โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูลเฉพาะจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้ประทับฟ้อง ส่วนจำเลยที่ 1 ให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งสองอุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาในศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองนำสืบโดยมีสัญญาบันทึกข้อตกลงมาแสดง ซึ่งสัญญาบันทึกข้อตกลงระบุชัดว่าทั้งสองฝ่ายตกลงซื้อขายหุ้น 3 โครงการ โดยโจทก์ทั้งสองในฐานะผู้จะซื้อจะชำระเงินโดยต้องรับผิดชอบรายการตามเช็คจำนวน 107 ฉบับ เป็นเงิน 115,000,000 บาท และรายการตามเช็คจำนวน 69 ฉบับ เป็นเงิน 69,000,000 บาท รวมเป็นเงิน 184,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าซื้อหุ้นทั้ง 3 โครงการ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ในฐานะผู้จะขายตกลงจะโอนหุ้นในส่วนของผู้จะขายให้แก่ผู้จะซื้อตามเวลาที่ได้ตกลงกัน ไม่มีข้อความตอนใดที่ระบุว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำหุ้นทั้ง 3 โครงการ มาเป็นหลักประกันการชำระหนี้กู้ยืม หรือมีข้อความในทำนองว่าหากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่ชำระหนี้เงินกู้ก็จะโอนหุ้นทั้ง 3 โครงการ แทนการชำระหนี้ดังที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบปฏิเสธ ทั้งเมื่อโจทก์ทั้งสองนำสัญญาบันทึกข้อตกลง ยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญา ศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิจารณาโดยชัดแจ้งแล้วว่าสัญญาบันทึกข้อตกลงดังกล่าวเป็นบันทึกข้อตกลงซื้อขายหุ้นกันจริง จำเลยที่ 2 และที่ 3 ต้องร่วมรับผิดโอนหุ้นในบริษัทจำเลยที่ 1 ให้แก่โจทก์ทั้งสองตามคำพิพากษา ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ดังนี้ เมื่อข้อเท็จจริงตามพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองและจำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบในคดีแพ่ง เป็นข้อเท็จจริงเช่นเดียวกับข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานในคดีนี้ โดยโจทก์ทั้งสองนำพยานหลักฐานมาสืบชัดแจ้งว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ตกลงจะขายหุ้นทั้ง 3 โครงการให้โจทก์ทั้งสอง และโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จนเสร็จสิ้นแล้ว พยานหลักฐานที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 นำสืบไม่สามารถหักล้างพยานหลักฐานที่โจทก์ทั้งสองนำสืบได้ กลับได้ความจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 เองว่าโจทก์ทั้งสองได้ชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 แล้ว ตามรายการสั่งจ่ายเช็คในสัญญาบันทึกข้อตกลงแผ่นที่ 2 ถึงที่ 6 ข้อเท็จจริงจึงรับฟังได้โดยปราศจากสงสัยว่าสัญญาบันทึกข้อตกลงเป็นสัญญาจะซื้อจะขายหุ้นกันจริง และโจทก์ทั้งสองชำระเงินให้แก่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เรียบร้อยแล้ว เมื่อโจทก์ทั้งสองได้ใช้สิทธิทางศาลยื่นฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นให้แก่โจทก์ทั้งสองตามสัญญา จำเลยที่ 2 และที่ 3 รู้อยู่แล้วว่าตนถูกฟ้องคดีดังกล่าวตามรายงานการส่งหมายของเจ้าหน้าที่ แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับโอนหุ้นของตนที่ถือไว้ให้แก่บุคคลภายนอก โดยมีหนังสือนำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นเมื่อวันที่ 2 มกราคม 2557 อันเป็นการส่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้กระทำการดังกล่าวไปในระหว่างที่โจทก์ทั้งสองได้ใช้สิทธิเรียกร้องทางศาลให้ชำระหนี้ เพื่อมิให้โจทก์ทั้งสองซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้รับชำระหนี้คือหุ้นของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ครบองค์ประกอบความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กลับมาเป็นผู้ถือหุ้นดังเดิมแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2557 ก็ไม่ทำให้การกระทำของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นความผิดสำเร็จแล้วต้องหลุดพ้นจากความรับผิดในทางอาญา พิพากษากลับเป็นว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ประกอบมาตรา 83 จำคุกคนละ 1 ปี
จำเลยที่ 2 และที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติโดยคู่ความไม่โต้แย้งกันในชั้นนี้ว่า เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2554 โจทก์ทั้งสองกับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำบันทึกระหว่างกันว่าคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายตกลงซื้อขายหุ้นโครงการคูล เรสซิเด้นท์ โครงการซีตรัส 22 และโครงการแอล แอนด์ แอล (กระบี่) โดยโจทก์ทั้งสองผู้จะซื้อจะชำระเงินโดยต้องรับผิดชอบรายการตามเช็ค 107 ฉบับ เป็นเงิน 115,000,000 บาท และรายการตามเช็ค 69 ฉบับ เป็นเงิน 69,000,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 184,000,000 บาท ส่วนจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้จะขายขอรับรองว่าจะโอนหุ้นในส่วนของผู้จะขายทั้งหมดให้ผู้จะซื้อตามเวลาที่ได้ตกลงกัน จำเลยที่ 2 และที่ 3 ได้โอนหุ้นโครงการซีตรัส 22 