โจทก์ฟ้องขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารกับให้จำเลยรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 และที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิของโจทก์ ห้ามมิให้จำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ต่อไป และให้จำเลยชำระค่าเสียหาย 60,000 บาท กับค่าเสียหายรายปีนับแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวาร โดยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างและขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 และที่ดินมือเปล่ารวมเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ ตามกรอบสีแดงในแผนที่พิพาท กับห้ามมิให้จำเลยยุ่งเกี่ยวกับที่ดินแปลงพิพาทของโจทก์อีกต่อไป ให้ชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 60,000 บาท และให้จำเลยชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์เป็นรายปี ๆ ละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 18 สิงหาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินแปลงพิพาท กับให้จำเลยชำระค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์โดยกำหนดค่าทนายความจำนวน 6,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มเติม ต่อมาจำเลยยื่นคำแถลงขออนุญาตวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติมและยื่นคำร้องขออ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์พร้อมขอยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติม
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่า ศาลชั้นต้นมีหมายแจ้งคำสั่งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติมให้ถูกต้องครบถ้วน แต่จำเลยและทนายจำเลยทราบนัดโดยชอบแล้วเพิกเฉยไม่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่ขาดให้ครบภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ถือได้ว่าจำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ประกอบมาตรา 246 ให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 6 คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ 6,000 บาท แก่จำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ
ส่วนคำแถลงขออนุญาตวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติมนั้นศาลอุทธรณ์ภาค 6 มีคำสั่งว่า จำเลยยื่นคำแถลงเกินระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ทั้งไม่ปรากฏเหตุขัดข้องที่จำเลยไม่อาจวางเงินภายในกำหนดเวลาได้ จึงไม่อนุญาต ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขออ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์พร้อมบัญชีระบุพยานชั้นอุทธรณ์ คำร้องขอส่งคำคู่ความและคำแถลงประกอบการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 นั้น เห็นว่า คดีมีประเด็นข้อพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นเอกชนว่าใครเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่พิพาทดีกว่ากัน มิใช่ข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐ เอกสารท้ายคำร้องและคำแถลงดังกล่าวของจำเลยจึงไม่ใช่พยานหลักฐานซึ่งจำเป็นต้องสืบพยานหลักฐานนั้นเพื่อให้การวินิจฉัยข้อสำคัญแห่งประเด็นเป็นไปโดยเที่ยงธรรมตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 88 วรรคสาม ประกอบมาตรา 246 จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง ส่วนคำแถลงประกอบการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้รวมสำนวนไว้
จำเลยฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงยุติว่า จำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นขอให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับให้ยกฟ้อง โดยระบุทุนทรัพย์ชั้นอุทธรณ์ 600,000 บาท เสียค่าขึ้นศาลมา 12,000 บาท และค่าขึ้นศาลในอนาคต 100 บาท ศาลอุทธรณ์ภาค 6 จดรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 19 มิถุนายน 2562 ว่า คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินพิพาทและให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ 60,000 บาท และค่าเสียหายอีกปีละ 30,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากที่ดินพิพาท จำเลยอุทธรณ์ ขอให้พิพากษากลับเป็นยกฟ้องโจทก์อ้างว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ที่พิพาทในชั้นอุทธรณ์เป็นเงิน 660,000 บาท ต้องชำระค่าขึ้นศาล 13,200 บาท แต่จำเลยชำระค่าขึ้นศาลเพียง 12,000 บาท เป็นการไม่ถูกต้อง และให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องครบถ้วนก่อน หากจำเลยไม่ชำระภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดให้ส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์ภาค 6 เพื่อดำเนินการต่อไป