โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2519 จำเลยได้ทำข้อตกลงกับโจทก์ว่าจะเพิ่มเงินช่วยเหลือบุตรให้ต่อเมื่อพนักงานช่วยกันปฏิบัติหน้าที่จนมีผลทำให้สามารถลดการรั่วไหลของน้ำ ทำให้เปอร์เซ็นต์การขายน้ำเพิ่มขึ้น และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายลงได้ ซึ่งตั้งแต่ปี 2525 ถึงปี 2529 พนักงานการประปานครหลวงได้ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่จนเป็นผลสำเร็จตามเงื่อนไขดังกล่าว แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเพิ่มช่วยเหลือบุตรพร้อมดอกเบี้ยแก่พนักงานประปานครหลวงตั้งแต่ปีงบประมาณ2525 ถึงปีงบประมาณ 2529 รวม 5 ปี
จำเลยให้การว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจ จำเลยได้ทำข้อตกลงกับโจทก์ว่าจะเพิ่มเงินช่วยเหลือบุตรพนักงานให้ตามฟ้องจริง แต่คณะรัฐมนตรีได้มีมติห้ามจ่ายเงินดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2521 เว้นแต่จะทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อนซึ่งจำเลยได้ขอความเห็นชอบต่อกระทรวงการคลังแล้วแต่กระทรวงการคลังไม่เห็นชอบด้วย จำเลยต้องปฏิบัติตาม ข้อตกลงตามฟ้องจึงไม่มีผลบังคับ ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณา คู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงกันว่า ได้มีข้อตกลงตามฟ้องจริงคณะรัฐมนตรีได้มีมติตามที่จำเลยให้การจริง ผลการดำเนินงานในปี 2521 และปี 2522เป็นไปตามเงื่อนไขข้อตกลง จำเลยได้จ่ายเงิน (เพิ่ม) ให้ตามข้อตกลงแล้ว ในปีที่โจทก์ฟ้องนั้น ผลการดำเนินงานสำเร็จตามเงื่อนไข จำเลยได้มีหนังสือขอความเห็นชอบไปยังกระทรวงการคลังแล้ว แต่กระทรวงการคลังขัดข้อง จำเลยจึงมิได้จ่ายเงินตามข้อตกลงดังกล่าว โจทก์ได้ร้องต่อกรมแรงงานและกรมแรงงานมีความเห็นให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลง แต่จำเลยไม่ปฏิบัติ โจทก์จึงได้ฟ้องคดีนี้ คู่ความไม่ติดใจสืบพยานขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไปตามรูปคดี
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยตามฟ้องเป็นข้อตกลงซึ่งมีเงื่อนไขบังคับก่อน เมื่อเงื่อนไขดังกล่าวสำเร็จภายหลังที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติห้ามแล้ว จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับมติคณะรัฐมนตรี ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยตามฟ้องเป็นการฝ่าฝืนมติคณะรัฐมนตรี ไม่มีผลบังคับ พิพากาษยกฟ้อง
ผู้พิพากษาสมทบนายหนึ่งมีความเห็นแย้ง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2519 โจทก์จำเลยได้ทำข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อกันว่า จำเลยจะจ่ายเงินช่วยเหลือบุตรเพิ่มให้แก่พนักงาน เมื่อพนักงานช่วยกันปฏิบัติหน้าที่จนมีผลทำให้สามารถลดการรั่วไหลของน้ำทำให้เปอร์เซ็นต์การขายน้ำเพิ่ม ผลการดำเนินงานปรากฏว่าในปี 2521 และปี 2522 เป็นไปตามข้อตกลง จำเลยจึงได้จ่ายเงินเช่วยเหลือบุตรเพิ่มให้แก่พนักงานไปตามข้อตกลงแล้ว เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2521 คณะรัฐมนตรีมีมติว่าการจ่ายเงินสวัสดิการให้แก่พนักงานและลูกจ้างในขณะที่ยังอยู่ปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจ เช่น ค่าเล่าเรียนบุตร ค่ารักษาพยาบาล และเงินช่วยเหลือบุตร ให้รัฐวิสาหกิจกำหนดให้มีหลักเกณฑ์เช่นเดียวกันกับของทางราชการในกรณีที่รัฐวิสาหกิจโดยได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินที่แตกต่างไปจากของทางราชการอยู่ก่อนแล้ว ก็คงให้เป็นไปตามเดิม แต่ถ้ารัฐวิสาหกิจใดจะกำหนดให้มีการจ่ายเงินสวัสดิการอื่น หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์ที่นอกเหนือไปจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลัง ต่อมาในปี 2525 ถึงปี 2529 ผลการดำเนินงานก็เป็นไปตามข้อตกลงเช่นเดียวกันซึ่งจำเลยได้มีหนังสือขอความเห็นชอบจากกระทรวงการคลังเพื่อจะจ่ายเงินช่วยเหลือบุตรเพิ่มให้แก่พนักงานตามข้อตกลง แต่กระทรวงการคลังขัดข้องเพราะมีมติคณะรัฐมนตรีห้ามไว้ดังกล่าวข้างต้น จำเลยจึงมิได้จ่ายเงินช่วยเหลือบุตรเพิ่มให้แก่พนักงานตามข้อตกลง
พิเคราะห์แล้วเห็นว่า จำเลยเป็นรัฐวิสาหกิจซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมดูและของกระทรวงมหาดไทย จำเลยจะต้องปฏิบัติตามระเบียบคำสั่งของรัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือมติของคณะรัฐมนตรี รวมทั้งพนักงานหรือลูกจ้างของจำเลยซึ่งเป็นพนักงานรัฐวิสาหกิจก็ต้องอยู่ภายใต้บังคับของมติคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกัน แม้ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่ปี 2519 แต่การที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2521 ว่า ในกรณีที่รัฐวิสาหกิจใดได้กำหนดให้มีการจ่ายเงินที่แตกต่างไปจากของทางราชการอยู่ก่อนแล้วก็ให้เป็นไปตามเดิม แต่ถ้ารัฐวิสาหกิจใดจะกำหนดให้มีการจ่ายเงินสวัสดิการอื่นหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขหลักเกณฑ์ที่นอกเหนือไปจากที่มีอยู่ในปัจจุบัน ให้ขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังนั้น มีความหมายว่า หากรัฐวิสาหกิจใดได้มีการจ่ายเงินหรือปฏิบัติไปตามข้อตกลงแล้วก็คงให้เป็นไปตามเดิม เมื่อได้ความว่า ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะมีมติดังกล่าว จำเลยยังไม่ได้จ่ายเงินหรือปฏิบัติไปตามข้อตกลงเลย ต่อมาคณะรัฐมนตรีมีมติห้ามโดยจะต้องขอทำความตกลงกับกระทรวงการคลังก่อน เมื่อจำเลยได้ขออนุญาตต่อกระทรวงการคลังแล้วกระทรวงการคลังไม่อนุญาต ข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเช่นว่านั้นก็ไม่มีผลบังคับที่ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้องโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
พิพากษายืน