โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาขนมโดนัท 5 กล่อง กล่องละ 12 ชิ้น เป็นเงิน 1,440 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา บริษัท อ. ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 336 วรรคแรก (เดิม) จำคุก 6 เดือน และปรับ 3,000 บาท คำเบิกความของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา นับเป็นเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 เดือน และปรับ 2,000 บาท พิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีและราคาทรัพย์ที่จำเลยลักไปมีราคาไม่มากนัก ประกอบกับจำเลยไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 7 ให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 กับให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาขนมโดนัท 5 กล่อง กล่องละ 12 ชิ้น เป็นเงิน 1,440 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ร่วมเป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีนางสาวอัจฉรา เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทน จำเลยเป็นบุตรของนายสรรเสริญ และนางนงลักษณ์ ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้องจำเลยไปที่ร้าน บ. สาขา พ. ร้านที่เกิดเหตุของโจทก์ร่วม แล้วหยิบเอาขนมโดนัท 5 กล่อง กล่องละ 12 ชิ้น ราคา 1,440 บาท ของโจทก์ร่วมไป
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ โจทก์และโจทก์ร่วมมีนางสาวสุคนธ์ทิพย์ พนักงานขายร้าน บ. เป็นประจักษ์พยานเบิกความว่า ในวันเวลาเกิดเหตุขณะพยานกำลังแต่งหน้าขนมโดนัทอยู่ที่ร้านเกิดเหตุ จำเลยมาที่ร้านเกิดเหตุแล้วบอกพยานว่า "โดนัทที่เหลืออยู่ขอเหมาหมด" พยานนำขนมโดนัทบรรจุใส่กล่อง 5 กล่อง และนำกล่องขนมโดนัทใส่ถุงพลาสติก แล้ววางไว้ที่เคาน์เตอร์ข้างเครื่องคิดเงิน เมื่อคิดเงินเสร็จ พยานบอกจำเลยว่า "1,440 บาท ค่ะ" จำเลยบอกว่า "ทำไมต้องจ่าย เพราะเป็นหุ้นส่วนของบริษัท" แล้วจำเลยหยิบเอาถุงขนมโดนัทเดินออกไปจากร้านที่เกิดเหตุ ซึ่งจำเลยก็เบิกความยอมรับว่า จำเลยไปที่ร้านเกิดเหตุเห็นว่าขนมโดนัทที่เหลืออยู่ในตู้เหลือจำนวนไม่มาก จึงสั่งว่าจะเอาโดนัททั้งหมดที่เหลืออยู่ในตู้ หลังจากที่พนักงานขายจัดขนมโดนัทลงกล่องและจัดใส่ถุงเรียบร้อยแล้ว พนักงานขายได้แจ้งราคาแก่จำเลยว่าขนมโดนัทมีราคา 1,440 บาท จำเลยตอบกลับพนักงานขายว่า "ทำไมต้องจ่ายตังค์ หนูรู้มั้ยว่าพี่เป็นใคร ถ้าไม่รู้ให้โทรถามคุณแอน (นางสาวอัจฉรา) บอกเค้าว่าน้องชายเค้าที่เป็นเจ้าของตัวจริงจะเอาไปทานบ้าง อีกไม่กี่วันร้านก็ปิดแล้วไม่ใช่เหรอ" พฤติกรรมของจำเลยเป็นการฉกฉวยเอาขนมโดนัทที่วางอยู่บนเคาน์เตอร์ไปต่อหน้านางสาวสุคนธ์ทิพย์โดยไม่จ่ายเงินอันเป็นการกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ ส่วนที่จำเลยต่อสู้ว่า จำเลยคิดว่าไม่น่ามีปัญหาจึงหยิบถุงขนมโดนัทดังกล่าวไปโดยไม่จ่ายเงิน โดยถือถุงขนมโดนัทอยู่ภายในศูนย์การค้าด้วยท่าทางการเดินเป็นปกติ ไม่มีลักษณะท่าทางว่ากำลังวิ่งหลบหนี ทั้งนางสาวสุคนธ์ทิพย์ไม่ได้เรียกพนักงานรักษาความปลอดภัยให้ตามจำเลยมาจ่ายเงิน โดยจำเลยอ้างตนเป็นพยานเบิกความว่า ก่อนเกิดเหตุจำเลยเป็นผู้ติดต่อบริษัท บ. ซึ่งตั้งอยู่ที่ประเทศมาเลเซีย ให้มาเปิดแฟรนไชส์ที่ประเทศไทย โดยติดต่อกับนายคาวิน ผ่านการแนะนำของนางสาวอัจฉรา จากนั้นเปิดบริษัท