คดีสืบเนื่องจากวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาและออกคำบังคับให้จำเลยชำระเงิน 247,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 พฤษภาคม 2560) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยมิได้ชำระเงินตามคำพิพากษา ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2561 โจทก์ขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี
โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ธนาคาร ล. ปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยขอให้ส่งเงินที่อายัดเต็มตามคำพิพากษาไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่ง กรุงเทพมหานคร หรือชดใช้ค่าสินไหมทดแทนจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์
ผู้คัดค้านยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งให้ยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับโจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์แผนกคดีผู้บริโภคพิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา โดยศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภคอนุญาตให้ฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีผู้บริโภควินิจฉัยว่า เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2560 ศาลชั้นต้นพิพากษาและออกคำบังคับให้จำเลยชำระเงิน 247,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 22 พฤษภาคม 2560) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 3,000 บาท จำเลยมิได้ชำระเงินตามคำพิพากษา ต่อมาวันที่ 9 มีนาคม 2561 โจทก์ขอให้ศาลออกหมายตั้งเจ้าพนักงานบังคับคดี และเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2561 โจทก์ยื่นคำร้องว่า โจทก์ขออายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยในบัญชีธนาคารผู้คัดค้าน และเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร มีคำสั่งอายัดแล้ว แต่ไม่สามารถส่งเงินจำนวนดังกล่าวได้เนื่องจากติดคำสั่งอายัดของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งพนักงานอัยการขอให้มีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวโดยอายัดเงินในบัญชีดังกล่าวต่อศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ฟ.220/2559 ระหว่าง พนักงานอัยการสำนักงานอัยการสูงสุด ผู้ร้อง เรื่อง พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน อันเป็นคำสั่งอายัดชั่วคราว แต่ผู้คัดค้านไม่สามารถส่งเงินได้เนื่องจากมีการแจ้งขออายัดบัญชีดังกล่าวไว้ชั่วคราวก่อนมีคำพิพากษาตามสำเนาคำสั่งคณะกรรมการธุรกรรมและสำเนาคำสั่งของศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ฟ.220/2559 ทั้งนี้เงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยในบัญชีธนาคารผู้คัดค้าน เป็นทรัพย์สินรายการที่ 616
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามที่โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า ผู้คัดค้านต้องส่งเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตามหนังสือแจ้งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีเพื่อชำระหนี้ตามคำพิพากษาในคดีนี้หรือไม่ โจทก์ฎีกาว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นกฎหมายที่มีสถานะเท่ากับพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่ศาลแพ่งมีคำสั่งอายัดเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยเป็นการชั่วคราว จึงเป็นกระบวนพิจารณาที่ใช้กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยการขอคุ้มครองชั่วคราวมาใช้บังคับทั้งเป็นการอายัดไว้ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งให้เงินในบัญชีดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดิน โจทก์จึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีขอให้ผู้คัดค้านส่งเงินในบัญชีของจำเลยให้แก่เจ้าพนักงานเพื่อนำมาชำระหนี้ตามคำพิพากษาแก่โจทก์ได้ ไม่เป็นการอายัดซ้ำ ทั้งโจทก์ฟ้องเลิกสัญญาและให้จำเลยคืนเงินจองและเงินดาวน์ โจทก์จึงอยู่ในฐานะผู้มีสิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนและถือไม่ได้ว่าเงินในบัญชีดังกล่าวเป็นทรัพย์ที่ตกเป็นของแผ่นดินอันไม่อาจยึดเพื่อบังคับคดีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 นั้น เห็นว่า พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 เป็นมาตรการทางกฎหมายป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินและการต่อต้านการสนับสนุนทางการเงินแก่การก่อการร้าย