โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งเก้าร่วมกันชำระเงิน 397,854,416.24 บาท พร้อมค่าชดเชยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันโอนสินทรัพย์เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งเก้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา ศาลแรงงานกลางเห็นว่า กรณีมีปัญหาว่าคดีนี้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงานหรือไม่ จึงส่งสำนวนให้ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 9 วรรคสอง ประธานศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน แต่คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 6 ถึงที่ 9 ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีแรงงานพิพากษายืน
โจทก์ฎีกา โดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงตามที่คู่ความไม่โต้แย้งกันและที่ศาลแรงงานกลางรับฟังเป็นยุติว่า โจทก์มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบธุรกิจทางการเงินที่ไม่ผูกพันกับดอกเบี้ย และเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยมีผู้จัดการเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของธนาคาร และเป็นผู้แทนของธนาคารในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกตามมาตรา 28 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 เคยเป็นลูกจ้างโจทก์ ส่วนจำเลยที่ 5 เป็นลูกจ้างโจทก์ถึงปัจจุบัน ขณะเกิดเหตุ จำเลยที่ 1 ทำงานตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส สายงานธุรกิจขนาดใหญ่ มีหน้าที่ควบคุมดูแลกำกับการปฏิบัติงานของกลุ่มงานสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ จำเลยที่ 2 ทำงานตำแหน่งผู้อำนวยการ จำเลยที่ 3 ทำงานตำแหน่งรองผู้อำนวยการ จำเลยที่ 4 ทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่อาวุโส และจำเลยที่ 5 ทำงานตำแหน่งผู้ช่วยผู้อำนวยการ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 ทำงานในฝ่ายธุรกิจสัมพันธ์ 1 ซึ่งได้รับมอบหมายให้ร่วมกันทำหน้าที่พิจารณาคำขอสินเชื่อของลูกค้า มีหน้าที่รับผิดชอบร่วมกันจัดทำเอกสารและเสนอข้อมูลเพื่อขออนุมัติสินเชื่อรายบริษัท ด. ซึ่งประกอบธุรกิจโรงแรม ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารของโจทก์ ครั้งที่ 30/2553 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2553 เป็นเงินทั้งสิ้น 650,000,000 บาท โดยไม่มีข้อยุติเรื่องการได้รับใบอนุญาตก่อสร้างเพื่อให้คณะกรรมการบริหารนำมาใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาอนุมัติวงเงินสินเชื่อ ต่อมาบริษัทดังกล่าวผิดนัดไม่ชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดแก่จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 และโอนสินทรัพย์ตามสัญญาให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคาร อ. ตามสัญญาโอนสินทรัพย์ ลงวันที่ 29 มิถุนายน 2560 แล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุมและไม่ขาดอายุความ การที่โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชดใช้ค่าเสียหายซึ่งเกิดจากการทำงานให้สินเชื่อของลูกค้ารายบริษัท ด. ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง โดยค่าเสียหายของโจทก์มีจำนวนเท่ากับจำนวนหนี้ทั้งหมดของลูกค้าหักทอนกับมูลค่าสินทรัพย์ที่โอนไปนั้นเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องในหนี้ที่มีส่วนเกี่ยวพันกันกับหนี้ตามสัญญาให้สินเชื่อระหว่างโจทก์กับลูกค้ารายดังกล่าว แต่โจทก์โอนสิทธิและหน้าที่ของโจทก์แก่บริษัทดังกล่าวก่อนฟ้องแล้ว โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่า คำฟ้องของโจทก์เป็นเรื่องที่โจทก์ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐฟ้องจำเลยซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา 8 แม้โจทก์บรรยายฟ้องว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 เป็นทั้งมูลสัญญาและละเมิดทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ แต่ความเสียหายทั้งมูลสัญญาและมูลละเมิดเป็นจำนวนเดียวกัน จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามฟ้องหรือไม่ จึงต้องอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ประกอบระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 โดยระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีดังกล่าว ข้อ 8 และ ข้อ 17 วรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ กำหนดให้หน่วยงานของรัฐต้องดำเนินการตามขั้นตอนเสียก่อน จึงจะมีสิทธิดำเนินการในศาลได้ แต่เมื่อคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดเสนอรายงานสรุปผลการพิจารณาพร้อมความเห็นต่อกรรมการและรักษาการผู้จัดการของโจทก์ว่าจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต้องร่วมรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน 436,649,383.52 บาท ผู้จัดการของโจทก์จะต้องวินิจฉัยสั่งการว่ามีผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด และรีบส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดภายในเจ็ดวันนับแต่วันวินิจฉัยสั่งการให้กระทรวงการคลังเพื่อตรวจสอบต่อไป เว้นแต่เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังประกาศกำหนดว่าไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ ซึ่งหากเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องรายงานดังกล่าวก็ต้องรีบออกคำสั่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ แต่ปรากฏว่าผู้จัดการของโจทก์วินิจฉัยสั่งการสรุปความเห็นในรายงานการประชุมคณะกรรมการโจทก์ ครั้งที่ 11/2561 ว่า มอบหมายให้ฝ่ายจัดการไปดำเนินการตามระเบียบของธนาคารต่อไป โดยมิได้วินิจฉัยสั่งการว่ามีผู้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือไม่ และเป็นจำนวนเท่าใด ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้ส่งสำนวนการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดให้กระทรวงการคลังเพื่อตรวจสอบต่อไปหรือไม่ อย่างไร ซึ่งหากเข้าข้อยกเว้นไม่ต้องรายงานให้กระทรวงการคลังตรวจสอบ โจทก์ได้ออกคำสั่งสั่งให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์หรือไม่ แม้โจทก์จะโอนสินทรัพย์ลูกหนี้รายนี้ไปแล้วก็ตาม แต่โจทก์ก็อ้างว่ายังมีหนี้ที่เหลือซึ่งจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ยังต้องรับผิดต่อโจทก์อยู่ จึงเป็นกรณีที่โจทก์มิได้ดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายอันเป็นสาระสำคัญ จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีนี้
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 มาตรา 4 ให้คำจำกัดความของคำว่า "หน่วยงานของรัฐ" หมายความว่า "กระทรวง ทบวง กรม หรือ ... และรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และ..." โจทก์จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 โดยมาตรา 5 บัญญัติว่า ให้จัดตั้งธนาคารขึ้นเรียกว่า "ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย" และให้ธนาคารเป็นนิติบุคคล และมาตรา 7 กำหนดทุนเรือนหุ้นของธนาคารไว้หนึ่งพันล้านบาท โดยให้ธนาคารขายหุ้นให้แก่กระทรวงการคลัง หรือบุคคลอื่น โดยให้กระทรวงการคลังซื้อหุ้นของธนาคารได้ตามจำนวนที่เห็นสมควร แต่จะต้องไม่เกินร้อยละสี่สิบเก้าของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมด เห็นได้ว่า พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 มีจุดมุ่งหมายให้โจทก์เป็นนิติบุคคล แต่ไม่ได้มีจุดมุ่งหมายให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเพราะกระทรวงการคลังซื้อหุ้นของโจทก์ได้ไม่เกินร้อยละ 49 แม้ต่อมากระทรวงการคลัง ธนาคาร ม. และธนาคาร ก. เข้าถือหุ้นของโจทก์รวมกันเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายได้แล้วทั้งหมดหรืออีกนัยหนึ่งโจทก์มีส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินร้อยละห้าสิบ ซึ่งส่งผลทำให้โจทก์มีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตามคำจำกัดความของคำว่ารัฐวิสาหกิจตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 มาตรา 4 แต่ความเป็นรัฐวิสาหกิจของโจทก์มิได้เป็นมาตั้งแต่วาระแรกที่พระราชบัญญัติธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2545 ใช้บังคับ โจทก์เพิ่งเปลี่ยนสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจในภายหลังเพราะมีการเปลี่ยนแปลงสัดส่วนผู้ถือหุ้น โจทก์จึงไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ จึงไม่ใช่หน่วยงานของรัฐตามความหมายของมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ. 