โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้อง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 90, 91, 147, 151 ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้เงินที่เบียดบังไป 362,580 บาท คืนแก่สำนักงานป่าไม้เขตเชียงราย กรมป่าไม้ นับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.464/2560 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และนับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.31/2561 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธและจำเลยที่ 1 กับที่ 2 รับว่าเป็นบุคคลคนเดียวกับจำเลยในคดีที่โจทก์ขอให้นับโทษต่อ
ก่อนสืบพยานโจทก์ จำเลยที่ 1 ขอถอนคำให้การเดิม และให้การใหม่เป็นรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ และขอให้ลงโทษสถานเบาโดยรอการลงโทษ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) และจำเลยที่ 2 ที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 จำคุกกระทงละ 5 ปี รวม 9 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 45 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 22 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 9 กระทง เป็นจำคุกมีกำหนด 30 ปี คำรับของจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณาลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้หนึ่งในสาม คงจำคุกจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีกำหนดคนละ 20 ปี เมื่อรวมโทษของจำเลยที่ 1 กับโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.464/2560 และรวมโทษของจำเลยที่ 2 กับโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.31/2561 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลางแล้ว คงลงโทษจำคุกจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่เกินกำหนดคนละ 50 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 (3) และให้จำเลยทั้งสามคืนเงินที่ทุจริตเบียดบังไป 362,580 บาท แก่สำนักงานป่าไม้เขตเชียงราย กรมป่าไม้
โจทก์และจำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 และโจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นรับฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ส่วนจัดการไฟป่าและภัยธรรมชาติ สำนักป้องกันและปราบปรามกรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา จังหวัดพะเยา มีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยดับไฟป่าในความรับผิดชอบของสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา และปฏิบัติงานให้เป็นไปตามแผนงานที่กรมป่าไม้อนุมัติ รวมทั้งมีอำนาจดำเนินการตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2535 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามที่อธิบดีกรมป่าไม้มอบหมาย และยังได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการจ่ายเงินลูกจ้างชั่วคราวของสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา ประจำปีงบประมาณ 2541 จำเลยที่ 2 ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ฝ่ายป้องกันรักษาป่า สำนักงานป่าไม้จังหวัดลำพูน ช่วยราชการสำนักป้องกันและปราบปราม กรมป่าไม้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทำหน้าที่หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าเชียงราย จังหวัดเชียงราย มีหน้าที่ควบคุมการปฏิบัติงานของหน่วยดับไฟป่าในความรับผิดชอบของสถานีควบคุมไฟป่าเชียงราย และได้รับการแต่งตั้งเป็นกรรมการจ่ายเงินลูกจ้างชั่วคราวของสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา ประจำปีงบประมาณ 2541 จำเลยที่ 3 ดำรงแหน่งเจ้าพนักงานป่าไม้ 4 ประจำสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา และได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการจ่ายเงินลูกจ้างชั่วคราวของสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา ประจำปีงบประมาณ 2541 คณะกรรมการจ่ายเงินลูกจ้างชั่วคราวของสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา มีหน้าที่ควบคุมการจ่ายเงินให้ลูกจ้างชั่วคราวรายวันและตรวจสอบผลงานของแต่ละหน่วยงานของสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา สถานีควบคุมไฟป่าพะเยามีสำนักงานป่าไม้เขตเชียงรายเป็นหน่วยงานฝากเบิกเงินงบประมาณ ป่าไม้เขตเชียงรายยังได้รับมอบหมายจากกรมป่าไม้ให้เป็นผู้อนุมัติการจัดซื้อจัดจ้างของสถานีควบคุมไฟป่าพะเยาด้วย ในปีงบประมาณ 2541 ระหว่างวันที่ 28 พฤศจิกายน 2540 ถึงวันที่ 21 กรกฎาคม 2541 จำเลยที่ 1 ในฐานะหัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา นำใบสมัครงานของนางวราภรณ์ นายดวงตา นายเศรษฐ์ นายจักร์ นายสม นายแก้ว นายวิเชียร นายทินกร นายศรีนวล นายศรีวัน นายอินโคง นายทวิทย์ นายผัดดี นายคำ นายทวีศักดิ์ นายวิ และนายจำรัส จำนวน 17 ราย รวมกับใบสมัครเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวันของบุคคลอื่น ไปขออนุมัติป่าไม้เขตเชียงรายเพื่อให้มีคำสั่งให้จ้างเป็นลูกจ้างชั่วคราวรายวันของสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา ป่าไม้เขตเชียงรายมีคำสั่งอนุมัติตามขอ โดยให้จำเลยที่ 1 มีหน้าที่จัดให้ลูกจ้างชั่วคราวรายวันทำงานตามที่ว่าจ้าง ลูกจ้างชั่วคราวรายวันต้องลงลายมือชื่อในบัญชีลงเวลาการปฏิบัติงานเพื่อเป็นหลักฐานว่ามาปฏิบัติงานจริง และจำเลยที่ 1 ต้องลงลายมือชื่อของตนเองในบัญชีลงเวลาปฏิบัติงานของลูกจ้างชั่วคราวรายวันเพื่อรับรองผลการปฏิบัติงานในแต่ละวันด้วย หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 จัดทำหลักฐานการจ่ายเงินลูกจ้างชั่วคราวรายวัน (แบบ บก.-กจ.3) และสรุปผลการปฏิบัติงานของลูกจ้างชั่วคราวรายวันและจำนวนเงินที่ต้องจ่ายให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวรายวันแต่ละราย มีจำเลยที่ 1 ลงลายมือชื่อรับรองในฐานะหัวหน้าผู้ควบคุมและจำเลยทั้งสามลงลายมือชื่อในฐานะคณะกรรมการจ่ายเงินลูกจ้างชั่วคราวเพื่อเป็นหลักฐานว่าลูกจ้างชั่วคราวรายวันทุกคนรับเงินค่าจ้างต่อหน้าตน หลักฐานการจ่ายเงินลูกจ้างชั่วคราวรายวัน (แบบ บก.-กจ.3) มีข้อความด้วยว่า "ข้าฯ ขอรับรองว่าเป็นลายมือชื่อคนงานผู้รับเงินค่าจ้างดังกล่าวข้างต้นจริง" และ "ข้าพเจ้าขอรับรองว่า จำนวนคนงาน จำนวนวันทำการและจำนวนเงินตามใบสำคัญฉบับนี้เป็นความจริง" นอกจากนี้จำเลยทั้งสามยังได้ร่วมกันจัดทำบันทึกข้อความส่วนราชการ สถานีควบคุมไฟป่าพะเยา เรื่อง รายงานผลการจ่ายเงินลูกจ้างชั่วคราวรายวัน เป็นการรับรองว่าร่วมกันจ่ายเงินแก่ลูกจ้างชั่วคราวรายวันทุกคน โดยระบุยอดเงินที่จ่าย และระบุด้วยว่าไม่มีเงินเหลือจ่ายคืน พร้อมทั้งรับรองว่า ตรวจผลการปฏิบัติงานแล้วปรากฏว่ามีผลงานตามแผนการปฏิบัติงานจริง หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 นำคำสั่งอนุมัติให้จ้างลูกจ้างชั่วคราวรายวัน บัญชีลงเวลาการปฏิบัติราชการลูกจ้างชั่วคราวประจำเดือน หลักฐานการจ่ายเงินค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายวัน (แบบ บก.