ศาลชั้นต้นออกหมายนัดลงวันที่ 4 กรกฎาคม 2562 แจ้งจำเลยและทนายจำเลยให้ชำระค่าขึ้นศาลเพิ่มก่อนวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ในวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 และปรากฏตามรายงานการเดินหมายว่าส่งหมายแจ้งให้จำเลยทราบโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 และส่งหมายแจ้งให้ทนายจำเลยทราบโดยวิธีปิดหมายเมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 ต่อมาเมื่อวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 ซึ่งเป็นวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฝ่ายจำเลยไม่มาศาลและไม่ได้ติดต่อแจ้งเหตุขัดข้องและจำเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 เกี่ยวกับการชำระค่าขึ้นศาลให้ถูกต้อง ศาลชั้นต้นจึงงดอ่านคำพิพากษาและส่งสำนวนคืนศาลอุทธรณ์ภาค 6 ต่อมาวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ซึ่งวินิจฉัยว่า จำเลยไม่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่ขาดให้ครบภายในเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด จึงถือว่าจำเลยทิ้งฟ้องอุทธรณ์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ประกอบมาตรา 246 และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความและอ่านคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ 526-527/2562 ฉบับลงวันที่ 15 ตุลาคม 2562 ว่า จำเลยยื่นคำแถลงขออนุญาตวางเงินค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติมนั้น จำเลยยื่นคำแถลงดังกล่าวเกินระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนด ทั้งไม่ปรากฏเหตุขัดข้องที่จำเลยไม่อาจวางเงินภายในกำหนดเวลาได้ จึงไม่อนุญาต ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขออ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์พร้อมบัญชีระบุพยานชั้นอุทธรณ์ คำร้องขอส่งคำคู่ความและคำแถลงประกอบการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 นั้น ศาลอุทธรณ์ภาค 6 เห็นว่า เอกสารท้ายคำร้องและคำแถลงดังกล่าวของจำเลยไม่ใช่พยานหลักฐานสำคัญซึ่งจำเป็น ต้องสืบพยานหลักฐานนั้น จึงไม่อนุญาต ให้ยกคำร้อง ส่วนคำแถลงประกอบการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้รวมสำนวนไว้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาประการแรกของจำเลยว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ให้จำหน่ายคดีจำเลยเพราะจำเลยไม่วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติมภายในกำหนดและคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ไม่อนุญาตให้จำเลยวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติมชอบหรือไม่ เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ให้จำเลยชำระค่าขึ้นศาลให้ถูกต้องตามรายงานกระบวนพิจารณาลงวันที่ 19 มิถุนายน 2562 ซึ่งศาลชั้นต้นได้ออกหมายนัดลงวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 แจ้งให้จำเลยและทนายจำเลยชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ที่ยังขาดอยู่ก่อนหรือภายในวันนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 คือวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 แต่ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ศาลนำหมายนัดไปส่งให้จำเลยวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 และทนายจำเลยวันที่ 12 กรกฎาคม 2562 โดยวิธีปิดหมาย ซึ่งการส่งหมายด้วยวิธีดังกล่าวมีผลใช้ได้ต่อเมื่อกำหนดเวลา 15 วัน ได้ล่วงพ้นไปแล้วนับแต่วันที่ปิดหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 79 วรรคสอง ดังนี้ เมื่อนับถึงวันที่ 24 กรกฎาคม 2562 อันเป็นวันที่ศาลชั้นต้นนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงยังไม่ล่วงพ้นเวลา 15 วันการส่งหมายนัดดังกล่าวให้แก่จำเลยและทนายจำเลยจึงยังไม่มีผลตามมาตรา 79 วรรคสองถือว่าจำเลยและทนายจำเลยยังไม่ทราบคำสั่งศาลชั้นต้นที่ให้วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติม การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าจำเลยและทนายจำเลยทราบคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 โดยชอบแล้วและเพิกเฉยไม่ชำระค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ในส่วนที่ขาดให้ครบถือว่าจำเลยทิ้งอุทธรณ์และให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลอุทธรณ์ภาค 6 นั้น จึงเป็นการไม่ชอบและเมื่อต่อมาจำเลยยื่นคำแถลงขอวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ไม่อนุญาตเพราะอ้างว่าเกินระยะเวลาที่ศาลชั้นต้นกำหนดจึงเป็นคำสั่งที่ไม่ชอบเช่นกันฎีกาในข้อนี้ของจำเลยฟังขึ้น และเมื่อจำเลยได้วางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติมโดยศาลชั้นต้นรับเงินดังกล่าวไว้แล้ว