โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ลงโทษจำคุก 2 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบพิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มีฐานะเป็นองค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชน จำกัด มีกระทรวงการคลังเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่เกินกว่าร้อยละ 50 มีฐานะเป็นรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ตามหนังสือรับรองกระทรวงคมนาคม ที่ คค 0206/414 ลงวันที่ 19 มกราคม 2552 มีวัตถุประสงค์ทำการขนส่งคน สิ่งของและไปรษณียภัณฑ์ทางอากาศและกิจการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกัน มีคณะกรรมการบริษัทเป็นผู้มีอำนาจดำเนินกิจการและมีอำนาจแต่งตั้งบุคคลอื่นใดให้ดำเนินกิจการของบริษัทภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการหรือมอบอำนาจเพื่อให้บุคคลดังกล่าวมีอำนาจตามที่คณะกรรมการเห็นสมควรเพื่อแบ่งเบาภาระหน้าที่ของคณะกรรมการ ขณะเกิดเหตุคดีนี้จำเลยดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และได้รับแต่งตั้งจากประธานกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เมื่อวันที่ 14 พฤศจิกายน 2552 จำเลย และนางจารุวรรณ ภริยาจำเลยเดินทางโดยสารเครื่องบินของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เที่ยวบินที่ TG 677 เส้นทางโตเกียว – กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีนางพิมใจ เดินทางโดยสารเครื่องบินเที่ยวเดียวกันนี้มาด้วย พนักงานรับแจ้งการเดินทางออกใบขนสัมภาระของจำเลย นางจารุวรรณ และนางพิมใจรวมเข้าด้วยกันในนามของนางจารุวรรณ โดยระบุจำนวนสัมภาระ 30 ชิ้น น้ำหนักรวม 398 กิโลกรัม ต่อมามีผู้ร้องเรียนเรื่องดังกล่าว ประธานกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงมีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ผลการสอบข้อเท็จจริงคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงสรุปว่าจำเลยขนสัมภาระเกินสิทธิจำนวน 228 กิโลกรัม โดยไม่ได้รับการอนุมัติน้ำหนักส่วนที่เกินสิทธิ ทำให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จึงฟ้องขอให้บังคับจำเลย นางจารุวรรณ และนางพิมใจ ร่วมกันชำระค่าระวางขนส่งสัมภาระตามน้ำหนักส่วนที่เกินสิทธิ คดีดังกล่าวถึงที่สุดแล้ว โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนเพื่อดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีที่มีการกล่าวหาว่าจำเลยใช้อำนาจในตำแหน่งหน้าที่โดยทุจริต ขนสัมภาระเกินสิทธิขึ้นเครื่องบิน ณ สนามบินนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น โดยสั่งการให้นายกุศล แก้ไขตัวเลขน้ำหนักสัมภาระ ทำให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้รับความเสียหาย คณะอนุกรรมการไต่สวนแล้วเห็นว่า การกระทำของจำเลยมีมูลความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด หรือปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 โจทก์มีมติเห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการไต่สวนดังกล่าวจึงส่งรายงาน สำนวนการไต่สวนและเอกสารหลักฐานเพื่อให้อัยการสูงสุดยื่นฟ้องจำเลย แต่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยได้ หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่วมกันแล้ว ไม่อาจหาข้อยุติได้ โจทก์จึงยื่นฟ้องคดีเอง ที่จำเลยแก้ฎีกาว่า การกระทำที่โจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำความผิดคดีนี้ เป็นการกระทำที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร การสอบสวนจึงต้องอยู่ภายใต้บังคับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ที่บัญญัติให้อัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนเป็นพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ เมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ด้วยตนเองโดยอัยการสูงสุดหรือผู้รักษาการแทนไม่ได้เป็นพนักงานสอบสวน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 มาตรา 19 (4/2) ซึ่งเป็นกฎหมายพิเศษบัญญัติให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยการกระทำความผิดที่อยู่ในอำนาจของคณะกรรมการ ป.ป.