-กจ.3) และบันทึกรายงานผลการจ่ายเงินลูกจ้างชั่วคราวรายวันของคณะกรรมการจ่ายเงินลูกจ้างชั่วคราวดังกล่าวไปจัดทำบันทึกขอส่งใบสำคัญค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายวัน เพื่อขออนุมัติเบิกเงินค่าจ้างชั่วคราวรายวันจากป่าไม้เขตเชียงราย พร้อมด้วยหน้างบการเบิกเงิน (กปม.10) เพื่อรับการอนุมัติการจ่ายเงินจากป่าไม้เขตเชียงรายด้วยเช็คธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) ที่สั่งจ่ายระบุชื่อของจำเลยที่ 1 เป็นผู้รับเงิน ต่อมามีหนังสือร้องเรียนไปยังสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินว่า มีการทุจริตเงินแผ่นดินของสถานีควบคุมไฟป่าทั่วประเทศ ตามหนังสือฉบับลงวันที่ 16 เมษายน 2541 สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ มอบหมายให้นายวานิช นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดิน 8 ตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มสำนักตรวจเงินแผ่นดิน จังหวัดพะเยา และนายชนาทร ร่วมกันตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการทุจริตในสำนักงานป่าไม้เขตเชียงราย ซึ่งมีอำนาจควบคุมและกำกับดูแลสถานีควบคุมไฟป่าเชียงรายและสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา รวมทั้งเป็นหน่วยเบิกจ่ายเงินงบประมาณให้แก่สถานีควบคุมไฟป่าทั้งสองแห่งด้วย ผลการตรวจสอบกรณีสถานีควบคุมไฟป่าพะเยาพบว่า จำเลยที่ 1 เบิกเงินค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายวันเป็นเงินทั้งสิ้น 2,200,294 บาท โดยที่ลูกจ้างไม่ได้ทำงานและไม่ได้รับเงินเป็นเงิน 1,086,428 บาท เบิกจ่ายเกินสิทธิของลูกจ้างที่ทำงานจริงเป็นเงิน 80,341 บาท และจ่ายเงินให้ลูกจ้างต่ำกว่าสิทธิที่จะได้รับเป็นเงิน 174,737 บาท รวมเป็นเงินที่ไม่ได้จ่ายให้ลูกจ้าง 1,341,506 บาท และมีเงินที่ยังพิสูจน์ไม่ได้อีก 255,514 บาท ตามรายงานการตรวจสอบ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ มีหนังสือลงวันที่ 24 กันยายน 2552 ส่งเรื่องกล่าวหาร้องเรียนไปยังกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยเฉพาะจำเลยที่ 1 คณะกรรมการสอบสวนความผิดทางวินัยดำเนินการสอบสวนแล้วเสนอรายงานผลการสอบสวนว่า จำเลยที่ 1 เบิกเงินค่าจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายวันไม่ถูกต้องตามความเป็นจริง ตามที่ปรากฏในรายงานผลการตรวจสอบของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ แต่คณะกรรมการสอบสวนเห็นว่า จำเลยที่ 1 นำเงินที่ไม่ได้จ่ายให้ลูกจ้างชั่วคราวรายวันไปใช้ในการก่อสร้างลานและถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก สิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ รวมทั้งจ่ายเป็นค่าไฟฟ้าและค่าจัดเลี้ยงอาหารแก่ลูกจ้างที่ปฏิบัติงานนอกเวลาราชการ อันเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของทางราชการ มิได้เป็นการกระทำเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นได้รับประโยชน์ที่มิควรได้หรือเป็นการทุจริตต่อหน้าที่ราชการ และมิได้ก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงแก่ทางราชการ การกระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง และอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช พิจารณารายงานผลการสอบสวนแล้วเห็นด้วยว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดวินัยไม่ร้ายแรง และมีคำสั่งให้ตัดเงินเดือนจำเลยที่ 1 ร้อยละ 4 ตามคำสั่งลงวันที่ 20 กันยายน นอกจากนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ ยังได้มีหนังสือลงวันที่ 24 กันยายน 2552 ส่งเรื่องกล่าวหาร้องเรียนไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติและสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ แต่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเห็นว่ากรณีนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) จึงส่งเรื่องต่อไปยังสำนักงานคณะกรรมการ ป.ป.ช. คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีคำสั่งแต่งตั้งองค์คณะพนักงานไต่สวนเพื่อรวบรวมพยานหลักฐานและแสวงหาข้อเท็จจริง องค์คณะพนักงานไต่สวนมีความเห็นว่า ระยะเวลาที่พบการกระทำความผิดล่วงเลยมากว่า 17 ปี ควรมุ่งพิสูจน์การกระทำความผิดเฉพาะกลุ่มลูกจ้างที่ยืนยันต่อเจ้าหน้าที่ของสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินภูมิภาคที่ 8 จังหวัดเชียงใหม่ ว่าไม่ได้ทำงาน ไม่ได้รับเงิน และไม่ได้ลงลายมือชื่อรับเงินเพียงกลุ่มเดียวและสามารถติดตามบุคคลในกลุ่มดังกล่าวได้ 19 ราย แต่ในจำนวนดังกล่าวมี 2 ราย ให้ถ้อยคำสับสน คงเหลือบุคคลที่ให้ถ้อยคำยืนยันว่าไม่ได้ทำงาน ไม่ได้รับเงิน และไม่ได้ลงลายมือชื่อรับเงินจริง เพียง 17 ราย เป็นบุคคลตามคำสั่งจ้างลูกจ้างชั่วคราวรายวันรวม 9 คำสั่ง และจำนวนเงินที่จำเลยที่ 1 ไม่ได้นำไปจ่ายให้ลูกจ้างชั่วคราวรายวันที่มีชื่อในเอกสารหลักฐานการเบิกจ่ายเงินในช่วงระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2540 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2541 เป็นเงินทั้งสิ้น 362,580 บาท การกระทำของจำเลยทั้งสามมีมูลความผิดทางอาญาฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด เบียดบังทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือเป็นของผู้อื่นโดยทุจริต หรือโดยทุจริตยอมให้ผู้อื่นเอาทรัพย์นั้นเสีย ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ซื้อ ทำ จัดการหรือรักษาทรัพย์ใด ๆ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต อันเป็นการเสียหายแก่รัฐหรือเจ้าของทรัพย์นั้น ฐานเป็นเจ้าพนักงาน ปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร กรอกข้อความลงในเอกสารหรือดูแลรักษาเอกสาร กระทำการปลอมเอกสารโดยอาศัยโอกาสที่ตนมีหน้าที่นั้น และฐานเป็นเจ้าพนักงาน มีหน้าที่ทำเอกสาร รับเอกสารหรือกรอกข้อความลงในเอกสาร กระทำการรับรองเป็นหลักฐานว่าตนได้กระทำการอย่างใดขึ้น หรือว่าการอย่างใดได้กระทำต่อหน้าตนอันเป็นความเท็จ และรับรองเป็นหลักฐานซึ่งข้อเท็จจริงอันเอกสารนั้น มุ่งพิสูจน์ความจริงอันเป็นความเท็จ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 มาตรา 151 มาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 162 (1) และ (4) ประกอบมาตรา 83 มาตรา 90 และมาตรา 91 แต่เนื่องจากความผิดตามมาตรา 157 มาตรา 161 และมาตรา 162 (1) และ (4) ขาดอายุความแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (6) จึงให้ยุติการดำเนินคดีอาญากับจำเลยทั้งสามในความผิดฐานดังกล่าว ต่อมาคณะกรรมการ ป.ป.ช. พิจารณารายงานการไต่สวนของคณะพนักงานไต่สวนแล้วเห็นชอบด้วยความเห็นของคณะพนักงานไต่สวน ให้ส่งสำนวนการไต่สวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อยื่นฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อมีว่า การที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อที่ว่า จำเลยที่ 1 มิได้เบียดบังเงินที่ไม่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวรายวันตามฟ้องคดีนี้ไปเป็นประโยชน์ของตนเอง โดยศาลอุทธรณ์ให้เหตุผลว่า ข้อเท็จจริงตามที่จำเลยที่ 1 กล่าวในอุทธรณ์ขัดกับคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 เป็นการชอบหรือไม่ จำเลยที่ 1 ฎีกาว่า แม้จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพตามฟ้องแต่ศาลยังจะต้องพิจารณาพยานหลักฐานของโจทก์ต่อไปว่าจำเลยที่ 1 กระทำความผิดตามฟ้องจริงหรือไม่ และความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 ผู้กระทำต้องมีเจตนาทุจริตเบียดบังเอาทรัพย์นั้นเป็นของตนหรือบุคคลอื่นโดยทุจริตด้วย ศาลอุทธรณ์ชอบที่จะรับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในข้อนี้ เห็นว่า แม้จำเลยที่ 1 ยื่นคำให้การฉบับลงวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2561 มีข้อความว่าจำเลยที่ 1 ขอให้การรับสารภาพตามฟ้องโจทก์ทุกประการ แต่ต่อมาจำเลยที่ 1 ยื่นคำแถลงประกอบคำรับสารภาพ ฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2561 