โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว เห็นว่า คดีมีมูล ให้ประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ โดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้อุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษากลับเป็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 ลงโทษจำคุก 1 ปี
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์และจำเลยไม่โต้แย้งกันในชั้นฎีการับฟังยุติได้ว่า จำเลยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ 19087 เนื้อที่ 30 ไร่เศษ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2550 จำเลยจดทะเบียนจำนองที่ดินดังกล่าวไว้กับธนาคาร พ. เพื่อเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมของนางณัฐฐาพร ในวงเงิน 300,000 บาท วันที่ 18 มีนาคม 2554 โจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวบางส่วนเนื้อที่ 17 ไร่ จากจำเลยเป็นเงิน 85,000 บาท ต่อมาโจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินเฉพาะส่วนที่ขายให้โจทก์และศาลพิพากษาตามยอมแล้วเป็นคดีแพ่งหมายเลขแดงที่ พ.747/2559 ของศาลจังหวัดพิษณุโลก ซึ่งพิพากษาให้จำเลยไถ่ถอนจำนองที่ดินจากธนาคารภายในวันที่ 31 มีนาคม 2562 และให้จำเลยรังวัดแบ่งแยกโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินบางส่วนให้แก่โจทก์ภายใน 1 เดือน นับแต่วันไถ่ถอนจำนอง หากจำเลยไม่ไปไถ่ถอนจำนอง จำเลยยินยอมให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการแทนและให้โจทก์ไล่เบี้ยจำเลยได้ แต่จำเลยกลับทำสัญญากับธนาคาร พ. เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2560 ขอขึ้นวงเงินจำนองเป็นประกันหนี้เงินกู้ยืมของนางณัฐฐาพรอีก 1,540,000 บาท รวมเป็นวงเงินจำนองทั้งสิ้น 1,840,000 บาท จำเลยไม่ไถ่ถอนจำนองตามคำพิพากษาตามยอม ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ตามฟ้องและพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยว่าแม้การกระทำของจำเลยไม่เป็นการกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยก็ตาม แต่พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าจำเลยจงใจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอมของศาลจังหวัดพิษณุโลกด้วยการสร้างภาระจำนองแก่ที่ดินเพิ่มสูงขึ้น เป็นการทำให้เสียหายทำลาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ซึ่งทรัพย์ที่จำเลยรู้ว่าน่าจะถูกยึดหรืออายัดเพื่อมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาตามยอม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 ซึ่งโจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิดไปเป็นมาตรา 350 ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษาลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า
ปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยว่า คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 เป็นการพิพากษาเกินคำขอหรือไม่ เห็นว่า การกระทำของจำเลยตามข้อเท็จจริงรับฟังเป็นยุติดังวินิจฉัยข้างต้นไม่เป็นความผิดฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 ซึ่งโจทก์ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้อง ดังที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยกับศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัยเป็นทำนองเห็นพ้องด้วย และตามคำฟ้องของโจทก์นอกจากขอให้ลงโทษฐานโกงเจ้าหนี้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 350 แล้วยังพอแปลได้ว่าโจทก์บรรยายการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานเอาไปเสียซึ่งทรัพย์ที่ถูกยึดหรืออายัดเพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 ไว้ด้วย แต่โจทก์ไม่ได้ระบุขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 ไว้ในคำขอท้ายฟ้อง แสดงว่าโจทก์ไม่ประสงค์จะให้ศาลลงโทษจำเลยในความผิดฐานดังกล่าว แม้การกระทำของจำเลยที่สร้างภาระจำนองเพิ่มมากขึ้นดังกล่าวจะเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาตามยอม เป็นการทำให้เสียหาย ทำลาย หรือทำให้ไร้ประโยชน์ ซึ่งทรัพย์ที่จะถูกบังคับ เพื่อจะมิให้การเป็นไปตามคำพิพากษาตามยอม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัย ก็ไม่อาจพิพากษาให้ลงโทษจำเลยตามความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 ที่โจทก์ไม่ได้ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องได้เพราะเป็นการพิพากษาเกินคำขอต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 กรณีไม่เข้าข้อยกเว้นตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคห้า ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ที่ศาลเห็นว่าข้อเท็จจริงตามฟ้องนั้นโจทก์สืบสม แต่โจทก์อ้างฐานความผิดหรือบทมาตราผิด อันจะทำให้ศาลมีอำนาจลงโทษจำเลยตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้ดังที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 วินิจฉัย คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 6 ที่พิพากษาลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 187 นั้น เป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 192 วรรคหนึ่ง ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง พ.ศ. 2499 มาตรา 4 ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนฎีกาข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัย เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้อง