คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 335,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 18 พฤษภาคม 2560) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 5,000 บาท ให้จำเลยนำค่าฤชาธรรมเนียมที่โจทก์ได้รับยกเว้นมาชำระต่อศาลในนามของโจทก์ แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝาก ของจำเลยเป็นจำนวนเงินตามคำพิพากษาไปยังผู้คัดค้านที่ 1 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเนื่องจากถูกอายัดไว้ชั่วคราวในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.220/2559 ของศาลชั้นต้น
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยให้ส่งเงินที่ขออายัดไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร 1 หรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์
ผู้คัดค้านทั้งสองขอให้ยกคำร้อง
ระหว่างพิจารณา ผู้คัดค้านที่ 2 และโจทก์รับข้อเท็จจริงว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.220/2559 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.10/2562 ให้ทรัพย์สินซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดิน
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงในชั้นฎีการับฟังได้ว่า โจทก์เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา แต่จำเลยไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษา ศาลมีคำสั่งให้ออกหมายบังคับคดี เจ้าพนักงานบังคับคดีแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากผู้คัดค้านที่ 1 ของจำเลยเป็นจำนวนเงินตามคำพิพากษาไปยังผู้คัดค้านที่ 1 แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ส่งเงินให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเนื่องจากถูกอายัดไว้ชั่วคราวในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.220/2559 ของศาลชั้นต้น ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.220/2559 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.10/2562 ให้ทรัพย์สิน ซึ่งรวมสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาเพียงว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ต้องส่งเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตามหนังสือแจ้งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้หรือไม่ เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นมาตรการทางกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้ายและเป็นมาตรการทางแพ่งในการยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด แต่ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป แม้มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว บัญญัติให้การดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สินตามหมวด 6 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาบังคับใช้โดยอนุโลม แต่ต้องเป็นกรณีที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะ และสามารถนำมาปรับใช้ได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เมื่อมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติวิธีการร้องขอให้ศาลมีคำสั่งยึดหรืออายัดทรัพย์สินชั่วคราวไว้เป็นการเฉพาะแล้ว จึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งเป็นการดำเนินคดีแพ่งทั่วไปมาปรับใช้กับการคุ้มครองชั่วคราวในคดีฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ได้ เมื่อปรากฏว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีได้มีหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยไปยังผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2561 อายัดสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากผู้คัดค้านที่ 1 จำนวนเงิน 384,608.28 บาท โดยห้ามไม่ให้จ่ายเงินตามสิทธิเรียกร้องให้แก่ลูกหนี้ตามคำพิพากษา แต่ให้ส่งเงินไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งขณะนั้นศาลชั้นต้นมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ชั่วคราวในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐไว้จนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น รวมถึงเงินฝากในบัญชีของจำเลยตามคำร้องคดีหมายเลขดำที่ ฟ.220/2559 ของศาลชั้นต้นไว้ก่อนแล้ว อันเป็นคำสั่งที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย หรือยักย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดอันเป็นมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามพระราชบัญญัติดังกล่าวและคำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับอยู่ตราบใดที่ศาลชั้นต้นในคดีฟอกเงินยังไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ต้องส่งเงินตามสิทธิเรียกร้องให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีตามหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องของจำเลยฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2561 นอกจากนี้ปรากฏว่าต่อมา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคดีหมายเลขดำที่ ฟ.220/2559 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ ฟ.10/2562 ให้ทรัพย์สินซึ่งรวมสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตามคำร้องตกเป็นของแผ่นดิน ดังนั้น นับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ทรัพย์สินซึ่งรวมสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยลูกหนี้ตามคำพิพากษาตกเป็นของแผ่นดินเป็นต้นไป ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 แต่หากโจทก์เห็นว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิในเงินตามบัญชีเงินฝากของจำเลยนั้น โดยเป็นเจ้าของ ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์ โจทก์ต้องไปดำเนินการในคดีฟอกเงินดังกล่าว ตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินการเป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้สามัญ ไม่อาจดำเนินการบังคับคดีในคดีนี้เพื่อให้มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงผลของคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีฟอกเงินดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามคำสั่งศาลชั้นต้นว่า โจทก์ไม่มีสิทธิขอให้ศาลสั่งให้ผู้คัดค้านที่ 1 ส่งเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยให้แก่เจ้าพนักงานบังคับคดีและให้ยกคำร้องของโจทก์มานั้น ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกาให้เป็นพับ