โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินและสิ่งปลูกสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และแก้ไขสารบัญจดทะเบียนใส่ชื่อโจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว โดยให้จำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้โจทก์โดยปลอดภาระผูกพันใด ๆ ทั้งสิ้น และส่งมอบโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ หากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาหากจำเลยทั้งสามจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างให้โจทก์โดยปลอดภาระผูกพันไม่ได้ ให้จำเลยทั้งสามชดใช้ค่าเสียหายให้โจทก์จำนวน 100,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ .7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสามให้การและแก้ไขคำให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้ตกเป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนโอนมรดกที่ดินโฉนดเลขที่ 4761 เลขที่ดิน 189 ตำบลสุริยวงศ์ (บางรัก) อำเภอบางรัก กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างบนโฉนดที่ดินดังกล่าว คือ บ้านเลขที่ 5 ซอยประดิษฐ์ แขวงสุริยวงศ์ เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ที่ได้จดทะเบียนเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2539 ให้จำเลยทั้งสามไปดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยปลอดจากภาระผูกพันใด ๆ และส่งมอบโฉนดที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์หากจำเลยทั้งสามไม่ดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่โจทก์ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม หรือหากดำเนินการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ให้ไม่ได้ให้จำเลยทั้งสามชดใช้ราคา 100,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์โดยกำหนดค่าทนายความ 40,000 บาท แทนโจทก์
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "...พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่า นายอัมพรและนางบุญล้วน มีบุตรด้วยกัน 5 คน นายไพศาล นางพิจิตรา นายไพโรจน์ นางมาลี และโจทก์คดีนี้ ปัจจุบันนายไพศาลและนางมาลีได้เสียชีวิตแล้ว เดิมที่พร้อมบ้านพิพาทมีชื่อนางบุญล้วนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ต่อมาวันที่ 27 กรกฎาคม 2491 นางบุญล้วนจดทะเบียนเพิ่มชื่อนายอัมพรเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วม ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2504 นายอัมพรและนางบุญล้วนจดทะเบียนโอนให้นายไพศาล และเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2506 นายไพศาลจดทะเบียนโอนให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 12 พฤศจิกายน 2516 โจทก์จดทะเบียนโอนกลับคืนให้นางบุญล้วน และเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2520 นางบุญล้วนจดทะเบียนโอนให้แก่นางมาลี ภายหลังนางมาลีถึงแก่ความตายแล้วเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2539 จำเลยที่ 1 ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางมาลีจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้จำเลยที่ 2 และจำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นบุตรของจำเลยที่ 1 กับนางมาลีปรากฏตามโฉนดที่ดินและสารบัญการจดทะเบียนโอนที่ดิน
มีปัญหาต้องพิจารณาตามฎีกาของจำเลยทั้งสามว่า ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์หรือไม่ จำเลยทั้งสามอ้างว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของนางมาลี และโจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนโจทก์นำสืบว่าที่ดินพร้อมบ้านพิพาท นายอัมพรและนางบุญล้วน บิดามารดายกให้โจทก์ แต่ที่ต้องใส่ชื่อนางมาลีไว้ในฐานะเจ้าของเนื่องจากโจทก์ประกอบธุรกิจมีหนี้สินล้นพ้นตัวกลัวว่าเจ้าหนี้จะมานำยึด ส่วนจำเลยทั้งสามนำสืบว่า นางบุญล้วนมารดายกให้นางมาลี ผู้เป็นบุตรโดยไม่มีเงื่อนไข มีข้อพิจารณาตามข้อวินิจฉัยของศาลอุทธรณ์ว่า ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์เนื่องด้วยเหตุผล 2 ประการ ประการแรกศาลอุทธรณ์ เห็นว่า คำเบิกความของนางพิจิตรา ซึ่งเป็นพี่สาวของนางมาลีและโจทก์ เป็นพยานคนกลาง คำเบิกความมีน้ำหนักน่าเชื่อถือส่วนเหตุผลประการที่สองคือ จดหมายของนางมาลีที่เขียนถึงโจทก์แผ่นที่ 2 มีข้อความว่า "พี่คิดว่าจะพยายาม HOLD บ้านสุรวงศ์นี้ให้ออมสินได้เท่านั้น" คำว่า "HOLD" ตามเจตนาของนางมาลีน่าจะแปลว่า ยึดถือ ซึ่งจะแปลความได้ว่า นางมาลีพยายามจะยึดถือบ้านสุรวงศ์นี้ให้โจทก์ เห็นว่า ข้อเท็จจริงที่โจทก์และจำเลยทั้งสามนำสืบรับกันบางส่วนได้ความว่า เดิมนายอัมพรและนางบุญล้วน บิดามารดาเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมบ้านพิพาท ต่อมาวันที่ 5 มีนาคม 2495 นายอัมพรก่อตั้งบริษัทธัญญะไทย จำกัด โดยนายอัมพรเป็นกรรมการผู้จัดการปรากฏตามหนังสือรับรองโจทก์ระบุว่านายอัมพรกู้เงินจากธนาคารมาประกอบกิจการและเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงินดังกล่าว ต่อมาวันที่ 30 พฤษภาคม 2504 นายอัมพรและนางบุญล้วนจดทะเบียนโอนที่ดินและบ้านพิพาทให้นายไพศาล พี่ชายโจทก์ ต่อมาวันที่ 15 พฤษภาคม 2506 นายไพศาลจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้โจทก์ ต่อมาวันที่ 5 มกราคม 2516 โจทก์จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทภักดีอินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ปรากฏตามหนังสือรับรอง โดยโจทก์กู้เงินจากธนาคารมาเป็นทุนในการประกอบกิจการและเกรงว่าจะเกิดปัญหาในทางการเงินและถูกยึดทรัพย์สิน และวันที่ 12 พฤศจิกายน 2516 โจทก์จึงจดทะเบียนโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทคืนให้นางบุญล้วนปรากฏตามหนังสือสัญญาให้ที่ดิน ต่อมาวันที่ 20 สิงหาคม 2519 โจทก์จดทะเบียนก่อตั้งบริษัทโรงพยาบาลเพชรบุรี จำกัด โดยโจทก์เป็นกรรมการผู้จัดการ ปรากฏตามหนังสือรับรอง โดยมีนายอัมพรเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ทั้งสองบริษัทดังกล่าว ต่อมากิจการทั้งสองของบริษัทของโจทก์ประสบกับการขาดทุน โจทก์เกรงว่าธนาคารเจ้าหนี้จะบังคับเอากับทรัพย์สินของบริษัททั้งสองและทรัพย์สินของนายอัมพรในฐานะผู้ค้ำประกันจึงปรึกษากับนายอัมพร นางบุญล้วนและพี่น้องคนอื่น ๆ ตกลงให้นางบุญล้วนโอนที่ดินพร้อมบ้านพิพาทให้นางมาลี ปรากฏตามสัญญาให้ที่ดิน ซึ่งขณะนั้นนางมาลีจดทะเบียนหย่ากับจำเลยที่ 1 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 25 ธันวาคม 2518 ปรากฏตามบันทึกการหย่า เห็นว่า พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกับโจทก์มีจำนวน 5 คน นายอัมพร นางบุญล้วน บิดามารดาโจทก์ นายไพศาลพี่ชายคนโตและนางมาลีน้องคนรองสุดท้องเสียชีวิตไปหมดแล้ว ขณะนี้ยังคงเหลือนางพิจิตร นายไพโรจน์ หรือพันเอกไพโรจน์และโจทก์ซึ่งเป็นน้องคนสุดท้องเท่านั้น ที่ยังคงมีชีวิตอยู่ นายไพโรจน์หรือพันเอกไพโรจน์มิได้เข้ามาเบิกความเป็นพยานในคดีนี้ จึงไม่ทราบว่ามีความเห็นในเรื่องนี้เป็นอย่างไรมีข้อน่าพิจารณาตอนที่นางพิจิตราเบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่าโจทก์โอนที่ดินคืนให้นางบุญล้วนเพื่อความสบายใจของนางบุญล้วน แสดงให้เห็นว่าทางเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อเพิ่มชื่อของตนในโฉนดที่ดินร่วมกับจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 3 และทายาทอื่น ๆ ได้โดยมิต้องเพิกถอนชื่อของจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ออก และแม้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (2) บัญญัติว่า ในคดีที่โจทก์ฟ้องเรียกทรัพย์ใด ๆ เป็นของตนทั้งหมดแต่พิจารณาได้ความว่าควรได้รับแต่ส่วนแบ่ง เมื่อศาลเห็นสมควร ศาลจะพิพากษาให้โจทก์ได้รับแต่ส่วนแบ่งนั้นก็ได้" เนื่องจากคดีนี้ยังมีทายาทอื่นของนายอัมพรและนางบุญล้วน ที่มีสิทธิได้รับมรดกที่ดินพร้อมบ้านพิพาทแต่ยังมิได้เข้าในคดี ดังนั้น ศาลจะกำหนดแบ่งส่วนเกี่ยวกับที่ดินและบ้านพิพาทให้โจทก์ยังไม่ได้ ชอบที่จะว่ากล่าวกันเป็นอีกส่วนหนึ่งต่างหาก ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ที่ดินพร้อมบ้านพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์แต่เพียงผู้เดียวนั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ชอบที่จะดำเนินการตามข้อวินิจฉัยของศาลชั้นต้น ฎีกาของจำเลยทั้งสามฟังขึ้นบางส่วน"
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาเป็นพับ