ชื่อเรื่องฎีกานี้ถูกสร้างโดย Ai ทางเว็บขอไม่รับรองความถูกต้อง โปรดตรวจสอบความถูกต้องก่อนนำไปใช้
จำเลยไม่มีเจตนาพิเศษทำให้โจทก์เสียหาย การกระทำไม่เข้าข่ายความผิด ม.157 แม้มีมติไม่ให้เลื่อนตำแหน่ง
รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 248 วรรคสาม บัญญัติว่า การบริหารงานบุคคล การงบประมาณ และการดำเนินการอื่นขององค์กรอัยการให้มีความเป็นอิสระ โดยให้มีระบบเงินเดือนและค่าตอบแทนเป็นการเฉพาะตามความเหมาะสมและการบริหารงานบุคคลเกี่ยวกับพนักงานอัยการต้องดำเนินการโดยคณะกรรมการอัยการ และ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 38 บัญญัติหลักเกณฑ์ที่จะนำมาพิจารณาแต่งตั้งพนักงานอัยการให้ดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ได้แก่ ความรู้ความสามารถ ความรับผิดชอบ ประวัติการปฏิบัติราชการ และพฤติกรรมทางจริยธรรมของบุคคลเทียบกับงานในตำแหน่งข้าราชการอัยการที่จะได้รับแต่งตั้ง โดยมี พ.ร.บ.องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 9 กำหนดตำแหน่งพนักงานอัยการ และข้อกำหนดคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจัดลำดับอาวุโสของข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2554 ข้อ 3 และข้อ 4 ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 30 (5) มีเจตนารมณ์ให้คณะกรรมการอัยการพิจารณาในการเลื่อนตำแหน่ง การแต่งตั้งและการโยกย้ายว่า ข้าราชการอัยการลำดับอาวุโสใด ควรไปดำรงตำแหน่ง ณ สำนักงานแห่งใดเป็นเงื่อนไขสำคัญอย่างยิ่งประกอบด้วย ซึ่งคณะกรรมการอัยการเคยให้ความเห็นชอบในหลักเกณฑ์ซึ่งถือเป็นแนวปฏิบัติในการแต่งตั้งข้าราชการอัยการ รองอธิบดีอัยการ อัยการพิเศษฝ่ายและอัยการจังหวัดว่า หากข้าราชการอัยการคนใดเคยสละสิทธิในการเลื่อนการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในวาระการโยกย้ายที่ตนมีสิทธิแล้ว ข้าราชการอัยการคนนั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งนั้นอีกต่อไป และมีการใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวมาพิจารณาแต่งตั้งข้าราชการอัยการตั้งแต่ปี 2557 ถึงปี 2564 ข้าราชการอัยการคนที่สละสิทธิดำรงตำแหน่งอธิบดีอัยการ รองอธิบดีอัยการ หรืออัยการพิเศษฝ่ายจะไม่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งในวาระโยกย้ายในปีที่ขอสละสิทธิและในปีต่อมาทุกราย เหตุที่ต้องกำหนดหลักเกณฑ์เช่นนี้ เนื่องเพราะหากยินยอมให้ข้าราชการอัยการที่สละสิทธิไม่ดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในวาระแรกที่ตนมีสิทธิโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่ง สามารถแสดงความจำนงโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งในวาระถัดไป ก็จะมีคนลำดับอาวุโสท้ายที่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งสูงขึ้นในวาระแรก ซึ่งตามปกติต้องไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ สละสิทธิในวาระที่ตนมีสิทธิเพื่อจะได้เป็นคนมีอาวุโสลำดับต้นในวาระโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่งคราวถัดไป ก่อให้เกิดการลักลั่น เลือกปฏิบัติและขัดข้องในการบริหารงานบุคคลขององค์กรอัยการ กับเปิดช่องให้มีคนใช้วิธีการดังกล่าวหลีกเลี่ยงไม่ไปดำรงตำแหน่งในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในวาระแรก เพื่อที่จะได้ไปปฏิบัติงานที่สถานที่ที่ตนเองต้องการในวาระถัดไป ส่วนคนอื่นจะถูกส่งไปรับตำแหน่งในสถานที่ห่างไกลหรือลำบากกันดาร หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทน ทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างข้าราชการอัยการด้วยกัน อันจะส่งผลกระทบต่อขวัญกำลังใจข้าราชการอัยการและการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนทั่วไป กรณีอาการป่วยด้วยโรคไตวายเฉียบพลันอย่างรุนแรงของโจทก์เป็นเหตุจำเป็นอันไม่อาจก้าวล่วงได้ ทำให้ไม่สามารถไปปฏิบัติหน้าที่ราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้เป็นเรื่องน่าเห็นใจ ซึ่งคณะกรรมการอัยการคราวประชุมครั้งที่ 9/2560 มีมติให้โจทก์ดำรงตำแหน่งและรับราชการในสำนักงานเดิม เท่ากับโจทก์ได้สิทธิในการรักษาพยาบาลและได้รับเงินเดือนเต็มเวลา ทั้งไม่ต้องไปรับราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในขณะที่ข้าราชการอัยการคนอื่นต้องเสียสละไปรับราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทนโจทก์เป็นการเสียเปรียบในวาระนี้ เมื่อโจทก์หายป่วยในการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งคราวถัดไปครั้งที่ 10/2561 โจทก์ขอใช้สิทธิในการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นขณะที่อาวุโสอยู่ในลำดับต้น ดังเช่นที่โจทก์เรียกร้องและฟ้องคดีต่อศาลปกครองพิษณุโลกขอให้จัดอันดับอาวุโสของโจทก์เข้าสู่ลำดับอาวุโสเดิม ยิ่งทำให้ข้าราชการอัยการคนอื่นที่เสียสละไปรับราชการในสำนักงานที่ขาดแคลนไม่มีผู้ขอไปปฏิบัติราชการ หรือสำนักงานในท้องที่ภาคใต้ หรือสามจังหวัดชายแดนภาคใต้แทนโจทก์ เสียเปรียบโจทก์ในการเลื่อนตำแหน่งวาระก่อนต้องเสียเปรียบในการเลื่อนตำแหน่งวาระถัดไปซ้ำอีก ข้อนี้วิญญูชนคนธรรมดาทั่วไปพึงเข้าใจได้ว่าเป็นการเอาเปรียบประชาชนคนจ่ายเงินเดือนแก่โจทก์ด้วย ข้าราชการอัยการทั้งองค์กรย่อมตระหนักรู้ได้ว่าไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมดุจกัน นอกจากนี้กรณี ช. และ ป. ซึ่งเคยสละสิทธิในปี 2554 และ 2547 ได้รับการพิจารณาให้เลื่อนตำแหน่งในปี 2556 และ 2548 ตามลำดับดังที่โจทก์ฎีกานั้น เป็นมติของคณะกรรมการอัยการชุดก่อนมิใช่การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสอง แต่ถือเป็นกรณีศึกษาสำหรับองค์กรอัยการว่า การยอมให้ข้าราชการอัยการอ้างเหตุผลส่วนตัวต่าง ๆนา ๆ เป็นข้อยกเว้นลำดับอาวุโสตามข้อกำหนดคณะกรรมการอัยการว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการการจัดลำดับอาวุโสของข้าราชการอัยการ พ.ศ. 2554 ข้อ 4 เพื่อประโยชน์ส่วนตน จะส่งผลกระทบต่อการบริหารองค์กรอัยการและการอำนวยความยุติธรรมแก่ประชาชนอันเป็นประโยชน์ส่วนรวมมากเพียงใด เป็นสิ่งซึ่งจำเลยทั้งยี่สิบสองในฐานะคณะกรรมการอัยการคณะต่อมาต้องใช้ดุลพินิจวินิจฉัยชั่งน้ำหนักระหว่างการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคลของข้าราชการอัยการ กับภาระหน้าที่ขององค์กรอัยการ ที่ต้องอาศัยบุคลากรผู้มีความซื่อสัตย์สุจริตและเสียสละเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน แล้วเลือกสิ่งที่ถูกต้องตามหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย เหมาะสมกับสถานการณ์ บริบทแวดล้อม และบริหารจัดการความสมดุลระหว่างสิทธิส่วนบุคคลของข้าราชการอัยการ กับสิทธิส่วนรวมของข้าราชการอัยการทุกคนหรือองค์กรอัยการในขณะตัดสินใจลงมติเลือกหลักเกณฑ์การพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายและเลื่อนตำแหน่ง ยิ่งกว่านั้นหลักเกณฑ์ที่ว่าข้าราชการอัยการผู้ใดเคยสละสิทธิในการเลื่อนการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นในวาระการโยกย้ายที่ตนมีสิทธิแล้ว ข้าราชการอัยการผู้นั้นจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ดำรงตำแหน่งนั้นอีกต่อไปใช้บังคับมาตลอด 8 ปี ไม่มีข้าราชการอัยการคนใดโต้แย้งคัดค้านหรือฟ้องร้องเป็นคดี อาจเป็นเหตุให้จำเลยทั้งยี่สิบสองเชื่อโดยสนิทใจว่าเป็นแบบธรรมเนียมปฏิบัติหรือวัฒนธรรมขององค์กรอัยการในช่วงเวลานั้น เยี่ยงนี้ แม้ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ พ.ศ. 2553 จะไม่ได้บัญญัติหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการสละสิทธิของข้าราชการอัยการในการดำรงตำแหน่งที่สูงขึ้นว่าจะไม่ได้รับการดำรงตำแหน่งดังกล่าวในการเลื่อนตำแหน่งในวาระโยกย้ายครั้งต่อไป และโจทก์มิได้มีเจตนาสละสิทธิตลอดไปตามที่โจทก์ฎีกา แต่เมื่อหลักเกณฑ์นี้ใช้พิจารณาในการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่ง ตั้งแต่ก่อนวาระการโยกย้ายเลื่อนตำแหน่งของโจทก์และแก่ข้าราชการอัยการทั้งองค์กรเป็นการทั่วไป มิได้มุ่งหมายให้ใช้บังคับแก่กรณีใดกรณีหนึ่งหรือแก่บุคคลหนึ่งบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจง แสดงว่าจำเลยทั้งยี่สิบสองต่างลงมติไปโดยสุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวม มิได้ใช้อำนาจตามอำเภอใจจึงสมเหตุสมผล จักเป็นการกลั่นแกล้งโจทก์ก็หามิได้ และแม้ต่อมาคณะกรรมการอัยการจะมีมติในการประชุมครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ให้โจทก์ดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่าย (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครอง 4) สำนักงานคดีปกครองตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2565 ตามคำพิพากษาของศาลปกครองพิษณุโลก ก็เป็นการใช้ดุลพินิจอิสระของคณะกรรมการอัยการคณะต่อมาในการบริหารงานบุคคลบนหลักการแห่งรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย สถานการณ์และบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่อาจอนุมานว่าจำเลยทั้งยี่สิบสองมีมติไม่ให้โจทก์เลื่อนไปดำรงตำแหน่งอัยการพิเศษฝ่ายในการประชุมคณะกรรมการอัยการครั้งที่ 10/2561 และครั้งที่ 11/2562 โดยมีเจตนาพิเศษเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่โจทก์เป็นการเฉพาะ การกระทำของจำเลยทั้งยี่สิบสองจึงขาดองค์ประกอบและไม่เป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ตาม ป.อ. มาตรา 157 ตามฟ้องดังที่โจทก์ฎีกา ถึงกระนั้นก็ตามหากมีกรณีที่จำเลยคนหนึ่งคนใดหรือจำเลยทั้งยี่สิบสองร่วมกันกระทำการใดอันเป็นการทุจริต ผิดกฎหมายหรือระเบียบใดทำให้โจทก์หรือองค์กรอัยการเสียหายนอกจากคำฟ้อง ก็มิได้ตัดสิทธิโจทก์ที่จะว่ากล่าวเอาความแก่จำเลยทั้งยี่สิบสองต่างหากจากคดีนี้