โจทก์ทั้งสามฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรค้างพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงินจำนวน 33,119,593.30 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม และเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากเงินค่าอากรขาเข้าจำนวน 4,297,772 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยชำระหนี้ค่าภาษีอากรค้างพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงินจำนวน 33,119,593.30 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม และชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าในอัตราร้อยละ 1 ต่อเดือนหรือเศษของเดือนจากเงินค่าอากรขาเข้าจำนวน 4,297,772 บาท นับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 แต่ทั้งนี้เงินเพิ่มมิให้เกินกว่าค่าอากรขาเข้าดังกล่าว กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความเป็นเงินจำนวน 10,000 บาท
โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินค่าภาษีอากรค้างพร้อมเบี้ยปรับและเงินเพิ่มจำนวน 32,383,396 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม คำขอในส่วนเงินเพิ่มที่เกินกว่าเงินอากรขาเข้าให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง
โจทก์ทั้งสามฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อระหว่างวันที่ 14 พฤษภาคม 2551 ถึงวันที่ 24 ธันวาคม 2551 จำเลยนำเข้าสินค้ารถยนต์นั่งใหม่สำเร็จรูปหลายรุ่นหลายยี่ห้อซึ่งผลิตในประเทศญี่ปุ่น และจำเลยยื่นใบขนสินค้าขาเข้าพร้อมแบบแสดงรายการภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 10 ฉบับ ต่อพนักงานของโจทก์ที่ 1 โดยสำแดงปริมาณ ราคา และค่าภาษีอากรประเภทต่าง ๆ ที่ต้องชำระ พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ให้จำเลยชำระภาษีตามที่สำแดงแล้วจึงตรวจปล่อยสินค้า ภายหลังตรวจพบว่าข้อมูลที่จำเลยสำแดงราคาซื้อขายไว้ไม่ถูกต้อง โจทก์ที่ 1 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการประเมินราคาศุลกากรและค่าภาษีอากรรถยนต์ทำการตรวจสอบ และมีหนังสือแจ้งให้จำเลยชี้แจงพร้อมจัดส่งเอกสารเพื่อทำการตรวจสอบประกอบคำชี้แจง แต่จำเลยไม่ไปพบและไม่ส่งเอกสารหลักฐานให้พนักงานเจ้าหน้าที่ภายในกำหนด พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 จึงประเมินราคาเรียกเก็บภาษีอากรจากจำเลย รวมหนี้ภาษีอากรค้างตามการประเมินคิดเป็นอากรขาเข้ารวมจำนวน 4,297,772 บาท เงินเพิ่มอากร (คำนวณถึงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 และวันที่ 9 ธันวาคม 2560) จำนวน 4,790,202 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 1,151,356 บาท เบี้ยปรับภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 1,151,356 บาท เงินเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 1,151,356 บาท ภาษีสรรพสามิตจำนวน 6,161,752 บาท เบี้ยปรับภาษีสรรพสามิตจำนวน 6,161,752 บาท เงินเพิ่มภาษีสรรพสามิตจำนวน 6,161,752 บาท ภาษีเพื่อมหาดไทยจำนวน 616,176 บาท เบี้ยปรับภาษีเพื่อมหาดไทยจำนวน 616,176 บาท เงินเพิ่มภาษีเพื่อมหาดไทยจำนวน 616,176 บาท รวมจำนวนภาษีตามการประเมินทั้งสิ้น 32,875,826 บาท พนักงานเจ้าหน้าที่ของโจทก์ที่ 1 ได้แจ้งการประเมินภาษีอากรดังกล่าวให้จำเลยทราบโดยชอบแล้วเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 จำเลยมิได้ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการประเมินภาษีอากรปรากฏปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามมีว่า จำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าไม่เกินกว่าค่าอากรขาเข้าหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีหน้าที่ต้องรับผิดในส่วนเงินเพิ่มตามกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น