และกำหนดมาตรการทางแพ่งในการยึดทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด ไม่ใช่เป็นการดำเนินคดีแพ่งทั่วไป แม้มาตรา 59 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้การดำเนินการทางศาลตามหมวดนี้ให้ยื่นต่อศาลแพ่งและให้นำประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาบังคับใช้โดยอนุโลม ก็ต้องเป็นกรณีที่พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ไม่ได้มีบทบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะและสามารถนำมาปรับใช้ได้เพียงเท่าที่ไม่ขัดกับหลักการแห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ซึ่งตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ได้บัญญัติเกี่ยวกับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งไว้เป็นการเฉพาะแล้ว เมื่อปรากฏว่า ผู้คัดค้านมีหนังสือไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดีฉบับลงวันที่ 28 สิงหาคม 2561 โดยอ้างถึงหนังสือจากสำนักงานบังคับคดี เรื่อง แจ้งอายัดสิทธิเรียกร้อง ฉบับลงวันที่ 10 สิงหาคม 2561 ให้ผู้คัดค้านอายัดสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลย และให้ส่งเงินไปยังสำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร อันเป็นเวลาภายหลังจากที่ศาลแพ่งในคดีแพ่งหมายเลขดำที่ ฟ.220/2559 มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2559 ให้ยึดและอายัดทรัพย์สินของจำเลยในคดีทุจริตโครงการรับจำนำข้าวและระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งเป็นคำสั่งที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าอาจมีการโอน จำหน่าย หรือยักย้ายไปเสียซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตามมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินตามพระราชบัญญัติดังกล่าว และคำสั่งดังกล่าวจะมีผลบังคับอยู่ตราบใดที่ศาลแพ่งยังไม่มีคำสั่งเป็นอย่างอื่น แม้ว่าหนังสือแจ้งอายัดสิทธิเรียกร้องฉบับดังกล่าวจะเป็นการอายัดไว้ก่อนที่ศาลแพ่งจะมีคำสั่งให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดินก็ตาม แต่หากให้เจ้าหนี้สามัญยึดหรืออายัดทรัพย์สินที่ศาลมีคำสั่งอายัดทรัพย์สินของจำเลยไว้ชั่วคราว ตามมาตรา 55 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 ได้ อาจทำให้ทรัพย์สินดังกล่าวไม่มีอยู่จนไม่มีเหตุที่จะทำการไต่สวนและมีคำสั่งให้ทรัพย์สินดังกล่าวตกเป็นของแผ่นดินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 และหากต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์สินซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดิน จะมีผลทางกฎหมายโดยนับแต่วันที่ศาลแพ่งมีคำสั่งให้ทรัพย์สินซึ่งรวมถึงสิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดินเป็นต้นไป โจทก์ย่อมไม่อาจยึดเพื่อการบังคับคดีไม่ว่าด้วยเหตุใดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1307 กรณีจึงไม่อาจนำบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งซึ่งเป็นการดำเนินคดีแพ่งทั่วไปมาปรับใช้กับการยึดหรืออายัดทรัพย์สินไว้ชั่วคราวในคดีฟอกเงินตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ.2542 อันเป็นกฎหมายที่มีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งโดยทั่วไปได้ กรณีไม่ใช่ประเด็นการบังคับคดีซ้ำได้หรือไม่ตามที่โจทก์ฎีกา แนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่โจทก์อ้างมาในคำฟ้องฎีกามีข้อเท็จจริงแตกต่างจากคดีนี้ ไม่อาจนำมาเทียบเคียงกับคดีนี้ได้และหากต่อมาศาลแพ่งมีคำสั่งให้สิทธิเรียกร้องเป็นเงินในบัญชีเงินฝากของจำเลยตกเป็นของแผ่นดินแล้ว แต่โจทก์เห็นว่า ตนเป็นผู้มีสิทธิในเงินตามบัญชีเงินฝากของจำเลยโดยเป็นเจ้าของผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์ โจทก์ต้องไปดำเนินการในคดีฟอกเงินดังกล่าวตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งมีบทบัญญัติเกี่ยวกับกระบวนการและขั้นตอนในการดำเนินการเป็นการเฉพาะแล้ว โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาในหนี้สามัญไม่อาจดำเนินการบังคับคดีในคดีนี้เพื่อให้มีผลถึงการดำเนินกระบวนพิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งในคดีฟอกเงินดังกล่าวได้ ดังนั้น โจทก์จึงไม่อาจขอให้ศาลมีคำสั่งให้ผู้คัดค้านปฏิบัติตามคำสั่งอายัดของเจ้าพนักงานบังคับคดีโดยส่งเงินที่อายัดตามคำพิพากษาไปยังเจ้าพนักงานบังคับคดี สำนักงานบังคับคดีแพ่งกรุงเทพมหานคร ที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นให้ยกคำร้องของโจทก์มานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