โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ให้จำเลยคืนเงินภาษี เบี้ยปรับ และเงินเพิ่ม 586,610.86 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน ของต้นเงิน 396,140.98 บาท นับแต่วันที่ 30 สิงหาคม 2555 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน 205,993.31 บาท และของต้นเงิน 190,469.88 บาท นับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2559 จนถึงวันฟ้อง เป็นเงิน 9,523.49 บาท รวมทั้งสิ้น 802,127.66 บาท ให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนของต้นเงิน 586,610.86 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระให้แก่โจทก์เสร็จ
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้แก้ไขหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ฉบับลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 ให้จำเลยประเมินภาษีอากรสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 ใหม่ โดยให้นำรายจ่ายค่าเช่ารถที่โจทก์จ่ายให้แก่นายกิตติ และรายจ่ายดอกเบี้ยจ่ายที่โจทก์จ่ายให้แก่บริษัท ส. ตามตั๋วสัญญาใช้เงินในส่วนที่เกินอัตราร้อยละ 3 มาใช้คำนวณเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิและขาดทุนสุทธิภายในไม่เกิน 5 รอบระยะเวลาบัญชีที่โจทก์จะนำมาใช้ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2554 เสร็จแล้วให้จำเลยคืนเงินภาษีเงินได้นิติบุคคลส่วนที่โจทก์มีสิทธิได้รับคืนสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีวันที่ 1 มกราคม 2554 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2554 แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้นตั้งแต่วันถัดจากวันครบระยะเวลาสามเดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรคือวันที่ 24 ธันวาคม 2555 จนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินภาษีอากรแต่มิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน และให้จำเลยคืนเงิน 190,469.62 บาท แก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนของเงินภาษีอากรที่ได้รับคืนโดยไม่คิดทบต้น ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่ 10 มิถุนายน 2559 ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ชำระเงินจำนวนดังกล่าวแก่จำเลยจนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงินภาษีอากร แต่มิให้เกินกว่าจำนวนเงินภาษีอากรที่ได้รับคืน ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้แก้ไขหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคล ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2559 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559 โดยให้นำรายจ่ายค่าเช่ารถรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท ไปหักในการคำนวณกำไรสุทธิรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 ให้นำรายจ่ายค่าเช่ารถรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท ไปหักในการคำนวณกำไรสุทธิ แต่ไม่ให้นำรายจ่ายดอกเบี้ยที่จ่ายให้แก่บริษัท ส. จำกัด รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 1,680,230.37 บาท ไปหักในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 และไม่ให้นำรายจ่ายดอกเบี้ยที่จ่ายให้บริษัท ส. จำกัด รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2553 จำนวน 660,252.90 บาท ไปหักในการคำนวณกำไรสุทธิรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2553 หากมีผลขาดทุนสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 ถึงรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2553 ตามการคำนวณเท่าใด ให้นำไปหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2554 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (12) โดยไม่ให้นำรายจ่ายดอกเบี้ยจำนวน 444,832.75 บาท ไปหักเป็นรายจ่ายในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2554 หากการคำนวณกำไรสุทธิในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2554 ตามที่ปรับปรุงปรากฏว่า โจทก์มีสิทธิได้รับคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลที่ถูกหักไว้ ณ ที่จ่ายหรือที่ชำระตามการประเมินเพียงใด ให้จำเลยคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลจำนวนดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือน นับถัดจากวันครบกำหนดระยะเวลา 3 เดือนนับแต่วันยื่นคำร้องขอคืนเงินภาษีอากรถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืน แต่ทั้งนี้ไม่เกินกว่าจำนวนภาษีอากรที่ได้รับคืน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลภาษีอากรกลาง ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังยุติได้ว่า โจทก์ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2554 จำนวน 396,140.98 บาท เจ้าพนักงานของจำเลยตรวจสอบแล้ว เห็นว่า โจทก์มีผลขาดทุนสุทธิยกมาของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 ที่ไม่สามารถนำมาใช้ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 3,497,008.08 บาท และรายจ่ายต้นทุนบริการแสดงไว้สูงซึ่งประกอบด้วยค่าเช่ารถ 10,533,342 บาท และดอกเบี้ยจ่าย 1,680,230.37 บาท เมื่อปรับปรุงกำไรสุทธิแล้ว ทำให้โจทก์มีกำไรสุทธิของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 11,172,465.78 บาท โจทก์จึงได้รับคืนภาษีเพียง 6,081.77 บาท เจ้าพนักงานของจำเลยเห็นว่า โจทก์ไม่มีรายจ่ายจากผลขาดทุนสุทธิที่จะนำไปใช้ในรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2553 และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2554 อีก จึงมีหนังสือแจ้งภาษีเงินได้นิติบุคคลให้โจทก์ชำระภาษีเงินได้ของรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2554 เป็นภาษีเงินได้ 69,641.64 บาท เบี้ยปรับ 69,641.64 บาท และเงินเพิ่ม 50,141.98 บาท รวมเป็นเงิน 189,425.26 บาท โจทก์อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ ต่อมาคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์และคดียุติตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ โดยไม่มีคู่ความขออนุญาตฎีกา สำหรับกรณีรายจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ส่วนที่เกินกว่าอัตราร้อยละ 3 สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 1,680,230.37 บาท รอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2553 จำนวน 660,252.90 บาท และรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2554 จำนวน 444,832.75 บาท ต้องถือตามการประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ว่าเป็นรายจ่ายซึ่งกำหนดขึ้นเองโดยไม่มีการจ่ายจริง ซึ่งเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (9) และรายจ่ายค่าเช่ารถให้นายกิตติในปี 2552 จำนวน 2,400,467 บาท เป็นรายจ่ายที่โจทก์พิสูจน์ไม่ได้ว่า นายกิตติเป็นผู้รับอันเป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18)
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงประการเดียวว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากรหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ก่อนโจทก์ฟ้องจำเลยคดีนี้ โจทก์ฟ้องจำเลยต่อศาลภาษีอากรกลาง ซึ่งมีประเด็นข้อพิพาทในชั้นฎีกาว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามในการคำนวณกำไรขาดทุนสุทธิตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) หรือไม่ และคดีดังกล่าวศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรได้มีคำพิพากษาตามคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4122/2564 วินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) ซึ่งเป็นประเด็นข้อพิพาทเดียวกันกับคดีนี้ ข้อเท็จจริงตามคำพิพากษาศาลฎีกาดังกล่าวจึงผูกพันคู่ความในคดีนี้ว่า รายจ่ายค่าเช่ารถสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2551 จำนวน 5,423,488 บาท และสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2552 จำนวน 8,132,875 บาท เป็นรายจ่ายต้องห้ามตามประมวลรัษฎากร มาตรา 65 ตรี (18) ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลให้เป็นพับ