ารถ เท่านั้น ซึ่งเป็นการผิดปกติวิสัยของการทำธุรกิจให้เช่ารถจำนวนมาก นอกจากนี้นางสาวฐิรดา กรรมการบริหารบริษัทโจทก์ยังเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นในบริษัท อ. ซึ่งบริษัท อ. มีนางสาวณัฐณิช เป็นผู้ถือหุ้น และนางสาวณัฐณิชยังเป็นกรรมการบริหารและผู้ถือหุ้นบริษัท ม. ทำให้เห็นได้ว่าโจทก์กับบริษัท ม. มีความเกี่ยวข้องกัน โดยบริษัท ม. จ่ายค่าเช่ารถให้แก่นายกิตติสูงกว่าปกติ และบริษัท ม. ไม่สามารถนำตัวนายกิตติมายืนยันว่ามีการรับเงินตามบิลเงินสดที่บริษัท ม. นำมาแสดงเป็นรายจ่ายต่อเจ้าพนักงานของจำเลยได้เช่นกัน เมื่อเจ้าหน้าที่ของจำเลยตรวจปฏิบัติการสอบยัน ณ ภูมิลำเนาของนายกิตติก็ไม่สามารถเข้าตรวจได้เนื่องจากสถานประกอบการมีลักษณะเป็นบ้านพักอาศัย ไม่มีลักษณะเป็นสถานประกอบการ ไม่มีผู้ใดพักอาศัยและไม่พบตัวนายกิตติ เจ้าหน้าที่ของจำเลยจึงทำหนังสือเชิญนายกิตติให้มาพบแล้วถึง 2 ครั้ง แต่นายกิตติก็ไม่มาพบ แม้โจทก์จะประกอบการจริงและรายจ่ายที่เป็นค่าเช่ายานพาหนะสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 10,621,603.57 บาท คิดเป็นร้อยละ 8.71 ของรายได้ เป็นค่าเช่าที่จ่ายให้แก่นายกิตติ 10,533,342 บาท ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าผู้ให้เช่ารายอื่น และโจทก์ชำระเงินค่าเช่ารถยนต์ให้แก่นายกิตติโดยสั่งจ่ายเช็คระบุชื่อนายกิตติและขีดคร่อมประทับตราว่า A/C PAYEE ONLY ขีดฆ่าคำว่าผู้ถือออกและมีการเรียกเก็บเงินตามเช็คก็ตาม แต่โจทก์มีหน้าที่พิสูจน์ให้ได้ว่านายกิตติเป็นผู้ให้เช่ารถและผู้รับเงินค่าเช่ารถที่แท้จริง ทางนำสืบของโจทก์จึงยังไม่พอให้รับฟังได้ว่านายกิตติเป็นผู้ให้เช่ารถที่แท้จริง เพราะหากนายกิตติเป็นผู้ให้เช่ารถยนต์แล้วน่าจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับนายกิตติมากกว่าพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบ พยานหลักฐานของโจทก์มีน้ำหนักน้อยกว่าพยานหลักฐานของจำเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น เมื่อรายจ่ายค่าเช่ารถดังกล่าวเป็นรายจ่ายต้องห้ามแล้ว กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้ออื่นต่อไป
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