ช. ที่ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย อันเป็นการขัดหรือแย้งกับประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 20 ซึ่งเป็นกฎหมายทั่วไป จึงทำให้โจทก์มีอำนาจไต่สวนและวินิจฉัยความผิดที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรได้ ทั้งตามพระราชบัญญัติดังกล่าวได้กำหนดวิธีการดำเนินคดีที่แตกต่างจากการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไป เมื่อโจทก์ส่งรายงาน เอกสารและความเห็นไปยังอัยการสูงสุดเพื่อให้ฟ้องคดี แต่อัยการสูงสุดเห็นว่าสำนวนการไต่สวนยังไม่สมบูรณ์พอที่จะดำเนินคดีแก่จำเลยได้ หลังจากมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาร่วมกันแล้ว ไม่อาจหาข้อยุติได้ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีนี้ตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 มาตรา 192 วรรคสาม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่า นายกุศลเป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของจำเลย ไม่ได้มีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลย ได้ให้การในทำนองเดียวกันนี้มาโดยตลอด ทั้งยังมีเอกสารหลักฐานการแก้ไขน้ำหนักสัมภาระมาแสดงยืนยัน นอกจากนี้ยังปรากฏว่าจำเลยเคยมีหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวต่อประธานกรรมการบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าขณะที่จำเลยเข้าเช็คอินมีเจ้าหน้าที่ของวัดปากน้ำญี่ปุ่นได้ขอความอนุเคราะห์จากจำเลยในการฝากผลไม้และอาหารแห้งที่ญาติโยมขอให้นำไปถวายสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ กรุงเทพมหานคร จำเลยจึงรับฝากของดังกล่าว และจำเลยเคยให้การต่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ว่าเมื่อจำเลยเข้าเช็คอินได้พบกับนางพิมใจ นางพิมใจบอกว่ามีของฝากวัดปากน้ำญี่ปุ่นขอให้นำไปด้วยได้หรือไม่ จำเลยตอบว่าเอาไปด้วยก็ได้ ซึ่งเป็นการสอดคล้องกับคำให้การและคำเบิกความของนายกุศล คำให้การและคำเบิกความของนายกุศลจึงมิใช่เป็นคำให้การและคำเบิกความเพียงลอย ๆ เมื่อโจทก์มีนายกุศลซึ่งเป็นประจักษ์พยานมาเบิกความยืนยันข้อเท็จจริงตามคำให้การเช่นนี้แล้ว แม้โจทก์ไม่ได้สอบปากคำนายเก่งเป็นพยานไว้ในชั้นไต่สวนข้อเท็จจริงและไม่ได้นำนายเก่งมาเบิกความเป็นพยานก็หามีผลทำให้พยานหลักฐานของโจทก์ต้องเสียไปหรือขาดน้ำหนักในการรับฟังแต่อย่างใดไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าจำเลยรู้เห็นยินยอมให้นางพิมใจนำสัมภาระของนางพิมใจมาชั่งน้ำหนักรวมกัน (Pool check) กับสัมภาระของจำเลยและภริยา การที่นายกุศลถามจำเลยเรื่องน้ำหนักสัมภาระว่าจะให้ทำอย่างไร จำเลยบอกให้แก้ไขให้ด้วย แสดงว่าจำเลยต้องทราบแล้วว่าสัมภาระทั้งหมด 30 ชิ้น มีน้ำหนักรวม 398 กิโลกรัม เกินกว่าจำนวนน้ำหนักสัมภาระที่จำเลย ภริยาจำเลยและนางพิมใจมีสิทธิได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียค่าระวางสัมภาระ จำเลยต้องเสียค่าระวางในส่วนของน้ำหนักสัมภาระที่เกินนั้น จำเลยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจ มีอำนาจหน้าที่กำกับ ดูแล การปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารให้เป็นไปตามกลยุทธ์ นโยบาย แผนวิสาหกิจ แผนปฏิบัติการของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และต้องรักษาผลประโยชน์ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ภาระหน้าที่นี้คงมีอยู่ตลอดเวลาจนกว่าจะพ้นจากตำแหน่ง การเดินทางในเที่ยวบินดังกล่าวจำเลยจะไปในฐานะส่วนตัวหรือไม่จึงไม่ใช่ข้อสาระสำคัญ การที่จำเลยสั่งให้นายกุศลซึ่งเป็นพนักงานผู้บริหารมีหน้าที่เรียกเก็บค่าระวางสัมภาระให้แก้ไขน้ำหนักสัมภาระเพื่อละเว้นไม่เรียกเก็บค่าระวางสัมภาระตามระเบียบ มีผลทำให้บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ขาดรายได้จากค่าระวางสัมภาระที่ควรจะได้รับ ซึ่งเท่ากับว่าจำเลยไม่ได้กำกับ ดูแล การปฏิบัติงานของฝ่ายบริหารให้เป็นไปตามนโยบายของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) และไม่ได้รักษาผลประโยชน์ของบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ตามหน้าที่ของตน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานเป็นพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น แต่เมื่อพิเคราะห์ถึงพฤติการณ์แห่งคดีแล้วเห็นว่า จำเลยกระทำไปเพื่อช่วยเหลืออนุเคราะห์เป็นประโยชน์แก่ทางวัด มิได้มุ่งหวังหาผลประโยชน์ทางธุรกิจแก่ตนเองหรือผู้อื่นประกอบกับจำเลยเป็นผู้สูงอายุอยู่ในวัยชรา จึงสมควรให้โอกาสจำเลยได้กลับตนเป็นพลเมืองดี
พิพากษากลับว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์การหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2502 มาตรา 11 จำคุก 2 ปี และปรับ 10,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาให้จำเลยฟัง ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 (ที่แก้ไขใหม่) ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 (ที่แก้ไขใหม่)