คดีสืบเนื่องจากโจทก์ฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุด และโจทก์บอกเลิกสัญญาแล้ว ขอให้บังคับจำเลยชดใช้คืนเงิน 1,676,800 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของต้นเงิน 1,026,434 บาท นับตั้งแต่วันถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ก่อนยื่นคำให้การ จำเลยยื่นคำร้องขอให้จำหน่ายคดีโจทก์ตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้จำหน่ายคดีออกจากสารบบความ ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังเป็นยุติว่า จำเลยประกอบกิจการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์และเป็นเจ้าของอาคารชุดในโครงการ ด. เพื่อจำหน่ายแก่ลูกค้า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 โจทก์ทำสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดในโครงการดังกล่าวจำนวน 3 ห้อง ซึ่งตามสัญญาทั้งสามฉบับมีข้อกำหนดข้อ 10.4 เหมือนกันว่า "คู่สัญญาตกลงกันว่าในกรณีที่มีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นระหว่างคู่สัญญา ที่เกิดขึ้นหรือเกี่ยวข้องกับข้อกำหนดแห่งสัญญานี้ และคู่สัญญาไม่สามารถตกลงกันได้ คู่สัญญาทั้งสองฝ่ายจะส่งข้อขัดแย้งดังกล่าวเพื่อให้บรรลุข้อตกลงโดยอนุญาโตตุลาการตามระเบียบข้อบังคับอนุญาโตตุลาการของสถาบันอนุญาโตตุลาการไทย สำนักงานศาลยุติธรรม" อันเป็นสัญญาอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 11 ต่อมาโจทก์กล่าวอ้างว่าจำเลยกระทำผิดสัญญาจะซื้อจะขายดังกล่าวและยื่นฟ้องเป็นคดีนี้
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522 เป็นกฎหมายที่ให้ความคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคซึ่งโดยสภาพแล้วมักอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบผู้ประกอบธุรกิจทั้งในด้านความรู้ทางเทคโนโลยี คุณภาพสินค้าหรือบริการ และเทคนิคการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคม และเมื่อเกิดข้อพิพาทระหว่างผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจ กระบวนการในการระงับข้อพิพาทเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภคเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพสมดังเจตนารมณ์ของกฎหมายนับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ออกใช้บังคับแก่คดีผู้บริโภค ภายใต้หลักการให้การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็วและเป็นธรรม ศาลเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการดำเนินกระบวนพิจารณาหลายประการ เช่น การสั่งให้คู่ความแก้ไขกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบให้ถูกต้องตามมาตรา 9 การไต่สวนพยานโดยศาลเป็นผู้ซักถามพยานเองตามมาตรา 34 กับทั้งยังให้อำนาจประธานศาลฎีกาออกข้อกำหนดโดยความเห็นชอบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อให้การดำเนินกระบวนพิจารณาเป็นไปตามหลักการข้างต้นได้ตามมาตรา 6 ในส่วนการพิพากษาคดีนั้น หากความปรากฏแก่ศาลว่าจำนวนค่าเสียหายที่โจทก์เรียกร้องไม่ถูกต้องหรือวิธีการบังคับตามคำขอของโจทก์ไม่เพียงพอต่อการแก้ไขเยียวยาความเสียหาย มาตรา 39 ยังให้อำนาจศาลที่จะยกขึ้นวินิจฉัยให้ถูกต้องหรือกำหนดวิธีการบังคับให้เหมาะสมได้แม้จะเกินกว่าคำขอของโจทก์ และมาตรา 40 ให้อำนาจศาลกล่าวสงวนสิทธิที่จะแก้ไขคำพิพากษาเกี่ยวกับความเสียหายซึ่งพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้ในเวลาที่พิพากษาคดีนั้นได้ รวมทั้งมีอำนาจสั่งให้ผู้ประกอบธุรกิจจ่ายค่าเสียหายเพื่อการลงโทษตามมาตรา 42 นอกจากนี้ มาตรา 20 ยังให้ความสะดวกแก่ผู้ฟ้องคดีผู้บริโภคว่าจะฟ้องด้วยวาจาหรือเป็นหนังสือก็ได้ และกรณีที่ผู้บริโภคเป็นผู้ฟ้องคดี ตามมาตรา 18 ยังบัญญัติให้ได้รับยกเว้นค่าฤชาธรรมเนียมทั้งปวง จึงต้องถือว่าพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 เป็นบทกฎหมายที่กำหนดวิธีการระงับข้อพิพาทในคดีผู้บริโภคไว้โดยเฉพาะเพื่อให้การคุ้มครองผู้บริโภคตามเจตนารมณ์ของกฎหมายให้เป็นไปโดยมีประสิทธิภาพ ส่วนการระงับข้อพิพาทด้วยวิธีการทางอนุญาโตตุลาการ แม้จะเป็นวิธีการที่คู่สัญญาอาจเลือกใช้ในการระงับข้อพิพาทและมีผลใช้บังคับกันได้ตามข้อตกลงของคู่สัญญาตามหลักเสรีภาพของการแสดงเจตนา แต่ก็ต้องเป็นข้อตกลงที่เกิดขึ้นด้วยความสมัครใจของผู้บริโภคอย่างแท้จริง ผู้บริโภคต้องมีโอกาสต่อรองหรือตระหนักดีว่าการดำเนินกระบวนการพิจารณาชั้นอนุญาโตตุลาการซึ่งกล่าวเฉพาะคดีนี้ ต้องบังคับตามข้อบังคับสำนักงานศาลยุติธรรมว่าด้วยอนุญาโตตุลาการ สถาบันอนุญาโตตุลาการ ซึ่งมีขั้นตอนและวิธีปฏิบัติแตกต่างจากบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 หลายประการ เริ่มแต่ชั้นเสนอข้อพิพาทที่ต้องทำเป็นหนังสือและประกอบด้วยรายละเอียดต่าง ๆ การเสนอชื่อและคัดค้านอนุญาโตตุลาการ รวมทั้งภาระในค่าธรรมเนียม ค่าใช้จ่ายและค่าป่วยการต่าง ๆ ในการดำเนินกระบวนพิจารณา ซึ่งโดยรวมแล้วอาจเป็นการเพิ่มภาระแก่ผู้บริโภคที่พึงมี แต่ขณะเดียวกันก็เป็นการลดทอนสิทธิที่ผู้บริโภคพึงได้รับตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 อยู่มาก โดยที่สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยเป็นสัญญาจะซื้อจะขายห้องชุดซึ่งต้องอยู่ในบังคับพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ. 2522 มาตรา 6/2 กล่าวคือ แบบของสัญญาต้องเป็นไปตามที่รัฐมนตรีกำหนด การที่จำเลยผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาเป็นแบบมาตรฐานให้ผู้บริโภคที่จะซื้อห้องชุดต้องยอมรับข้อสัญญา ข้อ 10.4 ที่บังคับให้การระงับข้อพิพาทต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการสถานเดียว โดยไม่ได้ให้สิทธิแก่โจทก์ที่จะเลือกใช้สิทธิทางศาลตามกฎหมายว่าด้วยการนี้โดยเฉพาะได้เช่นนี้ นอกจากจะขัดต่อเจตนารมณ์ของบทกฎหมายที่เกี่ยวข้องในอันที่จะคุ้มครองผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นข้อตกลงที่นอกเหนือไปจากแบบที่รัฐมนตรีกำหนดและไม่เป็นคุณต่อโจทก์ผู้จะซื้อ ซึ่งไม่มีผลใช้บังคับตามมาตรา 6/2 วรรคสอง ทั้งมีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระเกินกว่าที่โจทก์พึงมีตามบทกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันถือได้ว่าข้อสัญญาข้อนี้เป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ 2540 มาตรา 4 วรรคสามด้วย กรณีจึงมีเหตุที่ทำให้สัญญาอนุญาโตตุลาการตามสัญญาข้อ 10.4 ใช้บังคับไม่ได้ โจทก์ย่อมฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้โดยไม่จำต้องไปดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการตามพระราชบัญญัติอนุญาโตตุลาการ พ.ศ. 2545 มาตรา 14 วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น
พิพากษากลับเป็นว่า ให้เพิกถอนคำสั่งจำหน่ายคดีของศาลชั้นต้น กับให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปแล้วมีคำสั่งหรือคำพิพากษาตามรูปคดี ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลในชั้นนี้ให้เป็นพับ