และโครงการแอล แอนด์ แอล (กระบี่) ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้โจทก์ทั้งสองแล้ว แต่ไม่โอนหุ้นโครงการคูล เรสซิเด้นท์ ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้โจทก์ทั้งสอง โจทก์ทั้งสองจึงฟ้องต่อศาลแพ่งกรุงเทพใต้ขอให้บังคับจำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นโครงการคูล เรสซิเด้นท์ ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้โจทก์ทั้งสอง ระหว่างการดำเนินคดีดังกล่าว จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นโครงการคูล เรสซิเด้นท์ ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้นายจารุเดช และนายเกียรติศักดิ์ ต่อมาศาลแพ่งกรุงเทพใต้พิพากษาให้จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นโครงการคูล เรสซิเด้นท์ ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้โจทก์ทั้งสอง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการแรกว่า ศาลจังหวัดตลิ่งชันมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้หรือไม่ พิเคราะห์แล้ว กรณีการกระทำความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ถือได้ว่าเป็นการกระทำความผิดต่อเนื่องกันในท้องที่ต่าง ๆ ตั้งแต่ท้องที่ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 โอนหุ้นโครงการคูล เรสซิเด้นท์ ในส่วนของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ให้บุคคลภายนอก และท้องที่ที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 จัดให้มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น รวมทั้งท้องที่ที่จำเลยที่ 2 นำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้น ซึ่งโจทก์ทั้งสองได้บรรยายฟ้องระบุว่าจำเลยที่ 2 นำส่งสำเนาบัญชีรายชื่อผู้ถือหุ้นต่อนายทะเบียนหุ้นส่วนบริษัท สำนักงานพัฒนาธุรกิจการค้าเขต 1 (ปิ่นเกล้า) ถนนบรมราชชนนี แขวงบางบำหรุ เขตบางพลัด กรุงเทพมหานคร เมื่อเขตบางพลัดอยู่ในเขตอำนาจของศาลจังหวัดตลิ่งชัน โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 ฐานร่วมกันโกงเจ้าหนี้ต่อศาลจังหวัดตลิ่งชันซึ่งเป็นศาลที่ความผิดเกิดขึ้น อ้าง หรือเชื่อว่าได้เกิดขึ้น ศาลจังหวัดตลิ่งชันจึงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีนี้ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 22 วรรคหนึ่ง ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาข้อกฎหมายต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการต่อมาว่า ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยรับฟังพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองในชั้นไต่สวนมูลฟ้องไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 วรรคสองหรือไม่ พิเคราะห์แล้ว ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 237 วรรคสอง เป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์และจำเลย บัญญัติว่า "ในกรณีที่คู่ความตกลงกัน ศาลอาจอนุญาตให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณา โดยพยานไม่ต้องเบิกความใหม่หรือให้พยานเบิกความตอบคำถามค้านของจำเลยไปทันทีได้ เว้นแต่ในข้อหาความผิดที่กฎหมายกำหนดอัตราโทษอย่างต่ำจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไปหรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น" ซึ่งความผิดที่โจทก์ทั้งสองฟ้องจำเลยที่ 2 และที่ 3 มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินสองปี ไม่เข้าข้อยกเว้นตอนท้ายของบทบัญญัติดังกล่าว คดีนี้โจทก์ทั้งสองสืบพยานชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าคดีมีมูล ในชั้นพิจารณา ศาลชั้นต้นจดรายงานกระบวนพิจารณาฉบับลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2558 ว่า คู่ความร่วมกันแถลงว่าสำหรับพยานโจทก์ปากนายธีรไชย์ นายไบจู และโจทก์ที่ 2 ได้เบิกความไว้ในชั้นไต่สวนมูลฟ้อง ขออนุญาตศาลให้ถือเอาบันทึกคำเบิกความพยานในชั้นไต่สวนมูลฟ้องเป็นคำเบิกความพยานในชั้นพิจารณา ศาลอนุญาต ดังนี้ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจนำบันทึกคำเบิกความในชั้นไต่สวนมูลฟ้องมาเป็นคำเบิกความในชั้นพิจารณาได้ ตามบทบัญญัติมาตรา 237 วรรคสอง การที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยความผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 โดยรับฟังพยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองในชั้นไต่สวนมูลฟ้องจึงชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
ส่วนฎีกาของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ประการสุดท้ายที่ว่า พยานหลักฐานโจทก์ทั้งสองในชั้นพิจารณายังรับฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 2 และที่ 3 กระทำความผิดฐานโกงเจ้าหนี้นั้น พิเคราะห์แล้ว เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงซึ่งศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยปัญหาข้อเท็จจริงไว้ชอบด้วยเหตุผลแล้ว ศาลฎีกาจึงไม่รับฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2 และที่ 3 ไว้พิจารณาพิพากษา ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 23 วรรคหนึ่ง
พิพากษายืน