เมื่อคดีนี้จำเลยนำเข้าสินค้าระหว่างเดือนพฤษภาคม 2551 ถึงเดือนธันวาคม 2551 ความรับผิดอากรขาเข้าตามใบขนสินค้าขาเข้าทั้ง 10 ฉบับ แต่ละฉบับเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ยังคงมีผลใช้บังคับอยู่ โดยตามพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว มาตรา 112 จัตวา บัญญัติว่า "เมื่อผู้นำของเข้าหรือผู้ส่งของออกนำเงินมาชำระค่าอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละหนึ่งต่อเดือนของค่าอากรที่นำมาชำระโดยไม่คิดทบต้นนับแต่วันที่ได้ส่งมอบหรือส่งของออก จนถึงวันที่นำเงินมาชำระ..." ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติว่าเงินเพิ่มอากรขาเข้าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม ดังนี้ เมื่อจำเลยชำระอากรขาเข้าไม่ครบถ้วน โจทก์ที่ 1 จึงมีสิทธิเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าได้โดยไม่มีข้อจำกัดว่าจะต้องไม่เกินอากรขาเข้าที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่มตามบทกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในเวลานั้น แม้ต่อมาวันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 จะได้มีพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 ใช้บังคับ และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 โดยพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มาตรา 22 บัญญัติว่า "...โดยเงินเพิ่มที่เรียกเก็บนี้ต้องไม่เกินอากรที่ต้องเสียหรือเสียเพิ่ม..."เป็นผลให้โจทก์ที่ 1 ไม่มีสิทธิตามกฎหมายที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าเฉพาะส่วนที่เกินอากรขาเข้านับแต่วันที่พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2560 มีผลใช้บังคับแล้วได้อีกต่อไปก็ตาม แต่ก็มิได้เป็นการลบล้างเงินเพิ่มที่เกิดขึ้นแล้วตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ.2469 ดังนั้น โจทก์ที่ 1 ย่อมมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าได้จนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ส่วนนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 หากเงินเพิ่มยังไม่เท่าอากรขาเข้าตามการประเมิน โจทก์ที่ 1 คงมีสิทธิคำนวณเรียกเงินเพิ่มอากรขาเข้าดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำนวนเงินเพิ่มจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา 22 ดังกล่าว ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน
อนึ่ง โจทก์ทั้งสามได้รับอนุญาตให้ฎีกาในประเด็นที่ว่าจำเลยต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้าไม่เกินกว่าค่าอากรขาเข้าหรือไม่ ทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นฎีกาต้องถือตามเงินเพิ่มอากรขาเข้าส่วนที่เกินค่าอากรขาเข้าที่จำเลยต้องเสียคำนวณถึงวันฟ้องเป็นเงิน 736,197.30 ต้องเสียค่าขึ้นศาล 14,723.95 บาท แต่โจทก์ทั้งสาม เสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา 19,881 บาท เกินมา 5,157.05 บาท ให้คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินแก่โจทก์ทั้งสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยรับผิดชำระเงินเพิ่มอากรขาเข้า ในส่วนที่เกินอากรขาเข้าที่คำนวณจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 ให้แก่โจทก์ที่ 1 แต่จำเลยไม่ต้องรับผิดเงินเพิ่มส่วนที่เกินอากรขาเข้าที่คำนวณนับแต่วันที่ 13 พฤศจิกายน 2560 เว้นแต่เมื่อคำนวณเงินเพิ่มอากรขาเข้าจนถึงวันที่ 12 พฤศจิกายน 2560 แล้ว เงินเพิ่มอากรขาเข้ายังไม่เท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมินก็ให้คำนวณเงินเพิ่มอากรขาเข้าต่อไปจนกว่าจะเท่าจำนวนอากรขาเข้าตามการประเมิน คืนค่าขึ้นศาล 5,157.05 บาท แก่โจทก์ทั้งสาม นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