ได้ความว่าสามีจำเลยที่ ๑ และบิดาจำเลยที่ ๒ ได้จำนองที่ดิน ๒ โฉนดไว้แก่มารดาโจทก์ โดยจำเลยที่ ๓ ได้ทำหนังสือไว้ให้แก่มารดาโจทก์ว่า ถ้าที่ดินรายนี้ราคาไม่พอกับต้นเงินที่รับจำนองไว้ก็จะยอมใช้ให้จนครบ บัดนี้ผู้จำนองและผู้รับจำนองต่างถึงแก่กรรมไปแล้ว โจทก์จึงฟ้องจำเลยที่ ๑ มรา ๒ ในฐานะเป็นทายาทและจำเลยที่ ๓ ในฐานะผู้ค้ำประกัน
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้เอาที่ดิน ๒ แปลงนี้ออกขายทอดตลาดใช้ต้นเงิน จำนอง ถ้าขาดเท่าใดให้จำเลยที่ ๓ ใช้จนครบ
ศาลอุทธรณ์เห็นว่าจำเลยที่ ๓ ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดแล้ว เพราะว่าผู้จำนองได้ถึงแก่กรรมมาเกิน ๑ ปีแล้ว
โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๓ ต้องรับผิดด้วย
ศาลฎีกาตัดสินว่าการที่โจทก์และจำเลยที่ ๑-๒ ต่างรับมฤดกผู้จำนองและผู้รับจำนองมาด้วยกันเป็นการสวมสิทธิหาใช้เป็นการแปลงหนี้ตาม ม.๓๔๙ แห่งประมวลแพ่งฯ ไม่ และพฤตติการณ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑-๒ ก็ไม่เป็นเรื่องปลดหนี้ เพราะจำเลยที่ ๑-๒ ยังไม่ได้โอนที่ดินให้หลุดเป็นสิทธิแก่โจทก์ เมื่อฟังว่าหนี้รายจำนองนี้ไม่ได้แปลงหนี้และยังไม่ได้ปลดหนี้กันก็ต้องถือว่ายังคงมีอยู่และเห็นว่าข้อความในหนังสือที่จำเลยที่ ๓ ทำขึ้นนั้นเป็นหนังสือค้ำประกันโดยแท้ เพราะข้อความที่ว่า ถ้าที่ดินรายนี้ราคาไม่พอกับต้นเงินที่รับจำนองไว้ จำเลยที่ ๓ ยอมรับใช้จนครบนั้นถือว่าเป็นสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระ ปัญหาข้อสุดท้ายมีว่า การที่ผู้จำนองตายไปเกิน ๑ ปีนั้นโจทก์จะหมดสิทธิฟ้องจำเลยที่ ๓ หรือไม่ปรากฎว่าเมื่อผู้จำนองตายแล้วภายใน ๑ ปี จำเลยที่ ๑-๒ ผู้เป็นทายาทได้ขอรับโอนมฤดกลงนามเป็นเจ้าของที่รายจำนองแทนผู้ตาย แล้วมอบโฉนดให้โจทก์ยึดถือไว้ต่อไป การที่ทำดังนี้ย่อมถือว่าจำเลยที่ ๑-๒ ยอมรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจำนองนั้น อายุความย่อมสดุดหยุดลงตามประมวลแพ่งฯ ม.๑๗๒ จะยกเอาอายุความ ๑ ปีมายันโจทก์มิได้ ตามนัยฎีกาที่ ๗๓๐/๒๔๗๖ จำเลยที่ ๓ ผู้ค้ำประกันจึงยกเอาอายุความ ๑ ปีมาต่อสู้โจทก์ไม่ได้เช่นเดียวกัน จึงพิพากษากลับศาลอุทธรณ์ บังคับคดียืนตามศาลชั้นต้นทุกประการ