ศาลฎีกาจึงอนุญาตให้จำเลยวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติมได้ ดังนั้นศาลอุทธรณ์ภาค 6 จึงต้องรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย แต่เมื่อคดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาแล้วเพื่อให้การพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความรวดเร็ว ศาลฎีกาจึงเห็นควรวินิจฉัยเสียเองโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิจารณาพิพากษา ส่วนฎีกาของจำเลยในปัญหาที่ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ยกคำร้องของจำเลยที่ขออ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์พร้อมบัญชีระบุพยานชั้นอุทธรณ์ชอบหรือไม่นั้น เห็นว่า บัญชีระบุพยานเพิ่มเติมชั้นอุทธรณ์ของจำเลยนั้นเป็นสำเนาหนังสือของส่วนราชการต่าง ๆ ได้แก่ สำเนาหนังสือของกรมที่ดิน สำเนาหนังสือของกรมป่าไม้ สำเนาหนังสือของสำนักงานที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร สำเนาหนังสือของรองผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชรและสำเนาหนังสือของสำนักงานจังหวัดกำแพงเพชร พร้อมพยานบุคคลซึ่งเป็นนักวิชาการที่ดินซึ่งเป็นพยานที่อยู่ในขั้นตอนการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 ของโจทก์ทั้งสิ้น ประกอบกับในชั้นฎีกาจำเลยยังยื่นบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมชั้นฎีกาอีกคือสำเนาหนังสือของทางราชการที่ระบุว่าอธิบดีกรมที่ดินได้มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 อันเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลของการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์อันเป็นกระบวนการขั้นสุดท้ายต่อจากเอกสารที่จำเลยอ้างเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์ ดังนั้น เมื่อศาลฎีกาจำต้องสั่งเรื่องการอ้างบัญชีระบุพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาของจำเลยอยู่แล้ว จึงไม่มีประโยชน์ที่จะวินิจฉัยเรื่องจำเลยขออ้างพยานหลักฐานเพิ่มเติมในชั้นอุทธรณ์เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง
พิเคราะห์แล้ว ต่อไปจะได้วินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลย ซึ่งมีข้อเท็จจริงของเนื้อหาแห่งคดีในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า โจทก์กับบุคคลอื่นมีชื่อเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 ซึ่งทางราชการออกให้เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2516 โดยมีจำเลยทำประโยชน์อยู่ในที่ดินดังกล่าวกับทำประโยชน์ในที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิรวมเนื้อที่ดินพิพาทบริเวณกรอบสีแดงในแผนที่พิพาท
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยประการแรกว่า ฟ้องของโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ โดยจำเลยอุทธรณ์ว่า คำฟ้องของโจทก์ไม่ได้บรรยายว่าจำเลยเช่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 จำนวนเนื้อที่กี่ไร่ และไม่ได้บรรยายฟ้องว่า เช่าที่ดินตามกรอบสีแดงที่อยู่นอกเขตที่ดิน (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 จำนวนเนื้อที่กี่ไร่ เห็นว่า โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเช่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 และที่ดินมือเปล่าบางส่วนรวมเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่ จากมารดาโจทก์โดยตกลงคิดค่าเช่าเป็นราคาข้าวจำนวน 10 ถัง ต่อราคาค่าเช่า 1 ไร่ ต่อมาที่ดินตกเป็นของโจทก์กับพวก เมื่อประมาณปลายปี 2558 โจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยเช่าที่ดินต่อไป จึงบอกเลิกสัญญาเช่ากับจำเลยและให้จำเลยและบริวารออกจากที่ดินแปลงพิพาทแต่จำเลยเพิกเฉย ขอให้ขับไล่จำเลยและบริวารออกจากที่ดินแปลงพิพาทและให้ชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ เห็นว่า แม้โจทก์จะไม่ได้บรรยายฟ้องว่า จำเลยเช่าที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 จำนวนเนื้อที่เท่าใดและเช่าที่ดินไม่มีเอกสารสิทธิเนื้อที่เท่าใด แต่โจทก์ได้แนบเอกสารท้ายคำฟ้อง ซึ่งเป็นแผนที่พิพาทอันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องแสดงแนวเขตที่ดินแปลงพิพาทซึ่งประกอบด้วยที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 และที่ดินมือเปล่าที่ไม่มีเอกสารสิทธิอยู่ในกรอบสีแดงซึ่งสามารถเข้าใจได้ว่า โจทก์อ้างว่าจำเลยเช่าที่ดินบริเวณใดบ้าง จึงถือว่าคำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งข้อหาเช่นว่านั้นแล้ว ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 วรรคสอง ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมนั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ข้อนี้ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า