โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนหุ้นของบริษัทเอช.บี.วิลล่า จำกัด บริษัทเอช.บี.ทาวเวอร์ จำกัด และบริษัทเฮช.บี.แลนด์ จำกัด ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ให้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตามให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนการโอนหุ้นบริษัทเอช.บี.วิลล่า จำกัด ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนวน 796,000 หุ้น เลขหมายหุ้น 0200001 - 0399000 และเลขหมายหุ้น 1600001 - 2197000 กับเพิกถอนการโอนหุ้นบริษัทเอช.บี.ทาวเวอร์ จำกัด ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนวน 5,000 หุ้น เลขหมายหุ้น 05001 - 10000 และเพิกถอนการโอนหุ้นบริษัท เฮช.บี.แลนด์ จำกัด ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 จำนวน 249 หุ้น เลขหมายหุ้น 0251 - 0499 ให้กลับมาเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 1 หากจำเลยทั้งสองไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสอง กับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์แทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 20,000 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังเป็นยุติได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทมหาชนจำกัด จำเลยที่ 1 เป็นบิดาจำเลยที่ 2 จำเลยทั้งสองเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลัคกี้ นิตติ้ง แอนด์ ดายอิ้ง จำกัด ตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2554 จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลัคกี้ สปินนิ่ง จำกัด ตั้งแต่วันที่ 17 กรกฎาคม 2544 และจำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลัคกี้ สปินนิ่ง จำกัด ตั้งแต่วันที่ 17 ตุลาคม 2550 จำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลัคกี้ โกลบอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งแต่วันที่ 27 เมษายน 2541 จำเลยที่ 2 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนบริษัทลัคกี้ โกลบอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 ถึงวันที่ 27 สิงหาคม 2557 จำเลยที่ 1 เป็นผู้ค้ำประกันอย่างลูกหนี้ร่วมกับบริษัทลัคกี้ นิตติ้ง แอนด์ ดายอิ้ง จำกัด บริษัทลัคกี้ สปินนิ่ง จำกัด และบริษัทลัคกี้ โกลบอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามที่ไปขอสินเชื่อหลายประเภทจากโจทก์ โดยเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 วันที่ 26 ธันวาคม 2554 และวันที่ 3 มกราคม 2556 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทลัคกี้ นิตติ้ง แอนด์ ดายอิ้ง จำกัด ที่ขอสินเชื่อไปจากโจทก์ รวม 3 สัญญา ในวงเงินรวม 902,650,000 บาท เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2554 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทลัคกี้ สปินนิ่ง จำกัด ที่ขอสินเชื่อไปจากโจทก์ในวงเงิน 336,000,000 บาท และเมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของบริษัทลัคกี้ โกลบอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ขอสินเชื่อไปจากโจทก์ในวงเงิน 161,000,000 บาท ต่อมาวันที่ 20 พฤษภาคม 2556 จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของตนในบริษัทเอช.บี.วิลล่า จำกัด จำนวน 796,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10 บาท เลขหมายหุ้น 0200001 - 0399000 และ 1600001 - 2197000 โอนหุ้นของตนในบริษัทเอช.บี.ทาวเวอร์ จำกัด จำนวน 5,000 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 1,000 บาท เลขหมายหุ้น 05001 - 10000 และโอนหุ้นของตนในบริษัทเฮช.บี.แลนด์ จำกัด จำนวน 249 หุ้น มูลค่าหุ้นละ 10,000 บาท เลขหมายหุ้น 0251 - 0499 ให้แก่จำเลยที่ 2
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า การที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นของตนในแต่ละบริษัทข้างต้นให้แก่จำเลยที่ 2 เป็นการทำนิติกรรมใด ๆ อันจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ ซึ่งจะเป็นเหตุให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้ชอบที่จะร้องขอให้ศาลเพิกถอนเสียได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 วรรคหนึ่ง หรือไม่ เห็นว่า แม้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 680 บัญญัติว่า "อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่า ผู้ค้ำประกัน ผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น" ก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ 1 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ไว้กับโจทก์โดยยินยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับบริษัทลัคกี้ นิตติ้ง แอนด์ ดายอิ้ง จำกัด บริษัทลัคกี้ สปินนิ่ง จำกัด และบริษัทลัคกี้ โกลบอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นลูกหนี้ชั้นต้นที่ไปขอสินเชื่อจากโจทก์ ก็ย่อมถือได้ว่าจำเลยที่ 1 มีฐานะเป็นลูกหนี้โจทก์แล้ว เนื่องจากจำเลยที่ 1 ย่อมมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่โจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน ประกอบกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 237 มิได้บัญญัติว่า การที่เจ้าหนี้จะร้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมใด ๆ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำลงทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบนั้น