โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 4, 165, 166, 167, 242, 246 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 4, 159, 165, 203, 206, 207 พระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4, 5, 6, 7, 8, 9 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 32, 33, 83 ริบบุหรี่ซิกาแรตต่างประเทศและรถยนต์ของกลาง จ่ายเงินสินบนแก่ผู้นำจับและจ่ายเงินรางวัลแก่เจ้าพนักงานผู้จับตามกฎหมาย
จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 242 พระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 165, 203 (1), 206 การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246 วรรคหนึ่ง (ที่ถูกคือ ให้ลงโทษฐานช่วยซ่อนเร้น ช่วยจำหน่าย ช่วยพาเอาไปเสีย ซื้อ รับจำนำ หรือรับไว้ โดยรู้ว่าเป็นของอันเนื่องด้วยความผิดตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 242) ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ปรับคนละ 1,728 บาท จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเพราะจำนนต่อหลักฐาน จึงไม่ลดโทษให้ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระค่าปรับให้จัดการ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 ริบบุหรี่ซิกาแรตต่างประเทศของกลาง ส่วนที่โจทก์ขอให้ริบรถยนต์ของกลาง ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองได้ใช้รถยนต์คันดังกล่าวซุกซ่อนขนย้ายบุหรี่ของกลางในลักษณะอย่างไร ทั้งรถยนต์โดยสภาพแล้วก็เป็นยานพาหนะที่บุคคลทั่วไปใช้สัญจรตามธรรมดาในชีวิตประจำวัน รถยนต์ของกลางจึงมิได้เป็นเครื่องมือเครื่องใช้ หรือยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองได้ใช้ในการกระทำความผิดตามที่โจทก์ฟ้องโดยตรง จึงไม่อาจริบรถยนต์ของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33 (1) ได้
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ริบรถยนต์ของกลาง ให้จ่ายสินบนแก่ผู้นำจับร้อยละสามสิบและจ่ายรางวัลแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ผู้จับกุมร้อยละยี่สิบห้าของราคาของกลางที่ศาลสั่งริบตามพระราชบัญญัติให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำความผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 7, 8 วรรคหนึ่ง นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มีคำพิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลาง ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "เรือที่มีระวางบรรทุกไม่เกินสองร้อยห้าสิบตันกรอส ยานพาหนะอื่นใด เว้นแต่อากาศยาน หีบห่อ ภาชนะบรรจุ หรือสิ่งใด ๆ หากได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการย้าย ซ่อนเร้น หรือขนของที่มิได้เสียอากร ของต้องห้าม ของต้องกำกัดหรือของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากร ให้ริบเสียทั้งสิ้นไม่ว่าจะมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่" คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องในส่วนรถยนต์ของกลางเพียงว่า รถยนต์เป็นยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ในการกระทำผิดโดยใช้ลำเลียงขนส่งบุหรี่ของกลาง โดยไม่ได้บรรยายว่าใช้ยานพาหนะในการซ่อนเร้นบุหรี่ของกลางด้วย แม้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพก็ยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยทั้งสองใช้ยานพาหนะของกลางในการซ่อนเร้นบุหรี่ของกลาง เมื่อพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มิได้ให้นิยามคำว่า "ย้าย" "ขน" และ "ลำเลียงขนส่ง" ไว้ แต่ตามพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 ให้นิยามคำว่า "ย้าย" ที่เป็นคำกริยาหมายความว่าทำให้เคลื่อนจากที่หนี่งไปยังอีกที่หนึ่ง คำว่า "ลำเลียง" หมายความว่า ขนถ่ายจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง เช่น ลำเลียงอาหาร ลำเลียงอาวุธ คำว่า "ขนส่ง" เป็นคำนามหมายความว่า ธุรกิจเกี่ยวด้วยการขนและส่ง เช่น ขนส่งสินค้า และคำว่า "ขน" ที่เป็นคำกริยาหมายความว่าเอาสิ่งของ เป็นต้นจำนวนมากจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่งโดยบรรทุก หาบ หาม หรือด้วยวิธีอื่น จากคำนิยามดังกล่าว ขน จึงหมายถึง การย้ายสิ่งของจำนวนมากจากที่หนึ่งไปยังอีกที่หนึ่ง และการลำเลียงขนส่ง หมายถึงการขนถ่ายหรือขนส่งสินค้าหรือสิ่งของจำนวนมาก มิใช่กรณีสินค้าหรือสิ่งของจำนวนเพียงเล็กน้อย อันแสดงให้เห็นว่าบทบัญญัติในมาตรา 165 วรรคหนึ่ง มีเจตนารมณ์ให้ศาลริบยานพาหนะที่ได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการขนย้ายของที่โดยสภาพหรือจำนวนไม่สะดวกหรือไม่อาจขนย้ายได้หากปราศจากยานพาหนะในการขนย้าย ดังนั้น แม้คดีนี้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพ แต่เมื่อพิจารณาตามที่บรรยายในคำฟ้องและจำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพกับที่ฟังเป็นยุติถึงปริมาณบุหรี่ซิกาแรตของกลางที่ไม่ได้เสียภาษีอากรและไม่ได้ผ่านพิธีการศุลกากร มีจำนวนเพียง 90 ซอง น้ำหนัก 1,710 กรัม ซึ่งเป็นจำนวนและน้ำหนักเพียงเล็กน้อยเท่านั้น โดยสภาพและจำนวนบุหรี่ของกลางไม่ถึงกับต้องใช้รถยนต์เป็นยานพาหนะในการขนย้าย ดังนั้น แม้จำเลยทั้งสองจะใส่หรือวางบุหรี่ซิกาแรตของกลางไว้ในรถยนต์ของกลาง แต่เมื่อยังฟังไม่ได้ว่าเป็นการใช้ยานพาหนะในการซ่อนเร้นจึงยังถือไม่ได้ว่ารถยนต์ของกลางเป็นยานพาหนะที่จำเลยทั้งสองใช้ในการกระทำความผิดโดยตรงและยังถือไม่ได้ว่าเป็นการใช้ยานพาหนะในการขนย้ายบุหรี่ของกลางตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 165 อีกทั้งบุหรี่ของกลางมีราคา 270 บาท มีการหลีกเลี่ยงการเสียอากรขาเข้าเป็นเงิน 162 บาท รวมราคาของและค่าอากรขาเข้าด้วยกันอันเป็นฐานการคำนวณค่าปรับตามพระราชบัญญัติศุลกากร พ.ศ. 2560 แล้วเป็นเงินเพียง 432 บาท และค่าภาษีสรรพสามิตคิดเป็นเงินเพียง 4,533 บาท จึงถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดเพียงเล็กน้อย ประกอบกับการลงโทษจำเลยทั้งสองโดยการริบรถยนต์ของกลางซึ่งเป็นทรัพย์ที่มีราคาสูงไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำความผิดที่ไม่มีการซ่อนเร้นบุหรี่ของกลางดังกล่าว จึงไม่อาจริบรถยนต์ของกลางได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้ริบรถยนต์ของกลางนั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ไม่ริบรถยนต์ของกลาง โดยให้คืนรถยนต์ของกลางแก่เจ้าของ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2