มีสาระสำคัญว่า จำเลยที่ 1 นำเงินค่าจ้างที่ไม่ได้จ่ายให้แก่ลูกจ้างชั่วคราวรายวันตามฟ้องคดีนี้ทั้งหมดไปใช้ก่อสร้างถนนและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ภายในสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา เช่น ก่อสร้างลานและถนนคอนกรีตเสริมเหล็ก อาคารบ้านพักเจ้าหน้าที่ อาคารอเนกประสงค์ อาคารป้อมยาม ป้ายสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา ถมดินเพื่อปรับพื้นที่สนามหลังป้ายสถานี ก่อสร้างถังพักน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก และถังเก็บน้ำฝน เป็นต้น โดยจำเลยที่ 1 อ้างถึงรายงานการสอบสวนทางวินัยของกรมอุทยาน สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และรายงานการสอบสวนความรับผิดทางละเมิด รวมทั้งรูปถ่ายที่ปรากฏในสำนวนการสอบสวนดังกล่าว จำเลยที่ 1 ยังอ้างด้วยว่า สิ่งก่อสร้างต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ปรากฏอยู่ในบัญชีหรือทะเบียนพัสดุ ครุภัณฑ์ และสิ่งก่อสร้างของสถานีควบคุมไฟป่าพะเยา ปัจจุบันทางราชการยังใช้ประโยชน์จากถนนและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ดังนี้ คำแถลงประกอบคำรับสารภาพของจำเลยที่ 1 เป็นการยกข้อต่อสู้ขึ้นใหม่ว่า จำเลยที่ 1 กระทำการตามฟ้องโดยมิได้มีเจตนาแสวงประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น เพราะจำเลยที่ 1 นำเงินดังกล่าวทั้งหมดไปใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ของทางราชการ เท่ากับจำเลยที่ 1 อ้างว่า จำเลยที่ 1 มิได้มีเจตนากระทำความผิด คำแถลงประกอบคำรับสารภาพฉบับลงวันที่ 9 มีนาคม 2561 ของจำเลยที่ 1 ถือได้ว่าเป็นคำให้การปฏิเสธ เมื่อศาลชั้นต้นพิจารณาพยานหลักฐานตามทางไต่สวนแล้ววินิจฉัยว่า ข้อกล่าวอ้างตามคำแถลงของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวรับฟังไม่ได้ จำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธิอุทธรณ์ในปัญหาดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ไม่รับวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปัญหาดังกล่าวไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของจำเลยที่ 1 ข้อนี้ฟังขึ้น และเนื่องจากพยานหลักฐานที่จำเลยที่ 1 อ้างเพื่อสนับสนุนข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 ดังกล่าวปรากฏในสำนวนคดีนี้ครบถ้วนแล้ว เพื่อให้คดีแล้วเสร็จไปโดยเร็ว ศาลฎีกาเห็นสมควรวินิจฉัยปัญหาดังกล่าวโดยไม่จำต้องย้อนสำนวนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยใหม่ก่อน
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 147 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 จำคุกจำเลยที่ 1 กระทงละ 5 ปี รวม 9 กระทง เป็นจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 45 ปี จำคุกจำเลยที่ 2 กระทงละ 3 ปี 4 เดือน รวม 9 กระทง เป็นจำคุกมีกำหนด 27 ปี 36 เดือน คำแถลงรับและทางนำสืบของจำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุกจำเลยที่ 1 มีกำหนด 22 ปี 6 เดือน จำคุกจำเลยที่ 2 มีกำหนด 13 ปี 24 เดือน ยกฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ยกฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 (เดิม) ประกอบมาตรา 86 และยกฟ้องจำเลยที่ 3 ทุกข้อหา กับให้ยกคำขอนับโทษของจำเลยที่ 1 ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.464/2560 แต่ให้นับโทษของจำเลยที่ 2 ต่อจากโทษของจำเลยที่ 1 ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ อท.31/2561 ของศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง และให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 คืนเงินที่ทุจริตเบียดบังไป 362,580 บาท แก่สำนักงานป่าไม้เขตเชียงราย กรมป่าไม้.