ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
การจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า: พิจารณาความคล้ายคลึงและชื่อเสียงของเครื่องหมายการค้า เพื่อมิให้เกิดความสับสน
ในการพิจารณาความคล้ายกันระหว่างเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 (2) และมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 หรือไม่นั้น ต้องพิจารณาจากภาพรวมของลักษณะเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่าย ลักษณะเด่นของเครื่องหมายการค้า และเสียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายว่าเหมือนหรือคล้ายกันเพียงใด ตลอดจนต้องพิจารณาว่าสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายดังกล่าวเป็นสินค้าจำพวกเดียวกันหรือต่างจำพวกกันที่มีลักษณะอย่างเดียวกันหรือไม่ รวมทั้งต้องพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโอกาสที่จะสร้างความสับสนที่เกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคในการเลือกซื้อสินค้าที่ขายอยู่ในท้องตลาดระหว่างสินค้าของทั้งสองฝ่าย โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการใช้เครื่องหมายการค้าของทั้งสองฝ่ายและความสุจริตของผู้ขอจดทะเบียนประกอบด้วย
เมื่อพิจารณาจากลักษณะเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนและของโจทก์แล้วเห็นได้ว่ามีลักษณะคล้ายกัน กล่าวคือ มีอักษรไทยคำว่า "แม่พลอย" อักษรโรมันคำว่า "MAEPLOY" และรูปผู้หญิงแต่งชุดไทยนั่งพับเพียบ เป็นสาระสำคัญของเครื่องหมายของทั้งสองฝ่าย โดยมีเสียงเรียกขานคำในเครื่องหมายการค้าทั้งสองฝ่ายเหมือนกันคือ แม่พลอย แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่าผู้ขอจดทะเบียนยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าสำหรับสินค้าจำพวกที่ 32 รายการสินค้า น้ำดื่ม น้ำผลไม้ ส่วนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค71879 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 29 รายการสินค้า กะทิสำเร็จรูป กะทิผง กับข้าวสำเร็จรูปที่มีเนื้อเป็นหลัก แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงพะแนง เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค71880 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้า น้ำพริกแกงกึ่งสำเร็จรูป เครื่องต้มยำ เครื่องพะโล้ น้ำจิ้ม น้ำพริกเผา เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค124234 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 30 รายการสินค้า น้ำพริกแกงกึ่งสำเร็จรูป เครื่องต้มยำ เครื่องพะโล้ ผงสำเร็จรูปใช้ทำน้ำหมูแดง น้ำจิ้ม น้ำพริกเผา เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค124233 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 29 รายการสินค้า กะทิสำเร็จรูป กะทิผง กับข้าวสำเร็จรูปที่มีเนื้อเป็นหลัก แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงพะแนง แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ เป็นต้น และเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามทะเบียนเลขที่ ค318585 ใช้กับสินค้าจำพวกที่ 29 รายการสินค้า แกงเผ็ด แกงเขียวหวาน แกงพะแนง แกงมัสมั่น แกงกะหรี่ เป็นต้น เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่จดทะเบียนไว้แล้วดังกล่าวจึงใช้กับสินค้าต่างจำพวกกันซึ่งไม่มีลักษณะอย่างเดียวกัน นอกจากนี้ ข้อเท็จจริงได้ความตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าประกอบทางนำสืบของจำเลยโดยโจทก์ไม่ได้นำสืบโต้แย้งให้เห็นเป็นอย่างอื่นว่า ผู้ขอจดทะเบียนประกอบกิจการโรงงานผลิตและจำหน่ายสินค้าประเภทน้ำปลามาตั้งแต่ปี 2519 และได้รับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าที่มีภาคส่วนคำว่า "แม่พลอย" และรูปผู้หญิงแต่งชุดไทยนั่งพับเพียบมาตั้งแต่ปี 2522 ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โจทก์จะยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำและรูปดังกล่าว ในปี 2540 โดยผู้ขอจดทะเบียนได้มีการใช้เครื่องหมายการค้ากับสินค้าของตนเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน และยังได้ความตามคำคัดค้านการขอจดทะเบียนของโจทก์ประกอบทางนำสืบของโจทก์ว่า เริ่มแรกโจทก์ประกอบธุรกิจค้าขายส่งและปลีกมะพร้าว โดยใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า "ชาวเกาะ" ต่อมาโจทก์ขยายธุรกิจโดยก่อตั้งโรงงานผลิตกะทิบรรจุกระป๋อง และกะทิบรรจุกล่อง ในปี 2519 และภายหลังได้ก่อตั้งโรงงานอีกสองแห่ง โดยโรงงานแห่งที่สามชื่อโรงงานแม่พลอย ก่อตั้งขึ้นในปี 2536 เพื่อผลิตสินค้าของโจทก์ภายใต้เครื่องหมายการค้าคำว่า "ตราแม่พลอย" "MAEPLOY BRAND" รวมกับรูปผู้หญิงไทย โดยได้รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า 5 เครื่องหมายการค้า ดังกล่าวข้างต้น ข้อเท็จจริงในส่วนนี้แสดงให้เห็นว่าผู้ขอจดทะเบียนใช้เครื่องหมายการค้าของตนมาโดยสุจริต โดยเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับของโจทก์ต่างได้มีการใช้กับสินค้าของตนเป็นระยะเวลานานพอสมควร ซึ่งรายการสินค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับของโจทก์คดีนี้ก็มีความแตกต่างกัน โดยไม่ปรากฏจากทางนำสืบของโจทก์ว่ากลุ่มลูกค้าผู้บริโภคสินค้าภายใต้เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนและของโจทก์เป็นกลุ่มที่ใกล้เคียงกัน หรือลักษณะของการวางจำหน่ายสินค้าในร้านค้าโดยทั่วไปมีการวางใกล้ชิดกันในลักษณะเป็นการแข่งขันกัน อันจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคอาจสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ อย่างไร จึงไม่อาจรับฟังได้ว่า เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตามมาตรา 13 (2) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534
แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่าเครื่องหมายการค้าของโจทก์ตามฟ้องเป็นเครื่องหมายที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไปก็ตาม แต่ข้อที่ต้องพิจารณาตามมาตรา 8 (10) แห่ง พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 ประการสำคัญต่อมาคือ เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายของโจทก์จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่ ซึ่งในข้อนี้พิจารณาแล้วเห็นว่า แม้ลักษณะเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนกับของโจทก์มีลักษณะคล้ายกันก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาข้อเท็จจริงที่ได้ความตามทางนำสืบของโจทก์แล้วยังไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะรับฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของโจทก์ที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วไป จนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 8 (10) ดังเหตุผลที่กล่าวไว้ในประเด็นข้างต้น ดังนี้ เครื่องหมายการค้าของผู้ขอจดทะเบียนจึงไม่เป็นการต้องห้ามมิให้รับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534