โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 335, 336 ทวิ กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 1,300,000 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพ
ระหว่างพิจารณา บริษัท ซ. ผู้เสียหายยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334, 335 (11), 336 ทวิ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกคนละ 1 ปี 6 เดือน รวม 8 กระทง เป็นจำคุก 8 ปี 48 เดือน จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 4 ปี 24 เดือน กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 1,300,000 บาท แก่โจทก์ร่วม
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามฟ้องข้อ 1.1 จำเลยทั้งสอง มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.8 จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 1,240,000 บาท แก่โจทก์ร่วม โทษและนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการแรกว่า ฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ เห็นว่า ปัญหาว่าฟ้องโจทก์ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้จะมิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 2 จำเลยทั้งสองย่อมมีสิทธิยกขึ้นอ้างในชั้นฎีกาได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยโดยเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 บัญญัติว่า "ฟ้องต้องทำเป็นหนังสือ และมี...(5) การกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะทำให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี..." เมื่อคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัท ซ. ผู้เสียหาย ร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน โดยบรรยายแยกรายละเอียดเกี่ยวกับวันเวลาที่กระทำความผิด จำนวนและราคาทรัพย์ที่ถูกลักในแต่ละครั้งตามลำดับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ฟ้องโจทก์จึงเป็นความผิดหลายกระทง ซึ่งโจทก์รวมมาในฟ้องเดียวกันได้ เพียงแต่ให้แยกกระทงเรียงเป็นลำดับกันไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 160 วรรคหนึ่ง ดังนั้น การที่โจทก์บรรยายฟ้องข้อ 1.1 มีใจความว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสอง โดยใช้รถบรรทุกเป็นยานพาหนะเพื่อการพาทรัพย์นั้นไปหรือเพื่อให้พ้นการจับกุมจึงไม่ได้แยกต่างหากจากฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.8 แต่เป็นการบรรยายฟ้องต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ซึ่งเมื่ออ่านคำฟ้องโดยรวมทั้งหมดแล้วถือว่า ฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.8 ได้กล่าวถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดแล้ว ทั้งคดีนี้เดิมจำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ แต่เมื่อสืบพยานโจทก์ไปบ้างแล้ว จำเลยทั้งสองขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ โดยมิได้หลงต่อสู้ แสดงว่าจำเลยทั้งสองเข้าใจข้อหาได้ดี ฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 ถึง 1.8 จึงชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น และที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาว่า ความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.8 จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 83 โดยไม่ปรับบทความผิดตามมาตรา 336 ทวิ ด้วย นั้น จึงเป็นการปรับบทกฎหมายไม่ถูกต้อง ซึ่งปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์ไม่ฎีกา ศาลฎีกามีอำนาจปรับบทกฎหมายให้ถูกต้องได้โดยไม่เพิ่มเติมโทษจำเลยทั้งสองตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองประการต่อไปมีว่า มีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ เห็นว่า ขณะกระทำความผิดจำเลยที่ 1 และที่ 2 อายุ 36 ปีเศษ และ 26 ปีเศษ ตามลำดับ ควรรู้ผิดชอบชั่วดีแล้ว แต่จำเลยทั้งสองกลับร่วมกันกระทำความผิดคิดมุ่งแสวงหาประโยชน์สำหรับตนเองโดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของโจทก์ร่วม เมื่อทรัพย์ของโจทก์ร่วมที่จำเลยทั้งสองร่วมกันลักไปเป็นถังบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่จำนวนมากถึง 500 ถัง และมีราคาสูงถึง 1,300,000 บาท ทั้งมิใช่ทรัพย์ที่จำเลยทั้งสองจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีพ ประกอบกับจำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมรวมทั้งหมด 8 ครั้ง ย่อมส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองเป็นผู้กระทำความผิดติดนิสัยโดยอาศัยโอกาสที่โจทก์ร่วมซึ่งเป็นนายจ้างของจำเลยทั้งสองไว้วางใจ ตามพฤติการณ์แห่งคดีเป็นเรื่องร้ายแรง แม้ไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสองเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อนหรือมีเหตุผลอื่นดังที่อ้างในฎีกา ก็ไม่เพียงพอให้รับฟังเพื่อรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยทั้งสองโดยไม่รอการลงโทษมานั้น เหมาะสมแก่สภาพความผิดของจำเลยทั้งสอง และอัตราโทษจำคุกที่ศาลล่างทั้งสองวางก่อนลด 1 ปี 6 เดือน เป็นอัตราขั้นต่ำสุดตามที่กฎหมายบัญญัติไว้แล้ว กรณีไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะแก้ไขเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่นได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองในประการสุดท้ายมีว่า จำเลยทั้งสองต้องร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืนแก่โจทก์ร่วมเพียงใด เห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 บัญญัติว่า "ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา" เมื่อคดีนี้จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพและศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันลักทรัพย์ของโจทก์ร่วมตามฟ้องไป ดังนั้น ในการพิพากษาคดีส่วนแพ่ง ศาลจึงต้องถือตามข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาดังกล่าว โดยหาจำต้องคำนึงว่าคำพิพากษาคดีส่วนอาญาศาลได้วินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกาหรือไม่ เพราะคำพิพากษาคดีส่วนแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายอันว่าด้วยความรับผิดของบุคคลในทางแพ่งโดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำผิดหรือไม่ตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 47 อีกทั้งศาลฎีกาวินิจฉัยไว้ข้างต้นแล้วว่าฟ้องโจทก์ข้อ 1.2 ถึง 1.8 เป็นฟ้องที่ชอบด้วยกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ที่ยังไม่ได้คืน 1,240,000 บาท แก่โจทก์ร่วมนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่ง คดีนี้จำเลยทั้งสองกระทำความผิดหลายกรรมต่างกัน แต่ศาลชั้นต้นรวมโทษทุกกระทงแล้วจึงลดโทษแทนที่จะลดโทษแต่ละกระทงแล้วจึงรวมโทษ ย่อมเป็นผลร้ายแก่จำเลยทั้งสองมากกว่าการลดโทษแต่ละกระทงเสียก่อนแล้วจึงรวมเข้าด้วยกันเพราะประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 21 วรรคสอง บัญญัติว่า "ถ้าระยะเวลาที่คำนวณนั้นกำหนดเป็นเดือนให้นับสามสิบวันเป็นหนึ่งเดือน ถ้ากำหนดเป็นปีให้คำนวณตามปีปฏิทินในราชการ" ดังนั้น การกำหนดโทษจำคุก 12 เดือน ย่อมมีกำหนดระยะเวลาเท่ากับ 360 วัน ซึ่งน้อยกว่าจำนวนวันตามปีปฏิทินในราชการที่อาจมีระยะเวลาถึง 366 วัน หรือ 365 วัน สุดแท้แต่ว่าจะเป็นปีอธิกสุรทินหรือปีปกติสุรทิน ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาเห็นควรยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดตามฟ้องข้อ 1.2 ถึง 1.8 จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335 (7) (11) วรรคสอง ประกอบมาตรา 336 ทวิ, 83 ลดโทษกระทงละกึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงจำคุกกระทงละ 9 เดือน รวม 8 กระทง เป็นจำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 72 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2