คดีนี้มีประเด็นเรื่องแย่งการครอบครองหรือไม่ เห็นว่า จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่เคยทำสัญญาเช่าที่ดินพิพาทกับโจทก์ จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงพิพาทมาตั้งแต่ปี 2510 โดยครอบครองต่อจากปู่ย่าตายาย ซึ่งตามคำให้การของจำเลยเป็นการต่อสู้ว่าตนเองมีสิทธิครอบครองที่ดินแปลงพิพาทดีกว่าโจทก์ แต่จำเลยกลับให้การต่อมาว่าโจทก์ทราบข้อเท็จจริงว่าจำเลยไม่ยอมชำระค่าเช่าตั้งแต่ปี 2553 ต่อมาปี 2555 โจทก์รับโอนที่ดินมาจากมารดา การที่โจทก์นำคดีมาฟ้องขับไล่จำเลยเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2560 คดีของโจทก์จึงขาดอายุความ จึงเห็นได้ว่าคำให้การในตอนต้นของจำเลยต่อสู้ว่าจำเลยมีสิทธิครอบครองในที่พิพาท ส่วนคำให้การในตอนหลังกลับยอมรับสิทธิของโจทก์เรื่องจำเลยไม่ชำระค่าเช่าให้โจทก์ คำให้การของจำเลยจึงขัดแย้งกันเอง เป็นคำให้การที่ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีจึงไม่มีประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อจำเลยยอมรับเสียก่อนว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ที่จำเลยอุทธรณ์อ้างว่าโจทก์เคยฟ้องขับไล่จำเลยออกจากที่ดินพิพาทแล้วโจทก์ได้ถอนฟ้องออกไป จึงถือว่าจำเลยยอมรับโดยปริยายแล้วว่าที่ดินดังกล่าวเป็นของโจทก์ เมื่อจำเลยอ้างสิทธิการครอบครองของจำเลยในคดีนี้จึงถือว่าเป็นการแย่งการครอบครองจากโจทก์แล้วนั้น เห็นว่า จำเลยจะยกข้อเท็จจริงที่โจทก์ถอนฟ้องในคดีก่อนมาอ้างในคดีนี้ว่า จำเลยยอมรับโดยปริยายแล้วว่าที่ดินพิพาทในคดีนี้เป็นของโจทก์ โดยจำเลยมิได้ให้การในคดีนี้ยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหาได้ไม่ ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยในประเด็นนี้มาชอบแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลยหรือไม่ เห็นว่า ตามอุทธรณ์ของจำเลยเท่ากับจำเลยยอมรับว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 2 ไร่ 22 ตารางวา ซึ่งอยู่ในเขตหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 เป็นของโจทก์ ดังนั้น ปัญหาที่ว่าโจทก์ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 ชอบหรือไม่ จึงไม่มีประเด็นในชั้นอุทธรณ์อันส่งผลให้คำร้องขอระบุบัญชีพยานเพิ่มเติมในชั้นฎีกาซึ่งเป็นหนังสือของกระทรวงมหาดไทยที่แจ้งเรื่องอธิบดีกรมที่ดินมีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 1395 นั้นไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นโดยตรงในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาศาลฎีกาจึงไม่อนุญาตให้จำเลยยื่นบัญชีระบุพยานดังกล่าว คดีจึงมีปัญหาวินิจฉัยต่อไปเพียงว่าจำเลยเช่าที่ดินในส่วนเนื้อที่ 23 ไร่ 96 ตารางวา จากโจทก์หรือไม่เท่านั้น ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยเช่าที่ดินพิพาทจากโจทก์ แม้ที่ดินส่วนนี้อยู่ในเขตป่าสงวนซึ่งเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินก็ตาม แต่ก็เพียงทำให้โจทก์ไม่สามารถอ้างสิทธิใด ๆ ขึ้นโต้แย้งรัฐได้เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่หรือหน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการต่อโจทก์ตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายบัญญัติไว้ แต่ระหว่างโจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นราษฎรด้วยกัน การที่จำเลยเช่าที่ดินส่วนที่ไม่มีเอกสารสิทธิเนื้อที่ 23 ไร่ 96 ตารางวา จากโจทก์ โดยจำเลยยอมเสียค่าเช่าหรือค่าตอบแทนแก่โจทก์ ถือว่าจำเลยยอมรับว่าโจทก์มีสิทธิดีกว่าจำเลย การที่จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเป็นการอาศัยสิทธิของโจทก์ จึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ โจทก์มีสิทธิในที่ดินพิพาทส่วนนี้ดีกว่าจำเลยเมื่อโจทก์ไม่ประสงค์ให้จำเลยทำประโยชน์ในที่ดินส่วนนี้ต่อไปโดยบอกกล่าวให้จำเลยออกจากที่พิพาทแล้วจำเลยเพิกเฉย จึงเป็นการละเมิดต่อโจทก์เรื่อยมา โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลยให้ออกไปจากที่ดินและเรียกค่าเสียหายจากจำเลยได้ สำหรับค่าเสียหายที่ศาลชั้นต้นกำหนดมานั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเหมาะสมแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
พิพากษาให้ยกคำสั่งศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ 526 – 527/2562 เฉพาะเรื่องที่ไม่อนุญาตให้จำเลยวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติม อนุญาตให้จำเลยวางเงินค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์เพิ่มเติม กับยกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 และให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์และชั้นฎีกาให้เป็นพับ