โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมขายฝากและขยายกำหนดเวลาไถ่จากขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 38627 ระหว่างนางจันทร์กับจำเลยที่ 2 ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 และวันที่ 8 มกราคม 2561 ให้กลับมาเป็นของนางจันทร์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกี๋หรือติ๊ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันหรือแทนกันจดทะเบียนต่อเจ้าพนักงานที่ดินเพื่อแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิกถอนชื่อในโฉนดที่ดินดังกล่าวให้กลับสู่กองมรดกของนางกี๋หรือติ๊โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ให้การและฟ้องแย้งขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ทั้งสามให้ขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท และชดใช้ค่าเสียหายให้แก่จำเลยที่ 2 เดือนละ 5,000 บาท นับจากวันที่จำเลยที่ 2 ฟ้องแย้ง (วันที่ 22 กรกฎาคม 2562) เป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท
โจทก์ทั้งสามให้การแก้ฟ้องแย้งว่า นางจันทร์ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกของนางกี๋หรือติ๊ นำที่ดินทรัพย์มรดกไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่จำเลยที่ 2 โดยโจทก์ทั้งสามและทายาทของนางกี๋หรือติ๊มิได้รู้เห็นยินยอม จำเลยที่ 2 ไม่สุจริตและจดทะเบียนสิทธิโดยไม่สุจริต จะมีค่าตอบแทนหรือไม่ก็ตาม โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิติดตามเอาที่ดินพิพาทกลับคืนสู่กองมรดกของนางกี๋หรือติ๊เพื่อนำมาแบ่งปันให้แก่ทายาทได้ เพราะเป็นการใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือตามหลักผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน จำเลยที่ 2 จึงไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท ไม่มีอำนาจฟ้องแย้งโจทก์ทั้งสาม และค่าเสียหายที่จำเลยที่ 2 เรียกมาเดือนละ 5,000 บาท เป็นการกล่าวอ้างลอย ๆ หากเสียหายจริงไม่เกินเดือนละ 500 บาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ ให้โจทก์ทั้งสามขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 38627 และให้ชดใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยที่ 2 เดือนละ 1,500 บาท นับจากวันที่ 22 กรกฎาคม 2562 เป็นต้นไปจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินพิพาท กับให้โจทก์ทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยที่ 2 โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษากลับว่า ให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากและสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่จากการขายฝากที่ดินโฉนดเลขที่ 38627 ระหว่างนางจันทร์กับจำเลยที่ 2 ที่ทำขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2560 และวันที่ 8 มกราคม 2561 ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 15,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินคดีทั้งสองศาลให้เป็นพับ ให้ยกฟ้องแย้งจำเลยที่ 2 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์ทั้งสามกับจำเลยที่ 2 ในส่วนฟ้องแย้งทั้งสองศาลให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้รับฟังเป็นยุติว่า นางกี๋หรือติ๊ เจ้ามรดกมีบุตร 6 คน คือ นายเขียน นางเรียน มารดาโจทก์ที่ 1 นายบัวเรียน นางจันทร์ มารดาจำเลยที่ 1 นางเสาร์ มารดาโจทก์ที่ 2 และนางเฉลิม มารดาโจทก์ที่ 3 โดยนางกี๋หรือติ๊ นางเขียน นางเรียน นางเสาร์ และนางเฉลิมถึงแก่ความตายแล้ว นางกี๋หรือติ๊มีทรัพย์มรดกคือที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 38627 นางจันทร์เป็นผู้จัดการมรดกของนางกี๋หรือติ๊ เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 นางจันทร์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกี๋หรือติ๊จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทมาเป็นของตนเองแล้วนำไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่บุคคลอื่นและไถ่ถอนจำนองออกมา ต่อมาวันที่ 6 มกราคม 2560 นางจันทร์นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนขายฝากไว้แก่จำเลยที่ 2 เป็นเงิน 300,000 บาท มีกำหนดเวลา 1 ปี ต่อมาวันที่ 8 มกราคม 2561 นางจันทร์จดทะเบียนขยายกำหนดเวลาไถ่จากการขายฝากออกไปอีก 3 เดือน นางจันทร์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2561
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ว่า ศาลต้องเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างนางจันทร์ในฐานะส่วนตัวกับนางจันทร์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกี๋หรือติ๊เพื่อให้ที่ดินกลับมาเป็นกองมรดกของนางกี๋หรือติ๊หรือไม่ ข้อเท็จจริงยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ว่า ข้อเท็จจริงรับฟังไม่ได้ว่า จำเลยที่ 2 ทำนิติกรรมรับซื้อฝากที่ดินพิพาทจากนางจันทร์โดยสุจริต ดังนั้น การที่นางจันทร์ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทอันเป็นทรัพย์มรดกแก่ตนเองในฐานะผู้จัดการมรดกแล้วโอนที่ดินพิพาทแก่จำเลยที่ 2 โดยไม่ชอบ ย่อมทำให้โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นทายาทผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนเสียเปรียบ โจทก์ทั้งสามย่อมมีสิทธิฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินพิพาทเพื่อให้กลับคืนสู่กองมรดกได้ ซึ่งตามคำฟ้องโจทก์ทั้งสามก็ขอให้เพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวให้กลับมาเป็นของนางจันทร์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกี๋หรือติ๊เพื่อให้ที่ดินพิพาทกลับสู่กองมรดกของนางกี๋หรือติ๊ ดังนี้ ตามคำขอดังกล่าวจึงมีความหมายรวมอยู่ในตัวว่า โจทก์ทั้งสามขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทระหว่างนางจันทร์ในฐานะส่วนตัวกับนางจันทร์ในฐานะผู้จัดการมรดกด้วย ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 เพียงพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนขายฝากและสัญญาขยายกำหนดเวลาไถ่จากการขายฝากที่ดินระหว่างนางจันทร์กับจำเลยที่ 2 เท่านั้น จึงยังไม่ครบถ้วนตามคำฟ้อง เพราะเป็นผลทำให้ที่ดินพิพาทตกมาเป็นกรรมสิทธิ์ของนางจันทร์ในฐานะส่วนตัวโดยยังไม่ตกเป็นกองมรดกของนางกี๋หรือติ๊ ส่วนที่โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฎีกาอีกว่าขอให้จำเลยทั้งสองปฏิบัติตามคำพิพากษา หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาศาลฎีกาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง โดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายนั้น เมื่อศาลพิพากษาให้เพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แล้ว ย่อมมีผลทำให้ที่ดินกลับสู่กองมรดกของนางกี๋หรือติ๊โดยผลของคำพิพากษา และประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 61 วรรคแปด บัญญัติไว้ความว่า ในกรณีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งถึงที่สุดให้เพิกถอนหรือแก้ไขอย่างใดแล้ว ให้เจ้าพนักงานที่ดินดำเนินการตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้นตามวิธีการที่อธิบดีกำหนด จึงไม่จำต้องบังคับให้จำเลยทั้งสองไปจดทะเบียนเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวโดยให้จำเลยทั้งสองเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายอีก ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องบางส่วน ฎีกาของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ฟังขึ้นบางส่วน
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทโฉนดเลขที่ 38627 ระหว่างนางจันทร์ในฐานะส่วนตัวกับนางจันทร์ในฐานะผู้จัดการมรดกของนางกี๋หรือติ๊เสียด้วย ให้ที่ดินพิพาทกลับสู่กองมรดกของนางกี๋หรือติ๊ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 4 ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