2539 ประกอบกับคดีนี้โจทก์ฟ้องว่า การที่ลูกค้ารายบริษัท ด. ทำคำขอสินเชื่อสำหรับใช้ในโครงการวงเงิน 650,000,000 บาท ต่อคณะกรรมการบริหารของโจทก์ จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ซึ่งมีหน้าที่ร่วมกันจัดทำเอกสารและเสนอข้อมูลเพื่อขออนุมัติสินเชื่อตามระเบียบปฏิบัติงานด้านสินเชื่อของโจทก์ ไม่ให้ความสำคัญต่อประเด็นที่ฝ่ายโครงการสินเชื่อแจ้งความเสี่ยงว่าที่ตั้งโครงการอยู่ในเขตที่กำหนดให้ใช้ประโยชน์ในที่ดินประเภทอนุรักษ์ป่าไม้และใบอนุญาตก่อสร้างอยู่ระหว่างดำเนินการ ยังไม่แน่ชัดว่าลูกค้าจะได้รับใบอนุญาตก่อสร้างหรือไม่ และเร่งรีบเสนอขออนุมัติคณะกรรมการบริหารให้อนุมัติและเบิกใช้สินเชื่อค่าที่ดิน 430,000,000 บาท ให้ลูกค้าไปก่อน และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ยังยินยอมให้ลูกค้าเบิกถอนสินเชื่อเพื่อการก่อสร้างและสาธารณูปโภคอีก 16,695,947.66 บาท ทั้งที่ยังไม่มีข้อยุติเรื่องการได้รับใบอนุญาตก่อสร้าง เป็นการไม่ปฏิบัติตามขั้นตอนและระเบียบปฏิบัติของโจทก์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย อันเป็นการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง และผิดสัญญาจ้าง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ซึ่งเป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเนื่องมาจากทั้งมูลผิดสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยว่าโจทก์เป็นหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายดังกล่าวแล้วไม่ดำเนินการตามขั้นตอนที่กำหนดไว้ก่อนฟ้องคดี โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้น ส่วนปัญหาตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่ากรณีโจทก์โอนสินทรัพย์ของลูกค้ารายบริษัท ด. ให้แก่บริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคาร อ. ก่อนฟ้องคดีนี้แล้ว โจทก์จะมีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษยังไม่ได้วินิจฉัย แต่คดีขึ้นสู่การพิจารณาของศาลฎีกาและข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การวินิจฉัยแล้ว เพื่อให้คดีไม่ล่าช้า เห็นสมควรวินิจฉัยโดยไม่ย้อนสำนวนให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษวินิจฉัยก่อน เห็นว่า แม้โจทก์ขายสินทรัพย์ซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องของลูกค้ารายดังกล่าวไปก่อนฟ้องคดีนี้ก็ส่งผลทำให้โจทก์สิ้นสิทธิเรียกร้องจากลูกค้ารายดังกล่าวตามมูลหนี้ผิดสัญญาให้สินเชื่อเท่านั้น แต่โจทก์ยังคงได้รับความเสียหายจากการผิดสัญญาจ้างแรงงานและละเมิดของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 อยู่ แม้โจทก์มีคำขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ชำระค่าเสียหายเท่ากับจำนวนหนี้สินเชื่อของลูกค้าหักออกด้วยจำนวนเงินที่โจทก์ขายสินทรัพย์ของลูกค้านั้นก็เป็นเรื่องการคำนวณค่าเสียหายของโจทก์ ซึ่งต้องพิจารณาในประเด็นว่าโจทก์ได้รับความเสียหายหรือไม่เพียงใด ส่วนภายหลังบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคาร อ. จะได้รับชำระหนี้จากลูกค้ารายดังกล่าวหรือไม่นั้นเป็นเรื่องระหว่างบริษัทกับลูกค้ารายดังกล่าว เมื่อโจทก์คงมีสิทธิเรียกร้องได้ตามสัญญาจ้างแรงงานและมูลละเมิด โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 รับผิดในความเสียหายที่โจทก์ได้รับซึ่งเกิดจากการทำงานให้สินเชื่อลูกค้าที่โอนสิทธิไปถือว่าเป็นการใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดแทนหรือเพื่อลูกหนี้ตามสัญญาให้สินเชื่อตามความหมายของลูกหนี้และสินทรัพย์ในสัญญาโอนทรัพย์สินแล้ว ฟังได้ว่าสิทธิและหน้าที่ของโจทก์โอนไปเป็นของบริษัทบริหารสินทรัพย์ธนาคาร อ. นับแต่วันที่มีการโอนไป ซึ่งเป็นวันก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น เมื่อคดียังมีประเด็นข้อพิพาทอื่นที่ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ผิดสัญญาจ้างโดยประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงอันเป็นการละเมิดต่อโจทก์หรือไม่ กับที่ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 5 ต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่ เพียงใด ที่ศาลแรงงานกลางยังไม่ได้วินิจฉัย สมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาวินิจฉัยเสียใหม่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243 (2) และมาตรา 252 ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 57/1 วรรคสอง
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษและยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางในส่วนที่ให้ยกฟ้องโจทก์ด้วยเหตุที่ว่าสิทธิและหน้าที่ของโจทก์โอนไปเป็นของบริษัทบริหารสินทรัพย์ ธนาคาร อ. ก่อนฟ้องคดีนี้ ให้ย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทที่ยังไม่ได้วินิจฉัย แล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี