โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนนิติกรรมยกที่ดินอันเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ให้จำเลยที่ ๒ โดยเสน่หาโดยโจทก์ซึ่งเป็นภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายไม่ได้ให้ความยินยอม ทั้งมิใช่เป็นการยกให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี หรือในทางสมาคม เป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๓ ขอให้ศาลพิพากษาว่านิติกรรมการโอนยกให้โดยเสน่หาซึ่งที่ดินพิพาทเป็นโมฆะ และมีคำสั่งเพิกถอนนิติกรรมสัญญายกให้ดังกล่าวนั้นเสียกับสั่งให้ที่ดินโฉนดแปลงพิพาทกลับมาเป็นสินสมรสของโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตามเดิม
จำเลยที่ ๑ ให้การว่าจำเลยที่ ๑ มีความประสงค์จะยกที่พิพาทให้แก่บิดาจำเลยที่ ๒ และโจทก์คนละเท่า ๆ กัน ได้มอบฉันทะให้จำเลยที่ ๒ นำโฉนดที่ดินไปแบ่งแยกให้แก่บุคคลทั้งสอง ต่อมาได้ทราบว่าจำเลยที่ ๒ ได้ให้จำเลยที่ ๑ เซ็นชื่อในสัญญายกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยเสน่หา เป็นการผิดความประสงค์ของจำเลยที่ ๑
จำเลยที่ ๒ ให้การว่าจำเลยที่ ๒ เป็นบุตรสาวของบุตรชายคนโตของโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นปู่ย่าของจำเลยที่ ๒ โจทก์และจำเลยที่ ๑ มีที่ดิน ๕ แปลง รวมราคาทั้งสิ้นประมาณหนึ่งล้านหกแสนบาทเศษ จำเลยที่ ๑ ได้ทำนิติกรรมจดทะเบียนยกที่ดินพิพาทราคาเพียงหนึ่งแสนบาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นหลาน โดยโจทก์เองก็ทราบดีและยินยอมอันเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี จึงได้รับยกเว้นมิต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์เป็นหลักฐาน
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่าที่พิพาทเป็นสินสมรสการยกให้โดยไม่ได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากโจทก์ ไม่มีผลใช้บังคับได้ตามกฎหมายและสามีภริยายังไม่ได้หย่าขาดจากกันสินสมรสจึงระคนปนกันอยู่ ส่วนข้อโต้แย้งของจำเลยที่ ๒ เกี่ยวกับประเด็นนำสืบของจำเลยที่ ๒ ที่ขอให้ศาลเพิ่มประเด็นตามคำให้การอีกว่าจำเลยที่ ๑ ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ เป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี ไม่ต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์เป็นหลักฐานนั้น เห็นว่าคำให้การของจำเลยที่ ๒ เกี่ยวกับข้อนี้ยังไม่ชัดแจ้ง จึงไม่เป็นประเด็นในคดี พิพากษาให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนยกให้ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒
จำเลยที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า จากคำฟ้องประกอบกับคำให้การของจำเลยที่ ๒ จำเลยที่ ๒ ได้ให้การเกี่ยวกับการยกให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีไว้โดยชัดแจ้งแล้วจึงเป็นประเด็นแห่งคดี และฟังว่าการยกให้ดังกล่าวเป็นการให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีด้วย จำเลยที่ ๑ ในฐานะเป็นสามีโจทก์จึงไม่จำต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๓(๓) โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นสามีภริยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย ที่พิพาทเป็นสินสมรสระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ แต่มีชื่อจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์เพียงผู้เดียว จำเลยที่ ๑ ได้จดทะเบียนยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ โดยไม่มีค่าตอบแทน ปัญหาที่โจทก์ฎีกาว่าจำเลยที่ ๑ ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีหรือไม่ ไม่มีประเด็นที่จะวินิจฉัยและศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยที่ ๒ ไม่ได้ให้การไว้โดยชัดแจ้งไม่รับวินิจฉัยนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าพิเคราะห์คำฟ้องและคำให้การของจำเลยที่ ๒ ประกอบกันแล้วเห็นว่า ในคำฟ้องโจทก์นอกจากจะบรรยายไว้ว่า การยกให้โจทก์ไม่รู้เห็นยินยอมแล้วยังได้เน้นอีกว่าเป็นการยกให้โดยเสน่หาปราศจากสิ่งทดแทน ไม่ใช่เป็นการยกให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี จำเลยที่ ๒ ให้การปฏิเสธเป็นการโต้แย้งว่าจำเลยที่ ๑ กับโจทก์เป็นปู่ย่าของจำเลยที่ ๒ มีที่ดินนอกจากที่พิพาทอีกหลายแปลงราคานับล้านบาท ที่พิพาทส่วนที่ยกให้เป็นเพียงส่วนน้อยมีราคาไม่มาก การยกให้โจทก์ก็ทราบดีและยินยอมเป็นการยกให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี ไม่จำเป็นต้องให้ความยินยอมเป็นหลักฐานเห็นได้ว่าจำเลยที่ ๒ ปฏิเสธคำฟ้องโจทก์ที่ว่าไม่ได้ให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี ทั้งได้อธิบายเกี่ยวกับการยกให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดีไว้โดยชัดแจ้งแล้ว จึงเป็นประเด็นแห่งคดีข้อเท็จจริงฟังได้ว่านอกจากที่พิพาทแล้ว โจทก์ยังมีที่ดินสินสมรสอื่นอีก ๕ แปลง ราคานับล้านบาท บางแปลงแบ่งแยกให้แก่บุตรไปบ้างแล้ว โจทก์ทราบและไม่เคยคัดค้านเลยเมื่อบิดาจำเลยที่ ๒ เลิกร้างกับมารดาจำเลยที่ ๒ โจทก์กับจำเลยที่ ๑ ได้รับเลี้ยงให้ความอุปการะแก่จำเลยที่ ๒ ตั้งแต่เล็กจนโตและแยกไปมีครอบครัว และบิดาจำเลยที่ ๒ ก็ปลูกบ้านอยู่ในที่พิพาท การที่จำเลยที่ ๑ ยกที่พิพาทให้แก่จำเลยที่ ๒ นอกจากจะเป็นการยกให้โดยเสน่หา ปราศจากสิ่งตอบแทนแล้วในฐานะที่จำเลยที่ ๒ เป็นหลานของโจทก์ และจำเลยที่ ๒ เคยอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูแต่เล็กมาจนโต ทั้งจำเลยที่ ๑ กับโจทก์ยังมีที่ดินสินสมรสอีกหลายแปลงมีราคานับล้านบาท การยกให้ดังกล่าวจึงเป็นการยกให้ตามสมควรในทางศีลธรรมอันดี การให้ของจำเลยที่ ๑ จึงเป็นการจำหน่ายสินบริคณห์ซึ่งในฐานะเป็นสามีของโจทก์ ย่อมมีอำนาจที่จะกระทำได้ไม่จำเป็นต้องได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นภริยา นิติกรรมการยกให้ระหว่างจำเลยที่ ๑ กับจำเลยที่ ๒ จึงมีผลบังคับได้ตามกฎหมายโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องให้เพิกถอน
พิพากษายืน