ย. กับนางสาวอัจฉรา เพื่อดำเนินธุรกิจขายขนมโดนัทยี่ห้อ บ. แต่หลังจากนั้นประมาณ 2 ถึง 3 เดือน จำเลยเห็นว่าธุรกิจขายขนมโดนัทไม่น่าจะได้กำไร จึงบอกนางสาวอัจฉรา ทำให้นางสาวอัจฉราโกรธ จากนั้นมารดาจำเลยโทรศัพท์มาแจ้งจำเลยว่าจำเลยไม่ต้องทำธุรกิจนี้แล้ว แต่จะให้นายทศพล น้องชายจำเลยเป็นผู้เปิดบริษัท ค. เพื่อดำเนินธุรกิจขายขนมโดนัทยี่ห้อ บ. แทน โดยมีบิดาจำเลยเป็นผู้ลงทุนทั้งหมด บริษัท ค. ดำเนินการเปิดร้าน บ. ทั้งสาขาศูนย์การค้า พ. (ร้านที่เกิดเหตุ) และสาขา ป. โดยจำเลยไม่ทราบว่าบริษัทโจทก์ร่วมเข้ามาเกี่ยวข้องกับร้าน บ. ได้อย่างไร ในระหว่างเตรียมเปิดร้าน บ. นางสาวอัจฉรากับนายทศพลมีปัญหากัน โดยนางสาวอัจฉราโทรศัพท์มาบอกจำเลยว่า นายทศพลเข้ามาถามนู่นถามนี่เกี่ยวกับทุกอย่างในร้าน ทั้งเรื่องบัญชีและเรื่องต่าง ๆ นางสาวอัจฉราจึงให้จำเลยไปเตือนนายทศพลว่าอย่ามายุ่งมิฉะนั้นจะนำตำรวจมาจับ จากคำเบิกความของจำเลยดังกล่าว แสดงว่าจำเลยทราบมาโดยตลอดว่าธุรกิจขายขนมโดนัทมีนางสาวอัจฉราเป็นหุ้นส่วนคนหนึ่งที่ย่อมต้องรับผิดชอบในผลกำไรขาดทุนในธุรกิจขายขนมโดนัท ทั้งทราบว่านางสาวอัจฉราเป็นผู้บริหารธุรกิจขายขนมโดนัทจนสามารถห้ามมิให้นายทศพลมายุ่ง ประกอบกับยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยว่าก่อนเกิดเหตุ 3 วัน จำเลยโทรศัพท์หานางสาวอัจฉราเพื่อถามว่าเงินลงทุนของครอบครัวจำเลยที่ร้านเกิดเหตุไปไหน แต่นางสาวอัจฉราไม่รับโทรศัพท์ จำเลยจึงนำข้อความที่จำเลยคุยกับนางสาวอัจฉราในเรื่องที่จำเลยทวงเงินคืนไปปิดบริเวณหน้าร้านที่เกิดเหตุ อันแสดงว่า จำเลยทราบแล้วว่าเงินลงทุนของครอบครัวจำเลยที่ร้านเกิดเหตุหมดไปแล้ว ทั้งทราบว่าร้านที่เกิดเหตุนางสาวอัจฉราเป็นเจ้าของและผู้ดำเนินการจึงนำข้อความทวงถามเงินไปปิดบริเวณร้านที่เกิดเหตุ ส่วนการตกลงในการลงทุนที่นายสรรเสริญ และนางนงลักษณ์ บิดามารดาจำเลยมอบให้นางสาวอัจฉราไปดำเนินการใช้จ่ายมีอยู่จริงหรือไม่ก็เป็นภาระหนี้สินที่นายสรรเสริญและนางลักษณ์ต้องดำเนินการเอากับนางสาวอัจฉราต่างหาก พยานหลักฐานที่โจทก์ โจทก์ร่วมและจำเลยนำสืบมาจึงรับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยว่าจำเลยทราบแล้วว่าธุรกิจขายขนมโดนัทที่ร้านเกิดเหตุมิใช่ธุรกิจของครอบครัวจำเลยฝ่ายเดียว หรือทราบแล้วว่าธุรกิจขายโดนัทที่ร้านเกิดเหตุเป็นธุรกิจในรูปหุ้นส่วน และการที่จำเลยแสดงพฤติกรรมลักษณะหลอกว่าจะซื้อเหมาขนมโดนัททั้งหมดและเอาขนมโดนัทไปโดยจงใจไม่จ่ายเงินย่อมทำให้นางสาวสุคนธ์ทิพย์ พนักงานขายของโจทก์ร่วมต้องรับผิดในราคาขนมโดนัทดังกล่าว ข้อเท็จจริงไม่น่าเชื่อว่าการที่จำเลยหยิบถุงขนมโดนัทดังกล่าวไปโดยไม่จ่ายเงินจะไม่มีปัญหาหรือคงเป็นเพียงข้ออ้างของจำเลยเพียงลอย ๆ การกระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำโดยทุจริตอันเป็นความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์สำเร็จแล้ว ส่วนการที่จำเลยยังถือถุงขนมโดนัทอยู่ภายในศูนย์การค้าด้วยท่าทางการเดินเป็นปกติ ไม่มีลักษณะท่าทางว่ากำลังวิ่งหลบหนี ทั้งนางสาวสุคนธ์ทิพย์ไม่ได้เรียกพนักงานรักษาความปลอดภัยให้ตามจำเลยมาจ่ายเงิน หาทำให้ความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ที่สำเร็จแล้วไม่เป็นความผิดตามที่จำเลยต่อสู้แต่อย่างไรไม่ การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน