โจทก์ฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 352, 354 และให้จำเลยคืนที่ดินดังกล่าวหรือใช้ราคาแทนเป็นเงิน 37,593,982 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ระหว่างพิจารณา นางกรรภิรมย์ ผู้เสียหาย ยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ ศาลชั้นต้นอนุญาต
โจทก์ร่วมยื่นคำร้องและแก้ไขคำร้องขอให้บังคับจำเลยชำระค่าสินไหมทดแทนเป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 37,593,982 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2553 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ร่วม
จำเลยให้การในส่วนแพ่งว่าไม่ได้กระทำความผิดอาญา จึงไม่ต้องรับผิด
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก ประกอบมาตรา 354 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 1 ปี ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 แล้ว คงลงโทษจำคุกกระทงละ 8 เดือน รวม 6 กระทง เป็นจำคุก 48 เดือน ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์ร่วมและจำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมด
โจทก์และโจทก์ร่วมฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้โจทก์ร่วมฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามฟ้อง ข้อ 2.7 และ ข้อ 2.8 ได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ในเบื้องต้นว่า นายประยูร กับนางสุดใจ ได้อยู่กินฉันสามีภริยากันมาก่อน แล้วจดทะเบียนสมรสกันภายหลังเมื่อปี 2523 โดยมีบุตรด้วยกันรวม 6 คน ได้แก่ โจทก์ร่วม นายชาลี นายสายัณห์ นางวรรณศรี จำเลยและนายวุฒิชัย ตามลำดับ เมื่อปี 2531 นายชาลีกู้ยืมเงินจากธนาคาร โดยนายชาลีนำที่ดินของตนโฉนดเลขที่ 11665 และนายประยูร นำที่ดินของตนโฉนดเลขที่ 15004 11723 14498 14499 14500 และ 14496 ไปจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ หลังจากนั้นนายชาลีไม่ชำระหนี้ ธนาคารจึงฟ้องนายชาลีและนายประยูรให้ร่วมกันชำระหนี้เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2544 แต่ต่อมาวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 นายชาลีถึงแก่ความตาย โดยมีนางทิพย์ปราณี ภริยาของนายชาลีเป็นผู้จัดการมรดกของนายชาลี แต่เนื่องจากนางทิพย์ปราณีไม่ปฏิบัติหน้าที่ผู้จัดการมรดกของนายชาลีให้ถูกต้องตามกฎหมาย นายประยูรจึงร้องต่อศาล ขอถอนนางทิพย์ปราณีออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกของนายชาลี แต่สามารถตกลงกันได้ และตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายชาลีแทน หลังจากนั้นวันที่ 16 ตุลาคม 2550 นายประยูรถึงแก่ความตาย โดยมีจำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของนายประยูร ภายหลังจำเลยสามารถเจรจาประนอมหนี้กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ ซึ่งเป็นผู้รับโอนสิทธิเรียกร้องจากธนาคาร จำนวนกว่า 51,000,000 บาท ได้เป็นผลสำเร็จ โดยได้รับการลดยอดหนี้เหลือ 15,000,000 บาท หลังจากนั้นจำเลยได้ชำระหนี้ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ จนครบถ้วน โดยจำเลยขายที่ดินของจำเลย ให้แก่บุคคลอื่นแล้วนำเงินที่ได้ไปชำระหนี้กับไถ่ถอนจำนองที่ดิน ซึ่งเป็นหลักประกันคืนมาคือ ที่ดินโฉนดเลขที่ 14498 14499 14500 14496 และ 11665 ต่อมาจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรและนายชาลีได้ดำเนินการโอนที่ดินมรดกของนายประยูรและนายชาลีให้แก่ตนเองและบุคคลอื่น โดยเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2552 จำเลยโอนที่ดินมรดกของนายประยูร ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย จากนั้นวันที่ 1 ตุลาคม 2553 จำเลยโอนที่ดินมรดกของนายประยูรรวม 5 แปลง ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย กับโอนที่ดินมรดกของนายประยูร ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนางวรรณศรี พี่สาวของจำเลย และโอนที่ดินมรดกของนายชาลี ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนางสุดใจ มารดาของจำเลย
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์และโจทก์ร่วมว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด เห็นว่า เมื่อศาลตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของนายชาลีและนายประยูรตามลำดับ แล้ว จำเลยจักต้องทำหน้าที่ผู้จัดการมรดกภายใต้กรอบและหลักเกณฑ์ตามที่ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์กำหนดไว้หลายประการ เช่น ต้องลงมือจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของนายชาลีและนายประยูรภายใน 15 วัน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลตามมาตรา 1728 (2) ประกอบมาตรา 1716 ทั้งต้องจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกต่อหน้าพยานที่มีส่วนได้เสียในกองมรดกอย่างน้อย 2 คน ให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน นับแต่วันฟังคำสั่งศาลตามมาตรา 1729 และประการสำคัญ จำเลยมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกทั้งหลายของนายชาลีและนายประยูรแล้วนำมาจัดการมรดกโดยทั่วไป และจัดสรรแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิทุกคนให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่วันฟังคำสั่งศาลตามมาตรา 1719 และมาตรา 1732 โดยการแบ่งปันทรัพย์มรดก จำเลยหามีอำนาจจัดการตามอำเภอใจไม่ แต่ต้องกระทำด้วยความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใสและตรงไปตรงมาอย่างเปิดเผยเพื่อไม่ให้เป็นที่คลางแคลงใจอันจะก่อให้เกิดความขัดแย้งกระทบกระทั่งต่อความสัมพันธ์อันดีงามในระหว่างทายาทผู้มีสิทธิทุกคนในครอบครัว มิฉะนั้นจำเลยจักต้องรับผิดในทางแพ่งต่อทายาทตามมาตรา 1720 หากกระทำการโดยทุจริต จำเลยจักต้องรับผิดในทางอาญาในความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 และมาตรา 354 ได้ เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า หลังจากศาลมีคำสั่งตั้งให้จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกไม่มีพินัยกรรมของนายชาลีและนายประยูรแล้ว ปรากฏว่าจำเลยไม่เคยจัดทำบัญชีทรัพย์มรดกของเจ้ามรดกทั้งสองกับไม่เคยเรียกประชุมทายาทผู้มีสิทธิในทรัพย์มรดกเพื่อชี้แจงแสดงแนวทางการจัดการมรดกทั้งในช่วงเวลาก่อนเกิดเหตุและหลังเกิดเหตุ และด้วยเหตุที่โจทก์และโจทก์ร่วมกล่าวหาว่าจำเลยยักยอกที่ดินมรดกของนายประยูรตามฟ้อง ข้อ 2.1 ถึง ข้อ 2.8 รวม 8 แปลง กรณีจึงเห็นควรวินิจฉัยการกระทำของจำเลยในการแบ่งปันที่ดินมรดกตามฟ้องเป็นลำดับไปดังนี้
แปลงแรก ที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.1 ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดเลขที่ 74899 นั้น เห็นว่า ที่ดินแปลงนี้มีชื่อนายประยูรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2542 และตามสารบัญจดทะเบียนด้านหลังโฉนดมีข้อกำหนดห้ามโอนภายใน 10 ปี ตามมาตรา 58 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน นับแต่วันที่ 6 ตุลาคม 2542 ซึ่งหมายถึงว่าที่ดินแปลงนี้จะมีการโอนเปลี่ยนมือได้ก็ต่อเมื่อพ้นวันที่ 5 ตุลาคม 2552 ไปแล้ว อย่างไรก็ตามในขณะที่นายประยูรถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2550 ที่ดินแปลงนี้ยังอยู่ในข้อกำหนดห้ามโอนและยังมีชื่อนายประยูรเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดิน ดังนี้ เมื่อนายประยูรถึงแก่ความตายโดยมิได้ทำพินัยกรรมที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.1 จึงเป็นทรัพย์มรดกของนายประยูรที่ตกทอดแก่ทายาทของนายประยูร จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรต้องแบ่งปันที่ดินมรดกแปลงนี้แก่ทายาทของนายประยูรตามสิทธิของแต่ละคนให้เป็นไปตามกฎหมาย แต่เมื่อตรวจสอบสารบัญจดทะเบียนด้านหลังสำเนาโฉนดที่ดินแล้ว ได้ความชัดว่า จำเลยดำเนินการโอนที่ดินมรดกแปลงนี้มาเป็นชื่อของจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรก่อน แล้วโอนไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยเป็นการส่วนตัวแต่เพียงผู้เดียวในวันเดียวกันคือ วันที่ 5 ตุลาคม 2552 ซึ่งยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอน 10 ปี โดยการกระทำของจำเลยดังกล่าว นอกจากจะเป็นการโอนที่ดินมรดกที่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายแล้ว ยังบ่งชี้ว่าจำเลยที่เป็นเพียงทายาทผู้มีสิทธิคนหนึ่งไม่ต้องการให้ทายาทของนายประยูรคนอื่นรวมทั้งโจทก์ร่วมเป็นผู้ได้รับที่ดินมรดกร่วมกับจำเลยโดยถือเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำผิดหน้าที่ด้วยการจดทะเบียนโอนทรัพย์สินนั้นเป็นของตนโดยทุจริตจึงเป็นความผิดฐานยักยอก ส่วนที่จำเลยนำสืบทำนองว่า ขณะมีชีวิตอยู่นายประยูรมีความประสงค์จะยกที่ดินแปลงนี้ให้แก่จำเลย แต่ติดข้อกำหนดห้ามโอนนายประยูรจึงยกที่ดินแปลงอื่นอีกสองแปลงให้แก่จำเลยก่อน และเมื่อพ้นกำหนดห้ามโอน จำเลยจึงโอนที่ดินแปลงนี้เป็นของจำเลยให้เป็นไปตามความประสงค์ของนายประยูรนั้น เห็นว่า คำมั่นของนายประยูรว่า จะให้ที่ดินแปลงนี้แก่จำเลยไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 526 จึงไม่อาจรับฟังให้มีผลใช้บังคับเป็นประโยชน์แก่จำเลยได้ ทั้งหากจำเลยต้องการได้ที่ดินมรดกแปลงนี้เป็นของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว จำเลยก็สามารถประชุมตกลงกับทายาทผู้มีสิทธิทุกคนแล้วทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความให้ทายาทผู้มีสิทธิคนอื่นรับรู้และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานตามมาตรา 1750 วรรคสอง แต่จำเลยกลับไม่กระทำ ข้อนำสืบของจำเลยจึงง่ายแก่การกล่าวอ้างไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อกล่าวหาของโจทก์และโจทก์ร่วมได้
ต่อไปที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.7 รวม 6 แปลงนั้น เป็นที่ดินที่นายประยูรนำไปจำนองเป็นประกันหนี้ของนายชาลีขณะที่นายประยูรยังมีชีวิตอยู่และเมื่อจำเลยสามารถเจรจาขอลดยอดหนี้กับเจ้าหนี้และชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยได้ดำเนินการโอนที่ดินตามฟ้องข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.6 ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลย กับโอนที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.7 ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนางวรรณศรี พี่สาวของจำเลยในคราวเดียวกัน กรณีจึงเห็นควรวินิจฉัยการกระทำของจำเลยเกี่ยวกับที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.7 ไปพร้อมกัน โดยที่ดินตามฟ้องข้อ 2.2 และ ข้อ 2.3 เป็นที่ดินมีโฉนดเลขที่ 15004 และ 11723 ส่วนที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.4 ถึง ข้อ 2.7 เป็นที่ดินมีโฉนดเลขที่ 14498 14499 14500 และ 14496 เห็นว่า ที่ดินรวม 6 แปลงข้างต้นเคยเป็นที่ดินของนายประยูรที่นายประยูรนำไปจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ของนายชาลีต่อเจ้าหนี้ เมื่อต่อมาเจ้าหนี้ฟ้องนายชาลีและนายประยูรให้ชำระหนี้และขอบังคับจำนอง แต่จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชาลีได้เจรจาขอลดยอดหนี้เหลือ 15,000,000 บาท และนำเงินส่วนตัวของจำเลยไปชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองจนเสร็จสิ้นครบถ้วน จำเลยจึงย่อมได้ชื่อว่าเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของนายชาลีและนายประยูรโดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับที่ดินมรดกที่เคยเป็นทรัพย์จำนอง ขณะเดียวกันจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายประยูรและเป็นตัวแทนของทายาทที่มีสิทธิทุกคนก็มีหน้าที่เช่นเดียวกับลูกหนี้ที่จะต้องปฏิบัติการชำระหนี้ด้วยการแบ่งปันทรัพย์มรดกของนายประยูรให้แก่ทายาทผู้มีสิทธิให้ถูกต้องตามกฎหมาย เมื่อจำเลยเป็นเจ้าหนี้กองมรดกของนายประยูรคิดเป็นเงินจำนวนมากและจำเลยมีสองสถานะคือเป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ การจัดการมรดกของจำเลยจึงอาจมีผลกระทบต่อผลประโยชน์ของทายาทอื่นโดยตรง ซึ่งในเรื่องนี้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติทางแก้ไขไว้ในมาตรา 1722 มีใจความว่า ผู้จัดการมรดกจะทำนิติกรรมใด ๆ ซึ่งตนมีส่วนได้เสียเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกหาได้ไม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากศาล ดังนั้นการที่จำเลยนำสืบต่อสู้โดยมีนายวุฒิชัย นายสายัณห์ และนางสุดใจ เป็นพยานเบิกความสนับสนุนทำนองว่า เมื่อจำเลยชำระหนี้ไถ่ถอนจำนองเสร็จสิ้นแล้ว ที่ดินมรดกของนายประยูรอันเคยเป็นทรัพย์จำนองต้องตกเป็นของจำเลย และจำเลยมีสิทธิที่จะโอนที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลยหรือบุคคลใดตามที่เห็นสมควรก็ได้ จึงเป็นเรื่องที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายโดยไม่ต้องพิจารณาว่าที่ดินมรดกอันเคยเป็นทรัพย์จำนองมีราคาเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับเงิน 15,000,000 บาท ที่จำเลยชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ไปหรือไม่ อีกทั้งการจัดสรรทรัพย์สินของเจ้ามรดกเพื่อชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดกก็ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ในมาตรา 1740 ด้วยการเอาทรัพย์สินของเจ้ามรดกออกขายทอดตลาดแล้ว นำเงินที่ได้ไปชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้กองมรดก และแม้ข้อเท็จจริงจะได้ความในตอนต่อมาว่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2553 จำเลยเคยยื่นคำร้อง ขอให้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรขายที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.6 ให้แก่จำเลยในฐานะผู้ซื้อ แต่เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำเลยส่งสำเนาคำร้องแก่ทายาทของนายประยูรเพื่อให้มีโอกาสโต้แย้งคัดค้าน กรณีกลับปรากฏว่า เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2553 อันเป็นเวลาหลังจากจำเลยยื่นคำร้องดังกล่าวเพียง 4 วัน จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรได้ดำเนินการโอนที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.6 ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยกับโอนที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.7 ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของนางวรรณศรี พี่สาวของจำเลยโดยไม่นำพาต่อข้อห้ามตามมาตรา 1722 ข้างต้น อีกทั้งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2553 จำเลยได้ยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น ขอถอนคำร้องฉบับลงวันที่ 27 กันยายน 2553 ซึ่งการกระทำของจำเลยดังกล่าวไม่เพียงเป็นการทำผิดหน้าที่ผู้จัดการมรดกในทางแพ่ง แต่เป็นการกระทำที่มีเจตนาร้ายทางอาญา โดยหลักฐานบ่งชี้ว่าจำเลยต้องการปกปิดไม่ให้โจทก์ร่วมรับรู้การจัดการมรดกของจำเลย และไม่ต้องการให้โจทก์ร่วมมีส่วนได้รับทรัพย์มรดกของนายประยูรตามกฎหมาย อันเป็นกรณีที่จำเลยซึ่งได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่นตามคำสั่งศาล กระทำนิติกรรมเป็นปฏิปักษ์ต่อกองมรดกและแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น จึงเป็นความผิดฐานยักยอกทรัพย์มรดกตามฟ้องข้อ 2.2 ถึง ข้อ 2.7 ส่วนที่จำเลยนำสืบทำนองว่า ขณะมีชีวิตอยู่ นายประยูรมีความประสงค์จะโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.7 ให้แก่นางวรรณศรีเพื่อเป็นของขวัญในโอกาสที่นางวรรณศรีแต่งงาน แต่เนื่องจากที่ดินติดจำนอง จำเลยจึงโอนที่ดินแปลงนี้ให้นางวรรณศรีหลังจากไถ่ถอนจำนองแล้ว เพื่อให้เป็นไปตามความประสงค์ของนายประยูรนั้น เห็นว่า คำมั่นของนายประยูรว่าจะให้ที่ดินแปลงนี้แก่นางวรรณศรีไม่ได้มีการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 526 จึงไม่อาจรับฟังให้มีผลใช้บังคับ ประกอบกับนายประยูรไม่ได้ทำพินัยกรรมและยังมีชื่อเป็นเจ้าของที่ดินแปลงนี้ขณะถึงแก่ความตาย ที่ดินดังกล่าวจึงตกทอดเป็นทรัพย์มรดกแก่ทายาท โดยจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนายประยูรไม่อาจโอนที่ดินแปลงนี้ไปเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้หนึ่งผู้ใดตามอำเภอใจได้ ทั้งหากจำเลยต้องการโอนที่ดินมรดกแปลงนี้ให้เป็นของนางวรรณศรีแต่เพียงผู้เดียว จำเลยก็สามารถประชุมตกลงกับทายาทผู้มีสิทธิทุกคนแล้วทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความให้ทายาทผู้มีสิทธิได้รับรู้และลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐานตามมาตรา 1750 วรรคสอง แต่จำเลยกลับไม่กระทำ ข้อนำสืบของจำเลยจึงไม่มีน้ำหนักหักล้างข้อกล่าวหาของโจทก์ร่วมได้
ประการสุดท้าย ในส่วนของที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 ซึ่งเป็นที่ดินมีโฉนดเลขที่ 11665 นั้น เห็นว่า ที่ดินแปลงนี้ มีชื่อนายชาลีเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์มาตั้งแต่ปี 2527 จนกระทั่งนายชาลีถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2544 เมื่อนายชาลีถึงแก่ความตายโดยไม่ได้ทำพินัยกรรมที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 จึงเป็นทรัพย์มรดกของนายชาลีที่ตกทอดแก่ทายาทของนายชาลีรวม 8 คน ได้แก่นางทิพย์ปราณี คู่สมรสของนายชาลี บุตรของนายชาลี 5 คน นางสุดใจ มารดาของนายชาลีและนายประยูร บิดาของนายชาลี โดยในเบื้องต้น โจทก์ร่วมซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายชาลีและเป็นทายาทโดยธรรมลำดับ (3) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ไม่มีสิทธิในทรัพย์มรดกของนายชาลีตามมาตรา 1630 วรรคหนึ่ง แต่ต่อมาระหว่างที่การจัดการมรดกของนายชาลียังไม่เสร็จสิ้น นายประยูรได้ถึงแก่ความตาย ที่ดินมรดกของนายชาลีตามฟ้อง ข้อ 2.8 เฉพาะส่วนที่จะตกได้แก่นายประยูรจึงตกทอดมายังโจทก์ร่วม จำเลยและทายาทคนอื่น ๆ ของนายประยูร ซึ่งเมื่อพิจารณาที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 แล้ว จะเห็นได้ว่าที่ดินแปลงนี้มีเนื้อที่ประมาณ 3 งาน 80 ตารางวา โดยเมื่อคำนวณหักส่วนแบ่งสินสมรสกึ่งหนึ่งให้แก่นางทิพย์ปราณี คู่สมรสของนายชาลีตามมาตรา 1625 มาตรา 1532 และมาตรา 1533 แล้ว คงเหลือที่ดินมรดกของนายชาลีที่ต้องแบ่งปันแก่ทายาทของนายชาลีรวม 8 คน เนื้อที่ประมาณ 190 ตารางวา ซึ่งทายาท 8 คนนี้ มีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันคนละ 1 ใน 8 ส่วนหรือคนละประมาณ 23.75 ตารางวา ตามมาตรา 1630 วรรคสอง มาตรา 1633 และมาตรา 1635 (1) สำหรับที่ดินมรดกของนายชาลี เฉพาะส่วนที่จะตกได้แก่ประยูรเนื้อที่ประมาณ 23.75 ตารางวา นั้น เมื่อตกทอดมายังผู้สืบสันดานของนายประยูรได้แก่โจทก์ร่วม จำเลย บุตรคนอื่นและผู้รับมรดกแทนที่รวม 6 ส่วน ซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งเท่ากันแล้วจะปรากฏว่าโจทก์ร่วมมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งที่ดินส่วนนี้ 