โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวาร กับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1396, 1397 และ 2289 และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิของโจทก์ ห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์ และให้ชำระค่าเสียหาย 96,000 บาท และค่าเสียหายเป็นรายปี ปีละ 96,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกไปจากที่ดินพิพาทตามกรอบสีแดงของแผนที่พิพาท ให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างพร้อมทั้งขนย้ายทรัพย์สินออกจากที่ดินพิพาทและห้ามเกี่ยวข้องกับที่ดินพิพาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 40,000 บาท และค่าเสียหายปีละ 40,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 สิงหาคม 2560) จนกว่าจำเลยพร้อมบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนด ค่าทนายความ 3,000 บาท คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลอนาคตในศาลชั้นต้น 100 บาท ให้แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติได้ว่า โจทก์ นายดำรงศิริ นายชำนาญ นายพิชัย และนายเลิศศิริ พี่น้องโจทก์มีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1396, 1397 และ 2289 ซึ่งทางราชการออกให้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2516 วันที่ 17 กันยายน 2516 และวันที่ 2 ตุลาคม 2516 ตามลำดับ โดยมีจำเลยทำประโยชน์อยู่บนที่ดินบางส่วนของทั้งสามแปลงเนื้อที่ 12 ไร่ 3 งาน 68.4 ตารางวา เนื้อที่ 13 ไร่ 1 งาน 47 ตารางวา และเนื้อที่ 13 ไร่ 2 งาน 80.8 ตารางวา ตามลำดับ และทำประโยชน์บางส่วนของที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิอีกเนื้อที่ 5 ไร่ 3 งาน 21 ตารางวา รวมเนื้อที่ดินพิพาท 45 ไร่ 1 งาน 17.6 ตารางวา บริเวณกรอบสีแดงในแผนที่พิพาท
พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมนั้น เห็นว่า ประเด็นปัญหาข้อนี้ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม จำเลยมิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ ดังนั้น ฎีกาในปัญหาดังกล่าวจึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 ทั้งไม่ใช่ข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนที่คู่ความจะมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาในปัญหานี้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 และที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาเช่าที่ดินจากโจทก์นั้น เห็นว่า เมื่อศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเช่าที่ดินพิพาทตามกรอบสีแดงของแผนที่พิพาท และจำเลยไม่ได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ ฎีกาของจำเลยในปัญหาข้อนี้จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 จำเลยจึงไม่มีสิทธิฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 252 เช่นกัน แม้จำเลยจะได้รับอนุญาตให้ฎีกาแต่เมื่อปัญหาทั้งสองประเด็นดังกล่าวเป็นฎีกาที่ไม่ชอบ ศาลฎีกาก็ไม่อาจรับวินิจฉัยให้ได้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยเพียงประการเดียวว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า จำเลยยื่นฎีกาโดยมีเอกสารแนบท้ายฎีกาเป็นสำเนาคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1677/2562 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1397 และสำเนาคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 2567/2562 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1396 และ 2289 เพราะเห็นว่าที่ดินทั้งสามแปลงออกเอกสารสิทธิในเขตป่าไม้ถาวร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2508 และวันที่ 24 มกราคม 2547 ซึ่งปัจจุบันที่ดินดังกล่าวได้มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อปี พ.ศ.2520 และ พ.ศ.2522 จึงเป็นการเดินสำรวจออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) โดยฝ่าฝืนมาตรา 58 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และเป็นที่ดินที่ต้องห้ามมิให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 5 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ข้อ 8 (2) ประกอบกับกฎกระทรวง ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2497) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 ข้อ 3 ที่ใช้บังคับในขณะนั้น และกรมที่ดินมีหนังสือแจ้งให้จำเลยทราบถึงคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินดังกล่าวแล้ว และจำเลยยังได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาลงวันที่ 25 ตุลาคม 2562 มา 7 อันดับ โดยอันดับที่ 1 และที่ 3 อ้างต้นฉบับหรือสำเนาคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1677/2562 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2562 และต้นฉบับหรือสำเนาคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินที่ 1677/2562 (ที่ถูก 2567/2562) ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ส่วนบัญชีระบุพยานอันดับอื่นจำเลยอ้างต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารซึ่งไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับประเด็นแห่งคดี ส่วนฝ่ายโจทก์เมื่อได้รับคำฟ้องฎีกาพร้อมเอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลยแล้ว แก้ฎีกาว่า ตามสำเนาคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินแนบท้ายฎีกาของจำเลยนั้น โจทก์ใช้สิทธิยื่นฟ้องต่อศาลปกครองพิษณุโลกขอให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินทั้งสองคำสั่งดังกล่าวและศาลปกครองพิษณุโลกมีคำสั่งรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้วเป็นคดีหมายเลขดำที่ 270/2562 และ 38/2563 ตามสำเนาคำฟ้องและใบแจ้งคำสั่งศาลปกครองพิษณุโลกเอกสารแนบท้ายคำแก้ฎีกาของโจทก์ โดยโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาลงวันที่ 30 กันยายน 2563 อ้างเอกสารแนบท้ายคำแก้ฎีกาดังกล่าวเป็นพยานมา 4 อันดับ เมื่อตามบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาของจำเลยลงวันที่ 25 ตุลาคม 2562 และบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาของโจทก์ลงวันที่ 30 กันยายน 2563 ทั้งโจทก์และจำเลยต่างก็มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมพร้อมสำเนาเอกสารดังกล่าวภายในสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยาน อันเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสอง และมาตรา 90 วรรคสอง แต่เอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลยตามที่ระบุพยานเพิ่มเติมอันดับที่ 1 และที่ 3 กับเอกสารแนบท้ายคำแก้ฎีกาของโจทก์ตามที่ระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมของโจทก์ทุกอันดับต่างก็เป็นพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นในคดีจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานเช่นว่านั้น ทั้งเอกสารดังกล่าวก็เพิ่งมีขึ้นหลังจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้วและมิได้อยู่ในความครอบครองของคู่ความที่กล่าวอ้างมาแต่ต้น พฤติการณ์จึงไม่เปิดช่องให้จำเลยและโจทก์ยื่นบัญชีระบุพยานและสำเนาเอกสารดังกล่าวได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันสืบพยาน ดังนั้น เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกามีอำนาจรับฟังเอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลยและเอกสารแนบท้ายคำแก้ฎีกาของโจทก์ดังกล่าวได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 87 (2) และเอกสารดังกล่าวแม้เป็นเพียงสำเนาเอกสารแต่เมื่อมีเจ้าพนักงานที่ดินรับรองสำเนาถูกต้องในเอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลย และเจ้าหน้าที่ศาลปกครองปฏิบัติการศาลปกครองพิษณุโลกรับรองสำเนาถูกต้องในเอกสารแนบท้ายคำแก้ฎีกาของโจทก์ จึงฟังได้ว่าเอกสารที่คู่ความทั้งสองฝ่ายอ้างเป็นของแท้จริงและถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 127 ข้อเท็จจริงในชั้นนี้จึงรับฟังได้ว่า อธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งที่ 1677/2562 ลงวันที่ 10 มิถุนายน 2562 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1397 และมีคำสั่งที่ 2567/2562 ลงวันที่ 26 สิงหาคม 2562 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1396 และ 2289 เพราะเห็นว่าออกในเขตป่าไม้ถาวรตามสำเนาเอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลย และโจทก์กับพวกได้ฟ้องคดีอธิบดีกรมที่ดินกับพวกต่อศาลปกครองพิษณุโลกขอให้เพิกถอนคำสั่งอธิบดีกรมที่ดินทั้งสองฉบับดังกล่าวเป็นคดีหมายเลขดำที่ 270/2562 และ 38/2563 ของศาลปกครองพิษณุโลก และศาลปกครองพิษณุโลกรับคำฟ้องของโจทก์ไว้พิจารณาแล้ว คดีอยู่ระหว่างพิจารณา นอกจากนี้เมื่อศาลชั้นต้นรับฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยเช่าที่ดินพิพาทตามกรอบสีแดงของแผนที่พิพาทจากโจทก์ โดยจำเลยมิได้อุทธรณ์โต้แย้งว่าจำเลยไม่ได้เช่าที่ดินดังกล่าว ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยในข้างต้นมาแล้วว่า ฎีกาของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์เป็นฎีกาที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต้องห้ามมิให้ฎีกา ข้อเท็จจริงจึงฟังยุติในชั้นนี้ได้อีกว่า จำเลยเช่าที่ดินพิพาทตามกรอบสีแดงของแผนที่พิพาทจากโจทก์จริง ดังนั้น ในปัญหาที่ว่าโจทก์หรือจำเลยมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน นั้น ศาลฎีกาเห็นว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1396, 1397 และ 2289 ทางราชการออกให้เมื่อปี 2516 และอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนเมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2562 และวันที่ 26 สิงหาคม 2562 หลังจากโจทก์ฟ้องคดีนี้แล้ว ต้องถือว่าในขณะที่ยังไม่มีการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ดังกล่าว ฝ่ายโจทก์ย่อมได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานว่า โจทก์และเจ้าของรวมผู้มีชื่อในหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทั้งสามแปลงดังกล่าวมีสิทธิครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 เมื่อศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยเช่าที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี 2555 โดยเสียค่าเช่าตลอดมา ต้องถือว่าจำเลยครอบครองที่ดินพิพาทส่วนที่มีเอกสารสิทธินี้แทนโจทก์ ส่วนที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธินั้น เมื่อจำเลยเช่าจากโจทก์ก็ถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิในที่ดินส่วนนี้ดีกว่าจำเลย แม้ต่อมาอธิบดีกรมที่ดินจะมีคำสั่งที่ 1677/2562 และ 2567/2562 ให้เพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสามแปลงดังกล่าว อันเป็นคำสั่งทางปกครองมีผลทำให้ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ทั้งสามแปลงตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่โจทก์ก็ได้ฟ้องขอให้เพิกถอนคำสั่งดังกล่าวแล้ว กรณีจึงยังไม่แน่ว่าผลคดีที่โจทก์ฟ้องที่ศาลปกครองพิษณุโลกเป็นที่สุดเช่นใด ทั้งหากแม้ในที่สุดแล้วผลคดีเป็นว่า คำสั่งของอธิบดีกรมที่ดินชอบแล้วทำให้ที่ดินพิพาทตกเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดิน ก็เพียงแต่ทำให้โจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้เท่านั้นซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการต่อโจทก์ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน เมื่อจำเลยเช่าที่ดินพิพาทโดยยอมรับสิทธิของโจทก์จึงเป็นการครอบครองที่ดินพิพาทแทนโจทก์นั่นเอง โจทก์จึงมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่าจำเลย ส่วนที่จำเลยอ้างว่าสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำแพงเพชรสอบสวนสิทธิให้จำเลยมีสิทธิทำเกษตรกรรมในที่ดินพิพาทซึ่งอยู่ในเขตปฏิรูปที่ดินแล้วนั้น ก็หาทำให้จำเลยเกิดสิทธิดีกว่าโจทก์ไม่ เพราะเป็นเรื่องระหว่างสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกับโจทก์ที่จะต้องว่ากล่าวกันต่อไป เมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยอยู่ในที่ดินพิพาทอีกต่อไปโดยมีหนังสือบอกกล่าวให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