จะต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้ได้กระทำลงภายหลังจากลูกหนี้ชั้นต้นผิดนัดชำระหนี้แล้วแต่ประการใด ดังนั้น หากจำเลยที่ 1 ในฐานะลูกหนี้ผู้ค้ำประกันได้กระทำนิติกรรมใด ๆ ทั้งรู้อยู่ว่าจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์ก็ย่อมใช้สิทธิเพิกถอนนิติกรรมนั้นเสียได้ ฎีกาของจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ขณะที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 บริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามยังดำเนินธุรกิจตามปกติ และการโอนหุ้นพิพาทไม่ทำให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โดยจำเลยทั้งสองอ้างว่า บริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามได้จำนองทรัพย์สินมีมูลค่ามากกว่าจำนวนหนี้สินที่มีต่อโจทก์ และจำเลยทั้งสองตกลงซื้อขายหุ้นพิพาทโดยสุจริตนั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยในปัญหานี้โดยละเอียดและชอบด้วยเหตุผลแล้วว่า ผลประกอบการของบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามในปี 2556 ขาดทุนสะสมเพิ่มขึ้นจากปี 2555 เป็นจำนวนมาก ส่วนทรัพย์สินของบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามก็มีจำนวนน้อยกว่าหนี้สินที่ต้องชำระแก่โจทก์ งบดุลของบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามที่จำเลยทั้งสองนำมากล่าวอ้างว่าบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามมีทรัพย์สินมากกว่าหนี้สินนั้นไม่อาจรับฟังได้และเมื่อโจทก์ยื่นฟ้องคดีเรียกร้องให้บริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามชำระหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระหนี้ และยื่นฟ้องบริษัทลัคกี้ สปินนิ่ง จำกัด กับบริษัทลัคกี้ โกลบอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ขอให้เป็นบุคคลล้มละลาย บริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสองดังกล่าวได้ยื่นคำร้องขอฟื้นฟูกิจการโดยบริษัทลัคกี้ สปินนิ่ง จำกัด ระบุว่ามีหนี้สินมากกว่าทรัพย์สินถึง 1,574,377,868.10 บาท และบริษัทลัคกี้ โกลบอล คอร์ปอเรชั่น จำกัด ระบุว่ามีหนี้สินจำนวนมากถึง 2,595,000,000 บาท ตามลำดับ ศาลฎีกาจึงไม่จำต้องวินิจฉัยในปัญหาดังกล่าวซ้ำอีก อีกทั้งได้ความตามคำเบิกความของนางสาวช่อเพ็ชร์ พยานโจทก์ ซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการอาวุโสของธนาคารโจทก์และได้รับมอบหมายให้ดูแลสินเชื่อของบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามว่า เมื่อวันที่ 3 มกราคม 2556 บริษัทลัคกี้ นิตติ้ง แอนด์ ดายอิ้ง จำกัด ซึ่งมีจำเลยที่ 1 เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนและเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทดังกล่าวไว้กับโจทก์ได้ทำบันทึกข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้และระยะเวลาผ่อนชำระหนี้กับโจทก์ และครั้งหลังสุดเมื่อวันที่ 26 กันยายน 2556 บริษัทลัคกี้ นิตติ้ง แอนด์ ดายอิ้ง จำกัด โดยจำเลยที่ 1 ในฐานะกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนได้ทำบันทึกข้อตกลงในการผ่อนชำระหนี้และระยะเวลาผ่อนชำระหนี้กับโจทก์อีกครั้งหนึ่ง จำเลยทั้งสองเป็นกรรมการบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามย่อมจะทราบดีว่าบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามมีปัญหาในเรื่องการเงิน จึงต้องมีการทำบันทึกข้อตกลงในการผ่อนเวลาชำระหนี้แก่โจทก์ออกไปก่อน ที่จำเลยทั้งสองอ้างว่า หลังจากจำเลยที่ 1 โอนหุ้นพิพาทให้แก่จำเลยที่ 2 แล้ว บริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามยังคงประกอบธุรกิจและใช้สินเชื่อกับโจทก์ตามปกติโดยไม่มีปัญหาในการชำระหนี้ตามสัญญาแก่โจทก์จึงไม่มีน้ำหนักให้รับฟังได้ เชื่อว่าจำเลยทั้งสองน่าจะทราบสถานะทางการเงินและผลดำเนินการทางธุรกิจของบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามที่มีปัญหา และจำเลยที่ 2 เป็นบุตรของจำเลยที่ 1 ด้วยน่าจะทราบว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันหนี้ของบริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามมีความผูกพันต้องชำระหนี้แก่โจทก์ในกรณีที่บริษัทลูกหนี้ชั้นต้นทั้งสามไม่อาจชำระหนี้แก่โจทก์ได้ ประกอบกับจำเลยทั้งสองมิได้นำสืบให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 ในฐานะผู้ค้ำประกันยังมีทรัพย์สินอื่นเหลือเพียงพอที่จะชำระหนี้แก่โจทก์ได้ จึงเชื่อว่าการที่จำเลยที่ 1 โอนหุ้นพิพาทอันเป็นทรัพย์สินที่อาจต้องถูกบังคับให้ชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกันให้แก่จำเลยที่ 2 ก็เพื่อมิให้ถูกโจทก์บังคับเอามาชำระหนี้ในฐานะผู้ค้ำประกัน โดยจำเลยทั้งสองรู้ว่าการโอนหุ้นพิพาทดังกล่าวจะเป็นทางให้โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้เสียเปรียบ โจทก์จึงฟ้องขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนหุ้นพิพาทระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 เพื่อให้หุ้นพิพาทกลับมาเป็นของจำเลยที่ 1 เสียได้ กรณีไม่จำต้องวินิจฉัยตามที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่าจำเลยที่ 1 ได้รับเงินค่าหุ้นพิพาทตามราคาที่เหมาะสมจากจำเลยที่ 2 มาแล้วหรือไม่ ฎีกาของจำเลยทั้งสองนอกจากนี้ล้วนเป็นเรื่องพลความและไม่เป็นสาระอันควรแก่การวินิจฉัยให้เพราะไม่มีผลให้คำวินิจฉัยข้างต้นเปลี่ยนแปลงไปได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