1 ใน 6 ส่วน คิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 3.95 ตารางวา ซึ่งนับว่าน้อยมาก รูปคดีจีงไม่มีเหตุผลสนับสนุนเพียงพอให้เชื่อได้ว่าจำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรจะทำหน้าที่จัดการมรดกของนายประยูรเฉพาะส่วนนี้ด้วยเจตนาทุจริตตามที่โจทก์ร่วมกล่าวหา ประกอบกับการที่จำเลยดำเนินการโอนที่ดินมรดกของนายชาลีแปลงนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของนางสุดใจมารดาของจำเลยแต่เพียงผู้เดียว เป็นกรณีที่จำเลยกระทำการในฐานะผู้จัดการมรดกของนายชาลี มิใช่กระทำการในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูร แม้การโอนที่ดินมรดกของนายชาลีดังกล่าว จะเป็นการโอนรวมเอาส่วนที่จะตกได้แก่นายประยูรเข้าไปด้วย แต่ข้อเท็จจริงดังที่วินิจฉัยมาก็มีความสงสัยตามสมควรว่า จำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกเกี่ยวกับที่ดินตามฟ้อง ข้อ 2.8 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนายประยูรหรือไม่ จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 227 วรรคสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกฟ้องโจทก์ ซึ่งรวมถึงโจทก์ร่วมเสียทั้งหมดมานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยบางส่วนว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ 2.1 ถึง ข้อ 2.7 โดยมิได้กระทำความผิดตามฟ้อง ข้อ 2.8 ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนฎีกาของโจทก์ร่วมฟังขึ้นบางส่วน และเมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งการกระทำความผิดของจำเลยแล้ว เห็นว่า ในช่วงเวลาที่จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดกทั้งสองรายเมื่อปี 2549 และปี 2551 นั้น เจ้ามรดกทั้งสองรายถูกเจ้าหนี้ฟ้องบังคับให้ชำระหนี้คิดเป็นเงินหลายสิบล้านบาท พร้อมบังคับจำนองที่ดินพิพาทในคดีนี้รวม 6 แปลง แต่จำเลยสามารถเจรจาลดยอดหนี้จากยอดหนี้กว่า 51 ล้านบาทเหลือเพียง 15 ล้านบาท และแก้ปัญหาด้วยการขายที่ดินมีโฉนดของตนเองนำเงินไปชำระหนี้ดังกล่าวจนครบถ้วน จนเจ้าพนักงานบังคับคดีได้ถอนการยึดทรัพย์ มิเช่นนั้นทรัพย์มรดกอาจถูกบังคับชำระหนี้หมดไป กรณีมีผลทำให้โจทก์ร่วมและทายาททุกคนมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งในทรัพย์มรดกตามส่วน เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยกระทำความผิดหรือได้รับโทษจำคุกมาก่อน ประกอบกับพฤติการณ์ที่จำเลยขวนขวายจนได้ทรัพย์มรดกคืนมา จึงมีเหตุสมควรลงโทษสถานเบาและสมควรรอการลงโทษจำคุกแก่จำเลย
อนึ่ง ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 26) พ.ศ.2560 มาตรา 4 ให้ยกเลิกอัตราโทษในมาตรา 352 วรรคแรก และมาตรา 354 ให้ใช้อัตราโทษใหม่แทน ปรากฎว่าโทษจำคุกตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกเท่ากัน ส่วนโทษปรับตามกฎหมายที่แก้ใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่ไม่เป็นคุณแก่จำเลยจึงต้องใช้กฎหมายเดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ขณะกระทำความผิดบังคับแก่จำเลย
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 352 วรรคแรก (เดิม) ประกอบมาตรา 354 (เดิม) การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันให้ลงโทษทุกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ลงโทษจำคุกจำเลยกระทงละ 6 เดือน และปรับกระทงละ 6,000 บาท ทางนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กระทงละหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงลงโทษจำคุกกระทงละ 4 เดือน และปรับกระทงละ 4,000 บาท รวม 7 กระทง เป็นจำคุกจำเลยมีกำหนด 28 เดือน และปรับ 28,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6